ปฏิรูปการป้องกันคอร์รัปชั่นด้วยวิศวกรรมประเมินราคา
"...ด้วยระบบจัดซื้อจัดจ้างที่ละเอียดเข้มข้นอย่างนี้ เงินค่าว่าจ้างในสัญญาจะไม่มีเหลือเป็นเงินทอนให้อธิบดีใดเลย งานก็ไม่ล่าช้าเพราะมีขั้นตอน เวลา วิธีการ ปรากฏโดยละเอียดแล้ว เหลาะแหละล่าช้าเมื่อใดก็จับฟาวล์ ยึดเงินประกันมาจ้างผู้รับเหมารายอื่น เข้าทำแทนได้เลยทันที ไม่มีถนนเจ็ดชั่วโคตรเหมือนบ้านเรา..."
สมัยที่ธรรมศาสตร์ส่งรองอธิการบดีอย่างผมไปประจำศูนย์อำนวยการก่อสร้างศูนย์กีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13 ของกระทรวงการคลัง ที่ศูนย์รังสิต มธ. มูลค่าโครงการกว่า 7,000 ล้านบาทนั้น ผมได้เรียนรู้ถึงคุณประโยชน์ของวิชาวิศวกรรมที่ว่าด้วยการประเมินราคาอย่างเห็นจริง จากนั้นได้เฝ้าแนะนำผลักดันจะให้ใช้วิชามาปฏิรูปการจัดซื้อจัดจ้างไทยให้โปร่งใส รวดเร็ว หลายครั้งแล้ว ก็ยังไม่สำเร็จเสียที
งานคุมโครงการก่อสร้างศูนย์เอเชี่ยนเกมส์ในคราวนั้น เป็นโชคดีที่ได้พี่วิศวกรไทยอาวุโส มือระดับสากล ผ่านงานต่างประเทศมาโชกโชน มาเป็นวิศวกรประเมินราคางานในโครงการ ราคากลางในการประกวดข้อเสนอก่อสร้างบรรดาอาคารแข่งขันกีฬาของเราครั้งนั้น มีรายละเอียดยิบชัดเจน ทั้งวิธีการ ขั้นตอน และเวลาที่ใช้ในการก่อสร้าง ตามด้วยรายการราคาที่เป็นปัจจุบัน ทั้งค่าแรง วัสดุ เครื่องจักรเครื่องมือทั้งปวง เหตุเพราะต้องการให้ผู้รับเหมาที่เข้าแข่งขัน ต้องสู้กันด้วยฝีมือจริงๆ เราประกาศไว้ชัดเจนเลยว่า ถ้ารายใดเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางแล้วตอบไม่ได้ว่าราคาอย่างนี้ทำได้อย่างไร เราจะถือว่าเป็นข้อเสนอที่เชื่อถือไม่ได้ แต่ถ้าตอบได้ เช่นได้ราคาในรายการใดที่ย่อมเยากว่า หรือมีวิธีก่อสร้างที่ดีรวดเร็วกว่า ที่แสดงไว้ในราคากลาง ดังนี้จึงจะถือว่าสอบผ่านเข้าแข่งราคาได้ และหากใครมีราคาต่ำสุด ก็จะถือว่าเก่งที่สุด จนได้งานไป
พี่วิศวกรประเมินราคาท่านนี้ บอกผมว่าการจัดซื้อจัดจ้างในประเทศที่มีผู้รับเหมาเก่งๆ ออกก่อสร้างไปทั่วโลกได้นั้น เขาจะใช้วิศวกรประเมินราคากันอย่างเข้มข้น มีการสอนในมหาวิทยาลัยหรือการฝึกอบรมให้ใบอนุญาตอย่างจริงจัง ทั้งฝ่ายเจ้าของงานและผู้รับเหมาจะมีวิศวกรประเมินราคาทำงานด้วยมาตรฐาน ฝีมือ และบัญชีราคาวัสดุของกรมโยธาเล่มเดียวกัน ถ้าข้อเสนอของผู้รับเหมารายใดไม่มีเหตุผล โผล่เข้ามาดั๊มป์ราคาอย่างเดียว นอกจากจะถูกปฏิเสธแล้วก็จะถูกขึ้นบัญชีดำทั้งบริษัทและวิศวกรประเมินราคานั้นด้วย
ด้วยระบบจัดซื้อจัดจ้างที่ละเอียดเข้มข้นอย่างนี้ เงินค่าว่าจ้างในสัญญาจะไม่มีเหลือเป็นเงินทอนให้อธิบดีใดเลย งานก็ไม่ล่าช้าเพราะมีขั้นตอน เวลา วิธีการ ปรากฏโดยละเอียดแล้ว เหลาะแหละล่าช้าเมื่อใดก็จับฟาวล์ ยึดเงินประกันมาจ้างผู้รับเหมารายอื่น เข้าทำแทนได้เลยทันที ไม่มีถนนเจ็ดชั่วโคตรเหมือนบ้านเรา
การใช้วิศวกรรมประเมินราคานี้ ใช้ได้ตั้งแต่ประเมินราคาโครงการตั้งแต่แรก เลยก็ได้ จากนั้นก็จะลามมาคุมต่อไปอีกถึงขั้นออกแบบไม่ให้งานบานปลาย เดินหน้าต่อถึงขั้นประกวดข้อเสนอและตัดสินหาผู้รับเหมา แล้วคุมงานคุมงบในระหว่างก่อสร้างจนแล้วเสร็จในที่สุด ดังตัวอย่างของพี่วิศวกรประเมินราคาผู้นี้ พี่เขาก็เคยทำทำตั้งแต่ประมาณราคาโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรณภูมิ เลยไปจนออกแบบและก่อสร้างเลยทีเดียว ทุกวันนี้พี่เขาก็ได้งานหลักจากบริษัทเจ้าของศูนย์การค้าชื่อดังทั่วประเทศ บริษัทจะสร้างศูนย์ใหม่ที่ไหน พี่เขาก็จะไปประมาณราคาให้ คุมแบบให้ คุมประกวดราคาให้ จนสบายไปตลอดทั้งเจ้าของและวิศวกร
ราชการบ้านเราเอง ตั้งแต่ อบต.มาถึง กรมทางหลวง ถ้าถูกกำหนดให้ทำงานด้วยระบบวิศวกรประเมินราคาอย่างนี้ คอร์รัปชั่นน่าจะยากขึ้นอีกมาก พอกราคาสร้างเงินทอนไม่ได้ ล่าช้าก็ไม่ได้ งบก็บานปลายได้ยาก งานชัดเจนไม่มีปัญหาอะไรให้ต้องเจรจากันมาก ทั้งหมดนี้ล้วนยังเป็นฝันกลางวันของเมืองไทยทั้งสิ้น ผมเองเคยอยากจะเข้าไปผลักดันเรื่องนี้ในคณะทำงานวางมาตรการปราบคอร์รัปชั่นของนายกฯลุงตู่ แต่ท่านก็ปฏิเสธไม่รับผมเข้าร่วมงานด้วย จะด้วยเหตุใดก็ไม่ทราบได้
ตัวอย่างล่าสุดที่น่าเป็นห่วงมาก คือโครงการรถไฟความเร็วสูง อีอีซี งานนี้ถ้าการรถไฟไทยรู้จักลงทุนจ้างวิศวกรประเมินราคาที่ได้คุณภาพมาพัฒนาข้อเสนอให้สมบูรณ์ ทั้ง ราคาโครงการ แผนการส่งมอบพื้นที่ พร้อมแผนก่อสร้างที่สอดคล้องกับแผนส่งมอบพื้นที่นั้น แล้วก็แผนเวลาที่จะใช้ทั้งหมดเสียก่อน ก็จะไม่เกิดปัญหาทางตันอย่างเช่นที่เป็นอยู่ จนเจรจากันไม่ได้กว่า 4 เดือนแล้ว
ในข้อแรกทางตันนี้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายรัฐเป็นสำคัญ ที่เชิญเอกชนมาลงทุนกว่า 2แสนล้าน ก่อสร้างให้เสร็จใน 6 ปี ถ้าไม่เสร็จในเวลา นอกจากจะถูกปรับวันละ 9 ล้านบาทแล้ว เงินลงทุนส่วนของรัฐ 1 แสนล้าน ที่เอกชนสำรองไปก่อนรัฐก็มีสิทธิหยุดชะงักการจ่ายด้วย งานอย่างนี้จึงมีความเสี่ยงผูกอยู่กับการส่งมอบพื้นที่อย่างแยกไม่ได้ และโดยหลักกฎหมายร่วมลงทุนแล้ว ฝ่ายรัฐควรต้องรับผิดชอบในความเสี่ยงนี้ จะบอกว่า ส่งมอบพื้นที่ให้ 50% ก่อน ที่เหลือจะส่งให้ใน 2 ปี ส่งไม่ได้ก็ขอต่อเวลาไปเท่านั้นไม่ได้ เพราะเส้นทางนี้มีที่ดินที่ถูกบุกรุก เช่า หรือต้องเวนคืนอยู่มาก กระจายไปทั่ว มีท่อก๊าซ และระบบไฟฟ้าแรงสูงเต็มไปหมด กรณีจึงเป็นความเสี่ยงที่รัฐต้องประกันกับเอกชนให้ได้ว่า เขาจะได้ที่ดินในเวลาที่เพียงพอกับการก่อสร้าง
ปัญหาอย่างนี้ถ้าฝ่ายทางการไทย รู้จักลงทุนใช้วิศวกรประมินราคาที่มีฝีมือ มาช่วยพัฒนาโครงการเสียตั้งแต่แรก การรถไฟกับเอกชนก็ไม่จำเป็นจะต้องมาพบทางตันที่ตรงนี้ หากคุณศักดิ์สยาม ชิดชอบ ที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รู้จักถามการรถไฟเท่านั้นว่า เวลาก่อสร้าง 6 ปี เงินลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท ที่การรถไฟประเมินมานั้น วางอยู่บนแผนการก่อสร้างและแผนส่งมอบที่ดินเช่นใด หากการรถไฟไม่มีคำตอบ ก็แสดงว่าโครงการรถไฟอีอีซีนี้ไม่ได้ใช้วิชาการตามมาตรฐานโลกเลย และเสี่ยงมากๆที่จะล้มเหลว มีสิทธิเป็นระเบียงเสาร้างตลอดภาคตะวันออก เหมือนโฮปเวลล์แน่นอน และถ้าบริษัทเอกชนใดยอมเข้าเป็นคู่สัญญากับโครงการนี้โดยแบกรับความเสี่ยงเรื่องนี้เสียเองแล้ว นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ก็เตรียมเทขายหุ้นบริษัทนี้ได้แล้ว
ความด้อยพัฒนาไม่รู้จักนำวิชาวิศวกรรมประเมินราคา มาใช้ในการจัดซื้อจัดจ้าง หรือพัฒนาโครงการวิศวกรรมต่างๆ เช่นที่ควรดังนี้นี่เอง คือความด้อยปัญญาขนาดใหญ่ ที่ขวางความเจริญของบ้านเมืองนี้มาตลอด
โง่แล้วยังอยากนอนเตียง มีรถไฟความเร็วสูงใช้เสียด้วย...มันเป็นไปได้หรือครับ?
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://th.jobsdb.com