'เจิมศักดิ์' ฉะรัฐสร้างมายาคติ แก้หวยแพง พิมพ์สลากเพิ่ม 37 เป็น 100 ล้านฉบับ/งวด
เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เปิดตำราเศรษฐศาสตร์ ชาวบ้านสอนเรื่อง หวย ย้ำชัดนโยบายรัฐผิดเพี้ยน ทำคนติดงอมแงม พิมพ์สลากฯ เพิ่ม จนกลายเป็นสินค้าพึงปราถนา แทนที่ส่งเสริมให้คนหยุดเล่น ลดการเสพ-บริโภค
วันที่ 8 ตุลาคม 2562 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายคนสู้หวย มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “หวย ห่วย ฮ่วย”ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ หลักสี่
ภายในงาน ศาสตราภิชาน ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักเศรษฐ ศาสตร์อาวุโส นำเสนอ “เศรษฐศาสตร์ ชาวบ้านว่าด้วยเรื่อง หวย” ว่า หวยเป็นสินค้าไม่พึงปราถนา รัฐไม่พึงส่งเสริมให้คนบริโภค หรือต้องทำให้คนบริโภคน้อยลง แต่บ้านเรากลับเพิ่มปริมาณสลาก จาก 37 ล้านฉบับต่องวด เป็น 100 ล้านฉบับต่องวด
"บ้านเรามีมายาคติแก้ปัญหาการขายสลากเกินราคา ด้วยการพิมพ์สลากเพิ่ม สุดท้ายก็แก้ปัญหาไม่ได้ ขณะเดียวกันก็มีมายาคติ นำเงินสลากไปบำรุงประเทศ ช่วยเหลือประชาชน แม้จะเป็นความจริงส่วนหนึ่ง แต่ก็น้อยมาก"
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส กล่าวถึงการเพิ่มปริมาณออกสลาก 100 ล้านฉบับต่องวด เท่ากับรัฐได้เงิน 8 พันล้านบาทต่อ 15 วัน หรือประมาณ 1.9 แสนล้านบาท/ปี ในจำนวนนี้ เป็นรายได้เข้าสำนักงานสลากฯ 40% อีก 60% เป็นเงินรางวัล ดังนั้น รัฐได้เงินไป คนเสียส่วนใหญ่คือ "คนจน" ขณะที่การถูกรางวัลแต่ละงวดมีไม่ถึง 10%
ศาสตราภิชาน ดร.เจิมศักดิ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลได้เงินจากหวย เราจึงกำลังล้วงเงินจากคนจนใส่กระเป๋าคนไม่กี่คน เป็นการดูดเลือดคนซื้อหวยทีละนิดๆ แบบที่คนซื้อเต็มใจให้ดูดด้วย รายได้จากหวยจึงกระจุก คนเสียหวยกระจาย
"เงินรายได้จากหวย จึงเหมือนอสรพิษ เป็นยาเสพติดที่ทำให้รัฐบาลยิ่งอยากได้เงินมากขึ้น ๆ เพราะได้เงินง่ายหลายพันล้านบาทต่องวด รวมถึงการหาทางเพิ่มปริมาณสลาก และหาทางอธิบายตามหลัง"
ช่วงท้ายศาสตราภิชาน ดร.เจิมศักดิ์ ยังได้วิเคราะห์พฤติกรรมทางเศรษฐศาสตร์ด้วยว่า คนผลิต คนขายสลาก ทั้งสำนักงานสลากกินแบ่งฯ และรัฐบาล รู้พฤติกรรมคนซื้อดี ให้คนอยู่กับความหวังลมๆแล้งๆ ขณะที่คนซื้อก็รู้ทั้งรู้ว่าเสียเปรียบ แต่ก็ยังซื้อ
"วันนี้เรามีเทคโนโลยี มีแพลตฟอร์ม มีแอปพลิเคชั่น สามารถติดตามพฤติกรรมผู้ซื้อ ได้ หากรัฐเห็นพ้องว่า สินค้าหวย เป็นสินค้าไม่พึงปรารถนา อยากลดการเสพ การบริโภคของคนไทย อยากให้รัฐกลับมาเริ่มต้น ใหม่ ตัดคนกลางทิ้ง การจะซื้อหวยต้องผ่านแอปฯ กรอกเลขบัตรประชาชน 13 หลัก เพื่อสกัดเยาวชนหน้าใหม่ ใช้แอปฯ เก็บพฤติกรรม ใช้บิ๊กดาต้า (Big Data)แก้ปัญหาพฤติกรรมเหล่านี้"
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/