‘ปวิตร มหาสารินันทน์’ เล่าหลังฉากถูกยื่นข้อเสนอแลกลาออก ผอ.หอศิลป
“...ท่านหนึ่งมาพูดกับผมอย่างไม่เป็นทางการว่า เพราะคุณไปด่ากทม. ผมรู้สึกว่า ไม่ได้ด่า แค่บอกว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น กทม.จะไม่ให้งบประมาณ ปี 2563 และกทม.ทวงค่าน้ำค่าไฟย้อนหลังมาแล้ว 20 เดือน บอกประชาชนแค่นี้ เพื่อจะได้มาช่วยหอศิลปกรุงเทพฯ ซึ่งผมพูดตลอดเวลาว่า การช่วยง่ายที่สุด คือ การมาหอศิลปกรุงเทพฯ และหากมีเงินเหลือมาบริจาคได้”
30 ก.ย. 2562 จะเป็นวันสุดท้ายในการทำหน้าที่ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครของ ‘ผศ.ปวิตร มหาสารินันทน์’ หลังจากถูกคณะกรรมการมูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ ที่มี ‘รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย’ เป็นประธาน ไล่ออกตั้งแต่ 31 ส.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากผลการปฏิบัติงานไม่ผ่านการประเมิน
ผศ.ปวิตร จบการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิต(เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จุฬาฯ และ Master of Arts มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น สหรัฐอเมริกาด้วยทุนฟุลไบรต์และทุนของ Asian Cultural Council และได้รับเหรียญอิสริยาภรณ์สาขาศิลปศาสตร์และอักษรศาสตร์ ชั้นอัศวิน จากกระทรวงวัฒนธรรมและการสื่อสาร ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2557
โดยก่อนจะเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการหอศิลปกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2561 นั้น เคยดำรงตำแหน่งอนุกรรมการฝ่ายกิจกรรมศิลปของหอศิลปแห่งนี้ในปี 2560 และยังดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการสรรหาศิลปินศิลปาธร และอนุกรรมการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงและที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมของไต้หวันอีกด้วย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org พาไปไขเบื้องลึกกับ ผศ.ปวิตร มหาสารินันทน์
ผศ.ปวิตร กล่าวว่า ตำแหน่งผู้อำนวยการหอศิลปกรุงเทพฯ มีวาระ 4 ปี ซึ่งครั้งที่เข้ามารับตำแหน่งนั้น คณะกรรมการมูลนิธิฯ ระบุให้ทดลองงานเป็นเวลา 1 ปี นั่นหมายความว่า แบ่งเป็น 2 สัญญา คือ สัญญาแรก 1 ปี และสัญญาสอง 3 ปี แต่ความจริงปรากฎว่า สัญญาแรก 6 เดือน เมื่อผลการปฏิบัติงานได้รับการประเมินผ่าน แรกเริ่มเข้าใจว่า จะได้ต่อสัญญาไปอีก 6 เดือน แต่กรรมการเปลี่ยนใจให้ต่อสัญญาเพิ่มเป็น 1 ปี
เท่ากับว่า ต้องทดลองงานเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน ในกรอบวาระ 4 ปี ซึ่งเขามองว่า คงไม่มีงานที่ไหนเป็นเช่นนี้ ยอมรับช่วงนั้นเกิดคำถาม แต่ด้วยความเคารพ จึงยอมรับตามสัญญา รวมทั้งสิ้นถึง 31 ส.ค. 2562 จำนวน 2 สัญญา ระยะ 1 ปี 6 เดือน
“31 ส.ค. ได้รับหนังสือจากเลขานุการของมูลนิธิฯ ว่าคณะกรรมการประเมินการปฏิบัติงานไม่ผ่าน จึงไม่ต่อสัญญา จึงเลิกจ้างแค่ 1 ปี 6 เดือน ภายใต้กรอบวาระการทำงาน 4 ปี” อดีตผู้อำนวยการหอศิลปกรุงเทพฯ กล่าว และว่า จึงยื่นขอทราบรายงานผลการประเมิน ตั้งแต่ 31 ส.ค. แต่จนถึงขณะนี้ (26 ก.ย.) ยังไม่ได้รับรายงาน
เขายังมองว่า องค์กรที่มีความโปร่งใสจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ซึ่งหอศิลปกรุงเทพฯ ที่เป็นของประชาชนต้องมีความโปร่งใส เช่นเดียวกับเขาที่มีความโปร่งใสกับประชาชนว่า เรามีปัญหาอะไรบ้าง จะไม่ได้งบประมานในปีไหน ถึงแม้จะเป็นการสร้างความขัดแย้งอย่างที่ถูกมองกันก็ตาม
“ถ้าผมทำงานอย่างโปร่งใส คนที่ทำงานกับผมต้องโปร่งใสด้วย”
ทั้งนี้ ผศ.ปวิตร ทราบอยู่แล้วว่า ผลจะต้องออกมาในแง่ลบแน่นอน ซึ่งมีประชาชนทั่วไปที่ประหลาดใจ เพราะว่าหลายคนพอใจกับสภาพของหอศิลปกรุงเทพฯ ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เพราะมีคนเข้ามาและมีกิจกรรมที่มีรูปแบบใหม่ ๆ มากขึ้น ในขณะที่การใช้จ่ายเงินน้อยลง ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าแปลกมาก
“ผมตกใจ ต้องไปหาหมอกล้ามเนื้อ ไม่ใช่จิตแพทย์ เพราะมีอาการเครียดขึ้นมา เนื่องจากส่งกระทบต่อร่างกาย ซึ่งปกติไปหาอยู่แล้ว ตอนที่มีปัญหาเรื่องงบประมาณของกทม.”
ก่อนจะขยายความของอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นว่า เขาเข้ามารับตำแหน่งวันที่ 1 มี.ค. 2561 วันถัดมากรรมการมูลนิธิชุดเดิมหมดวาระลง ทำให้ตั้งแต่นั้นมาไม่มีกรรมการมูลนิธิฯ เกิดช่องว่าง และทำให้ปีนั้นมีปัญหากับกทม.เรื่อยมา และปัจจุบันยังคงมีอยู่ จนกระทั่งกรรมการมูลนิธิชุดใหม่ เข้ามาทำงานตั้งแต่ 31 พ.ค. 2562 ได้ 3 เดือน จึงไม่ต่อสัญญาผู้อำนวยการหอศิลปกรุงเทพฯ
ผศ.ปวิตร ยังบอกเล่าว่า ก่อนหน้านี้มีการประเมินมาครั้งหนึ่ง ช่วงมี.ค. ซึ่งได้รับข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นจากกรรมการประเมินมาปรับปรุงการทำงานและผลออกมาอย่างที่ประชาชนเห็น นั่นคือ หอศิลปกรุงเทพฯ เป็นหอศิลปของประชาชนอย่างที่ทุกคนเห็นในตอนนี้
“แน่นอนว่ามีหลายข้อที่ทำไม่ได้ตามกรรมการมูลนิธิฯ แนะนำ เช่น บอกให้ระวังเวลาพูดถึงกทม. ผมตัดสินใจว่า เราต้องเลือกเอา ระหว่างให้ประชาชนรับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาเพื่อประชาชนจะได้หาทางแก้ เพราะหอศิลปกรุงเทพฯ ไม่ใช่ของกรรมการมูลนิธิฯ หรือกรุงเทพฯ แต่เป็นของประชาชน ฉะนั้นประชาชนต้องทราบปัญหาก่อน เพื่อหาทางแก้กรรมการมูลนิธิฯ ท่านหนึ่งมาพูดกับผมอย่างไม่เป็นทางการว่า เพราะคุณไปด่ากทม. ผมรู้สึกว่า ไม่ได้ด่า แค่บอกว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น กทม.จะไม่ให้งบประมาณ ปี 2563 และกทม.ทวงค่าน้ำค่าไฟย้อนหลังมาแล้ว 20 เดือน บอกประชาชนแค่นี้ เพื่อจะได้มาช่วยหอศิลปกรุงเทพฯ ซึ่งผมพูดตลอดเวลาว่า การช่วยง่ายที่สุด คือ การมาหอศิลปกรุงเทพฯ และหากมีเงินเหลือมาบริจาคได้”
เขายืนยันชัดเจนว่า คนแก้ปัญหาไม่ใช่เขาคนเดียว และไม่ใช่กรรมการมูลนิธิฯ แต่เป็นประชาชนทุกคน!!!
ส่วนข้อเสนอเงินสองแสนบาทแลกกับการลาออก อดีตผู้อำนวยการหอศิลปกรุงเทพฯ ระบุเป็นความจริง หลังจาก 31 ส.ค. เซ็นรับทราบใบเลิกจ้าง จากนั้น 4 ก.ย. มีกรรมการมูลนิธิฯ 2 คน เข้ามาคุย โดยแสดงความเป็นห่วงกับภาพลักษณ์ของเขาที่จะเสื่อมเสียถูกไล่ออก เนื่องจากผลปฏิบัติงานไม่ผ่านการประเมิน จึงได้รับข้อเสนอให้ลาออกเอง
“ตอนแรกบอกว่า ให้ทำงานไปก่อน 45 วัน อีก 45 วันที่เหลือ ให้ลาพักร้อน ลากิจ ลาป่วย ให้ครบ เป็น 90 วัน แต่คุยกันไปคุยกันมา เสนอมาว่า ถ้าอย่างนั้นทำงานถึง 60 วัน แล้วจะมีเงินตอบแทนพิเศษให้ 2 เดือน ซึ่งยังไม่ตกลง ได้แต่มานั่งคิดว่า แล้วจะทำอย่างไร ต้องเขียนใบลาออก แต่ไม่อยากลาออก ซึ่งใครก็รู้ว่าไม่มีทางลาออก ผมพูดกับทุกคนว่า จะทำงานที่หอศิลปกรุงเทพฯ 8 ปี วาระหนึ่ง 4 ปี ต่อได้อีกครั้งหนึ่ง ผมทำอะไรทำยาว จึงไม่รับข้อเสนอ”
จนกระทั่งเมื่อ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้รับจดหมายจากมูลนิธิฯ ยื่นข้อเสนอนี้ว่า สรุปมีมติให้ทำงานถึง 31 ส.ค.และให้ลาออก รับเงินตอบแทนพิเศษ 2 เดือน ซึ่งในระหว่างนี้เขาปรึกษากับทนายความ ซึ่งตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2562 ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง เพราะกรอบวาระการทำงาน 4 ปี ไม่ได้ทำงานเป็นโครงการ เพราะฉะนั้นตามกฎหมายมีสิทธิได้รับการชดเชย 3 เดือน เพราะเป็นการเลิกจ้าง (ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
“ผมนึกถึงคำพูดของพ่อที่ว่า ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย อย่างไรต้องยอมรับ ถ้าเลิกจ้างเรา เพราะประเมินไม่ผ่าน นั่นคือความจริง จึงตอบไปว่า ถ้าอย่างนั้นขอโดนไล่ออกตามกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค. และแจ้งกลับไปว่า ขอเงินชดเชยตามกฎหมาย ไม่ใช่เงินตอบแทนพิเศษหรือค่าปิดปาก พร้อมรายงานการประเมินผลการปฏิบัติงาน เพราะเป็นสิทธิ แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ”
อดีตผู้อำนวยการหอศิลปกรุงเทพฯ ทิ้งท้ายสั้น ๆ ว่า หลังจากนี้จะยืนหยัดทำงานเกี่ยวกับการบริหารวัฒนธรรมและสอนในบางรายวิชา ในฐานะอาจารย์พิเศษ วิทยากร แต่ตามความตั้งใจแล้ว อยากทำงานในส่วนมหภาคให้กับประชาชน อยากทำงานที่ยุติธรรมและโปร่งใส ซึ่งเป็นการบริหารงานแบบศตวรรษที่ 21 ทุกอย่างต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :เปิดชื่อคกก.มูลนิธิฯ เด้ง 'ผศ.ปวิตร' พ้นผอ.หอศิลปกรุงเทพฯ