มองต่างมุม :ชิม ช้อป ใช้ กับ ความไม่เท่าเทียม
การใช้เทคโนโลยีที่ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียม ระหว่างคนที่มีเทคโนโลยีและความรู้อยู่ในมือ กับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังขาด ทั้งเทคโนโลยีและความสามารถที่จะเข้าถึงบริการที่รัฐมอบให้ ซึ่งเป็นเสมือนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่กลับสร้างปัญหาแฝงในเรื่องความไม่เท่าเทียม
จบไปเรียบร้อยแล้วสำหรับ 10 วันของการลงทะเบียนโครงการ ชิม ช้อป ใช้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจากประชากรกลุ่มเป้าหมาย 10 ล้านคน มาตรการของรัฐบาลที่ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามในครั้งนี้น่าจะส่งผลดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้เพิ่มเม็ดเงินลงไปสู่ ร้านค้ารายย่อย วิสาหกิจชุมชน โอท็อป ฯลฯ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาล
นอกจากนี้รัฐบาลยังสามารถเก็บข้อมูลได้เป็นรูปธรรมและวัดผลได้ รวมทั้งเป็นการตรวจความพร้อมของการใช้เทคโนโลยีและยกระดับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศไทยด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการชิม ช้อบ ใช้ ดูเหมือนจะเปิดกว้างสำหรับคนทั่วไป แต่เมื่อดูจากเงื่อนไขการขอใช้บริการแล้วกลับกลายเป็นว่าผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะลงทะเบียนได้จะตกอยู่กับกลุ่มคนบางกลุ่มที่มีความพร้อม ทั้งเครื่องมือและทักษะในการใช้เทคโนโลยี เพราะอย่างน้อยที่สุดคนที่จะลงทะเบียนได้จะต้องมี สมาร์ทโฟนที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต และที่สำคัญคือต้องมีความรู้ในการใช้เครื่องมือเหล่านี้ได้ดีพอสมควร จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่เอื้ออำนวยให้คนที่มีความพร้อมในการใช้เทคโนโลยี ซึ่งเป็นกลุ่มคนวัยทำงานและมีกำลังจับจ่ายใช้สอยได้เข้าร่วมโครงการ
ในขณะที่คนอีกจำนวนมากยังไม่มีเครื่องมือและความสามารถพอที่จะเข้าร่วมโครงการได้
การตั้งเป้าหมายของรัฐโดยมุ่งไปที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในโครงการ ชิม ช้อป ใช้ เพื่อหวังผลทางเศรษฐกิจนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่กรณีนี้เป็นเรื่องที่มองได้หลายแง่มุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่มุมของข้อจำกัดที่จะเข้าถึงโครงการ ชิม ช้อป ใช้ ของคนกลุ่มใหญ่นั้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เป็นการใช้เทคโนโลยีที่ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมระหว่างคนที่มีเทคโนโลยีและความรู้อยู่ในมือกับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังขาด ทั้งเทคโนโลยีและความสามารถที่จะเข้าถึงบริการที่รัฐมอบให้ ซึ่งเป็นเสมือนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่กลับสร้างปัญหาแฝงในเรื่องความไม่เท่าเทียมที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนแต่ผู้คนมักไม่ค่อยพูดถึงและคนทั่วไปที่ต้องการร่วมโครงการขาดแต่ความรู้มักจะใช้การแก้ปัญหาในลักษณะของการขอความช่วยเหลือจากผู้ที่มีทักษะเพื่อให้ตัวเองสามารถเข้าถึงบริการซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ไม่ได้สะท้อนถึงการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมจากการใช้เทคโนโลยีที่ถูกกำหนดมาตั้งแต่เริ่มต้น
ปัญหาความไม่เท่าเทียมในการใช้เทคโนโลยีเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งของประชาชน เป็นเรื่องที่พูดกันมานานหลายสิบปี นับตั้งแต่ยุคที่เรียกว่า Missing link ซึ่งเป็นความไม่เท่าเทียมของการเข้าถึงหรือการเป็นเจ้าของโทรศัพท์ของประชากรโลกในช่วงปี 1980 จนมาถึงยุคของ Digital divide หรือ Broadband missing link ซึ่งเป็นความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ อันอาจนำไปสู่การปิดกั้นโอกาสของคนบางกลุ่มในการเข้าถึงบริการต่างๆที่รัฐมอบให้
แม้ว่ารัฐบาลทั่วโลก รวมทั้งรัฐบาลไทยจะมีความเข้าใจปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีของประชากรและได้พยายามแก้ไขปัญหาเพื่อลดช่องว่างของความไม่เท่าเทียมทางเทคโนโลยีตลอดมา แต่มาตรการบางอย่างจากภาครัฐกลับเพิ่มความไม่เท่าเทียมทางจากใช้เทคโนโลยีโดยไม่รู้ตัว เพราะรัฐบาลหวังผลตัวเลขจากการใช้เทคโนโลยีในทางหนึ่งทางใดมากเกินไป จนเกิดความเอนเอียงและมองข้ามแง่มุมด้านความเท่าเทียม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศและของโลกไป
จากการสำรวจของ นิด้าโพล ต่อโครงการ ชิม ช้อป ใช้ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 27.36 เปอร์เซ็นต์เห็นว่าโครงการ ชิม ช้อบ ใช้ เป็นโครงการที่สิ้นเปลืองงบประมาณและไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ในขณะที่ตัวเลขใกล้เคียงกัน 27.28 ระบุว่าเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดี
แต่ที่น่าสนใจคือ ผู้ตอบแบบสำรวจ จำนวน 13.72 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าเป็นมาตรการเลือกปฏิบัติเฉพาะกลุ่มและมีคนจำนวนหนึ่งกล่าวหาว่าเป็นโครงการประชานิยมที่รัฐบาลกำลังหาเสียงกับคนชั้นกลางซึ่งมีผู้ให้ความเห็นไว้ 3.17 เปอร์เซ็นต์
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า ยังมีคนจำนวนหนึ่งเห็นว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่คือการสร้างความไม่เท่าเทียม ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลจะอ้างว่าเป็นการตั้งเป้าหมายเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีกำลังซื้อเพื่อหวังผลกระตุ้นเศรษฐกิจหรือเหตุผลอื่นใดก็ตาม แต่ผลที่ตามมาคือความไม่เท่าเทียมทั้งการเข้าถึงโครงการของกลุ่มคน ซึ่งรวมไปถึงความไม่เท่าเทียมในการใช้เทคโนโลยีที่คนจำนวนมากยังไม่มีความพร้อมในการเข้าถึงบริการของรัฐ ซึ่งไม่ควรจะมีเงื่อนไขใดๆที่จะนำไปสู่ปัญญาทางสังคมอื่นๆ
ดังนั้นการริเริ่มโครงการใดๆ ก็ตามที่มีความโน้มเอียงไปในทางที่จะสร้างความไม่เท่าเทียมจากการใช้เทคโนโลยี จึงควรกระทำด้วยความระมัดระวัง เพื่อไม่ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ ประเทศไทยไทยถูกติดธงแดงว่า เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงติดอันดับโลกอยู่แล้วให้สูงเพิ่มขึ้นไปอีก
ไม่ว่าโครงการ ชิม ช้อป ใช้ ของรัฐบาลจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่มุมใดก็ตามถือเป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตยที่มีทั้งคนเห็นด้วยและคนที่เห็นต่าง แต่ทุกเสียงสะท้อนที่มาจาก พรรคการเมือง โพลต่างๆ ความเห็นทั้งในเชิงบวกและเชิงลบจากนักวิชาการและบุคคลทั่วไปน่าจะเป็นเสียงสะท้อนที่รัฐบาลควรรับฟังอย่างไม่มีอคติและพร้อมที่จะนำไปปรับปรุงแก้ไข
และถ้ารัฐบาลสามารถลดข้อครหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ทั้งการแบ่งแยกกลุ่มคน รวมทั้งพยายามให้คนที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีหรือมีทักษะน้อยในการใช้เทคโนโลยีได้มีส่วนร่วมในโครงการด้วยยิ่งน่าจะเพิ่มระดับความสำเร็จของโครงการในระยะต่อๆไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
ภาพประกอบ https://www.ชิมช้อปใช้.com/