ผู้ประกอบการยางใต้ จวกนโยบายประกันรายได้แค่ฉาบฉวย-แฉขบวนการทุบราคารวมหัวซื้อล่วงหน้า47บ.
ผู้ประกอบการยางใต้ ยันมีขบวนการทุบราคาดิ่งจริง ชี้สาเหตุวิกฤติบริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาดกลางร่วมมือนายทุน อ้างหยุดซื้อช่วงวันชาติจีน แฉตีปลาหน้าไซ รวมหัวซื้อขายตลาดล่วงหน้าตปท. กก.ละ 47 บาท หวังกดราคา จวกนโยบายประกันรายได้รัฐแค่ฉาบฉวย จี้ส่งเสริมใช้ยางในประเทศแทน เสนอทฤษฎี 3 ประสานแก้ปัญหา - จับตาศึกชิงนาง พรรคร่วม ปชป.-พปชร.-ภท. กวาดคะแนนนิยมภาคใต้
นายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรอุตสาหกรรมตรัง จำกัด และที่ปรึกษาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เปิดผู้สื่อข่าวพิเศษสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีวิกฤตราคายางพาราตกต่ำอย่างรุนแรงในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนนโยบายประกันรายได้จะผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.) ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อมีผลบังคับใช้ ท่ามกลางกระแสข่าวการทุบราคายาง ว่า วิกฤติราคายางพาราขณะนี้เกิดจาก 3 ปัจจัยที่มาสอดรับกัน จึงทำให้เกิดขบวนการกดหรือทุบราคาของนายทุนผู้ส่งออกยางรายใหญ่จับมือกับบริษัทโบรกเกอร์ยางพาราในตลาดซื้อขายยางล่วงหน้า
โดย 3 ปัจจัยดังกล่าว ประกอบด้วย 1. ตลาดซื้อขายยางพาราล่วงหน้าได้ทำการประมูลและซื้อขายยางกันมาก่อนหน้านี้นานแล้ว โดยตกลงกันที่ราคากิโลกรัมละ 47 บาท นัดส่งมอบยางกันในเดือน 10 -11 ซึ่งอยู่ในช่วงนี้พอดี 2.เป็นช่วงวันชาติจีน ที่ทุกบริษัทหยุดการซื้อขายยาง จึงเกิดขบวนการร่วมมือกันทุบราคา หรือกดราคาให้ยางในตลาดลดต่ำลงสุดๆ เพื่อจะมาซื้อยางใหม่ในช่วงนี้ ไปส่งมอบทำให้กำไรมหาศาลจากส่วนต่างของราคาส่งมอบ จึงทำให้บริษัท หรือนายทุนใหญ่ได้ประโยชน์อย่างมหาศาลในช่วงนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะรู้เท่าทันกับกลวิธีดังกล่าว แต่รัฐบาลก็ทำอะไรไม่ได้ และ 3.บริษัทเทรดเดอร์ หรือผู้ค้ายางทั่วโลก ทราบว่ารัฐบาลไทยได้ประกาศนโยบายประกันรายได้ยางพาราให้กับเกษตรกรที่ราคาก.ก.ละ 60 บาท (ยางแผ่นรมควัน) ส่วนน้ำยางสดที่ก.ก.ละ 57 บาท เมื่อราคาซื้อขายจริงตกต่ำลงมากเท่าไร รายได้ก็จะเข้ากระเป๋าบริษัทผู้ค้ายางมากขึ้นเท่านั้น จึงทำให้ 3 ปัจจัยดังกล่าว เข้าทางกลุ่มทุน จึงฉวยโอกาสกดหรือทุบราคายางให้ลดต่ำลงขีดสุด เพื่อหวังทำกำไรมหาศาลในช่วงนี้ โดยเมื่อวันที่ 4ต.ค.2562 ที่ผ่านมา ราคาน้ำยางสดในจุดรับซื้อทั่วไปอยู่ที่ก.ก.ละ 30-32 บาท ส่วนราคาที่สหกรณ์ยางรับซื้อจากสมาชิกก.ก.ละ 34 บาท ยางแผ่นรมควันราคาก.ก.ละ 37 บาทเศษ
นายถนอมเกียรติ กล่าวถึงนโยบายประกันรายได้เพื่อแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำโดยเฉพาะยางพารา ว่า ส่วนตัวมองว่าเป็นแค่นโยบายฉาบฉวย เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้แก่เกษตรกร และรัฐบาลเอง แต่รัฐบาลจะต้องเร่งทำนโยบายการแก้ปัญหาให้ยั่งยืนตามที่ตัวแทนเกษตรกรเสนอไป เช่น การส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐที่จะต้องทำแผนออกมาจริงจัง โดยนำงานวิจัยยางจากหลายสถาบันมาต่อยอดทำให้เป็นรูปธรรม และมีแผนเพิ่มปริมาณการใช้อย่างต่อเนื่องทุกปี ประกอบกับจะต้องเปิดตลาด 3 ประสาน คือ ตลาดท้องถิ่นโดยให้สถาบันเกษตรกรเป็นคนรวบรวมยาง เสนอขายน้ำหนักยางในตลาดกลางภายในประเทศ และเปิดตลาดไทยคอม แทนตลาดซื้อขายยางในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งเรื่องนี้เครือข่ายสถาบันเกษตรกรแห่งประเทศไทยเสนอรัฐบาลมาแล้ว 3 ปี แต่รัฐบาลไม่เคยสนใจ ทั้งที่เป็นเรื่องที่ดีมาก และแก้ปัญหาบริษัทส่งออกฉวยโอกาสบิดเบือนราคาในตลาด ทำให้เกษตรกรและผู้แปรรูปยางเดือดร้อนมาโดยตลอด เพราะตลาดซื้อขายล่วงหน้าเป็นแค่การซื้อขายข้อตกลงในกระดาษไม่ได้มีการส่งมอบจริงในแต่ละวัน
"หากประเทศไทยซึ่งเป็นผู้นำยางและผลิตยางรายใหญ่ของโลก ประกาศตัวเองเข้าซื้อขายยางในตลาดไทยคอม สถาบันเกษตรกรก็สามารถซื้อขายยางได้โดยตรง มีการซื้อขาย ส่งมอบยางจริง จะแก้ปัญหานายทุนกดราคาเอาเปรียบเกษตรกรได้แน่นอน ไม่ต้องไปพึ่งพาตลาดซื้อขายล่วงหน้า ไม่ต้องอิงราคาน้ำมัน ราคาหุ้น หากไทยไม่ทำ ขณะนี้จีนกำลังจะเปิดตลาดซื้อขายยางเป็นของตนเอง ทั้งๆที่จีนไม่มีพื้นที่ปลูกยาง จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ปัญหายางทั้งระบบ และผลักดันเปิดตลาด 3 ประสานดังกล่าวให้เกิดขึ้น จะแก้ปัญหาความผันผวนของราคา แก้ปัญหาหาการฉวยโอกาสกดราคาของนายทุนได้" นายถนอมเกียรติระบุ
@ สันนิบาตสหกรณ์เตรียมเข้ายื่นหนังสือถึงรมว.เกษตรฯ วอนช่วยเหลือสถาบันยาง ขาดทุนหนักกำลังจะล้ม
ที่การยางแห่งประเทศไทย อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2562 ที่ผ่านมา นายอุทัย ศรีเทพ ประธานสันนิบาตสหกรณ์จังหวัดตรัง และ นางโสรนาท อยู่อำไพ กรรมการสันนิบาตฯ เป็นประธานการประชุมของสถาบันเกษตรกร หรือสหกรณ์แปรรูปยางพารา ซึ่งทั้งหมดสังกัดการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) และดำเนินธุรกิจรับซื้อน้ำยางสดจากสมาชิกมาแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน รวมกว่า 40 สหกรณ์ เพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับสถาบันเกษตรกร หรือสหกรณ์แปรรูปยางที่ขณะนี้กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก อาทิ ขาดสภาพคล่อง ขาดเงินทุนหมุนเวียนภายในสหกรณ์ โดยผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องมาตลอด 2 ปี (ตามปีบัญชีสหกรณ์ 2561 - 2562 ) และในปี 2563 ก็จะขาดทุนต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ทำให้ทุกสหกรณ์บริหารต่อไม่ได้ ส่อเค้าล้มกันทั้งหมด หลังจากต้องประสบกับปัญหาวิกฤติราคายางพาราตกต่ำต่อเนื่องมาประมาณ 3 ปี โดยเฉลี่ยราคาน้ำยางสด กับยางแผ่นรมควันห่างกันเพียงแค่ประมาณกิโลกรัมละ 1 - 3 บาท และในจำนวนกว่า 40 สหกรณ์นี้ มีอีกจำนวน 14 สหกรณ์ ที่ถูกซ้ำเติมจากปัญหาการทุจริตภายในชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง มูลค่าไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายประกันรายได้ยางพาราให้กับเกษตรกร น้ำยางสดกิโลกรัมละ 57 บาท ยางแผ่นกิโลกรัมละ 60 บาท แต่ในส่วนของสถาบันหรือสหกรณ์แปรรูปยาง ซึ่งเกิดจากนโยบายรัฐบาลกลับไม่มีมาตรการช่วยเหลือ
ทั้งนี้ ในประชุมมีมติร่วมกันว่า ทางสถาบันเกษตรกร หรือสหกรณ์ จะมอบหมายให้สันนิบาตสหกรณ์จังหวัดตรัง และสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย เดินทางเข้ายื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่ออธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายในสัปดาห์หน้า
โดยจะยื่นข้อเรียกร้องรวม 4 ข้อ เพื่อให้เร่งออกมาตรการช่วยเหลือสถาบันเกษตรกร หรือสหกรณ์แปรรูปยาง ประกอบด้วย 1.มาตรการชดเชยราคายางแผ่นรมควันกิโลมรัมละ 3 บาท 2.ช่วยชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 3 ต่อปี 3.ขอขยายเวลาชำระเงินกู้จากโครงการของรัฐ โครงการ 15,000 ล้านบาทออกไปถึงปี 2567 และ 4.เรียกร้องให้หน่วยธุรกิจของ กยท. (BU) เข้าประมูลยางในตลาดกลางแข่งกับบริษัท เพราะราคาตกต่ำขณะนี้เกิดจากบริษัทใหญ่จับมือกันฮั้วราคาประมูลยางในตลาดกลางตามอำเภอใจ เนื่องจากหน่วย BU ทิ้งตลาดกลางไม่เข้าประมูล
นายอุทัย ศรีเทพ ประธานสันนิบาตสหกรณ์จังหวัดตรัง กล่าวว่า ทุกสหกรณ์มีปัญหาทั้งสิ้น เพราะราคายางตกต่ำลงเรื่อยๆ สำหรับสหกรณ์ที่ทำยางแผ่นรมควันมีความต่างกันระหว่างราคาน้ำยางสดกับยางแผ่นรมควันเพียงแค่กิโลกรัมละ 1 บาทกว่าเท่านั้น ซึ่งต้นทุนที่แท้จริงอยู่ประมาณกิโลกรัมละ 4 -5 บาทเศษ ขึ้นอยู่กับว่ายางที่แปรรูปออกมาเป็นคุณภาพแบบไหน
"วันนี้สรุปว่าผ่านมาแล้ว 6 เดือนของปีบัญชีนี้ ทุกสหกรณ์ขาดทุน สหกรณ์ที่เคยได้กำไรมาจากธุรกิจยาง มาวันนี้ประสบปัญหาขาดทุนทุกสหกรณ์ ซึ่งจะต้องปรับตัวและร่วมกันคิดหาทางออกแก้ไขปัญหา เพื่อรักษาให้สถาบันเกษตรกร คือ สหกรณ์ยืนอยู่รอดเป็นที่พึ่งให้กับเกษตรกรรากหญ้าต่อไปให้ได้ โดยสันนิบาตสหกรณ์จะนำมติในวันนี้เสนอไปยังสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย เพื่อไปยื่นหนังสือข้อเรียกร้องไปยังนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผ่านอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ต่อไป ขอให้ช่วยชดเชยราคาให้แก่สหกรณ์ที่ทำยางแผ่นรมควันกิโลกรัมละ 3 บาท และอาจจะต้องปรับเปลี่ยนจากการแปรรูปเป็นการรวบรวมเพื่อขายน้ำยางสด"
ส่วน นางโสรนาท อยู่อำไพ กรรมการสันนิบาตสหกรณ์จังหวัดตรัง และผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรย่านตาขาว จำกัด กล่าวว่า รายละเอียดที่จะเสนอรัฐบาลออกมาตรการเพิ่ม เพื่อช่วยเหลือสถาบันเกษตรกร หรือสหกรณ์แปรรูปยาง ประกอบด้วย 1.การที่รัฐบาลประกาศให้มีการประกันราคายางให้กับชาวสวนที่กิโลกรัมละ 60 บาท ไม่ได้ผ่านสถาบันเลยจะถึงตัวเกษตรกรโดยตรง สถาบันหรือสหกรณ์ ขอเรียกร้องให้รัฐช่วยผยุงสถาบันเกษตรกรด้วย โดยขอให้รัฐช่วยชดเชยส่วนต่างของราคาให้กับแผ่นรมควันกิโลกรัมละ 3 บาท 2.ปัญหาราคาตกต่ำต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ทุกสหกรณ์ขาดทุน ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ไม่มีเงินทุนหมุนเวียน จึงขอให้รัฐบาลช่วยชดเชยดอกเบี้ยให้กับสถาบันและเกษตรกรอัตราร้อยละ 3 %ต่อปี 3.ผลจากนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนช่วยเหลือเงินกู้แก่สถาบันทั้งหมดรวม 15,000 ล้านบาท ขอขยายเวลาการชำระคืนไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 และ 4. เรียกร้องไปรมว.เกษตรฯและการยางแห่งประเทศไทย ให้หน่วยธุรกิจของ กยท. (BU) เข้ามาประมูลยางในตลาดกลางอย่างเร่งด่วน หลังจากหายไปจากตลาดหยุดเข้าประมูลยางมานานกว่า 1 เดือน เพราะขณะนี้มีเพียงบริษัทเท่านั้นที่เข้ามาประมูลยาง ทำให้ขาดการแข่งขัน หากหน่วยธุรกิจ กยท.เข้ามาประมูลอาจทำให้ยางราคาดีกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้
@ จับตาศึกชิงนาง พรรคร่วม ปชป.-พปชร.-ภท. ผลงานประกันรายได้ชาวสวนยาง หวังกวาดคะแนนนิยมภาคใต้
รายงานข่าวจากแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลแจ้งว่า สำหรับนโยบายประกันรายได้ชาวสวนยางที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.)ในวันนี้(4ตุลาคม)นั้น ได้ผ่านการพิจารณาในขั้นตอนของ กยท. ก่อนส่งเรื่องต่อมายังกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์กำกับดูแลตามโควต้าที่ใช้เป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐมาระยะหนึ่งแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อส่งเรื่องต่อไปยังกนย.ปรากฎว่าได้ดำเนินการพิจารณาล่าช้ากว่าที่หลายฝ่ายโดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์คาดการณ์เอาไว้ในตอนแรกว่า นโยบายประกันรายได้ชาวสวนยาง จะมีผลบังคับใช้จนสามารถโอนเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรได้ ในช่วงวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งหากดำเนินการได้ภายใต้ความเข้าใจของประชาชน ว่านโยบายดังกล่าวริเริ่มและดำเนินการโดยพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งระดับยุทธศาสตร์ของพรรคหวังไว้ว่า จะส่งผลต่อคะแนนนิยมของพรรคประชาธิปัตย์โดยเฉพาะพื้นทีภาคใต้ให้กระเตื้องขึ้น ภายหลังพ่ายแพ้ให้กับพรรคพลังประชารัฐและพรรคภูมิใจไทยในหลายพื้นที่
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า เมื่อเห็นทีท่าว่าการพิจารณาในชั้น กนย.ล่าช้ากว่าที่คิด พรรคประชาธิปัตย์จึงต่อรองกับพรรคแกนนำขอส่งนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มานั่งหัวโต๊ะคุมเกมในเวที กนย. เพื่อเร่งกระบวนการประกันรายได้ให้กับชาวสวนยางสู่การพิจารณาของครม.โดยเร็วที่สุด
"นโยบายประกันรายได้ยางพารานั้นจะมีผลต่อคะแนนนิยมของพรรคการเมืองในพื้นที่ภาคใต้เป็นอย่างมาก จึงต้องจับตาในชั้นการพิจารณาของ ครม.ว่า ทั้งพรรค ประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย จะมีการช่วงชิงผลงานที่ปรากฎต่อสายตาพี่น้องประชาชนผ่านนโยบายนี้อย่างไร" แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลระบุ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/