สิงคโปร์ล้มยักษ์ นั่งแท่นที่ 1 ความสามารถทางการแข่งขันโลก-ไทยคะแนนดี อันดับ 40
สิงคโปร์ล้มแชมป์เก่า อย่างสหรัฐฯ ขึ้นแท่นอันดับ 1 ความสามารถทางการแข่งขันโลก-ไทยขยับขึ้น อยู่ที่ 40 -เวียดนามโตก้าวกระโดดสุดในโลก ทีเดียวถึง 10 อันดับ
วันที่ 9 ต.ค. 2562 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พันธมิตร World Economic Forum (WEF) องค์กรวัดความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness) เผยแพร่รายงานดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index:GCI) และเปรียบเทียบความสามารถทางการแข่งขันของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ประจำปีล่าสุด 2019
ผศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ กล่าวว่า ปี 2019 ประเทศไทยมีค่าดัชนีความสามารถทางการแข่งขันดีขึ้นจากปี 2018 เดิม 67.5 คะแนน เป็น 68.1 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 40 ของโลก จากทั้งหมด 141 ประเทศที่ได้รับการจัดอันดับ
"เราเดินไปข้างหน้า ไม่ได้เดินถอยหลัง แต่อัตราเร่งเราไม่ทันประเทศอื่น โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเวียดนาม"
"ปีนี้มีการล้มแชมป์เกิดขึ้น สิงคโปร์ ได้ขึ้นเป็นอันดับ 1 ล้มแชมป์เก่าอย่างสหรัฐฯ ที่ตกลงไป อยู่อันดับ 2 และตามด้วยฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เยอรมนี สวีเดน สหราชอาณาจักร และเดนมาร์ก ตามลำดับ
ข้อสังเกตุปีนี้ เวียดนาม เป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดสูงที่สุดในโลก โดยมีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นถึง 3.5 คะแนน ทำให้อันดับขยับเพิ่มขึ้นได้ถึง 10 อันดับ จาก อันดับที่77 เมื่อปี 2018 ขึ้นเป็นอันดับที่ 67 ของโลกปี 2019
ทั้งนี้ เมื่อเทียบประเทศไทยกับอาเซียนบวก 3 พบว่า ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 6จาก 12 ประเทศ
สำหรับการคำนวนดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก มีดัชนีชี้วัดทั้งสิ้น 4 มิติใหญ่ ได้แก่ สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ทรัพยากรมนุษย์ ตลาด และระบบนิเวศของนวัตกรรม
และแบ่งย่อยออกเป็น 12 เสาหลัก ทำให้เกิดดัชนีชี้วัดทั้งหมด 103 ตัว ภายใต้คะแนนเต็ม 100
ผศ.ดร.วิเลิศ กล่าวด้วยว่า ดัชนีชี้วัดดังกล่าวในปีนี้ เป็นผลสะท้อนการพัฒนาประเทศ ในปีที่ผ่านมา แต่บทสรุปของดัชนีต่างๆ ไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขว่า จะเพิ่มขึ้นหรือลดลง เนื่องจากความสามารถทางการแข่งขันในเวทีโลก ที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้เกิดจากการพัฒนาประเทศตามลำพัง แต่เกิดจาก ความสามารถในเชิงเปรียบเทียบกับการพัฒนาของประเทศอื่นๆด้วย
"ข้อมูลองค์กร WEF พบว่า หากมีการเร่งพัฒนา ในเรื่องของการลดการทุจริต ปรับปรุงคุณภาพของโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาทักษะของคนในประเทศ มีนโยบายที่ช่วยลดช่องว่างในการแข่งขันของตลาดในประเทศ ซึ่งเป็นดัชนีที่ค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักมาก เรายังทำได้ไม่ดีนัก ก็จะสามารถทำให้ประเทศไทย มีอันดับการแข่งขันที่ดีขึ้นได้"
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/