หยุดก่อน! โขง-ชี-มูล
"... ตามสภาพความเป็นจริง ฝนที่ตกในภาคอีสานก็อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยประมาณ 1,500 มิลลิเมตรต่อปี อยู่แล้ว ปริมาณฝนขนาดนี้ทำให้เกิดน้ำจำนวนมากมายมหาศาล ถึงขนาดที่ทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างหนักในหลายๆ พื้นที่อยู่แล้ว พิสูจน์ได้จากน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบันนี้ จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ เลย ที่จะนำน้ำจากแม่น้ำโขงมาใช้ให้สิ้นเปลืองงบประมาณ ยุ่งยาก ลำบากเปล่าๆ ปัญหาของเราที่แท้จริง คือ เราไม่มีหรือไม่ได้เตรียมแหล่งเก็บกักน้ำฝนเอาไว้อย่างเพียงพอเท่านั้นเอง ในหน้าฝน น้ำฝนก็ไหลนองเป็นน้ำหลากท่วมบ้านเรือนชาวบ้าน แล้วก็ไหลลงแม่น้ำโขงที่จังหวัดอุบลราชธานีหมด (เป็นอุทกภัย) ในหน้าแล้งก็ไม่มีน้ำเก็บกักเอาไว้ใช้ก็เกิดเป็นภัยแล้งเช่นนี้แทบทุกปี..."
โครงการโขง-ชี-มูล นี้ได้มีการพูดกันมาสัก 25 ถึง 30 ปีแล้ว หลักการของโครงการนี้ คือ การสูบน้ำจากแม่น้ำโขงมาเติมให้ลำน้ำชีและลำน้ำมูลในภาคอีสานของไทย ในฤดูแล้ง เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในภาคอีสาน เมื่อเดือนที่แล้ว (สิงหาคม 2562) ผมฟังการอภิปรายการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายค้านได้ถามรัฐมนตรี (เกษตร) ว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาภัยแล้งในภาคอีสานอย่างไร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรได้ตอบว่าจะรื้อฟื้นหรือนำเอาโครงการโขง-ชี-มูล ออกมาทำ ฟังดูโดยผิวเผินก็รู้สึกดี รู้สึกว่าคงจะแก้ปัญหาภัยแล้งในภาคอีสานได้เสียที ผมกลับมาคิดทบทวนเรื่องนี้อีกครั้งจึงเห็นว่า โครงการนี้ในปัจจุบันนี้
ไม่น่าทำอย่างยิ่งด้วยเหตุผลดังนี้ :
1. ในเวลา 20 ถึง 25 ปีที่ผ่านมานี้ ประเทศจีนได้สร้างเขื่อนทดน้ำกั้นลำน้ำโขงในประเทศของตน10 เขื่อนและกำลังมีแผนที่จะสร้างเพิ่มอีก10 เขื่อน ประเทศลาวก่อสร้างเขื่อนทำนองเดียวกันและมีแผนที่จะสร้างเพิ่มเติมอีก รวมแล้ว 3 เขื่อนรวมทั้งจีนและลาวแล้วคงจะมีเขื่อนทดน้ำ กั้นลำน้ำโขงในอนาคตอันใกล้นี้ 23 เขื่อน ผลของการสร้างเขื่อนทดน้ำบนลำน้ำโขงจำนวนมากดังกล่าว จะทำให้น้ำ จำนวนมหาศาลถูกเก็บกักเอาไว้เพื่อใช้ในฤดูแล้งในประเทศของเขา ดังนั้นในฤดูแล้งคงมีน้ำเหลือใช้จากการเกษตรของเขาที่จะปล่อยลงมาท้ายน้ำ (ประเทศไทย) น้อยมาก ยิ่งบางปีฝนน้อย ยิ่งมีน้ำเหลือน้อยมากๆ ที่จะปล่อยลงมา ทำให้แม่น้ำโขงอาจจะแห้งขอด ติดท้องน้ำก็ได้ แล้วประเทศไทยเรา จะเอาน้ำที่ไหนมาสูบเข้าชี-มูล เพื่อแก้ภัยแล้งของเรา
2. ในฤดูฝนแม่น้ำโขงมีน้ำอย่างอุดมสมบูรณ์ เต็มตลิ่งและอาจจะล้นตลิ่งขึ้นมาก็ได้ ในขณะเดียวกันแม่น้ำชี-แม่น้ำมูล รวมถึงลำปาวด้วย ก็มีน้ำอย่างอุดมสมบูรณ์ เต็มตลิ่ง จนเอ่อล้นท่วมบ้านเรือนสองฝั่งน้ำ ดังที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ ในภาวะเช่นนี้ เราไม่ต้องการน้ำจากแม่น้ำโขงเลย
จากเหตุผลในข้อ 1 และข้อ 2 นี้จึงเห็นว่าโอกาสที่ไทยจะได้น้ำจากลำน้ำโขงมาแก้ปัญหาภัยแล้งของเราดูจะน้อยเหลือเกิน
3. ค่าดำเนินการ ( Operation Cost) สูงมาก ในการนำน้ำจากแม่น้ำโขง มาใช้ในประเทศไทยนั้น จะต้องสูบน้ำจากระดับท้องน้ำขึ้นมาเหนือตลิ่งและอาจต้องยกน้ำให้สูงขึ้นไปอีก เพื่อให้น้ำมีความต่างศักย์ (Head) สูงพอที่น้ำจะไหลไปได้เองตามธรรมชาติ และคงต้องมีการเจาะอุโมงค์ส่งน้ำด้วย น้ำเป็นสสารที่มีน้ำหนัก 1 ตันต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร (คิวบิกเมตรหรือคิว) การที่จะเอาน้ำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในภาคอีสาน เราพูดกันถึงมวลน้ำหลายล้านคิว คิดเป็นน้ำหนักหลายล้านตัน การยกของหลายล้านตันขึ้นสูง 40 ถึง 50 เมตรต้องใช้พลังงานมากมายมหาศาล คิดเป็นเงินมากมาย
หากไม่สูบน้ำขึ้นมาก็อาจจะเจาะอุโมงค์ขนาดใหญ่ เริ่มจากระดับท้องน้ำเข้ามาในพื้นที่ในประเทศไทย อุโมงค์ต้องมีความใหญ่มากและยาวมากๆ แน่นอน ค่าก่อสร้างก็ต้องสูงมากๆ ได้ทราบข่าวว่าโครงการนี้อาจใช้งบประมาณถึง 2 ล้านล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้างคงไม่ต่ำกว่า 6 ปี ผลที่ได้จะได้ไม่มากนักและไม่คุ้มกับเงินที่ลงทุนในระยะเวลาที่เสียไป
ถึงเวลานั้นน้ำในแม่น้ำโขงในฤดูแล้งบางปี อาจไม่มีหรือมีน้อย จนแห้งขอดก็ได้ เป็นการลงทุนมหาศาลโดยมีความเสี่ยงสูงมากที่จะพบกับความสูญเปล่าก็ได้
4. ปัญหาอื่นๆ ยังมีอีกมาก เช่น เมื่อเติมน้ำให้ลำน้ำชีแล้ว จะไปเติมน้ำให้ลำน้ำมูล ได้อย่างไร ปัญหาที่กักเก็บน้ำในภาคอีสานก็ยังไม่มี หรือมีน้อยมาก ปัญหาทางเทคนิคอื่นๆ อีกมากมายที่ยังไม่ได้พิจารณาความเป็นไปได้ในเบื้องต้น ฯลฯ จึงสรุปได้ว่าเรา (ประเทศไทย) ควรยุติโครงการนี้ไว้ก่อนจะดีกว่า หรือหากจะศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นก็ยังพอรับได้
5. ตามสภาพความเป็นจริง ฝนที่ตกในภาคอีสานก็อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยประมาณ 1,500 มิลลิเมตรต่อปี อยู่แล้ว ปริมาณฝนขนาดนี้ทำให้เกิดน้ำจำนวนมากมายมหาศาล ถึงขนาดที่ทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างหนักในหลายๆ พื้นที่อยู่แล้ว พิสูจน์ได้จากน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบันนี้ จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ เลย ที่จะนำน้ำจากแม่น้ำโขงมาใช้ให้สิ้นเปลืองงบประมาณ ยุ่งยาก ลำบากเปล่าๆ ปัญหาของเราที่แท้จริง คือ เราไม่มีหรือไม่ได้เตรียมแหล่งเก็บกักน้ำฝนเอาไว้อย่างเพียงพอเท่านั้นเอง ในหน้าฝน น้ำฝนก็ไหลนองเป็นน้ำหลากท่วมบ้านเรือนชาวบ้าน แล้วก็ไหลลงแม่น้ำโขงที่จังหวัดอุบลราชธานีหมด (เป็นอุทกภัย) ในหน้าแล้งก็ไม่มีน้ำเก็บกักเอาไว้ใช้ก็เกิดเป็นภัยแล้งเช่นนี้แทบทุกปี
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราควรพิจารณาแนวทางที่จะแก้ปัญหาน้ำท่วม - ภัยแล้งในภาคอีสานดังนี้
1. พิจารณาหาตำแหน่งที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำ ฝายทดน้ำ พื้นที่แก้มลิงตามธรรมชาติในภูมิประเทศที่เหมาะสมตามธรรมชาติทั่วทั้งภาคอีสานให้มากที่สุดเท่าที่ภูมิประเทศจะอำนวย
2. พิจารณา ปรับปรุง ขยายความจุของอ่างเก็บน้ำ เขื่อนที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันให้เพิ่มขึ้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
3. พิจารณาที่จะเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำเดิมของแม่น้ำชี-มูล-ลำปาว ให้ได้มากที่สุดโดยเก็บกักน้ำไว้เสมอระดับตลิ่ง โดยการสร้างเขื่อนทดน้ำเป็นช่วงๆ ตลอดลำน้ำ และในทำนองเดียวกันบรรดาคลองย่อย คลองซอยต่างๆ ก็จะต้องทำประตูน้ำเพื่อเก็บกักน้ำให้เต็มตลิ่งเหมือนกัน
4. พิจารณาขุดคลองย่อย คลองซอย แม่น้ำสาขา (Diversion) เพิ่มขึ้นเท่าที่สภาพพื้นที่ หรือภูมิประเทศจะอำนวยเพื่อเก็บกักน้ำและเป็นตัวหน่วงน้ำในฤดูน้ำหลากด้วย
5. พิจารณาสร้างฝายชะลอน้ำ (ฝายแม้ว) รวมทั้งการปลูกป่าเพิ่มเติม บนพื้นที่ลาดชัน ตามไหล่เขา เชิงเขา เนินเขา พื้นที่หัวโล้น เป็นต้น (โดยให้ อบต.รับผิดชอบ) เป็นการสร้างงานให้ประชาชนในพื้นที่ด้วย
6. พิจารณาทำเขื่อน กำแพงกั้นน้ำ โอบล้อม ปิดล้อมตัวเมือง อำเภอ เขตเศรษฐกิจที่มีความสำคัญสูง ที่มีความเสี่ยงกับภัยน้ำท่วมเป็นแห่งๆไป เช่น จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น
7. พิจารณาขุดคลองอ้อมตัวเมือง (by pass) ลักษณะเป็นเหมือนถนนเลี่ยงเมือง (by-pass) ของการจราจร ในพื้นที่ใหญ่ๆ ที่จะป้องกันน้ำท่วม
ข้อสังเกตุ
คูคลองและแม่น้ำเป็นแก้มลิงแบบหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า Moving Reservoir ซึ่งเราควรใช้คูคลองและแม่น้ำเป็นที่กักเก็บน้ำ ซึ่งได้ปริมาณมากเพียงพอที่จะสามารถช่วยเรื่องน้ำท่วมและภัยแล้งได้
ข้อเสนอทั้งหมดนี้เป็นเพียงแนวคิดเบื้องต้นถึงความเป็นไปได้ที่จะแก้ปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้งในภาคอีสานเท่านั้น จำเป็นจะต้องทำการศึกษา - ออกแบบเบื้องต้น Conceptual Design รวมถึง Preliminary Design จึงจะได้ตัวเลข ปริมาณ วิธีการ ที่แน่นอน ชัดเจนมากขึ้น หน่วยงานราชการไทย (กรมชลประทาน, กรมทรัพยากรน้ำ) สามารถทำได้เองอยู่แล้ว แต่หากต้องการงานที่เร่งด่วนควรจัดจ้างบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาของไทยเรา ช่วยดำเนินการจะได้งานที่รวดเร็ว และมีความน่าเชื่อถือ งบประมาณที่จะดำเนินการและเวลาดำเนินการก็น้อยกว่าของโขง-ชี-มูล มาก
วิสิษฐ์ เจริญนิตย์ นักวิชาการอิสระ
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://siamrath.co.th/n/83984