กรุงไทยยุคใหม่..
"...ขณะที่บุคคลภายนอกเคยมองว่า การที่ธนาคารกรุงไทย ต้องสนองตอบต่อนโยบายของรัฐบาลชุดต่างๆในเป็นภาระอันหนักอึ้ง แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของนายผยงกลับมองว่า เป็นโอกาสที่ได้ลูกค้าจำนวนมหาศาล อาทิ ประชาชนที่ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกว่า 14 ล้านคน ผู้ลงทะเบียนชิม ช้อป ใช้ 10 ล้านคน ร้านที่เข้าร่วมธงฟ้า และชิม ช้อป ใช้กว่า 150,000 ร้าน ยังไม่รวมกลุ่มลูกค้าที่เป็นข้าราชการการ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.)ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมหาศาลต่อไป..."
กลายเป็น ‘ทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์’สำหรับโครงการ ‘ชิม ช้อป ใช้’ ที่ผู้คนกล่าวขวัญถึงในแง่มุมต่างๆอย่างหลากหลาย ทั้งด้านบวกและลบ แน่นอนการที่คนถึง 10 ล้านคนแห่ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์จนเต็มโครงการภายใน 10 วันเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน
ในแง่การสร้างความรับรู้ของประชาชนในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
แต่เบื้องหลังความสำเร็จดังกล่าว ต้องมีการระดมสรรพกำลังช่วยวางระบบโครงการสร้างพื้นฐานทั้งด้านไอที (Information technology) โครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินที่ใช้เวลาเพียง 2 เดือน และยังต้องคอยติดตามผลตลอด 24 ชั่วโมงในช่วงที่มีการลงทะเบียนเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นมากมายเพราะประชากรขนาดมหึมาที่ทะลักเข้ามาเพื่อลงทะเบียนพร้อมๆกัน
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ ‘ชิม ช้อป ใช้’ เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขว้างคือกลยุทธ์การโฆษณาและการตลาดโดยเฉพาะคลิปที่เอาดาราวัยรุ่นที่ธนาคารกรุงไทยซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในโครงการนำมาเป็นพรีเซ็นเตอร์จนกลายเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดีย ที่เผยแพร่ไม่ถึง 20 วันที่คนคลิกเข้าดูไปแล้วถึง 30 ล้านวิว (www.youtu.be/SKmp5o-OrvI)
ประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ในโครงการนี้คือ การยกระดับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและฐานข้อมูลขนาดมหึหา (Big Data) ของประชาชนจำนวน 10 ล้านคนที่ภาครัฐสามารถนำไปใช้ต่อยอดและใช้ประโยชน์ได้อย่างมากมายในอนาคตโดยเฉพาะธนาคารกรุงไทยซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านระบบชำระเงินและโครงการสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่มียุทธศาสตร์ชัดเจนทางด้านดิจิทัลเพื่อก้าวไปสู่การเป็น Invisible Banking หรือธนาคารที่ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมในอากาศเคลื่อนที่ได้ในทุกที่ทุกเวลา
การที่ธนาคารกรุงไทยได้วางยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาทางด้านดิจิทัล ในลักษณะดังกล่าว ทางผู้บริหารธนาคารเคยประกาศว่า ได้ลงทุนทางด้านไอทีถึง 19,000 ล้านบาทและมีการดึงผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทชั้นนำ ในระดับโลกมาให้คำปรึกษาในการยกระดับการให้บริการทางการเงินในทุกมิติเพื่อให้ลูกค้าและประชาชนสามารถเข้าถึงการทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างสะดวกง่ายดายและปลอดภัย
การกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อเดินไปสู่เป้าหมายดังกล่าวเป็นการพลิกโฉมธนาคารกรุงไทยที่มีผู้คนจำนวนมากมองภาพลักษณ์ของธนาคารกรุงไทยว่า เป็นธนาคารของรัฐที่เชย ล้าหลัง เต็มไปด้วยปัญหา และต้องสนองตอบนโยบายของ รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยจนกลายเป็นภาระของธนาคาร
และที่สำคัญยังบอบช้ำจากการถูกครอบงำด้วยอำนาจทางการเมืองและนำไปสู่ปัญหาการทุจริตครั้งใหญ่หลายครั้งดูได้จากอดีตผู้บริหารของธนาคารกรุงไทยหลายคนต้องคดีและถูกพิพากษาให้จำคุกจาก การทุจริตโดยเฉพาะคดีล่าสุดการ ปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มกฤษดามหานครกว่า 8,000 ล้านบาททำให้ คณะกรรมการบริหาร ผู้บริหารพนักงาน ระดับสูง และเอกชนที่เกี่ยวข้องถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสิน จำคุก กันระนาว
หลังจากนั้นไม่กี่ปีก็มีข่าวว่า ผู้บริหารระดับสูงบางคนของธนาคารเข้าไปพัวพันกับ การปล่อยสินเชื่อ 12,000 ล้านบาทให้แก่บริษัทด้านพลังงานที่มีการกล่าวหาว่ามีการฉ้อโกงธนาคาร ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษและการไต่สวนของคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
แน่นอนว่า การสะสางปัญหาเก่าๆ ขณะเดียวกันต้องขับเคลื่อนธนาคารให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ของผู้บริหารชุดปัจจุบันที่มีนายผยง ศรีวณิช เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะนอกจาก จะต้องทำให้คณะกรรมการของธนาคารสนับสนุนแนวทางดังกล่าวแล้ว จะต้องนำพาและผลักดันให้พนักงานของธนาคารกว่า 21,000 คนเข้าใจและพร้อมที่จะเดินหน้าไปสู่เป้าหมายเดียวกัน
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานคณะกรรมการธนาคารกรุงไทยกล่าวว่า เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นใน อดีตและทำให้การดำเนินการของธนาคารเป็นไปอย่างโปร่งใสเป็นไปตาม ระเบียบกฎหมาย ทางธนาคารจึงคิดโครงการ ‘กรุงไทยคุณธรรม’ โดยให้พนักงานมีส่วนร่วมในการเสนอโครงการต่างๆในด้านการปฎิบัติงานให้เป็นไปอย่างถูกต้องซึ่งจากเดิมกฎระเบียบดังกล่าวจะกำหนดจากฝ่ายบริหารลงไป
ปรากฏว่า มีพนักงานเสนอโครงการมาถึง 168 โครงการซึ่งทางธนาคารได้คัดเลือกโครงการที่ชนะการประกวดไป 10 โครงการ และนำมาพัฒนาเพื่อให้สามารถขยายผลให้นำไปใช้ในการปฏิบัติงานในทุกสาขาทั่วประเทศซึ่งโครงการดังกล่าวนอกจากจะทำให้ การปฎิบัติงานของธนาคารเป็นไปอย่างโปร่งใสถูกต้องตามกติกาแล้วยังทำให้พนักงานกล้าที่จะเสนอแนวคิดต่างๆเพื่อช่วยกันพัฒนาองค์กรได้เป็นอย่างดี
ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ยืนยันว่า การเป็นธนาคารของรัฐและต้องวางโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบการชำระเงิน กลายเป็นจุดแข็งของธนาคารโดยสร้างแฟลตฟอร์ม(Platform) เชื่อมโยงระบบนิเวศน์(Ecosystem)กลุ่มต่างๆเข้าด้วยเข้าด้วยกัน เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, ธงฟ้า, ชิม ช้อป ใช้ ,บัตรแมงมุม ซึ่งกลุ่มต่างๆเหล่านี้จะทำให้ธนาคารได้ฐานและข้อมูลลูกค้าจำนวนมหาศาล รวมทั้งเงินที่เข้ามาหมุนเวียนในระบบ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์อื่นๆต้องแสวงหาพันธมิตรที่เป็นภาคเอกชน
การการสร้างแฟลตฟอร์มเพื่อโยงระบบนิเวศน์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ต้องอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ทางด้านAI (ปัญญาประดิษฐ์) เพื่อให้รู้จักลูกค้า พฤติกรรมลูกค้าเพื่อนำมาวิเคราะห์ซึ่งฐานข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์อย่างมากและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต
ขณะเดียวกันการสร้างแฟลต์ฟอร์มต่างๆ บนสมาร์ทโฟน เช่น กรุงไทยเน็ก (Krungthai Next) กรุงไทย คอนเน็ก (Krungthai Connext) เป๋าตัง ถุงเงิน เป๋าตุง ก็เป็นการวางเป้าหมายเพื่อนำธนาคารไปในที่สิ่งที่เรียว่า โอเพ่นแบงก์กิ้ง(Open Banking) ซึ่งหมายถึงผู้ที่เข้ามาเชื่อมต่อหรือใช้บริการแอปพลิเคชั่นเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นลูกค้าของธนาคาร
ขณะที่บุคคลภายนอกเคยมองว่า การที่ธนาคารกรุงไทย ต้องสนองตอบต่อนโยบายของรัฐบาลชุดต่างๆในเป็นภาระอันหนักอึ้ง แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของนายผยงกลับมองว่า เป็นโอกาสที่ได้ลูกค้าจำนวนมหาศาล อาทิ ประชาชนที่ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกว่า 14 ล้านคน ผู้ลงทะเบียนชิม ช้อป ใช้ 10 ล้านคน ร้านที่เข้าร่วมธงฟ้า และชิม ช้อป ใช้กว่า 150,000 ร้าน ยังไม่รวมกลุ่มลูกค้าที่เป็นข้าราชการการ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.)ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมหาศาลต่อไป
การพัฒนาระบบไอทีในระยะเวลาไม่กี่เดือนขึ้นมารองรับโครงการชิม ช้อป ใช้ ที่มีผู้คนแห่มาลงทะเบียนถึง 10 ล้านคนในเวลา 10 วันและสามารถรู้ได้ว่า ประชาชนนำเงินใน ‘เป๋าตัง’ ไปจับจ่ายใช้สอยที่ไหน เมื่อไหร่ และอย่างไร เป็นบทพิสูจน์แรกว่า ธนาคารกรุงไทยกำลังพลิกโฉม ที่กำลังจะก้าวสู่โอเพ่นแบงกกิ้งต่อไปในอนาคต