สตง.ชี้กองทุนสุขภาพท้องถิ่นใช้เงินผิด-เร่งสปสช.แก้ปัญหา
สตง. เผยผลวิจัย 350 กองทุนสุขภาพท้องถิ่นไม่ตรงเป้า สูญเงิน 10 ลบ. ใช้เงินไม่ตรงวัตถุประสงค์ ขาดการตรวจสอบ เร่งสปสช. แก้ปัญหา เอ็นจีโอชงดูแลโรคจากการทำงานในชุมชน
วันที่ 8 ส.ค. 55 ณ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดสัมมนา “ทิศทาง เป้าหมายที่ท้าทายในทศวรรษหน้าของกองทุนหลักประกันสุขภาพอบต./เทศบาล”
สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา18 (9) และมาตรา47 กำหนดให้สปสช. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมตามความพร้อม ความเหมาะสม และความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น โดยให้ประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)กำหนดหลักเกณฑ์บริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น โดยงบสนับสนุนจากกองทุน สปสช. จึงมีมติ 27 ก.พ.49 จัดตั้ง “กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” เพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ประชาชนในท้องถิ่น
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวถึงภาพรวมการดำเนินงานกองทุนฯ ว่า ระยะแรกในปี 49 –50 มี อบต. และเทศบาลจากทุกอำเภอเข้าร่วม 888 แห่ง ปี 51 เพิ่มเป็น 2,689 แห่ง, ปี 52 เพิ่มเป็น 3,945 แห่ง, ปี 53 เพิ่มเป็น 5,508แห่ง, ปี 54 เพิ่มเป็น 7,425 แห่ง และ ปี55 เพิ่มเป็น 7,718 แห่ง ครอบคลุมประชากร 56.65 ล้านคน โดยกองทุนฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณตั้งแต่ปี 49 – ปัจจุบัน (ก.ค. 55) รวม 10,886 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณจัดสรรโดยสปสช. 8,016.7 ล้านบาท เงินสมบทจาก อบต.และเทศบาล 2,668 ล้านบาท และเงินสมทบจากชุมชน-เงินบริจาค 202 ล้านบาท
โดยมีกิจกรรมที่ดำเนินงานปี 49 จนถึงปัจจุบัน 270,208 โครงการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมสนับสนุนให้ชุมชนสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุก 104,304 โครงการ (ร้อยละ 38.6 ของจำนวนโครงการทั้งหมด) งบประมาณ 3,195 ล้านบาท มีโครงการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่สำคัญ 48,498 โครงการ เป็นกิจกรรมด้านโรคเบาหวานและความดันโลหิตมากที่สุด 18,965 โครงการ รองลงมา คือ กิจกรรมด้านโรคมะเร็ง 12,740 โครงการ และกิจกรรมด้านฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ 12,078 โครงการ
อย่างไรก็ดีจากการติดตามและประเมินผลกองทุนฯ 2,601 แห่งในปี 55 สปสช.พบว่ามีกองทุนศักยภาพสูงและเป็นศูนย์การเรียนรู้ (เกรดA+) 544 แห่ง, กองทุนศักยภาพดี (เกรดA) 1,358 แห่ง, กองทุนศักยภาพปานกลาง (เกรดB) 583 แห่ง และกองทุนขาดความบกพร่องต้องเร่งพัฒนา(เกรดC) 122 แห่ง
ด้าน น.ส.พจนีย์ มโนดำรงธรรม ผู้อำนวยการตรวจสอบการดำเนินงาน จ.เชียงใหม่ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวถึงผลการศึกษา “การตรวจสอบการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” โดยตรวจสอบอบต.และเทศบาลที่จัดตั้งกองทุนฯ ในปีงบประมาณ 49-52 ในจ.เชียงใหม่และลำพูน รวม 75 แห่ง พบการดำเนินงาน 368 โครงการ จากทั้งหมด 2,258 โครงการไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ที่สปสช. เน้นส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการฟื้นฟูสภาพของหน่วยบริการให้ครอบคลุมเป้าหมาย และบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมของท้องถิ่น สูญเสียเงิน 10 ล้านบาท
สำหรับพื้นที่ดำเนินการผิดวัตถุประสงค์นั้นมักนำเงินไปจัดซื้อครุภัณฑ์ เช่น ทีวี, คอมพิวเตอร์, ชุดเต้นประกวดแอโรบิค, ของเยี่ยมผู้ป่วย, เครื่องกรองน้ำ หรือจัดประชุมวิชาการประจำปีอสม. นอกจากนี้ยังการรายงานผลดำเนินโครงการไม่ถูกต้อง เช่น จ่ายเงินเดือนพนักงานจ้าง นำไปรายงานในกิจกรรมจัดบริการชุดสิทธิประโยชน์แทนกิจกรรมบริหารจัดการ หรือเลือกไม่รายงานเลย และไม่มีเอกสารทางการเงินยืนยันการใช้จ่าย ดังนั้นสปสช. ต้องกำหนดหลักเกณฑ์การทำโครงการที่มีลักษณะสร้างเสริมสุขภาพ การพิจารณาโครงการ และรูปแบบเบิกจ่ายเงิน อีกทั้งต้องสร้างความรู้ให้คกก.บริหารกองทุนฯ โดยมีอปท.ร่วม
นางสุนทรี เซ่งกิ่ง เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช) กล่าวเรียกร้องให้สปสช.ให้ความสำคัญกับการบรรจุเรื่องโรคภัยที่เกิดจากการทำงานของคนในชุมชนด้วย มิใช่ดำเนินการเพียงโรคเบาหวาน ความดันเท่านั้น เพราะเชื่อว่าอนาคตปัญหาด้านอาชีวอนามัยจะมีมากขึ้นที่สำคัญต้องส่งเสริมให้โรงพยาบาลสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) เป็นแหล่งความรู้ด้านความปลอดภัยการทำงานที่ดี
ขณะที่นางบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์เพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า สปสช.ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจแก่คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ด้วยวิธีฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ตั้งแต่การเขียนเสนอโครงการ การพิจารณาโครงการ การเบิกจ่ายเงิน ตลอดจนการติดตามประเมินผล ซึ่งอปท. ยังขาดการใส่ใจส่วนนี้ พร้อมเน้นย้ำให้เปิดโอกาสชาวบ้านได้คิดโครงการเอง มิใช่รพ.สต.ตั้งกรอบให้เรื่อยมา .