"บิ๊กแดง" เดี่ยวไมโครโฟนไฟใต้ - "บิ๊กลภ" หารือคณะพูดคุยฯ
ช่วงนี้มีข่าวเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในบริบทที่เชื่อมโยงกับความเคลื่อนไหวทางการเมืองบ่อยครั้ง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงรายวันเหมือนที่ผ่านมา
อย่างเช่น การเคลื่อนไหวของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่รับตรวจสอบปมการเสียชีวิตของ นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง ที่ถูกคุมตัวเข้าค่ายทหาร หรือการยิงตัวเองของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ในบริเวณศาลจังหวัดยะลา โดยอ้างว่าถูกแทรกแซงการวินิจฉัยคดี และมีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎหมายพิเศษ
จะว่าไปข่าวที่ออกมาส่วนใหญ่ค่อนข้างเป็นลบกับหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาอยู่ โดยเฉพาะทหาร
ล่าสุดจึงมีความเคลื่อนไหวจากทางฝั่งกองทัพบ้าง เมื่อผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ นัดสื่อมวลชนทุกแขนงไปร่วมฟังการบรรยายพิเศษเรื่องปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ห้องโถงด้านล่างของหอประชุมกิตติขจร กองบัญชาการกองทัพบก ริมถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร ในวันศุกร์ที่ 11 ต.ค.62
หัวข้อกว้างๆ ที่ ผบ.ทบ.แจ้งผ่านสื่อมาล่วงหน้าก็คือ "บทบาทกองทัพในการดูแลความมั่นคงภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน" คาดว่าเนื้อหาจะมีทั้งประเด็นปัญหาภาคใต้ การใช้สื่อสังคมออนไลน์ เฟคนิวส์ และการเปิดแนวรบใหม่ในโลกไซเบอร์
วัตถุประสงค์ของงานนี้ ถูกระบุว่าเป็นหนึ่งในกิจกรรมมวลชนสัมพันธ์ของกองทัพ เพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจแก่ผู้นำองค์กร มวลชน ประชาชน รวมทั้งสื่อมวลชนในการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนต่อไป
มีข้อมูลจากนักข่าวสายทหาร ประเด็นหลักจริงๆ ที่ พล.อ.อภิรัชต์ หรือ "บิ๊กแดง" ต้องการพูดแบบยาวๆ ในครั้งนี้ คือการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นความตั้งใจที่จะสื่อสารกับสาธารณชนเพื่อสร้างความเข้าใจมาก่อนแล้ว ไม่ใช่ตัดสินใจที่จะพูดหลังมีความพยายามจากบางฝ่าย รวมทั้งฝ่ายการเมือง โจมตีกองทัพที่มีบทบาทนำในภารกิจดับไฟใต้มาตลอด
สำหรับ พล.อ.อภิรัชต์ เคยไปราชการสนามที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วงต้นๆ ของสถานการณ์ไฟใต้ โดยเป็นผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา 14 รับผิดชอบพื้นที่อำเภอธารโต และ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา จึงน่าจะมีประสบการณ์มาถ่ายทอดให้สังคมได้รับรู้ รวมถึงมีแนวนโยบายในการจัดการปัญหา ซึ่งในช่วงที่รับตำแหน่ง ผบ.ทบ. และเดินทางลงพื้นที่ชายแดนใต้ "บิ๊กแดง" ก็เคยประกาศนโยบายหลายอย่าง เฉพาะที่เด่นๆ คือ การแยกแยะเหตุรุนแรงว่าเป็นการก่อการร้าย หรือปล้นฆ่าส่วนตัว รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีของประชาชนทุกกลุ่มทุกศาสนาในพื้นที่
ขณะที่ พล.อ.อภิรัชต์ เองเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้เมื่อเดือน ก.ค.62 ว่า "กำลังเขียนวิทยานิพนธ์ หรือบทความเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้น และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาในอดีต รวมถึงความเชื่อมโยงต่างๆ โดยขณะนี้พยายามเรียบเรียงอยู่ และดำเนินการมาได้ 2 สัปดาห์แล้ว (ณ เวลานั้น) ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงและสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมถึงเรื่องโซเชียลมีเดียและสื่อมวลชนด้วย หลังจากนี้จะมีการเผยแพร่ต่อไป"
จากคำสัมภาษณ์ของ "บิ๊กแดง" ทำให้บางฝ่ายคาดการณ์ว่าสิ่งที่เจ้าตัวจะพูด อาจพูดถึงสถานการณ์ความมั่นคงรวมๆ ไม่เฉพาะปัญหาภาคใต้ เพราะ พล.อ.อภิรัชต์ ให้ความสนใจเป็นพิเศษในเรื่อง "ข่าวลวง" หรือ เฟคนิวส์ และการใช้โซเชียลมีเดียครอบงำความคิดทางการเมือง โดยเคยแนะนำให้สื่อมวลชนและประชาชนไปติดตามรับชมภาพยนตร์ที่ชื่อ "The Great Hack" ใน NetFrix ที่เปิดโปงการใช้โซเชียลมีเดียของกลุ่มการเมืองที่บิดเบือนข้อมูลข่าวสาร และชี้นำความคิดของสังคมเพื่อชัยชนะในการเลือกตั้งด้วย
อีกด้านหนึ่ง มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่งตั้งหัวหน้าคณะพูดคุยฯคนใหม่ คือ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ที่เพิ่งเกษียณอายุราชการจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดย พล.อ.วัลลภ ได้หารือนอกรอบกับคณะพูดคุยฯ และฝ่ายเลขานุการของคณะพูดคุยฯชุดเดิมที่มี พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นหัวหน้า ซึ่งคาดว่า พล.อ.วัลลภ จะใช้ทีมงานชุดเก่าต่อไป
ส่วนความคืบหน้ากระบวนการพูดคุยกับกลุ่ม "มารา ปาตานี" นั้น แหล่งข่าวในคณะพูดคุยฯ ยืนยันว่า แม้การพบปะอย่างเป็นทางการในระดับหัวหน้าคณะพูดคุยฯของทั้งสองฝ่ายจะหยุดชะงักไป แต่คณะทำงาน หรือฝ่ายเลขาฯ ก็ยังนัดพบปะพูดคุยกับบางกลุ่มใน "มารา ปาตานี" อยู่ตลอด เพราะเนื้อแท้ของ "มารา ปาตานี" ก็เป็นการรวมตัวกันมาหลวมๆ จากกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐหลายกลุ่ม โดยบางกลุ่มก็พร้อมคุยกับรัฐบาลไทย และยังมีสัญญาณจากกลุ่มฮาร์ดคอร์ในบีอาร์เอ็นด้วย
ฉะนั้นกระบวนการพูดคุยจึงไม่ได้หยุดชะงักตามที่บางฝ่ายโจมตี แต่ยังมีการพบปะพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการอยู่ตลอด ทำให้สถานการณ์ภาพรวมในพื้นที่ดีขึ้น เพียงแต่ฝั่งผู้เห็นต่างจากรัฐยังไม่มีเอกภาพในการรวมกันเป็นกลุ่มเดียวเพื่อพูดคุยกับรัฐบาลไทย ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะเดินไปสู่จุดนั้น