ปี 62 กทม.มีคนไร้ที่พึ่ง 4 พันคน เพิ่มขึ้น 10% พบมากที่ ‘หัวลำโพง’
ภาคประชาสังคมเผยตัวเลขคนไร้ที่พึ่ง กทม. ปี 62 กว่า 4 พันคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10% พบมากที่หัวลำโพง -สถานีรถไฟบางซื่อ สวนสาธารณะ แนะสร้างเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต คืนกลับสู่ครอบครัว
วันที่ 10 ต.ค. 2562 มูลนิธิอิสรชน ร่วมกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ภาคีเครือข่ายภาครัฐ และเอกชน จัดงานรณรงค์สร้างสังคมสวัสดิการ “วันคนไร้ที่พึ่ง” ณ ห้องราชา โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ
นางอัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน กล่าวถึงสถานการณ์คนไร้ที่พึ่งในปัจจุบันว่า ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ ก.ย. 2562) มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะหรือคนไร้ที่พึ่งที่อยู่ในที่สาธารณะของกรุงเทพฯ 4,392 คน เพิ่มขึ้น 363 คน หรือร้อยละ 10 จากปี 2561 ซึ่งตัวเลขดังกล่าว แม้จะเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่บ่งชี้ว่า ขณะเดียวกันภาวะเสี่ยงจะเกิดขึ้นกับคนไร้ที่พึ่งมากขึ้นตามไปด้วย
ทั้งนี้ เป็นผลจากการจัดระเบียบเมือง ทำให้คนไร้ที่พึ่งจากที่เคยอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มต้องกระจายตัวไปตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น สถานีรถไฟกรุงเทพฯ ที่มีจำนวนก้าวกระโดด เเละยังมีที่สถานีรถไฟบางซื่อ สวนสาธารณะ ขณะที่สถานที่ดังกล่าวกำลังจะจัดระเบียบห้ามเข้ามาพักอาศัยด้วย ทำให้คนไร้ที่พึ่งต้องเร่ร่อนไปยังพื้นที่อื่น ปัญหาจึงไม่จบสิ้น
เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ระบุควรสร้างเครือข่ายอย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ปัญหา อย่างภาคเอกชนจะพัฒนาอย่างไร ขณะนี้มีคนกลุ่มริมถนนกี่กลุ่ม สามารถพัฒนาได้หรือไม่ ส่วนผู้ป่วยไร้ที่พึ่งต้องได้รับการรักษาและคืนกลับสู่ครอบครัว โดยครอบครัวต้องมีความรู้ในการดูแล เช่นเดียวกันผู้ป่วยทางจิตต้องได้รับยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสุดท้าย คนกลุ่มดังกล่าวไม่ต้องออกมาไร้ที่พึ่งอีก แต่ปัจจุบันการแก้ปัญหาโดยการจับนั้นเป็นเพียงปลายเหตุ ไม่ใช่ต้นเหตุ
“วันนี้อาจตั้งมาตรการไม่ให้คนไร้ที่พึ่งนอนในกรุงเทพฯ แล้ว แต่จะทำให้คนกลุ่มนี้ย้ายไปเร่ร่อนในจังหวัดอื่น ๆ แทน แม้จะมองว่าไม่ใช่จังหวัดตนเอง แต่ถามว่า สิ่งนี้เป็นปัญหาของประเทศหรือไม่”
ส่วนสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง นางอัจฉรา กล่าวว่า เกือบร้อยละ 80 เป็นผู้ป่วยทางจิต จึงอยากให้เห็นใจนักสังคมสงเคราะห์ เพราะไม่ใช่แพทย์หรือนักจิตเวช แต่ต้องมาดูแลผู้ป่วยทางจิตเกือบ 50 คน ดังนั้น จึงเสนอว่า ผู้ป่วยทางจิตควรอยู่ในองค์กรที่ดูแลอาการป่วยทางจิตโดยเฉพาะ ขณะที่สถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งมีไว้สำหรับคนไร้ที่พึ่งที่ไม่มีผู้ดูแลจริง ๆ ส่วนผู้ไร้ที่พึ่งที่สามารถพัฒนาตนเองได้ ต้องให้กลับคืนสู่ครอบครัว ดังนั้น ครอบครัวต้องมีบทบาทในการดูแลคนให้มากขึ้นนั่นเอง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/