ใหญ่กว่าศอ.บต.ซื้อ6เท่า! นักวิชาการแจงเครื่องกรองน้ำ 3จว.ใต้ ตัวละ 2 ล.– มุ่งช่วย ปชช.
เผยที่มาโครงการออกแบบติดตั้งระบบกรองน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ 3 จว.ชายแดนใต้ ตัวละ 2 ล้าน นักวิชาการแจงมุ่งแก้ปัญหาคุณภาพน้ำดื่มให้ปชช. ต้นแบบระบบกรองน้ำสะอาดในพื้นที่ ใหญ่กว่าของ ศอ.บต. 6 เท่า ระบุจัดซื้อสินค้าจากเอกชนมาใช้งาน พพ. สนับสนุนงบประมาณให้ ยอมรับมีปัญหาใช้งานเกิดขึ้นบางจุด แต่แก้ไขแล้ว
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข่าวได้รับแจ้งเบาะแสจากประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ว่า การดำเนินงานโครงการออกแบบและติดตั้งระบบกรองน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ วงเงิน 37,500,000 บาท ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบและสนับสนุนงบประมาณ โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีน้ำดื่มที่สะอาด ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราคาจัดซื้อเครื่องกรองน้ำ ราคาเฉลี่ยอยู่ที่เครื่องละ 2 ล้านบาท ถือว่ามีราคาสูงมาก ดำเนินการทั้งหมด 15 เครื่อง รวมวงเงินทั้งสิ้น 30 ล้านบาท บวกค่าที่ปรึกษาโครงการเพิ่มอีก 7,500,000 บาท รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 37,500,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีเครื่องกรองน้ำหลายจุด ที่นำไปติดตั้งไว้เริ่มมีปัญหาขัดข้องในขั้นการใช้งานเกิดขึ้นแล้ว (อ่านประกอบ :วิจารณ์ขรม! พพ. ซื้อกรองน้ำแสงอาทิตย์แจก 3 จว.ใต้ แพงตัวละ 2 ล้าน)
ล่าสุด ผศ.ดร.ภูริศ ศรสรุทร์ อาจารย์ประจำคณะการบริหารและจัดการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการฯ ให้สัมภาษณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงสำนักข่าวอิศรา ว่า เครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ราคาเครื่องละ 2,000,000 บาท ดังกล่าว จัดซื้อมาจากบริษัท กรุนด์ฟอส (ประเทศไทย) จำกัด มีขนาดใหญ่กว่าเครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ราคาเครื่องละ 5 แสนบาท ของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต. ที่เคยเป็นข่าวไปก่อนหน้านี้ถึง 6 เท่า และมีการสร้างโรงเรือนเฉพาะของเครื่องฯ เพื่อให้ผ่านมาตรฐาน อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ส่วนขั้นตอนการรักษาความปลดดภัยและความสะอาด มีการอบรมผู้นำท้องถิ่นหรือผู้นำชุมชนเพื่อดูแลตู้กรองน้ำ รวมไปถึงการลงพื้นที่ตรวจสอบดูแลสภาพของเครื่องกรองน้ำ 3-4 เดือนต่อครั้งด้วย
ผศ.ดร.ภูริศ กล่าวยืนยันว่า ปัจจุบันเครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ที่นำไปติดตั้งไว้ตามจุดต่างๆ 15 แห่ง ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ 7 แห่ง ใช้งานได้ตามปกติ คือ 1.กลุ่มเกษตรกรผลิตน้ำดื่มช้างเผือก 2.กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพลังงานทดแทนตำบลจอเบาะ 3.มูลนิธิอัลบารอกะห์เพื่อพัฒนาสังคมและการศึกษา 4.วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตน้ำดื่มด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ตำบลปล่องหอย 5.มูลนิธิอัสสาอาดะห์ (ศูนย์เด็กกำพร้า) 6.วิสาหกิจ ชุมชนกลุ่มธนาคารต้นไม้ 7.โรงเรียนรัศมีอิสลามวิทยาลัย ส่วนที่เหลือจะมีปัญหาการใช้งานเกิดขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น
สำหรับที่มาของโครงการฯ นั้น ผศ.ดร.ภูริศ ศรสรุทร์ ชี้แจงว่า เป็นการศึกษาต้นแบบระบบกรองน้ำจากพลังงานแสงอาทิตย์ ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการสร้างสุขนิสัยที่ดี ลดอัตราการเกิดโรคร้าย และส่งเสริมอาชีพพร้อมสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับชาวบ้าน ที่เวลามีปัญหาไฟตกบ่อย ต้องดื่มน้ำจากบาดาลที่เป็นน้ำกร่อย ทางคณะทำงานจึงได้เข้าไปแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ ผ่านโครงการเครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าว
“ผมเป็นคนเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นไปที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) และได้งบประมาณสนับสนุนจาก กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เพื่อทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาเป็นเครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ต้นแบบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ดังกล่าว ส่วนวิธีการคัดเลือกจุดติดตั้ง มีการจัดทำเงื่อนไขเพื่อขอรับการสนับสนุน ผ่านการประกาศรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการ พิจารณาหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ เช่น ความพร้อมขององค์กรที่จะดูแลรักษาเครื่อง น้ำสามารถน้ำมางานใช้ได้ และมีพื้นที่ในการติดตั้งระบบ จะมีรูปแบบการดูแลรักษาขององค์กรเพื่อส่งเสริมรายได้ให้แก่ชุมชน โดยระบบการคัดเลือกจะมี เจ้าหน้าที่ พพ.จังหวัด เจ้าหน้าที่ของสถาบันสงขลานครินทร์ เข้ามาร่วมในครั้งนี้ด้วย และมีการเข้าไปสำรวจถึงศักยภาพของน้ำ ศักยภาพดิน ความเข้มของแสงอาทิตย์ และพื้นที่ติดตั้งระบบหลายรอบด้วย”
“โครงการนี้เป็นเหมือนโครงการวิจัยไม่ใช่โครงการที่ซื้อมาแล้วขายไป เลยต้องมีการตรวจสอบว่าน้ำจะต้องมีคุณภาพจริง ชาวบ้านสามารถใช้งานได้จริง และได้ทำการออกแบบของให้เข้ากับลักษณะของพื้นที่ มีการทดลองถึงอุปกรณ์ที่ติดตั้ง โดยสุดท้ายต้องสร้างโรงเรือนเฉพาะของเครื่องกรองน้ำเพื่อให้ผ่านมาตรฐาน อย. ได้” ผศ.ดร.ภูริศ ระบุ
ผศ.ดร.ภูริศ ชี้แจงต่อว่า ในส่วนปัญหาหลักที่พบขณะนี้ คือ พื้นที่บางจุดน้ำไม่เพียงพอ เป็นเพราะว่าบางแหล่งเป็นน้ำบนดิน บางแหล่งเป็นน้ำจากบนภูเขาและบางแหล่งเป็นน้ำที่มาจากใต้ดิน ซึ่งก็เป็นการทดลองว่าแหล่งน้ำที่มาจากที่ไหนจะดีที่สุด เพื่อที่จะทำเป็นต้นแบบโมเดลแก้ไขปัญหา ส่วนการแก้ไขปัญหาในขณะนี้ เนื่องจากอุปกรณ์บางอย่างต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงมีการพูดคุยกับทางบริษัท กรุนด์ฟอส (ประเทศไทย) จำกัด ให้ทำการสำรองอุปกรณ์ไว้ในประเทศไทย คาดว่าประมาณ 1-2 สัปดาห์ จะสามารถแก้ไขได้แล้วเสร็จ รวมถึงแผนการแก้ไขปัญหาระยะยาวด้วย
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้พยายามติดต่ออธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงการดำเนินงานโครงการนี้เช่นกัน แต่หน้าห้องบอกอธิบดีฯติดประชุมให้ทำหนังสือติดต่อมาอีกครั้ง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/