รวมหนึ่งแรง...เป็นล้านพลัง แก้ปัญหาสังคมไทย ด้วยกลไกพลเมือง
เปิดเวที Good Society Expo 2019 “รวมหนึ่งแรง...เป็นล้านพลัง” ถกประเด็นปัญหาสังคม สู่การขับเคลื่อน ภายใต้ความร่วมมือทุกภาคส่วน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาสังคมเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเด็กและเยาวชน ปัญหาคอร์รัปชัน ปัญหายาเสพติด ปัญหาคนเร่ร่อน หรือปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา
ภายใต้การรวมตัวเฉพาะกิจขององค์กรภาคสังคม อาสาสมัคร ในการเป็นกลไกสร้างพลเมืองที่มีส่วนร่วม กับงาน Good Society Expo 2019 คอนเซ็ปต์ “รวมหนึ่งแรง...เป็นล้านพลัง” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-13 ต.ค. 2562 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ มีการหยิบยกเรื่องปัญหาสังคมในมิติต่าง ๆ ที่ต้องการหลายแรงร่วมแก้ไขขึ้นมาพูดคุย
สรวิช ไพบูลย์รัตนากร
‘สรวิช ไพบูลย์รัตนากร’ หรือยีราฟ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Saturday School หรือโรงเรียนวันเสาร์ เขาเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกว่า ห่างไกลจากแวดวงการศึกษาพอสมควร
เขาเล่าว่าจุดเริ่มต้นของการเป็นครูในมูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์ เพราะเห็นปัญหาสังคมเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาคอร์รัปชัน การเมือง หรือเศรษฐกิจ ซึ่งหลายปัญหาที่ประสบพบเห็นนั้น มองต่อไปว่า การศึกษาของเด็กและเยาวชนมีผลอย่างมากต่ออนาคตของสังคมไทย
โดยปัจจุบันเป็นครูมาแล้ว 2 ปี ซึ่งทำให้เห็นว่า ความต้องการทำให้สังคมเป็นอย่างไรนั้น ทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ นั่นจึงเริ่มเปิดพื้นที่ให้แต่ละคน ไม่ว่าประกอบอาชีพใด มีอายุมากน้อยแค่ไหน สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็ก ๆ ในด้านต่าง ๆ ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพชีวิตเบื้องต้น หรือด้านอื่นก็ตาม
“ไม่ว่าจะมีทักษะด้านไหนก็ตาม สามารถลงแรงได้ อย่างองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเด็กและเยาวชน มีหลายพื้นที่เข้ามาลงแรง สอน หรือเข้ามาเป็นกระบอกเสียงทำให้เด็ก ๆ มีเสียงมากขึ้น ยกตัวอย่าง องค์การยูนิเซฟมีพื้นที่ทำให้เด็กได้ปล่อยเสียงออกมาว่ามีความคิดอย่างไร เช่นเดียวกันองค์กรที่เราสังกัดอยู่สามารถลงแรงได้ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการ หรือความสามารถด้านไหนด้านหนึ่ง สามารถช่วยสอนเด็กในวันเสาร์ได้” ยีราฟ กล่าว
อภิชาติ การุณกรสกุล
‘อภิชาติ การุณกรสกุล’ ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ทำงานขับเคลื่อนด้านสังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางโอกาส โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการที่เขาเห็นว่า เข้าถึงโอกาสยากลำบากมากที่สุด ซึ่งโอกาสนั้น คือ การมีงานทำเพื่อพึ่งพอตนเอง
ประธานมูลนิธินวัตกรรมฯ ขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวมาตลอด 5 ปี พยายามเชื่อมโยงโอกาสที่ทำตกหล่นอยู่ในประเทศไทย
“ไทยมีกฎหมายกำหนดให้สถานประกอบการ ถ้ามีพนักงาน 100 คน ต้องจ้างคนพิการ 1 คน ซึ่งทั้งหมดต้องจ้างกว่า 6 หมื่นอัตรา แต่ความจริงแล้ว พบว่า สถานประกอบการไม่มีความสามารถจะหาคนพิการตรงตามความต้องการได้ครบ จึงเป็นเหตุผลของการตกหล่นเป็นเวลานาน และเมื่อจ้างไม่ได้ จึงต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งมีจำนวนกว่าหมื่นล้าน แต่คนพิการกลับยังเข้าไม่ถึงอาชีพ”
สิ่งที่อภิชาตินำเสนอเป็นเพียงข้อมูลของโอกาสคนพิการที่ตกหล่น 2 หมื่นอัตรา เป็นเงิน 2 พันล้านบาท ที่จะถึงมือคนพิการ จะเห็นได้ว่า หากสถานประกอบการทุกแห่งจ้างงานครบและหันมาร่วมมือกันทำเรื่องนี้ จะสามารถทำให้คนพิการ 2 หมื่นคน มีงานทำทันที
โดยคนพิการขอเพียงว่า เป็นงานใกล้บ้าน และงานนั้นไม่ได้เรียกร้องวุฒิการศึกษา เช่น การจ้างงานเชิงสังคม บริษัทจ่ายเงินจ้างคนพิการ คนพิการไปทำงานให้กับหน่วยงานบริการชุมชนในพื้นที่ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน ซึ่งขาดแคลนงบประมาณอยู่แล้ว ฉะนั้นทุกคนได้ประโยชน์หมด คนพิการมีงานทำ มีเกียรติ ศักดิ์ศรี และพึ่งพาตนเองได้
กิติยา โสภณพนิช
อีกหนึ่งปัญหาที่กำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก หนีไม่พ้น ‘สิ่งแวดล้อม’
‘กิติยา โสภณพนิช’ กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีความหลากหลายมาก และเป็นเรื่องกว้างมาก แต่มีข้อดีที่ว่า เป็นเรื่องใกล้ตัวเรา
เธอตั้งคำถามว่า ฝุ่น PM2.5 รู้สึกหรือไม่ คำตอบ คือ รู้สึก เช่นเดียวกัน น้ำเหม็น อากาศเป็นพิษ โลกร้อนขึ้น ทุกคนล้วนมีความรู้สึกถึงอันตราย แต่ขณะเดียวกันยอมรับว่า เป็นเรื่องแก้ไขยาก เพราะการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ต้องเปลี่ยนความเคยชินให้ได้
นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงยาก อย่าง ‘แก้วกาแฟ’ ในมือเราทำให้โลกร้อนได้อย่างไร หรือ ‘ถุงข้าวแกง’ ของเราอยู่ในท้องวาฬได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้อาจรู้สึกเป็นเรื่องไกลตัว ที่จะทำให้เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน...เข้าใจ...แต่ไม่รู้สึกเท่าไหร่นัก
ทั้งนี้ ยังมีเรื่องดี เพราะปีนี้สื่อมวลชนและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ต่างพากันโหมให้ ‘สิ่งแวดล้อม’ เป็นกระแส ยกระดับสู่วิกฤติ กลายเป็นเรื่องเร่งด่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับทุกคน จึงต้องอาศัยพลังของทุกคนที่จะมาช่วยกันแก้ปัญหา ซึ่งปีนี้ ภาคีได้หยิบยกเรื่องขยะพลาสติกขึ้นมาเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมสำคัญด้วย
ดร.มานะ นิมิตรมงคล
ขณะที่ ‘คอร์รัปชัน’ เวลานี้ทุกคนในสังคมตื่นรู้ ร่วมกันตรวจสอบมากขึ้น โดยมีองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และภาคีร่วมกันหนุนเสริมพลังให้แข็งแกร่ง
‘ดร.มานะ นิมิตรมงคล’ เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) บอกว่า เราทุกคนได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากคอร์รัปชัน ใครใช้รถเมล์ จะรู้ว่าเป็นเวลานานแล้ว ที่เราใช้รถเมล์ไม่มีประสิทธิภาพ มีควันดำ สร้างมลภาวะ ให้คนไทยหายใจเข้าไป เกิดฝุ่น PM 2.5 หรือข่าวการโกงกินอาหารกลางวันเด็ก รวมถึงมีปัญหาในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข ยารักษามีราคาสูง ล้วนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้น
เพียงแต่ปัญหาคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่คนไทยไม่รู้ว่าเบื้องหลังคืออะไร หลายเรื่องเรารู้ แต่ไม่เข้าใจว่าเป็นเรื่องคอร์รัปชันหรือไม่
เขายกตัวอย่าง ปัญหาขยะ เอาง่าย ๆ กทม.จะสร้างโรงเผาขยะ ราคาหมื่นล้าน แต่เมื่อจะสร้างขึ้นมา กลับมีข่าว ทำให้โครงการชะงัก หรือปัญหาคนพิการ มีข้าราชการจำนวนหนึ่งจับมือกับพ่อค้าตั้งกลุ่มจดทะเบียน หลอกเอาเงินมา ทำให้ผลประโยชน์ไม่ตกถึงคนพิการ
แล้วยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาเราพยายามตั้งมูลนิธิเครือข่ายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค แต่การตั้งเครือข่ายมีปัญหา เพราะมีกลุ่มหนึ่งตั้งหลอก ๆ ขึ้นมา และเจ้าหน้าที่บางคนให้การสนับสนุน ทำให้คิดว่า หากสภาผู้บริโภคเกิดขึ้นจริงจะเป็นสภาของผู้บริโภคจริงหรือไม่ ฉะนั้นเป็นปัญหาใกล้ตัวต้องร่วมแรงร่วมใจกัน แต่ถ้าทุกคนช่วยกันมองและจับตา เชื่อว่าทุกอย่างจะโปร่งใส
คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์
ด้าน ‘คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์’ ผู้ก่อตั้งและประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ขับเคลื่อนสังคมในเรื่องตายอย่างมีความสุข ทำอย่างไรให้ตาย โดยเจ็บปวดน้อยที่สุด ญาติไม่มีรอยแผลในชีวิต และผู้ไร้ญาติได้รับการดูแลอย่างไร
ยอมรับว่า เวลานี้มีปัญหา ทั้งด้านเศรษฐกิจ มหภาคและจุลภาค รวมถึงปัญหาของพื้นที่รักษา เช่น เตียงผู้ปวยในรพ. ขาดแคลน อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนมากอาจจะสามารถกลับบ้านและมาจบชีวิตที่บ้านได้อย่างมีความสุข โดยการจัดการเรื่องนี้ต้องมีกฎหมาย อาจต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง
คุณหญิงจำนงศรี ทราบว่า ในกทม.มีปัญหาเยอะเหมือนกันสำหรับคนตายที่บ้าน เพราะไม่เข้าใจว่า มีกฎหมายกำกับอยู่ “ตายที่บ้านต้องมีการชันสูตรก่อนจะรับใบมรณบัตร” แต่มีอีกว่า “ถ้าแพทย์เจ้าของไข้เขียนรับรองว่าคนไข้ต้องการเสียชีวิตที่บ้านได้”
“เวลานี้มีคนตาย เรียกรถพยาบาลไปรับ แล้วแจ้งว่าตายในรถพยาบาล เพื่อแก้ปัญหาเรื่องชันสูตร สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องย่อยที่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบ ภาครัฐควรเข้ามาสนใจ”
อีกทั้งยังมีปัญหาอีกมาก ผู้ดูแลคนสูงอายุ หรืออัลไซเมอร์ จะเกิดเป็นโรคซึมเศร้า ต้องใช้ยา และขาดความเข้าใจว่า การเยียวยาผู้ดูแลเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นเป็นการเรียนรู้และศึกษาของประชาชนโดยทั่วไป เพราะทุกคนเป็นมนุษย์ต้องแก่และตาย ถ้าเราเข้าใจสิ่งเหล่านี้ จะเกิดการยอมรับและมีทักษะในการจัดการดีที่สุด
5 ปัญหาสังคม ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาบอกเล่าสั้น ๆ บนเวที เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะในความจริงสังคมไทยยังมีปัญหาอีกร้อยแปดพันอย่างที่ต้องการความร่วมแรงร่วมใจ...เป็นล้านพลังขับเคลื่อนต่อไป .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/