กรมควบคุมโรค หนุนเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตรายสูง 3 ชนิด ภายในปี 63
กรมควบคุมโรค สนับสนุนให้ยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตรายสูง 3 ชนิด ภายในปี 2563 พร้อมสั่งการให้กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบที่มีต่อสุขภาพของเกษตรกรและประชาชนในประเทศ
วันที่ 12 ตุลาคม นายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมผู้บริหารทุกกรม และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ รวมพลังประกาศจุดยืนไม่เอาสารเคมีอันตรายทางการเกษตร นั้น กรมควบคุมโรค และหน่วยงานในสังกัด ทั้งหน่วยงานในส่วนกลางและส่วนภูมิภาครวม 42 หน่วยงาน ตลอดจนสำนักงานป้องกันควบคุมโรค 12 แห่งทั่วประเทศ และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง สนับสนุนให้ยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตรายสูง 3 ชนิด (พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต) ภายในปี 2563 ซึ่งมีผลต่อสุขภาพ เพื่อลดผลกระทบที่มีต่อสุขภาพของเกษตรกร และประชาชนในประเทศ
พร้อมกันนี้ ได้มีการสั่งการให้กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนามาตรการทางกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 เพื่อยกระดับการเฝ้าระวังภัยสุขภาพจากการสัมผัสสารเคมีทางการเกษตรกรรม การใช้สารเคมี ในทางเกษตรกรรม มีผลกระทบต่อประชากรกลุ่มเสี่ยงหลักคือ ผู้ฉีดพ่นสารเคมีดังกล่าว และผู้ทำงานในพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งส่วนมากเป็นเพศชาย โดยความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับปริมาณและช่องทางการสัมผัส คือ
1.ทางการหายใจ ทำให้เลือดกำเดาไหล และระคายเคืองเยื่อบุโพรงจมูก
2.ทางการรับประทาน อาจมีแผลไหม้ในช่องปาก ระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หัวใจเต้นเร็ว และ
3.ทางผิวหนังหรือเนื้อเยื้ออ่อน อาจมีตุ่มน้ำพองตามบริเวณที่สัมผัส หากสัมผัสทางผิวหนังในปริมาณมากอาจดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย และจะมีอาการคล้ายกับการสัมผัสทางการรับประทานได้ หากมีแผลเปิดจะทำให้สารพิษซึมเข้าสู่ร่างกายได้เร็วขึ้น
นายแพทย์ขจรศักดิ์ กล่าวถึงสารเคมีทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบ ต่อสุขภาพของประชาชน รวมทั้งเด็กในครรภ์มารดา กรมควบคุมโรคและหน่วยงานในสังกัดทุกแห่ง จึงไม่เห็นด้วยกับการใช้สารเคมีเหล่านี้ และพร้อมสนับสนุนองค์ความรู้ทางหลักวิชาการ รวมถึงสร้างความเข้าใจให้กับผู้ผลิตและผู้บริโภค เพื่อพี่น้องประชาชนคนไทยมีสุขภาพที่ดี