ก.อุตฯ เตรียมชง ครม.เลิกใช้แร่ใยหินภายใน 5 ปี เอ็นจีโอชี้นำเข้าเพิ่ม 2 เท่า
ก.อุตฯ เตรียมชง ครม.เลิกใช้แร่ใยหินภายใน 5 ปี เปิดโอกาสผู้ประกอบการหาวัสดุทดแทน เอ็นจีโอชี้ช่องว่าง กม.ทำให้นำเข้าเพิ่ม 2 เท่า
วันที่ 7 ส.ค. 55 กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จัดประชุมเพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นภายใต้โครงการจัดทำแผนในการยกเลิกการนำเข้า การผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ
สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการที่จะทำให้ไทยไร้แร่ใยหิน และได้มอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรับดำเนินการตามอำนาจที่กฎหมายกำหนด ฉะนั้นจึงมอบหมายให้กระทรวงอุตฯ จัดทำแผนตามแนวทางดังกล่าว และกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน เพื่อเสนอครม. พิจารณา ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) จัดทำโครงการแผนในการยกเลิกการนำเข้าการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ และได้มีการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นครั้งที่ 3
นางสมศรี สุวรรณจรัส ผู้อำนวยการสำนักควบคุมวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ไทยต้องระงับการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงานของแรงงาน ผู้บริโภค รวมถึงคุณภาพของสินค้าต้องมีวัสดุทดแทนการผลิตได้มาตรฐาน ที่สำคัญต้องดูความเคลื่อนไหวการใช้ในประเทศแถบเอเชียอาคเนย์ด้วย เพราะหวั่นว่าหากเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 58 แล้วหลายประเทศยังไม่มีการระงับใช้ จะส่งผลให้เกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบทางธุรกิจได้ ส่วนข้อกังวลการลักลอบนำเข้าสินค้ากักตุนจากประเทศที่ไม่มีกฎหมายควบคุมการใช้และส่งออกแร่ใยหินไครโซไทล์ทุกประเภทสินค้า หนึ่งในนั้นคือ แคนาดา กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีมาตรการตรวจสอบเคร่งครัดอยู่เเล้ว เรื่องลักลอบสินค้าเข้ามากักตุนจึงไม่ต้องกังวล โดยหลังจากนี้กระทรวงอุตฯ จะประชุมก่อนเสนอให้ครม. พิจารณา
ด้านรศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศิวะเดชาเทพ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มสธ. หนึ่งในคณะวิจัย กล่าวว่า สัดส่วนการนำเข้าแร่ใยหินของไทยในช่วงปี 31-54 นั้น ต่ำสุดปี 43 ปริมาณนำเข้า 60 พันตัน สูงสุดปี 47 ปริมาณนำเข้า 181 พันตัน แต่ภายหลังมีการออกกฎควบคุมตามพ.ร.บ.วัตถุอันตรายปี 35 ปริมาณนำเข้าได้ลดลงเรื่อย ๆ เหลือเพียง 97 พันตันในปี 54 ซึ่ง 90% ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตประเภทซีเมนต์ กระเบื้องมุงหลังคา ท่อระบายน้ำ 8% ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตผ้าเบรก คลัตซ์ และ2% ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตกระเบื้องปูพื้นไวนิล และอุปกรณ์กันความร้อน ซึ่งก่อนที่จะระงับการนำเข้าในไทยนั้นได้มีการศึกษาการควบคุมจากประเทศอื่น ได้แก่ ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา จีน เกาหลีใต้ อินเดีย ไต้หวัน และญี่ปุ่น
ขณะที่รศ.จรินทร์ เทศวานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ หนึ่งในคณะวิจัย กล่าวเพิ่มเติมต่อสำนักข่าวอิศราว่า การศึกษาเพื่อทำแผนในการยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์นั้นมีหลักการให้ผู้ประกอบการปรับตัวในกระบวนการผลิต พัฒนาวิชาการ หาวัสดุทดแทนที่ได้มาตรฐาน รวมถึงจัดหาเทคโนโลยีที่สอดคล้องในการผลิต แบ่ง 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ท่อน้ำใยหิน ใช้เวลาไม่เกิน 5 ปี มี 2 บริษัท คือ บริษัทอุตสาหกรรมท่อน้ำไทย จำกัด และบริษัทท่อน้ำสากล จำกัด 2.กระเบื้องมุงหลังคา ใช้เวลาไม่เกิน 3 ปี และ3.ผ้าเบรก คลัทซ์ ใช้เวลาไม่เกิน 2-3 ปี
“บางบริษัทอ้างว่าทำไมต้องเลิกทั้งที่ไม่มีผลต่อการเกิดโรคมะเร็งในคนไทย ซึ่งแม้ประเทศไทยจะไม่มีงานวิจัยยืนยัน แต่ควรย้อนกลับไปดูสาเหตุว่าทำไม 50 ประเทศของโลกจึงเลิกใช้”
ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวต่อว่า ผู้ประกอบการที่ยังไม่เลิกใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ เนื่องจากเหตุผลทางกลยุทธ์ธุรกิจที่ได้เปรียบกว่าผู้ประกอบการที่เลิกใช้แล้ว เพราะมีราคาถูก ทนทานกว่า โดยไม่ใส่ใจความปลอดภัยของผู้บริโภค จึงต้องออกกฏหมายยกเลิกให้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากแร่ใยหิน หรือหากอยู่ในกลุ่มผ่อนปรนให้ติดฉลากเตือนอันตราย
นางบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์เพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ตั้งแต่ครม. มีมติให้ยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินชนิดนี้แล้วมอบหมายให้กระทรวงอุตฯ ศึกษาผลกระทบ แต่ยังไม่มีการยุติการนำเข้าเลย ฉะนั้นขณะที่เกิดช่องว่างทางกฎหมายในช่วงศึกษาผลกระทบทำให้ผู้ประกอบการหลายรายเร่งนำเข้าแร่ใยหินมากกว่าเดิม 2 เท่า โดยไม่ผิดกฎหมาย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : http://isranews.org/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7/57-%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7/7508--5-.html
ประเทศ |
กฎหมายที่ควบคุม |
สาระโดยสรุป |
ออสเตรเลีย |
The Nation occupationat Health and Safety Commission Act |
ห้ามมีการใช้ใหม่ของไครโซไทล์และสินค้าที่มีไครโซไทล์เป็นส่วนประกอบตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค.2546 รวมถึงกรณีที่จำเป็นต้องรื้อถอนหรือเปลี่ยนเป็นสินค้าที่ไม่มีไครโซไทล์ (มีข้อยกเว้นผลิตภัณฑ์บางประเภท) |
ชิลี |
Supreme Decree No.656 |
-ห้ามผลิต นำเข้า ขนย้าย จำหน่าย ใช้ไครซิโดไทล์และวัสดุ หรือสินค้าอื่น ๆ ที่มีไครโซไทล์เป็นส่วนประกอบ -ห้ามผลิต นำเข้า ขนย้าย จำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินทุกประเภท -ห้ามผลิต นำเข้า ขนย้าย จำหน่าย ส่วนประกอบหรือสินค้าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ทางก่อสร้างที่มีส่วนประกอบของไครโซไทล์ แอทิโนไทล์ อะโมไซด์ แอนโทฟิลไลท์ ทรีโมไลท์ และแร่ใยหินประเภทอื่น ๆ (มีข้อยกเว้นบางผลิตภัณฑ์ |
สหภาพยุโรป |
Regulation EC no. 1907/2006 |
ห้ามผลิต วางจำหน่าย ใช้แร่ใยหิน หรือสินค้าที่ตั้งใจใช้แร่ใยหิน (มีข้อยกเว้นผลิตภัณฑ์บางประเภท) |
สหรัฐอเมริกา |
Toxic Substance Control Act |
ห้ามใช้แร่ใยหินในสินค้าบางประเภท ได้แก่ -Commercial paper เช่น เพื่อใช้เป็นฉนวนป้องกันไฟ ความร้อน -Corrugated paper เช่น เพื่อใช้เป็นฉนวนความร้อนในท่อ แผ่นฉนวนลิฟต์ -Flooring Felt เช่น เพื่อใช้ปูรองพื้น -Rollboad เช่น เพื่อใช้เป็นฉากกั้นห้อง -Specialty paper เช่น เพื่อใช้กรองเครื่องดื่มหรือของเหลวอื่น ๆ -ห้ามใช้แร่ใยหินในประเภทสินค้าที่มีการผลิตหลังวันที่ 25 ส.ค. 1989 สินค้าใดที่มีการใช้แร่ใยหินก่อนแล้ว สามารถใช้ต่อไปได้ ยกเว้นข้างต้น |
จีน |
GB50574-2010 |
ห้ามใช้แร่ใยหินวัสดุก่อสร้าง ตั้งแต่ 1 มิ.ย. 2011 |
ญี่ปุ่น |
Industrial Safety and Health Act |
ห้ามผลิตสินค้าที่มีองค์ประกอบของแร่ใยหินมากกว่าร้อยละ 0.1 |
เกาหลีใต้ |
The Occupational Safety and Health Law |
ห้ามผลิต ใช้ นำเข้า แร่ใยหินทุกประเภทตั้งแต่ปี 2009 |
ไทย |
พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก พ.ศ.2552 |
วัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ห้ามผลิต นำเข้า แร่ใยหิน ยกเว้นไครโซไทล์ต้องขออนุญาตก่อน พร้อมควบคุมฉลาก และกำหนดข้อมูลที่ต้องแจ้งในฉลากผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินส่วนประกอบ |