เวทีฝ่ายค้านถล่มรัฐ อ้างตั้งแต่ปฏิวัติ ไร้พลวัตดับไฟใต้
7 พรรคฝ่ายค้านเดินหน้าแคมเปญรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ คราวนี้ลงไปในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่าง จ.ปัตตานี ซึ่งมีสัดส่วนของคนที่ "โหวตโน" เมื่อครั้งทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อปี 59 ในสัดส่วนสูงที่สุดในประเทศ
เวทีของฝ่ายค้านจัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 28 ก.ย.62 ที่ลานวัฒนธรรม อำเเภอเมืองปัตตานี ในหัวข้อ "พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับรัฐธรรมนูญใหม่" โดยครั้งนี้เรียกว่าจัด "ทัพหลวง" ลงพื้นที่กันเลยทีเดียว เพราะนำทีมโดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ในฐานะ ส.ส.เจ้าของพื้นที่ชายแดนใต้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย ท่ามกลางประชาชนที่มารอฟังคับคั่งนับพันคน
7 พรรคฝ่ายค้านยังได้เชิญนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิชื่อดังสาขาต่างๆ จากส่วนกลาง มาร่วมวิเคราะห์และอภิปรายทิศทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อมโยงกับเรื่องรัฐธรรมนูญด้วย
สาระสำคัญที่หยิบยกขึ้นมาอภิปรายกัน คือ มาตรการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยึดเยื้อมานานกว่า 15 ปี ท่ามกลางการบังคับใช้กฎหมายพิเศษซึ่งสร้างความเดือดร้อนและบอบช้ำให้กับพี่น้องประชาชน โดยมีการยกตัวอย่าง นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่ต้องหมดสติเพราะสมองบวม หลังถูกส่งตัวเข้าค่ายทหารเพียง 1 คืน และเสียชีวิตในเวลาต่อมา แต่ปรากฏว่าไม่มีใครต้องรับผิดชอบกับการตายที่เกิดขึ้น
ส่วนประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตัวแทนทั้ง 7 พรรคการเมืองพูดตรงกันว่า ได้เวลาต้องแก้ไข เพราะกลไกต่างๆ ในรัฐธรรมนูญเขียนขึ้นมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น
ชื่นชมคนชายแดนใต้ "โหวตโน"
นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า "ขอชื่นชมพี่น้องที่นี่ที่เป็นพื้นที่แรกและพื้นที่เดียวในประเทศไทยที่ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ในขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศมีความรู้สึกช้า และรู้สึกเห็นใจที่ต้องอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก แนวทางที่พวกท่านทำจะเป็นบทบัญญัติให้แก่คนทั่วประเทศ หากมีการเปิดทำประชามติอีกครั้ง ขอให้พวกเราแสดงพลังต่อต้านให้ถล่มทลายกันไปเลย"
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า "วิสัยทัศน์ของพี่น้องชายแดนใต้กว้างไกลที่ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยปัตตานีลงมติไม่รับ 72% ยะลา 62% และนราธิวาส 65% วันนี้สถานการณ์ทุกอย่างปรากฏชัดแล้วว่าต้นเหตุมาจากตรงไหน นายกรัฐมนตรีหรือรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา จึงขอเรียกร้องอย่างสุภาพว่าให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก เนื่องจากเป็นคนแรกที่สร้างปัญหา พร้อมทั้งเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ"
"ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป การแก้ปัญหาประเทศจะยิ่งมืดมน การแก้รัฐธรรมนูญก็ทำได้ยาก ปัญหาของไทยไม่ใช่คนไทยไม่รักประเทศ หรือชังชาติ แต่คุณผลักคนให้เป็นคนไม่รักประเทศ ประชาชนจะอยู่ได้ต้องอยู่ในรัฐบาลที่ชอบธรรม ทุกอย่างจะดีขี้นก็ต่อเมื่อนายกฯประยุทธ์ลาออก กระบวนการยุติธรรมไม่ถูกแทรกแซง กรรมการการเลือกตั้งและองค์กรอิสระต่างๆ จะทำหน้าที่ได้อิสระ ทหารจะต้องกลับเข้ากรมกอง เป็นรั้วของชาติ ไม่ต้องมาเฝ้าระวัง มาตรวจค้น มากระทำกับคนไทยด้วยกันเอง คนที่นี่ไม่ใช่ศัตรูของประเทศ"
"ฝ่ายวุฒิสภาต้องไม่หลับหูหลับตาเลือก พล.อ.ประยุทธ์ ต้องทำหน้าที่อย่างไม่เลือกปฏิบัติ กฎหมายนั้นต้องมีความเสมอภาค ถ้ากฎหมายใดไม่ชอบธรรม กฎหมายนั้นจะไม่มีประสิทธิภาพ กฎหมายต้องเที่ยงธรรม ปัญหาต้องแก้ไข อย่าคิดแต่รังแก หาทางชนะ เหมือนดั่งคำพูดของ เติ้ง เสี่ยวผิง (อดีตผู้นำจีน) ที่ว่า เจรจาเป็นสิ่งที่ดี ถ้ารังแกต้องสู้กัน ถ้าข่มเหงอย่าหวังชนะ"
ถล่มกลไกรัฐดับไฟใต้ไม่ได้
ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ กล่าวว่า "ภูมิใจที่พี่น้องชายแดนใต้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 จึงต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้คือการสะท้อนปัญหาที่มาจากความคับข้องหมองใจ พี่น้องถูกควบคุมตัวจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ถูกบังคับอย่างไม่ยุติธรรมของอำนาจรัฐ กว่า 2 หมื่นเหตุการณ์ความไม่สงบสะท้อนว่าปัญหามีมากขึ้น มีปัญหาซ้อนทับขึ้นเรื่อยๆ"
"แนวทางการแก้ปัญหาของรัฐ พบว่ามีการใช้กฏหมายพิเศษหลายฉบับ แล้วก็เกิดเคสเหมือนกรณีการเสียชีวิตของอับดุลเลาะ (นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ) ซึ่งมีความสูญเสียมาแล้วหลายๆ รายที่ผ่านมา กลไกของ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) มีอำนาจสูงสุดในการแก้ไขดูแล แม้ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) เองก็ต้องอยู่ภายใต้ กอ.รมน.เช่นกัน ในบริบทของภาคใต้ มีงานวิจัยของนักวิชาการบ่งชี้ว่าการทำงานของรัฐ การปกครองของรัฐไม่ตอบสนองความหลากหลายทางวัฒนธรรม และจนถึงปัจจุบันก็ยังมองทิศทางไม่ชัดเจนต่อไป"
อำนาจรัฐกดทับ-ไร้พลวัตแก้ปัญหา
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า "การลงทะเบียนซิมโทรศัพท์มือถือด้วยการบันทึกอัตลักษณ์ คือการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างชัดเจน ไม่ใช่เป็นทางเลือก แต่คือการบีบบังคับด้วยการจำกัดสิทธิเสรีภาพ"
"ทำไมเมื่อคนกลุ่มหนึ่งทำผิดกฎหมาย ผิดรัฐธรรมนูญ ถวายสัตย์ไม่ครบก็ไม่ถูกลงโทษ ถ้าพวกเราทำแบบนี้บ้างคงติดคุกไปแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจบุคคลกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษอยู่เหนือกฏหมาย ผู้คนที่นี่ล้วนมีเลือดสีแดง มีครอบครัว มีคนรักที่รอกลับบ้านมา 15 ปี แต่ผ่านมานาน 15 ปีก็ไม่เห็นสถานการณ์คลี่คลายไปในทิศทางที่ดี ส่วนการอยากให้มีการปกครองพิเศษ คิดว่าทุกจังหวัดพิเศษทุกพื้นที่ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภูมิประเทศสวยงามตามแบบฉบับ แต่รัฐแข็งทื่ออย่างรัฐไทยบีบบังคับให้เหมือนกันทั่วประเทศ"
"ต้นตอของปัญหากับงบประมาณที่นำมาแก้ปัญหาชายแดนใต้ตลอด 15 ปีมากกว่า 3 แสนล้านบาท ปี 2562 ก็ใช้งบไปอีก 12,000 ล้านบาท หากนำงบเหล่านี้มาพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น เชื่อว่าจะแก้ปัญหาความมั่นคงได้"
"ตลอดมาไม่มีพลวัตในการแก้ปัญหาชายแดนใต้ พลวัตคือการเคลื่อนตัวไปข้างหน้า แต่การแก้ไขปัญหานี้ไม่มีการเคลื่อนตัวตั้งแต่หลังการรัฐประหารปี 2557 มีแต่การใช้มาตรการทางทหาร มีแต่การต้องปราบปรามให้สิ้นซาก ตราบใดที่ยังไม่มีความเป็นธรรม ย่อมไม่มีสันติภาพ ที่ใดมีการกดขี่ที่นั่นมีการต่อสู้ หากมองว่าประชาชนเป็นศัตรู จะไม่มีทางแก้ปัญหานี้ได้ เคสของอับดุลเลาะ ทนายสมชาย (ทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิมที่ถูกอุ้มหาย) และบิลลี่ นายพอละจี รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่ถูกอุ้มฆ่า) จะเห็นว่าไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดถูกดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมเลย ถ้าไม่มีความเป็นธรรม ไม่คืนความยุติธรรมให้ประชาชน มาตรการความมั่นคงแก้ปัญหาไม่ได้"
"เมื่ออำนาจในการกำหนดอนาคตของเราเองยังไม่มี อำนาจถูกกองอยู่ที่กรุงเทพฯ รัฐธรรมนูญฉบับนี้กดขี่พี่น้องทุกจังหวัด รัฐธรรมนูญคือสิ่งที่สังคมอยากอยู่ร่วมกันตามกติกา ยอมรับความหลากหลาย แต่วันนี้เราไม่มี สถานการณ์แบบนี้จะพาสังคมไทยไปสู่ทางตัน ต้องมาทบทวนว่ากติกาแบบไหนที่จะอยู่ร่วมกันได้ ไม่ต้องเห็นเหมือนนกัน แต่อยู่ร่วมกันได้ภายใต้กติกาที่ยอมรับร่วมกัน ไม่นำไปสู่ความรุนแรง ยังไม่สายที่จะหาทางออก ยังมีความหวังว่าสังคมไทยจะอยู่กันด้วยความสงบสุข มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน"
ต้องเปลี่ยนนายกฯ ราคายางถึงขึ้น
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันศุกร์ที่ 27 ก.ย. แกนนำพรรคฝ่ายค้าน นำโดย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา พาสื่อมวลชนลงพื้นที่ตลาดกลางยางพารา จ.ยะลา เพื่อรับฟังปัญหาของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งเป็นกิจกรรมก่อนเปิดเวทีใหญ่รณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญในวันเสาร์ที่ 28 ก.ย.
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นนายกฯ จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาราคายางพาราได้ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ เหมาะกับการสู้รบ บังคับบัญชาทหารมากกว่า ที่สำคัญถ้าราคายางต่ำกว่ากิโลกรัมละ 70 บาท ชาวภาคใต้ก็จะลำบากเหมือนอย่างทีเป็นอยู่ทุกวันนี้ เศรษฐกิจในพื้นที่แย่มากๆ และกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังทุกอาชีพ
"เมือก่อนยางราคาดี เศรษฐกิจก็ดี ในภาคใต้คนแย่งกันซื้อรถ กระทั่งรถไม่พอขาย แต่วันนี้นอกจากไม่มีเงินซื้อแล้ว รถที่ซื้อมายังโดนยึดอีก"
ขณะที่ นายมะเสาวดี ไสสากา หัวหน้าสภาเกษตรกร จ.ยะลา กล่าวว่า เศรษฐกิจ 70% ของยะลามาจากภาคเกษตร แต่คนส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินทำกิน และที่ผ่านมารัฐบาลเก็บภาษี แต่เกษตรกรกลับไม่มีสิทธิ์ในการรับเงินชดเชยจากราคายางพาราตกต่ำ (โดยนัยหมายถึงได้รับเงินชดเชยเฉพาะเจ้าของสวน ส่วนกลุ่มที่ไม่มีสิทธิ์ในที่ดิน และรับจ้างกรีดยาง จะไม่ได้รับการช่วยเหลือเลย) จึงขอเรียกร้องผ่านฝ่ายค้าน ช่วยให้ประชาชนมีสิทธิ์ในที่ดินทำกิน และแก้ไขราคายางพาราด้วย