70 ปี จีนใหม่ กับ สงครามเย็นรอบใหม่ : เป็นไปได้หรือไม่
"...อเมริกานั้นเดิมก็เห็นจีนเป็นมิตร แต่ระยะหลังนี้ มีแนวโน้มที่เห็นจีนที่เป็นอิสระและแตกต่างทางอุดมการณ์ แผ่อิทธิพล และขยับเข้าใกล้ตนทางแสนยานุภาพอีกไม่ได้ อเมริกาในสมัยประธานาธิบดีทรัมพ์นั้นขัดแย้งกับจีนขึ้นเรื่อยๆ หลายมิติ หลายประเด็น จากสงครามการค้าลามไปสู่สงครามเทคโนโลยี และ จะขยายไปสู่สงครามการเงิน และการลงทุนได้ แต่ที่ไทยเราและโลกวิตกที่สุดก็คือ สองมหาอำนาจนี้จะต่อสู้กันทางยุทธศาสตร์ ปะทะหรือทำสงครามจำกัดพื้นที่-ขอบเขต รวมถึงการใช้เทคโนโลยีระดับสูง จนปั่นป่วนไม่สงบไปทั่วทุกทวีป..."
ยิ่งใหญ่ เกรียงไกร ทั่วโลกรับทราบครับ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา สาธารณรัฐประชาชนจีนอายุครบ 70 ปี ได้เห็นแสนยานุภาพของจีนแล้ว หลายคนอดคิดไม่ได้ว่า สงครามจีน-อเมริกาอาจต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จีนนั้นยิ่งใหญ่จริงแต่ไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร ไม่ยั่วยุใคร เปิดศึกกับใคร แต่ก็ไม่เกรงกลัวอเมริกา และ ตะวันตกเลย
อเมริกานั้นเดิมก็เห็นจีนเป็นมิตร แต่ระยะหลังนี้ มีแนวโน้มที่เห็นจีนที่เป็นอิสระและแตกต่างทางอุดมการณ์ แผ่อิทธิพล และขยับเข้าใกล้ตนทางแสนยานุภาพอีกไม่ได้ อเมริกาในสมัยประธานาธิบดีทรัมพ์นั้นขัดแย้งกับจีนขึ้นเรื่อยๆ หลายมิติ หลายประเด็น จากสงครามการค้าลามไปสู่สงครามเทคโนโลยี และ จะขยายไปสู่สงครามการเงิน และการลงทุนได้ แต่ที่ไทยเราและโลกวิตกที่สุดก็คือ สองมหาอำนาจนี้จะต่อสู้กันทางยุทธศาสตร์ ปะทะหรือทำสงครามจำกัดพื้นที่-ขอบเขต รวมถึงการใช้เทคโนโลยีระดับสูง จนปั่นป่วนไม่สงบไปทั่วทุกทวีป
สหรัฐอเมริกา สองปีมานี้ ได้ประกาศนโยบาย และเดินสายเล่าเรื่องที่จะจำกัดวงจีน ปิดล้อมด้วยยุทธศาสตร์ใหม่ โดยเฉพาะในแถบอินโด-ปาซิฟิก จะทำอย่างจริงจัง ส่งผลให้ในเมืองไทย ก็เริ่มมีนักยุทธศาสตร์และการต่างประเทศที่ตระหนกในความขัดแย้งใหญ่ในโลกครั้งนี้ ค้นคว้าศึกษายุทธศาสตร์ของอเมริกา แล้วก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าจะเกิดสงครามเย็นรอบใหม่ได้จริงๆ เชื่อกันว่าโลกอาจจะกลายเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน คือขั้วสหรัฐ กับขั้วจีน
บางท่านเริ่มคิดว่าไทยจะอยู่ฝ่ายทั้งจีนทั้งอเมริกาไม่ได้แล้ว จำต้องเลือกข้าง แต่จะเลือกอยู่ฝ่ายใด เท่านั้น ดูจะหมดเวลาเสียแล้วกับการรักชอบทั้งสองฝ่าย เป็นมิตรได้กับทั้งสองข้าง ทั้งจีนทั้งอเมริกาต่อนี้ไป คงจะบีบคั้นให้ไทยต้องเลือกข้างเสียแล้ว
ผมเคารพในความห่วงใยของท่านเหล่านั้น และเรื่องการต่างประเทศนั้นไม่มีใครคาดการณ์ได้แม่นยำมากนัก หลายหัวคิดย่อมดีกว่าคิดหัวเดียว แต่ผมไม่คิดว่าสถานการณ์จะลุกลามไปเป็นสงครามเย็นที่โลกแตกเป็นสองขั้วห้ำหั่นกันอีกรอบได้
สงครามเย็นที่เกิดขึ้นจริงในโลกในช่วง ปี 2489-2534 นั้น เกิดขึ้นในสภาวะที่อเมริกาเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่ง มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลก ยุโรปและญี่ปุ่นพินาศสิ้นจากสงคราม อังกฤษเจ้าโลกเก่าและฝรั่งเศส รองลงมา อยู่ในภาวะอ่อนแอสุดขีด พลังยิ่งใหญ่ของอเมริกาในขณะนั้นสามารถกวาดต้อนยุโรปตะวันตกและญี่ปุ่นเข้ามาอยู่ในค่ายตนได้ไม่ยาก ไม่ต้องพูดถึงประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย รวมทั้งไทย ที่ยิ่งถูกดูดเข้ามาได้ง่ายกว่าเสียอีก
ในอีกด้านหนึ่ง โซเวียต ก็แข็งแกร่งขึ้นมาสุดขีด เยอรมันมาแพ้สงครามโลกครั้งนี้ ก็เพราะไม่อาจเอาชนะโซเวียตได้ มิหนำซ้ำโซเวียตยังโต้กลับและบุกเข้าพิชิตเบอร์ลินได้ก่อนอเมริกาเสียอีก ยิ่งกว่านั้นโซเวียตยังยึดกุมประเทศยุโรปตะวันออกได้หมด รวบรวมบรรดาชาติสังคมนิยมทั้งโลกเข้ามาอยู่ในค่ายตนหลังสงครามโลกได้อย่างไม่ยากเย็นเช่นกัน
ทว่า ณ ปัจจุบันนี้ เศรษฐกิจอเมริกาเหลือเพียง 20 เปอร์เซนต์ของโลก จีนมีเศรษฐกิจ 16 เปอร์เซนต์ของโลก ยุโรปทั้งทวีปนั้น มีสัดส่วนอยู่ในเศรษฐกิจโลกสูงกว่าอเมริกาเสียอีก นับรวมกันแล้วบราซิล-เม็กซิโก-อินเดีย-รัสเซีย และอาเซียนนั้น ก็มีสัดส่วนในเศรษฐกิจโลกไม่น้อยกว่าอเมริกาและจีนเท่าใด พลังเศรษฐกิจของโลกนั้นจึงแบ่งกันถือ ร่วมกันถือโดยหลายฝ่าย ได้แก่ อเมริกา จีน ยุโรป ญี่ปุ่น และบริกส์ BRICs ส่วนอาวุธยุทโธปกรณ์นั้นเล่าก็ไม่ทิ้งห่างกันไกล อเมริกาเข้มแข็งที่สุด แต่ก็ไม่ได้ทิ้งห่าง รัสเซีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และ อียู
แม้สหรัฐอเมริกาจะพยายามพูดให้เราเห็นว่าโลกจะแตกแยกเป็นสองฝั่งสองฝ่าย แต่ในความจริงโลกเราสักสิบปีมานี้ มีโครงสร้างอำนาจที่จัดเป็นหลายขั้ว แต่ละขั้วก็มีอำนาจที่ไม่ขาดเหลือหรือไม่เกินกันมากนัก สงครามที่จะแบ่งเป็นสองขั้ว ไม่เป็นพวกเรา ก็เป็นศัตรูเรา นั้น เกิดขึ้นได้ยากมาก
ยิ่งไปกว่านั้น โลกจะเป็นสองขั้วได้ ก็ต้องมาจากขั้วที่สาม สี่ ห้า ยินยอม เห็นด้วย แยกแยะเข้าไปสังกัดในขั้วใดขั้วหนึ่งของสองปรปักษ์นั้น ซึ่งผมไม่คิดเลยว่า ยุโรป ญี่ปุ่น รัสเซีย หรือ ประเทศบริกส์อื่นๆ นอกจากจีน จะเข้าไปอยู่ใต้จีนแล้วไม่เอาอเมริกา หรือไปอยู่กับอเมริกา แล้วไม่เอาจีน
อาเซียนและไทยก็เช่นกัน คงไม่ยอมไปเป็นส่วนหนึ่งเพียงส่วนเดียวของสองขั้วนั้น แน่นอนครับเราใกล้ชิดกับอเมริกามาช้านาน ทางความคิดอุดมการณ์ ทางด้านการศึกษาและทางวัฒนธรรมสมัยใหม่ ทั้งเห็นคุณประโยชน์ทางความมั่นคงที่จะได้จากอเมริกาต่อไป แต่อเมริกานั้น อยู่ไกลออกไปมาก น่าจะเทียบกับจีนไม่ได้เลยในทางวัฒนธรรมเดิม ในทางธุรกิจ เศรษฐกิจ และ การลงทุน
ยิ่งกว่านั้น อเมริกาขณะนี้ไม่ใช่ชาติมหาอำนาจอันดับหนึ่งที่ไร้ปัญหา ไม่ใช่แม่เหล็กทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ศูนย์กลางความเจริญเติบโตและการพัฒนา เช่นจีน เสียแล้ว ผมเสนอว่าเรายังต้องคบ ต้องเป็นเพื่อน ต้องรักชอบ กับ ทุกมหาอำนาจ รวมทั้งเพื่อนบ้านต่อไปเช่นเดิม และ ที่ต้องตระหนักด้วย: ไม่แน่ว่ายุทธศาสตร์ที่จะกดดันให้ไทยไปอยู่ในเฉพาะค่ายอเมริกานั้น จะยืนยงแค่ไหน อาจจะสิ้นสุดไปพร้อมกับทรัมพ์หรือไม่ หรือจะสืบทอดต่อไปโดยประธานาธิบดีท่านใหม่หรือไม่
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก techsauce.co