อู่ตะเภา...ศักดิ์ศรีและจิตวิญญาณของราชนาวีไทย
"...แต่ครั้นถึงเวลาที่มีการประมูลโครงการจริงๆ ผู้ที่เข้าประมูลส่วนใหญ่กลับมีแต่กลุ่มนักธุรกิจการเมืองที่ล้วนแต่เคยมีผลงานใหญ่ๆ ที่ทิ้งความอัปลักษณ์และน่าอับอายไว้เป็นอนุสรณ์ให้กับประเทศชาติและประชาชนโดยไร้จริยธรรมทางสังคมและขาดธรรมาภิบาลแทบทั้งสิ้น..."
ด้วยนโยบายต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลไทยจึงให้ความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา ยอมให้เข้ามาก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาในปี 2508 เพื่อให้อเมริกาเข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นฐานทัพเครื่องบินทิ้งระเบิดทำสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ในลาว เวียดนาม และเขมร
เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปสหรัฐอเมริกาแพ้สงครามในเวียดนาม ลาว และเขมร ประเทศไทยในสมัยรัฐบาล พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เปลี่ยนนโยบายหันไปเปิดสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน แล้วพัฒนาไปจนกระทั่งบีบบังคับให้สหรัฐฯ ถอนฐานทัพอเมริกันออกจากประเทศไทย โดยในเดือนธันวาคมปี 2518 เครื่องบินรบสหรัฐอเมริกาก็บินออกจากประเทศไทยไปจนหมดสิ้น
กองทัพเรือซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่อู่ตะเภาที่แท้จริงก็มีโอกาสได้กลับมาใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภาเพื่อภารกิจความมั่นคงของชาติและการพาณิชย์ เพื่อประโยชน์ของกองทัพเรือต่อมา
ภายหลังการเปิดสัมพันธ์ทางการฑูตกับนานาอารยประเทศทั่วโลก และสาธาณรัฐประชาชนจีนเริ่มพัฒนาประเทศในทุกด้าน จนขณะนี้ได้กลายเป็นมหาอำนาจใหญ่ของโลก จนเป็นคู่แข่งสำคัญของสหรัฐอเมริกาในขณะนี้
เนื่องจากประเทศไทยนั้นเป็นเสมือนจุดหมุนกึ่งกลางของรัศมียุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน ทางด้านเหนือครอบคลุมจีนได้ทั้งหมด ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือครอบคลุมเกาหลีและญี่ปุ่น ด้านทิศตะวันออกครอบคลุมทะเลจีนใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก หมู่เกาะสแปรตเลย์ ฟิลิปปินส์ กวม หมู่เกาะมาแชล หรือแนวป้องกันภาคตะวันตกของสหรัฐฯ หมู่เกาะฮาวาย และชายฝั่งมหาสมุทรแคลิฟอร์เนีย ด้านใต้คือทวีปออสเตรเลีย นิวซีแลนด์กับด้านตะวันตกครอบคลุมมหาสมุทรอินเดีย อนุทวีปอินเดีย แนวเชื่อมตะวันออกกลาง
แม้จะถอนฐานทัพออกไปแล้วสหรัฐอเมริกายังไม่ละความพยายามที่จะเข้ามาอิทธิพลครอบงำสนามบินอู่ตะเภาเพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของสาธาณรัฐประชาชนจีน ซึ่งกำลังขยายตัวเข้ามามีอำนาจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกมากชึ้นทุกขณะ ประเทศไทยซึ่งเป็นจุดกึ่งกลางของยุทธศาสตร์ปิดล้อมอิทธิพลของจีน จึงเป็นความปรารถนาอย่างยิ่งยวดของสหรัฐอเมริกาที่ต้องการจะเข้ามาครอบงำด้วยวิธีการต่างๆ โดยความเชื่อของอเมริกันกับยุคใหม่ในเรื่องยุทธศาสตร์ปิดล้อม
โดยเชื่อว่าพลังอำนาจของชาตินั้น เกิดจากอำนาจการครองทะเลให้ได้ทั้งเวลาปกติและสงคราม ให้สหรัฐฯ สามารถยึดหรือสร้างอิทธิพลในทะเลหลวง ควบคุมเส้นทางเดินเรือ สามารถเข้าถึงและควบคุมท่าเรือและช่องแคบ รวมทั้งยึดครองทรัพยากรทางทะเลด้วยเทคโนโลยีที่เหนือกว่า โดยการใช้กองทัพ องค์กรทางพลเรือน หรือองค์กรนานาชาติอำพรางเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เรียกว่าภูมิยุทธศาสตร์ครอบครองแนวริมฝั่งทะเลและมหาสมุทร สหรัฐอเมริกาจึงเร่งพัฒนากองทัพเรือบรรทุกเครื่องบินประจำการ และมีกองเรือบรรทุกเครื่องบินในขณะนี้ถึง 11 กองเรือ ในขณะที่สาธาณรัฐประชาชนจีนก็ได้เร่งพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ และเข้าแข่งขันการพัฒนาทางด้านอวกาศสู่การโคจรโลกประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นที่หวั่นเกรงอย่างมากของชาติตะวันตก
เพราะความเชื่อในยุทธศาสตร์ปิดล้อมจะหยุดความเจริญทางเศรษฐกิจและอิทธิพลทางการเมือง ทางการทหารของจีนในภูมิภาคนี้ได้ สหรัฐฯ จึงพยายามที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีกับอินเดียและเวียดนาม เพื่อตีกรอบจีนไว้ทั้งตะวันออกและตะวันตก เพื่อขัดขวางไม่ให้จีนเป็นใหญาทางทหารในภูมิภาคตะวันออก เนื่องจากจีนได้ทำการพัฒนากองทัพอย่างรวดเร็วในทุกมิติ
สำหรับประเทศไทย สหรัฐอเมริกาไม่เคยละความพยายามที่จะเข้ามามีอิทธิพลเลย เช่น ในสมัยที่นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นรัฐมนตรีกลาโหมในปี 2540 ได้ปฏิเสธไม่อนุญาตให้กองทัพสหรัฐฯ มาตั้งฐานทัพเรือลอยน้ำในอ่าวไทยมาแล้ว โดยให้เหตุผลว่า เป็นการปฏิบัติการเชิงรุกทางทหารของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาค จะสร้างความไม่สบายใจให้กับจีน และเวียดนาม เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ทำให้เสียศักดิ์ศรีที่มีกองเรือต่างชาติในน่านน้ำไทย เป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมการประมงชายฝั่ง และนำสู่ปัญหาทางสังคม และวัฒนธรรม กรณีที่ทหารเรือสหรัฐฯ ขึ้นฝั่ง
ถ้าหากว่าเจตนารมณ์ของสหรัฐฯ เป็นการวิจัยภัยทางภูมิอากาศเพื่อมนุษยชาติอย่างจริงใจแล้ว ไทยควรต้องสร้างเงื่อนไขเพื่อให้สหรัฐฯ แสดงความจริงใจว่าเป็นภารกิจเพื่อมนุษยชาติจริงๆ สหรัฐฯ จะต้องยอมรับเงื่อนไข ดังนี้
1. สหรัฐฯ จะต้องแจกแจงภารกิจและประวัตินักวิจัยแต่ละคนโดยละเอียดให้ฝ่ายไทยทราบ
2. มีระยะเวลาที่ชัดเจน และแสดงขอบเขตการปฏิบัติการ รัศมีทำการ ความสูงและความลึกทางทะเล
3. เครื่องบินมีกี่ลำ ทำอะไรได้บ้างและมีอุปกรณ์การวิจัยอะไรบ้าง
4. รัฐบาลไทยต้องสามารถส่งนักวิชาการทั้งภาครัฐและภาคการศึกษาเข้าวิจัยร่วมได้ตามจำนวนเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่เข้ามาวิจัย
5. นักวิชาการอาเซียนสามารถเข้าสังเกตการณ์ได้ตามสมควร
6. สื่อมวลชนสากลสามารถเข้าสังเกตการณ์ได้ตามความเหมาะสม
7. เอกสารวิจัยต้องเป็นของส่วนร่วมเพื่อการศึกษาและพัฒนา
หากสหรัฐฯ จริงใจไม่มีวาระซ่อนเร้นและยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวนี้แล้ว การวิจัยก็จะเป็นไปเพื่อมนุษยชาติรัฐบาลไทยและอาเซียนก็จะได้ผลประโยชน์ทางการถ่ายทอดเทคโนโลยี ส่วนจีนก็จะคลายความวิตกว่าสหรัฐฯ มุ่งที่จะคุกคามความสัมพันธ์ไทย-จีนและสหรัฐฯ กรณีอู่ตะเภาก็ยังคงสภาพปกติ
เมื่อถูกปฏิเสธอย่างมีเหตุผลและนุ่มนวล สหรัฐอเมริกาไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องถอยและยอมรับการปฏิเสธนั้นอย่างเงียบๆ
ต่อมาในสมัยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปี พ.ศ. 2555 ได้อนุญาตในหลักการให้องค์การนาซ่าของสหรัฐอเมริกาเข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภา ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจภูมิอากาศ ก่อให้เกิดความระแวงสงสัยในหมู่ประชาชนในหลายภาคส่วนเป็นจำนวนมากถึงกับตั้งข้อสงสัยว่า
1. เพื่อการปิดล้อมจีนเชิงยุทธศาสตร์
2. เพื่อใช้เป็นฐานปฏิบัติการทำการจารกรรม และเฝ้าตรวจการเคลื่อนไหวทางทหารของจีน
3. เพื่อเตรียมการปักหลักใช้เป็นฐานทัพทำสงครามกับจีน หากเกิดสงครามขึ้น รวมทั้งเป็นจุดยุทธศาสตร์สกัดเส้นทางน้ำมันสู่จีน และอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาทั้งสิ้น
เมื่อเสียงต่อต้านคัดค้านของประชาชนทุกภาคส่วนกระหึ่มขึ้นและมีทีท่าจะหนักแน่นขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงต้องรีบปิดประเด็นในเรื่องสหรัฐอเมริกาขอใช้ฐานทัพอู่ตะเภา และสังเวยโดยการให้ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต พ้นตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมในเวลาต่อมา
ถึงวันนี้ ปี พ.ศ. 2562 เรามีนายกรัฐมนตรีเป็นทหารบกชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงที่เป็นทหารบกเช่นเดียวกันชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้เจรจากับกองทัพเรือผู้เป็นเจ้าของและมีหน้าที่ดูแลฐานทัพเรือสัตหีบและสนามบินอู่ตะเภา ขอให้ภาคเอกชนเข้ามาทำการพัฒนาส่วนหนึ่งของสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินพาณิชย์เต็มรูปแบบ เพื่อรองรับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของชายฝั่งทะเลตะวันออก ให้รุดหน้าต่อไปอย่างเต็มที่ซึ่งกองทัพเรือก็ไม่ขัดข้องแต่เนื่องจากฐานทัพเรือสัตหีบเป็นจุดยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศที่สำคัญ ทุกอย่างจึงจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกองทัพเรือโดยเคร่งครัด และการพัฒนาสนามบินพาณิชย์อู่ตะเภาจะต้องมุ่งเน้นถึงผลประโยชน์และความสำคัญทางยุทธศาสตร์ความมั่นคงของประเทศเป็นหลักใหญ่
-------------
"เพราะฐานทัพเรือสัตหีบและสนามบินอู่ตะเภาเป็นของกองทัพเรือ อย่าปล่อยให้นักธุรกิจการเมืองเข้ามาทำความเสียหายให้กับยุทธศาสตร์ความมั่นคงที่สำคัญของประเทศ ด้วยการหาผลประโยชน์แต่อย่างเดียวเป็นอันขาด"
-------------
แต่ครั้นถึงเวลาที่มีการประมูลโครงการจริงๆ ผู้ที่เข้าประมูลส่วนใหญ่กลับมีแต่กลุ่มนักธุรกิจการเมืองที่ล้วนแต่เคยมีผลงานใหญ่ๆ ที่ทิ้งความอัปลักษณ์และน่าอับอายไว้เป็นอนุสรณ์ให้กับประเทศชาติและประชาชนโดยไร้จริยธรรมทางสังคมและขาดธรรมาภิบาลแทบทั้งสิ้น
จึงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของกองทัพเรือและเหล่าราชนาวีทั้งหลายที่เคารพเทิดทูนใน เสด็จเตี่ย กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระบิดาแห่งทัพเรือไทย ว่าจะรักษาเจตนารมณ์ของเจ้านายผู้ซึ่งก่อตั้งฐานทัพเรือสัตหีบ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการป้องกันประเทศทั้งทางบกทางทะเลได้มากเพียงใด
เพราะฐานทัพเรือสัตหีบและสนามบินอู่ตะเภาเป็นของกองทัพเรือ อย่าปล่อยให้นักธุรกิจการเมืองเข้ามาทำความเสียหายให้กับยุทธศาสตร์ความมั่นคงที่สำคัญของประเทศ ด้วยการหาผลประโยชน์แต่อย่างเดียวเป็นอันขาด
และหากจะต้องเลือก กองทัพเรือต้องมั่นใจว่าได้ตัดสินใจเลือกกลุ่มนักธุรกิจที่พร้อมจะเข้ามาพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ตามวัตถุประสงค์ของกองทัพเรือ เพื่อประโยชน์แห่งความก้าวหน้าของชาติและเพื่อรักษายุทธศาสตร์ความมั่นคงของประเทศไปพร้อมกันด้วย
ขอคารวะการตัดสินใจของกองทัพเรือและราชนาวีไทยทุกท่านที่รักประเทศชาติประชาชน และได้ต่อสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยส่วนรวมอย่างเข้มแข็งตลอดมา
(อ้างอิงข้อมูลประกอบจาก : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ https://mgronline.com/daily/detail/9550000076542, หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ https://www.thairath.co.th/content/266943)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/