แก้ รธน.มาตรา 1 ดับไฟใต้ได้จริงหรือ?
หลังจากมีนักวิชาการไปพูดบนเวทีรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญของ 7 พรรคฝ่ายค้านที่จังหวัดปัตตานี โดยมีการพูดเชื่อมโยงกันทั้งปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 1 เพราะไม่จำเป็นที่ประเทศไทยต้องอยู่แบบ "รัฐเดี่ยว" หรือรัฐรวมศูนย์นั้น
ประเด็นนี้ถูกวิจารณ์จากหลายฝ่ายอย่างกว้างขวาง เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 1 บัญญัติเอาไว้ว่า "ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้" และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 เป็นต้นมาซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรก็บัญญัติเอาไว้แบบเดียวกันนี้ เพียงแต่ฉบับแรกๆ จะใช้คำว่า "สยามประเทศ" แทนคำว่า "ประเทศไทย" เพราะสมัยนั้นยังใช้ชื่อประเทศว่า "สยาม"
ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น เลขาธิการสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย อธิบายว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 1 เขียนมานานจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของความเป็นรัฐธรรมนูญไทยไปแล้ว มาตรา 1 เปรียบเสมือนเป็นสถาบันทางรัฐธรรมนูญไปเรียบร้อย เป็นการยอมรับจากรุ่นสู่รุ่น และเป็นประเพณีการปกครองที่ดีงาม
ฉะนั้นส่วนตัวจึงเห็นว่าไม่ควรแก้ไข แม้การเสนอแก้รัฐธรรมนูญจะแก้ได้ทุกมาตราก็ตาม แต่สุดท้ายต้องผ่านกระบวนการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย ซึ่งเชื่อว่าถ้าจะแก้มาตรา 1 จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นไม่ได้ และไม่มีทางสำเร็จ
รวมทั้งหากจะแก้เพื่อเปิดทางให้เกิด "เขตปกครองตนเอง" ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญมาตราเดียวแล้วจบ เพราะจะไปกระทบกับมาตราอื่นๆ อีก โดยเฉพาะมาตราที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ จึงมองว่าคนพูดพูดด้วยวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกระแสบางอยางเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้
รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อดีตผู้อำนวยการโครงการวิทยาลัยการเมือง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองในมุมคล้ายๆ กันว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรานี้ค่อนข้างละเอียดอ่อน เพราะอยู่ในหมวด 1 บททั่วไป เป็นโครงสร้างประเทศ แม้จะเป็นนามธรรม แต่หากแก้ไขจะส่งผลกระทบมาก
อาจารย์ยุทธพร ขยายความต่อว่า การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น สามารถเลือกใช้กลไกอื่นแทนได้ เช่น การกระจายอำนาจ หรือรูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบบพิเศษ เป็นต้น ซึ่งก่อนหน้านี้ฝ่ายค้านยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่แตะต้องหมวด 1 (บททั่วไป) และหมวด 2 (สถาบันพระมหากษัตริย์) ฉะนั้นจึงไม่มีเหตุอะไรที่จะต้องแก้ไขเรื่องนี้ หากยังเดินหน้าอาจกลายเป็นข้อครหาให้ถูกวิจารณ์และถูกต่อต้านได้ ที่สำคัญการแบ่งแยกดินแดน หรือเปลี่ยนการปกครองเป็นแบบสหพันธรัฐไม่ใช่ทางออกในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ เพราะจะเป็นการสร้างปมขัดแย้งให้มากขึ้นในอนาคต
ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายความมั่นคง ให้ข้อมูลว่า เจตนาของผู้ที่พูดเรื่องนี้ คือมองว่ารูปแบบการปกครองของรัฐไทยเป็นแบบรวมศูนย์อำนาจมากเกินไป แต่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 1 กินความหมายมากกว่าการรวมศูนย์อำนาจ เพราะเป็นการบัญญัติเพื่อรองรับสถานะของประเทศไทยที่เป็น "รัฐเดี่ยว" ไม่ใช่ "รัฐรวม" หรือ "สหพันธรัฐ" เหมือนกับอีกหลายๆ ประเทศ จึงถือเป็นนิยามที่รองรับการเป็น "รัฐเดี่ยว" ของประเทศไทย และไม่ได้หมายความว่าการเป็น "รัฐเดี่ยว" แล้วต้องรวมศูนย์อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเสมอไป เพราะเป็นคนละส่วนกัน
ที่ผ่านมาประเทศไทยถูกมองว่าเป็นประเทศที่ปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ ซึ่งบางส่วนก็เป็นความจริง แต่ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยไม่ได้กระจายอำนาจเลย เพราะไทยมีการกระจายอำนาจรูปแบบต่างๆ มานาน ทั้ง อบต. สุขาภิบาล เทศบาล อบจ. ไปจนถึงการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ ทั้ง กทม.และเมืองพัทยา ฉะนั้นหากการกระจายอำนาจติดขัดปัญหาหรือมีอุปสรรคอะไร ก็สามารถแก้ไขในส่วนนั้นได้ ไม่ใช่ไปปลดล็อคด้วยการแก้รัฐธรรมนูณญมาตรา 1 ให้ประเทศไทยแบ่งแยกได้
หากมีการทำตามข้อเสนอ คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 1 จะกระทบกับความมั่นคงของประเทศอย่างร้ายแรงแน่นอน เพราะกลุ่มก่อความไม่สงบในภาคใต้ก็จะยื่นเงื่อนไขแยกดินแดนตั้งรัฐใหม่ทันที (หมายถึงตั้งรัฐเอกราชใหม่) จากนั้นภาคอื่นๆ ก็อาจเอาอย่าง โดยเฉพาะบางภาคที่มีนักการเมืองครอบงำลงไปถึงระดับท้องถิ่น อาจต้องการแบ่งภาคเป็นเขตพื้นที่ที่สามารถปกครองตนเองได้เลย ทำให้รัฐบาลกลางอาจมีอำนาจแค่ในกรุงเทพฯก็เป็นได้ ต้องไม่ลืมว่าในช่วงที่การเมืองบมีความขัดแย้งแบ่งสีเสื้อ คนเสื้อแดงบางกลุ่มก็คิดแยกภาคบางภาคออกไปเพื่อตั้งประเทศใหม่มาแล้ว
ส่วนกรณีที่ผู้พูดอาจอ้างเรื่องการปลดล็อคเพื่อเปิดทางให้จัดตั้ง "เขตปกครองตนเอง" หรือ "เขตปกครองพิเศษ" เพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายความมั่นคง มองว่า เรื่องนี้สามารถทำได้ในรูปแบบ "การปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ" ซึ่งรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ทำได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องแก้ไขมาตรา 1 ให้วุ่นวาย และสุ่มเสี่ยงต่อการตีความในแง่ลบจนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติระดับสูงสุด
เพราะการปล่อยให้มีการแยกดินแดน ตั้งรัฐใหม่ได้ จะกระทบกับบูรณภาพแห่งดินแดน และอธิปไตย ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐในการพิทักษ์รักษาเอาไว้ ตามมาตรา 52 ด้วยเช่นกัน
--------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภากจากเฟซบุ๊คไลฟ์ของพรรคประชาชาติ ถ่ายทอดสดเวทีของ 7 พรรคฝ่ายค้านที่จังหวัดปัตตานี