ความเชื่อมโยงด้านต่างประเทศและนัยต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทย
“...ความเชื่อมโยงของไทยกับต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดการส่งผ่านความเสี่ยงจากเศรษฐกิจการเงินโลกมาสู่ไทยได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น จึงมีนัยต่อการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (financial stability)ของไทย...”
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไทยมีความเชื่อมโยงทางการเงินกับต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งในมิติด้านปริมาณผ่านการถือครองสินทรัพย์และการมีหนี้สินกับต่างประเทศ และมิติด้านราคาผ่านความเชื่อมโยงในตลาดตราสารหนี้และตราสารทุนกับต่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้การส่งผ่านความเสี่ยงจากระบบเศรษฐกิจการเงินโลกมาสู่ไทยเป็นไปได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น ผลการศึกษาพบว่าการส่งผ่านความเสี่ยงจากความเชื่อมโยงด้านปริมาณระหว่างภาคธนาคารของไทยกับต่างประเทศ (cross-border interbank linkages) เกิดขึ้นผ่านช่องทางความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (funding shock) เป็นหลัก อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากภาคธนาคารต่างประเทศต่อเงินกองทุนของระบบธนาคารไทยในภาพรวมยังมีจำกัด
การเปิดเสรีทางการค้าและเงินทุนเคลื่อนย้ายภายใต้ยุคโลกาภิวัตน์ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กรณีของประเทศไทยเอง ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ภาคเศรษฐกิจและระบบการเงินไทยมีความเกี่ยวพันกับภาคต่างประเทศ (cross-border linkages) เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ทั้งในแง่ของความเชื่อมโยงทางการค้า (trade linkages) ผ่านการนำเข้าและส่งออกสินค้า/บริการ ตลอดจนความเชื่อมโยงทางการเงิน (financial linkages) ผ่านการลงทุนทางตรง การลงทุนทางอ้อม และการกู้ยืมระหว่างกัน
ความเชื่อมโยงกับภาคต่างประเทศผ่านทางการค้าและเงินทุนเคลื่อนย้ายเสรีนั้น แม้จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจการเงินไทยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่อีกนัยหนึ่ง ความเชื่อมโยงที่เพิ่มขึ้นกับภาคต่างประเทศ ย่อมส่งผลให้การส่งผ่านความเสี่ยงจากระบบเศรษฐกิจการเงินโลกมาสู่ประเทศไทยเป็นไปได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งผ่านความเสี่ยงผ่านความเชื่อมโยงทางการเงินดังที่เห็นได้ชัดเจนในช่วงวิกฤตการเงินโลก (global financial crisis) ปี 2008-2009 ที่ผ่านมา ดังนั้น การทำความเข้าใจถึงภาพความเชื่อมโยงทางการเงินของไทยกับต่างประเทศ ตลอดจนช่องทางในการส่งผ่านความเสี่ยงจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับ การประเมินความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน (financial stability) ของไทย
ทำความรู้จักกับความเชื่อมโยงทางการเงิน
โดยทั่วไปแล้ว สามารถวัดความเชื่อมโยงทางการเงินได้ผ่าน 2 มิติหลัก ได้แก่ (1) มิติด้านปริมาณ (quantity-based) เห็นได้จากงานศึกษาของต่างประเทศเกี่ยวกับ balance sheet-based network analysis ของ Chan-Lau, Espinosa-Vega, Giesecke, and Sole (2009), Chan-Lau (2010) และ Espinosa-Vega and Sole (2010) ซึ่งเป็นการศึกษาการส่งผ่านความเสี่ยงจากความเชื่อมโยงด้านสินทรัพย์และด้านหนี้สินของงบดุลระหว่างสถาบันการเงิน และกรณีของไทย ได้แก่ งานวิจัยของ Civilize, Watewai, Panyanukul, and Ruengsrichaiya (2018) ซึ่งศึกษาการส่งผ่านความเสี่ยงในระบบการเงินไทยผ่านข้อมูลงบดุลทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค โดยครอบคลุมผู้เล่น 7 ภาคเศรษฐกิจหลักในระบบการเงิน[1] (2) มิติด้านราคา (price-based) เช่น งานศึกษาของ Diebold and Yilmaz (2014) ซึ่งเป็นการวัดความเชื่อมโยงผ่านผลกระทบด้านความผันผวนในราคาหลักทรัพย์
ความเชื่อมโยงทางการเงินกับภาคต่างประเทศในมิติด้านปริมาณนั้น เป็นการวัดความเชื่อมโยงด้านงบดุลผ่านการถือครองสินทรัพย์ทางการเงินและการมีหนี้สินทางการเงินระหว่างผู้มีถิ่นฐานในประเทศ (residents: R) กับผู้มีถิ่นฐานในต่างประเทศ (non-residents: NR) เช่น นักธุรกิจไทยออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (Thai direct investment) นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในหุ้นตลาดหลักทรัพย์ไทย (foreign portfolio investment) หรือ ธนาคารพาณิชย์ไทยกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศ (foreign borrowing) เป็นต้น ดังนั้น ความเชื่อมโยงในมิติด้านปริมาณถือเป็นการวัดความเชื่อมโยงทางตรง (direct linkages) ผ่านงบดุลทั้งในฝั่งสินทรัพย์และหนี้สิน
สำหรับความเชื่อมโยงทางการเงินในมิติด้านราคาอาจพิจารณาได้ว่าเป็นความเชื่อมโยงทางอ้อม (indirect linkages) เนื่องจากเป็นการมองความเชื่อมโยงระหว่างประเทศผ่านความสัมพันธ์ด้านราคาสินทรัพย์ (asset prices) เป็นหลัก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การที่ราคาหุ้นของไทยกับประเทศภูมิภาคเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน จากผลของแนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลเข้าออกในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ เป็นต้น
ความเชื่อมโยงทางการเงินของไทยกับต่างประเทศ
(1) มิติด้านปริมาณ (quantity-based)
ความเชื่อมโยงทางการเงินของไทยกับต่างประเทศในมิติด้านปริมาณนั้นสามารถมอง ได้จากข้อมูลฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ (International Investment Position: IIP) ซึ่งเปรียบเสมือนงบดุลที่สะท้อนถึงสินทรัพย์และหนี้สินทางการเงินของไทยที่มีกับต่างประเทศ ซึ่งในภาพรวมพบว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไทยมีความเชื่อมโยงกับต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากมูลค่าสินทรัพย์และหนี้สินทางการเงินที่ไทยมีกับต่างประเทศซึ่งสูงขึ้นกว่าเท่าตัว[2] โดยไทยมีฐานะเป็นลูกหนี้สุทธิ (net borrower) ลดลง กล่าวคือ มีหนี้สินต่างประเทศสูงกว่าสินทรัพย์ต่างประเทศในขนาดที่ลดลง เพราะในระยะหลังคนไทยออกไปลงทุนถือครองสินทรัพย์ในต่างประเทศเพิ่มขึ้น
แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ต่าง ประเทศของไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีพัฒนาการที่น่าสนใจใน 3 ด้าน (ภาพที่ 1) ได้แก่ (1) ประเภทผู้เล่น (player) พบว่า สถาบันการเงินอื่นที่มิใช่ภาคธนาคาร (other financial corporations: OFC) มีบทบาทในการถือครองสินทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ (foreign investment fund: FIF) ซึ่งออกไปแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในต่างประเทศในช่วงที่ภาวะดอกเบี้ยในประเทศอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ (2) ประเภทตราสาร (instrument) ที่ไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศมีความหลากหลายเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยในระยะหลัง เริ่มเห็นการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนตราสารหนี้และตราสารทุนในรูปแบบของการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ และ (3) ประเทศปลายทาง (country of destination) พบว่าในภาพรวมไทยมีการกระจายการลงทุนไปยังประเทศปลายทางที่หลากหลายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเริ่มเห็นการกระจุกตัว (concentration) ของการลงทุนของกองทุนรวมในบางประเทศ
ภาพที่ 1: ความเชื่อมโยงมิติด้านปริมาณของไทยกับต่างประเทศ (ด้านสินทรัพย์)
หมายเหตุ: CB คือ ธนาคารกลาง (central bank); HH คือ ภาคครัวเรือน (household); ODC คือ ภาคธนาคาร ซึ่งได้แก่ สถาบันการเงินที่รับฝากเงิน (other depository corporations); GG คือ รัฐบาล (general government); NFC คือ ภาคธุรกิจนอกภาคการเงิน (non-financial corporations); OFC คือ ภาคสถาบันการเงินอื่น (other financial corporations); n/a คือ การลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งในที่นี้ไม่ระบุประเทศที่ไปลงทุน
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
แม้สถาบันการเงินอื่นที่มิใช่ภาคธนาคารจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในด้านความเชื่อมโยงกับต่างประเทศ แต่ภาคธนาคาร (other depository corporations: ODC) โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ ยังถือเป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญ ทั้งนี้ หากพิจารณาความเชื่อมโยงกับต่างประเทศเฉพาะในภาคธนาคาร[3] ผ่านข้อมูลธุรกรรมระหว่างธนาคาร พบว่า ณ สิ้นปี 2018 ธนาคารไทยมีการกู้ยืมจากธนาคารในต่างประเทศ 2 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ โดยส่วนใหญ่เป็นการกู้ยืมระหว่างธนาคารในเครือเดียวกัน ในอีกด้านหนึ่ง ไทยมีการให้กู้ยืมกับธนาคารของประเทศในภูมิภาคเป็นหลัก โดยประมาณร้อยละ 80 ของธุรกรรมระหว่างธนาคารกับภาคต่างประเทศอยู่ในรูปของสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. (ภาพที่ 2)
ภาพที่ 2: ความเชื่อมโยงมิติด้านปริมาณของภาคธนาคารไทยกับภาคธนาคารต่างประเทศ (สิ้นปี 2018)
หมายเหตุ: ความหนาของเส้นแสดงมูลค่าเงินให้สินเชื่อ/เงินกู้ยืมระหว่างกัน และเส้นโค้งตามเข็มนาฬิกาแสดงทิศทางการไหลของเงินทุน
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
(2) มิติด้านราคา (price-based)
สำหรับความเชื่อมโยงทางการเงินในมิติด้านราคาสามารถดูได้จากความสัมพันธ์ระหว่างราคาสินทรัพย์ของไทยกับต่างประเทศ โดยในที่นี้จะพิจารณาความสัมพันธ์ดังกล่าวผ่านราคาสินทรัพย์ 2 ตัว ได้แก่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (government bond yield) ซึ่งสะท้อนความเชื่อมโยงด้านราคาในตลาดตราสารหนี้ และอัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์ (stock return) ซึ่งสะท้อนความเชื่อมโยงด้านราคาในตลาดตราสารทุน
ค่าสหสัมพันธ์ (correlation) ของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี และอัตราผลตอบแทนหลักทรัพย์ของไทยกับต่างประเทศตั้งแต่ปี 2001-2018 สะท้อนว่า (1) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ในภาพรวมยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวสอดคล้องกับอัตรา
ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นหลัก โดยหลังจากช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2008-2009 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวมีทิศทางปรับลดลงสอดคล้องกันทั่วโลก จากผลของการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (quantitative easing) ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (2) อัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์ไทยหลังช่วงวิกฤตการเงินโลก (post-crisis period) เมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤต (pre-crisis period) มีทิศทางเคลื่อนไหวสอดคล้องกับประเทศในภูมิภาคเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจีนที่มีบทบาทเพิ่มขึ้นในตลาดการเงินโลก (ภาพที่ 3) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งส่งผลให้มีกระแสเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของภูมิภาคเอเชียรวมทั้งไทย อีกทั้งมีทิศทางของกระแสเงินทุนไหลออกสอดคล้องกัน ตาม sentiment ในตลาดการเงินโลกต่อการคาดการณ์การปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ (normalization) ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
ภาพที่ 3: ความเชื่อมโยงมิติด้านราคา ของอัตราผลตอบแทนหลักทรัพย์ไทยกับต่างประเทศ
ค่าสหสัมพันธ์ (correlation)ระหว่างอัตราผลตอบแทนหลักทรัพย์ไทยกับต่างประเทศ
หมายเหตุ: การคำนวณ correlation แบ่งข้อมูลออกเป็น 2 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงก่อนวิกฤต (pre-crisis period) ครอบคลุมปี 2001-2007 และช่วงหลังวิกฤต (post-crisis period) ครอบคลุมปี 2010-2018 โดยยกเว้นช่วงวิกฤตปี 2008-2009 ซึ่งราคาสินทรัพย์มีความผันผวนกว่าช่วงเวลาปกติ
แนวโน้มค่าสหสัมพันธ์ (correlation)ระหว่างอัตราผลตอบแทนหลักทรัพย์ไทยกับต่างประเทศ
หมายเหตุ: แนวโน้มระยะยาว (long-term trend) คำนวณด้วยวิธี Hodrick-Prescott Filter; ค่า correlation ระหว่างอัตราผลตอบแทนหลักทรัพย์ไทยกับต่างประเทศ คำนวณด้วยวิธี 12-month rolling จากข้อมูลอัตราผลตอบแทนรายเดือน (%mom) ของดัชนีตลาดหลักทรัพย์
ที่มา: Bloomberg คำนวณโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
โดยสรุป ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไทยมีความเชื่อมโยงทางการเงินกับต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งในมิติด้านปริมาณผ่านการถือครองสินทรัพย์และการมีหนี้สินกับต่างประเทศ และมิติด้านราคาผ่านการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในหลักทรัพย์ตามภาวะการเงินโลก ดังนั้น การทำความเข้าใจถึงช่องทางการส่งผ่านความเสี่ยง(shock transmission) จากภาคต่างประเทศจึงมีความสำคัญสำหรับการประเมินความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทย
การส่งผ่านความเสี่ยง (shock transmission) จากความเชื่อมโยงในภาคธนาคาร
บทความนี้ขอยกตัวอย่างกรณีศึกษาการส่งผ่านความเสี่ยงจากความเชื่อมโยงด้านปริมาณระหว่างธนาคาร (cross-border interbank linkages) โดยอ้างอิง bank network analysis (ภาพที่ 4) จากงานศึกษาของ Espinosa-Vega and Sole (2010) ซึ่งได้อธิบายการส่งผ่านความเสี่ยงระหว่างธนาคารผ่านความเชื่อมโยงด้านงบดุลใน 2 ส่วนหลัก คือ ความเสี่ยงด้านเครดิต (credit shock) และความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (funding shock)
ภาพที่ 4: Bank Network Analysis
ที่มา: Espinosa-Vega and Sole (2010)
ช่องทางที่ 1: การส่งผ่านความเสี่ยงด้านเครดิต (credit shock) เป็นการส่งผ่านความเสี่ยงในด้านสินทรัพย์ของงบดุลของธนาคาร กล่าวคือ ธนาคาร i มีการให้สินเชื่อจำนวน X แก่ธนาคาร h หากธนาคาร h ประสบปัญหาด้านฐานะและไม่สามารถใช้คืนเงินกู้ยืมแก่ธนาคาร i ได้ จะส่งผลให้สินทรัพย์ของธนาคาร i ปรับลดลง ซึ่งในอีกด้านหนึ่งจะส่งผลให้ส่วนทุน (capital) ของธนาคาร i ปรับลดลงด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ผลกระทบจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่มีต่อส่วนทุนของธนาคาร i จะขึ้นอยู่กับค่าความสูญเสียจากการผิดนัดชำระหนี้ (loss given default: λ) เป็นสำคัญ (ภาพที่ 5)
ภาพที่ 5: ช่องทางการส่งผ่าน credit shock
หมายเหตุ: Xhi คือ เงินให้สินเชื่อที่ธนาคาร i ให้แก่ธนาคาร h; λXhi คือ ผลกระทบต่อส่วนทุนของธนาคาร i หากธนาคาร h ประสบปัญหาและไม่สามารถชำระคืนเงินให้แก่ธนาคาร i ได้
ที่มา: ผู้เขียนสรุปจาก Espinosa-Vega and Sole (2010)
ช่องทางที่ 2: การส่งผ่านความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (funding shock) เป็นการส่งผ่านความเสี่ยงทางด้านหนี้สินของงบดุลของธนาคาร กล่าวคือ ธนาคาร i มีการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจำนวน X จากธนาคาร h หากธนาคาร h ประสบปัญหาย่อมส่งผลให้ธนาคาร i จำเป็นต้องหาสภาพคล่องจากแหล่งอื่นมาทดแทน ทั้งนี้ ภายใต้ภาวะที่ตลาดการเงินตึงตัว ธนาคาร i อาจระดมทุน จากแหล่งอื่นได้เพียงบางส่วน ส่งผลให้ธนาคาร i จำเป็นต้องเทขายสินทรัพย์ที่ถือครองอยู่ในอัตราส่วนลด (haircut) เพื่อแปลงเป็นสภาพคล่องส่วนที่เหลือ ซึ่งในกรณีดังกล่าวผลกระทบต่อส่วนทุนของธนาคาร i จะขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ สัดส่วนสภาพคล่องที่ไม่สามารถระดมทุนจากแหล่งอื่นมาทดแทนได้ (loss funding ratio: ρ) และอัตราส่วนลดจากการเทขายสินทรัพย์ (haircut in fire sale of assets: δ)[4] (ภาพที่ 6)
ภาพที่ 6: ช่องทางการส่งผ่าน funding shock
หมายเหตุ: Xih คือ เงินกู้ยืมที่ธนาคาร i ได้รับจากธนาคาร h; δρXih คือ ผลกระทบต่อส่วนทุนของธนาคาร i หากธนาคาร h ประสบปัญหา ซึ่งส่งผลให้ธนาคาร i ต้องขายสินทรัพย์เพื่อแปลงเป็นสภาพคล่อง
ที่มา: ผู้เขียนสรุปจาก Espinosa-Vega and Sole (2010)
ในความเป็นจริง ความเสี่ยงด้านเครดิตและความเสี่ยงด้านสภาพคล่องมักเกิดขึ้นพร้อมกันเสมอ ซึ่งเห็นได้ชัดในช่วงวิกฤตการเงินโลกที่ผ่านมา ดังนั้น กรณีศึกษานี้จะวิเคราะห์การส่งผ่านความเสี่ยงจากทั้งด้านเครดิตและสภาพคล่อง (credit-plus-funding shock) ผ่านความเชื่อมโยงระหว่างภาคธนาคารของไทยและต่างประเทศ โดยใช้ข้อมูลการให้กู้ยืมระหว่างธนาคาร (interbank lending) และการกู้ยืมระหว่างธนาคาร (interbank borrowing) รวมทุกสกุลเงิน ณ สิ้นปี 2018
ทั้งนี้ ผลจากแบบจำลอง bank network analysis ชี้ว่า หากภาคธนาคารของประเทศสิงคโปร์และญี่ปุ่นประสบปัญหาจะส่งผลกระทบต่อภาคธนาคารของไทยสูงกว่ากรณีที่ภาคธนาคารของประเทศอื่น ๆ ประสบปัญหา เนื่องจากภาคธนาคารของไทยมีความเชื่อมโยงผ่าน interbank linkages กับทั้ง 2 ประเทศสูงกว่าประเทศอื่นโดยเปรียบเทียบ เมื่อพิจารณาในรายละเอียดเพิ่มเติม พบว่าเป็นการส่งผ่านความเสี่ยงด้านสภาพคล่องเป็นหลัก เนื่องจากความเชื่อมโยงในภาพรวมเกิดขึ้นในด้านหนี้สินผ่านการพึ่งพาเงินกู้ยืมจากธนาคารในสิงคโปร์และญี่ปุ่นดังที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้น โดยส่วนใหญ่เป็นกู้ยืมภายในเครือเดียวกัน (intragroup) ระหว่างธนาคารที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในไทยและในต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี ในภาพรวมพบว่าผลกระทบจากความเชื่อมโยงกับภาคธนาคารต่างประเทศต่อไทยยังมีจำกัด สะท้อนจากความสูญเสียของเงินกองทุน (capital impairment) ของระบบธนาคารไทยหากภาคธนาคารในต่างประเทศประสบปัญหาซึ่งสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 4 ของเงินกองทุนตั้งต้น (pre-shock capital) เท่านั้น (ภาพที่ 7) [5] ทั้งนี้ ยังจำเป็นต้องติดตามผลกระทบต่อเงินกองทุนรายธนาคาร โดยเฉพาะบางธนาคารที่มี interbank linkages กับภาคธนาคารในต่างประเทศสูง
ภาพที่ 7: ผลกระทบต่อเงินกองทุน (capital impairment) ของระบบธนาคารไทยจากการส่งผ่านความเสี่ยงด้านเครดิตและสภาพคล่องระหว่างภาคธนาคาร
ที่มา: คำนวณโดยผู้เขียน อ้างอิง Espinosa-Vega and Sole (2010)
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ระบบการเงินไทยมีความเชื่อมโยงทางการเงินกับต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งในมิติด้านปริมาณผ่านการถือครองสินทรัพย์และการมีหนี้สินกับต่างประเทศ และมิติด้านราคาผ่านความเชื่อมโยงในตลาดตราสารหนี้และตราสารทุนกับต่างประเทศ ดังนั้น การเข้าใจถึงช่องทางการส่งผ่านความเสี่ยงจากความเชื่อมโยงของไทยกับต่างประเทศจึงมีความสำคัญยิ่ง
จากกรณีศึกษาการส่งผ่านความเสี่ยงจากความเชื่อมโยงด้านปริมาณระหว่างภาคธนาคารไทยและต่างประเทศ (cross-border interbank linkages) พบว่าผลกระทบจากภาคธนาคารต่างประเทศต่อเงินกองทุนของระบบธนาคารไทยในภาพรวมยังมีจำกัด โดยการส่งผ่านความเสี่ยงเกิดขึ้นผ่านช่องทางความเสี่ยงด้านสภาพคล่องเป็นหลัก ทั้งนี้ การศึกษาในอนาคตอาจมุ่งสร้างความเข้าใจในกลไกการส่งผ่านความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของสถาบันการเงินอื่น ๆ นอกเหนือจากภาคธนาคารและอาจศึกษาความเชื่อมโยงของไทยกับภาคต่างประเทศในมิติอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อที่จะช่วยยกระดับการประเมินความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินของไทยให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
สุกฤตา สงวนพันธุ์
ผู้วิเคราะห์อาวุโสกลุ่มงานด้านเสถียรภาพระบบการเงิน
หมายเหตุ :
[1] ประกอบด้วย ภาคธนาคาร รัฐบาล ธนาคารกลาง ภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจนอกภาคการเงิน ภาคสถาบันการเงินอื่น และภาคต่าง ประเทศ
[2] เปรียบเทียบระหว่างปี 2018 และ 2009 โดยในปี 2018 ไทยมีมูลค่าสินทรัพย์และหนี้สินทางการเงินกับต่างประเทศอยู่ที่ 486.9 และ 489.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจาก 217.9 และ 222.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2009
[3] ภาคธนาคารในที่นี้ ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารต่างประเทศสาขาธนาคารต่างประเทศ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน
[4] δ= (P0- P1)/ P1 เมื่อ P0 คือ ราคาสินทรัพย์ตอนซื้อ และ P1 คือ ราคาสินทรัพย์ตอนขาย ณ ราคาตลาดปัจจุบัน โดย P0 > P1
[5] ผลกระทบดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ให้ λ = 1 สำหรับการส่งผ่านความเสี่ยงด้านเครดิต ซึ่งสะท้อนว่าการผิดนัดชำระหนี้ส่งผลให้ธนาคารมีความสูญเสียเต็มจำนวน และ ρ = 0.35 และ δ = 1 สำหรับการส่งผ่านความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ซึ่งสะท้อนว่าธนาคารสามารถหาสภาพคล่องทดแทนจากแหล่งอื่นได้เพียง 65% และต้องเทขายสินทรัพย์เพื่อหาสภาพคล่องส่วนที่เหลือโดยมีอัตราส่วนลด 50% โดยสมมติฐานทั้งหมดอ้างอิงจาก Espinosa-Vega and Sole (2010) ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงอาจแตกต่างกันได้ตามสมมติฐานที่กำหนดภายใต้แบบจำลอง
อ้างอิงจาก :
Bank of Thailand (2017), Financial Stability Report 2017.
Bank of Thailand (2018), Financial Stability Report 2018.
Chan-Lau, J.A., M. Espinosa-Vega, K. Giesecke, and J. Sole (2009), “Assessing the systemic implications of financial linkages” Global Financial Stability Report, April 2009.
Chan-Lau, J.A. (2010), “Balance sheet network analysis of too-connected-to-fail risk in global and domestic banking systems”, IMF Working Paper, No. WP/10/107, International Monetary Fund.
Civilize, B., T. Watewai, S. Panyanukul, and K. Ruengsrichaiya (2018), “Mapping Thailand’s Financial Landscape: A Perspective Through Balance Sheet Linkages and Contagion”, Bank of Thailand Symposium 2018.
Diebold, F.X. and K. Yilmaz (2014), “On the Network Topology of Variance Decompositions: Measuring the Connectedness of Financial Firms”, Journal of Econometrics, 182, 119-134.
Espinosa-Vega, M. and J. Sole (2010), “Cross-border financial surveillance: a network perspective”, IMF Working Paper, No. WP/10/105, International Monetary Fund
ผู้เขียนขอขอบคุณ ดร.สักกะภพ พันธ์ยานุกูล คุณบดินทร์ ศิวิลัย และคุณนันทพร พงศ์พัฒนานนท์ สำหรับข้อคิดเห็นและคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ คุณศวิตา เจียระพงษ์ และคุณอนุชิต เอื้ออารักษ์ สำหรับความช่วยเหลือด้านข้อมูล ตลอดจน FAQ Editor ดร. นครินทร์ อมเรศ ซึ่งมีส่วนช่วยให้บทความนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ภาพประกอบจาก : https://www.smallbizdaily.com/tips-help-small-business-connect-around-world/
อ่านประกอบ : แนวทางการใช้ BIG DATA เพื่อปรับโครงสร้างภาคเกษตรไทยสู่ความยั่งยืน