วรวรรณ ธาราภูมิ:ข้อบกพร่องของการระบุมูลค่าทรัพย์สินในการครอบครอง
"...ปัญหามันอยู่ตรงข้อ 9 นี้ เพราะใช้คำว่า “มูลค่าของทรัพย์สินทุกชนิดรวมกัน ตั้งแต่ 200,000 บาท” ... ข้าพเจ้าจึงจะฟ้องได้ว่าทำไมนักการเมืองไม่แจ้งรายการตู้เย็นกับไมโครเวฟ ที่มีกันทุกบ้าน เมื่อเป็นอย่างนี้ ทำไมถึงไม่กำหนดว่ามีมูลค่าไม่ต่ำกว่าชิ้นละ xxx บาทแทนล่ะ ท่านดันไประบุว่าถ้ารวมแล้วสองแสนบาทขึ้นไปก็ให้แจ้ง !..."
เรื่องนี้ นักการเมือง และ ป.ป.ช. ควรอ่านอย่างยิ่ง
ข้าพเจ้าอ่านข่าวการเปิดเผยทรัพย์สินในครอบครองของนักการเมืองแล้วเห็นข้อบกพร่องหลายอย่างของกติกา ที่อยากให้ ป.ป.ช. เร่งนำไปพิจารณาปรับปรุง
อย่างก่อนหน้านี้ก็มีกรณีขอยืมรถยนต์มาใช้ ขอยืมนาฬิกามาใส่ รอบนี้ก็มีรายการฮาแตกไม่น้อย จนกลายเป็นข่าวบันเทิงของชาวบ้าน
เช่น ทำไมต้องระบุหนังสือ ตู้หนังสือ ผ้าซิ่น โคมไฟ พรม น้องหมา วิสกี้ ไวน์ เสื้อสูท เสื้อลำลอง กีตาร์ ปืน ฯลฯ สาระพัดรายการ ไปในรายการทรัพย์สิน หนี้สิน ที่ตัองแจ้ง
ฮากว่านั้นคือรายการพระเครื่องและเหล็กไหล อุกาบาต ... ที่ระบุมูลค่าชนิดอ้าปากค้างมาสี่วันแล้ว
ข้าพเจ้าพยายามหากติกามาอ่าน ว่าที่จริงแล้วต้องแจกแจงรายการอะไรบ้าง ก็ไม่เจออะไรที่ชัดเจน นอกจากแบบฟอร์มแจกแจงทรัพย์สินซึ่งเห็นบรรทัดหนึ่งในช่วงกลางหน้า ใต้หมวดทรัพย์สิน ข้อ 9
ข้อ 9 นี้เขาให้แจงรายการ “ทรัพย์สินอื่น (ราคาตั้งแต่สองแสนบาทขึ้นไป) และมีรายละเอียดตามลิ้งค์ที่ให้ไว้ข้างล่างบทความนี้ว่า ...
“ทรัพย์สินอื่น หมายถึง ทรัพย์สินอื่นนอกจากที่ระบุในรายการที่ 1-8 โดย เช่น ทองคำ อัญมณี งาช้าง โบราณวัตถุ นาฬิกา รถยนต์โบราณ อาวธุปืน เป็นต้น”
และมีคำอธิบายเพิ่มให้แสดงหลักฐานประกอบทรัพย์สินอื่นที่ว่านี้ เป็น ... “ภาพถ่ายสีพร้อมบัญชีแสดงรายละเอียดและมูลค่าปัจจุบันของทรัพย์สินแต่ละรายการ”
อย่างนี้นี่เอง ถึงทำให้นักการเมืองต้องใส่รายการแปลกประหลาดลงไปในใบแจ้ง เป็นเพราะ ป.ป.ช. ใช้คำว่า “มีมูลค่าของทรัพย์สินทุกชนิดรวมกัน ตั้งแต่ 200, 000 บาท (สองแสนบาท) ขั้นไป
ดีแค่ไหนที่นักการเมืองเขาไม่แจ้งการครองครองหม้อ ไห เตาไฟฟ้า ที่ปิ้งย่าง กางเกงใน สเตย์รัดหน้าทัอง ถุงเท้า และ ... บัวหิมะพันปี
หากเป็นข้าพเจ้า คงจะแจ้งรายการโกศบรรจุอัฐิของบรรพบุรุษตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ของคุณทวดที่ยังคงมีอยู่ เข้าไปด้วย ด้วยมูลค่าเป็นแสนล้าน เพราะคุณค่าที่มีต่ออนุชนรุ่นหลังนั้น เกินกว่าจะประมาณการได้
และนี่คือสาเหตุที่ข้าพเจ้าและอีกหลายคนไม่สามารถเข้าสู่แวดวงการเมืองได้ ... ก็เพราะไอ้ของกระจุกกระจิกนี่ละ ที่ไม่มีปัญญาจะนับ แถมหลายชิ้นไม่รู้มูลค่าไม่ว่าจะอดีตหรือปัจจุบัน ขืนทะเล่อทะล่าเข้าวงการเมือง คงจะจอดปากอ่าว
อย่างพระพุทธรูป พระเครื่องที่นอกจาก 5 ประเภทที่ทอปฮิตติดชาร์ท เบญจภาคี แล้วยังมีอีกหลาย ... รวมๆ กันเก็บใส่หีบกับขันน้ำมนต์ เก็บมาตั้งแต่บรรพบุรุษยุคก่อนคุณทวดมาจนถึงคุณพ่อ ... เคยเปิดดูครั้งเดียว แล้วก็ปิดหีบไปเลย
คนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงพระเครื่องจะไปรู้ราคาหรือมูลค่าอะไรได้ ... นี่ยังไม่นับเครื่องถ้วยชามรามไห แจกัน ปั้นชา สังคโลก ลายคราม ผ้าไหมเก่าเก็บ ฯลฯ ... ที่ไม่ไหวจะแจกแจง และไม่สามารถระบุมูลค่าได้
กลับมาที่ประโยคเจ้าปัญหากัน ... “มีมูลค่าของทรัพย์สินทุกชนิดรวมกัน ตั้งแต่ 200,000 บาท (สองแสนบาท) ขึ้นไป ... มาถึงตอนนี้ ถ้าข้าพเจ้าเป็นอันธพาลที่ยึดหลักตัวอักษรแบบศรีธนนชัย ข้าพเจ้าจะสามารถยื่นฟ้องนักการเมืองได้ทุกคนว่าแจ้งทรัพย์สินอื่นไม่ครบ
เพราะไม่เห็นมีใครแจ้งรายการตู้เย็นกับไมโครเวฟเล้ย ทุ้งๆ ที่มีกันทุกบ้านนักการเมือง
นี่ไง ปัญหามันอยู่ตรงข้อ 9 นี้ เพราะใช้คำว่า “มูลค่าของทรัพย์สินทุกชนิดรวมกัน ตั้งแต่ 200,000 บาท” ... ข้าพเจ้าจึงจะฟ้องได้ว่าทำไมนักการเมืองไม่แจ้งรายการตู้เย็นกับไมโครเวฟ ที่มีกันทุกบ้าน
เมื่อเป็นอย่างนี้ ทำไมถึงไม่กำหนดว่ามีมูลค่าไม่ต่ำกว่าชิ้นละ xxx บาทแทนล่ะ ท่านดันไประบุว่าถ้ารวมแล้วสองแสนบาทขึ้นไปก็ให้แจ้ง !
ยัง ... ยังมีอีก มาอ่านข่าวกัน ...
ข่าวหลายสำนักรายงานว่า “วิษณุ ชี้ กรณีตั้งราคาเหล็กไหลเว่อร์ อยู่ที่ ป.ป.ช. ตีราคา จะฟอกเงินหรือไม่ ไม่ทราบ แต่ถ้าแจ้งราคาเท็จ คนแจ้งมีความผิด”
และที่ Go so big ก็อันนี้ ...
“มงคลกิตติ์ ยัน ไม่ได้แจงราคาพระโอเวอร์ ขู่ฟ้องกลับ 200 ล้านบาท พร้อมให้ตรวจสอบหรือพิสูจน์ได้ ลั่นไม่ได้ฟอกเงิน เพราะไม่คิดจะขาย ขู่ฟ้อง ศรีสุวรรณ 200 ล้าน เอาให้ล้มละลาย”
.
ท่านผู้อ่านที่รัก เมื่ออ่านมาทั้งหมดแล้ว ท่านเห็นไหมว่าปัญหาเกิดจากอะไร
ปัญหาแรกได้แจงไปแล้ว คือการให้รวมทุกชิ้นว่าถ้าเกิน 2 แสนให้แจ้ง ... ใครจะไปรวมได้หมด พอถาม ป.ป.ช. ไป เขาอาจบอกว่าเอาเท่าที่ทำได้
อ้าว ถ้ามีคำตอบอย่างนั้น มันจะคุ้มครองคนแจ้งได้ไหมเล่า
.
ปัญหาหลังก็คือ “คำอธิบายเพิ่มให้แสดงหลักฐานประกอบทรัพย์สินอื่นที่ว่านี้ เป็นภาพถ่ายสี พร้อมบัญชีแสดงรายละเอียดและมูลค่าปัจจุบันของทรัพย์สินแต่ละรายการ”
ตรงนี้แหละ “มูลค่าปัจจุบันของทรัพย์สินแต่ละรายการ”
แม่จ้าว ! ใครจะไปรู้ได้
หลายคนซื้อแล้วก็จบ อย่างข้าพเจ้านั้นความจำไม่มีหรอกว่าชิ้นไหนราคาเท่าไหร่ ใบเสร็จก็ไม่เคยเก็บ นอกจากนี้ หลายอย่างก็มีมาแต่โบราณ ตั้งแต่ข้าพเจ้ายังไม่เกิด คุณพ่อคุณแม่ก็ยังไม่เกิด ราคาที่ได้มาจึงไม่มีปัญญาจะรู้ บรรพบุรุษได้ไปขุดกรุแตกที่ไหนหรือไม่ ใครจะไปทราบ ... ราคาหรือมูลค่าปัจจุบันยิ่งไม่รู้ไปใหญ่ เพราะไม่มีตลาดกลางที่ซื้อง่ายขายคล่อง จึงเชื่อถือไม่ได้
มาถึงตรงที่คุณวิษณุบอกว่า “ถ้าแจ้งราคาเท็จ คนแจ้งมีความผิด” ... ตรงนี้ยิ่งฮาแตก
เพราะอะไร
เพราะมันไม่มีตลาดกลางที่ “เชื่อถือได้” สำหรับหลายรายการนะสิ แล้ว ป.ป.ช. ท่านจะไปยึดราคาไหนมาเอาโทษใครเขา
เป็นที่ดิน หาได้จากราคากลางของกรมที่ดิน และ/หรือราคาขอซื้อ-ขอขายที่พอจะงมหาได้ หรือใช้ราคาตกลงซื้อขายจริงไปแล้วล่าสุดของแปลงที่ใกล้เคียงกัน เป็นต้น
ถ้าเป็นหุ้น เป็นทองคำ เราหาราคาอ้างอิงจากตลาดหุ้นและตลาดทองคำได้ เป็นวิสกี้ ไวน์ ก็พอหาได้ เป็นราคาที่นักดื่มเขารู้กัน
เป็นภาพวาด ก็พอหาได้จากแกลเลอรีต่างๆ ในแวดวงนักสะสม
เครื่องประดับเพชรนิลจินดาจะตีมูลค่าปัจจุบันยากหน่อย ถ้าไม่เก็บใบเสร็จราคาซื้อไว้อ้สงอิง แถมราคาซื้อขายยังต่างกันมากในหลายๆ ร้าน ขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบ
ส่วนกางเกงในใช้แล้ว น่าจะหามูลค่าปัจจุบันไม่ไหว มันจะแพงขึ้น หรือถูกลง ก็ไม่มีตลาดกลางมาให้อ้างอิง
สรุปคือ ทุกอย่างถ้าไม่มีตลาดกลางให้ซื้อขายคล่องอย่างหุ้นและทองคำ ราคาตลาดจึงเชื่อถือได้ยาก แล้วอย่าออกกฏให้โชว์ใบเสร็จตอนซื้อด้วยนะ ส่วนใหญ่คนจะทิ้งไปหมดแล้ว หรือไม่งั้นก็ไม่มีทางหามาให้ได้
นั่นคือเรื่องของราคา ส่วนมูลค่าปัจจุบัน (fair value) ก็อีกเรื่อง
ก็คล้ายหุ้นนั่นแหละ เมื่อมีตลาดกลางให้ซื้อง่ายขายคล่องอย่างตลาดหุ้น เราก็มีราคาปิดทุกวัน ส่วนมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นนั้นอาจไม่สอดคล้องกับราคาที่เขาซื้อขายกันทุกวัน จะสูงกว่า ต่ำกว่า ราคาที่ซื้อขาย ก็ขึ้นกับมูลค่าของกิจการนั้นๆ
แล้วจะให้หา “มูลค่า” ของเหล็กไหล อุกกาบาต พระเครื่อง จากที่ไหน
จะให้อิงราคาที่มีคนตกลงซื้อขายล่าสุด ?
จะส่งเซียนพระไปตรวจสอบ ?
ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ล้วนมีปัญหาให้ถกเถียงกันได้ตรงความต่างของคำว่า ราคา กับ มูลค่าปัจจุบัน ทั้งสิ้น
ราคาที่อาจมีคนอยากซื้อเหล็กไหลหรือพระเครื่องแท้-ปลอม ในวันนี้ อาจจะเป็นราคาหนึ่ง ราคาที่คนมีของเขาอยากจะขายก็อาจเป็นอีกราคาหนึ่ง แต่หากผู้จะซื้อและผู้จะขายตกลงกันได้ ก็จะเกิดการแลกเปลี่ยนของเหล็กไหลกับเงิน เรียกว่าเกิดตลาดขึ้นมา
แต่จากข่าว เจ้าของเหล็กไหลเขาแจ้งมูลค่าไว้ประมาณ 700 ล้านบาท และบอกว่ามีคนเคยขอซื้อเป็นหลักพันล้านก็ยังไม่ขาย แสดงว่ามูลค่าในใจเขาสูงกว่าหลักพันล้าน ไม่ใช่แค่ 700 ล้านจิ๊บๆ
เมื่อไม่มีตลาดซื้อง่ายขายคล่อง เลยไม่รู้จะเอาตลาดที่เชื่อถือได้ที่ไหนมาอ้างอิงให้ระบุราคาเพื่ออิงหามูลค่าในวันนี้
.
ดังนั้น แทนที่จะไปเอาผิด แทนที่พี่ศรีที่รักจะไปฟ้อง สิ่งที่ ป.ป.ช. ควรทำคือ ปรับปรุงแก้ไขกฏกติกาในการแจ้งทรัพย์สินหนี้สินนี้เสีย ให้ทันยุคสมัย และตรงต่อความเป็นจริง โดยไม่เกิดช่องโหว่ที่ทำให้คนแจ้งรายการตกเป็นเหยื่อโดนฟ้องร้องเอาผิดได้ในอนาคต
เพราะวัตถุประสงค์ที่ ป.ป.ช. ให้แจ้ง มันชัดเจน อย่าให้ใครเอาไปใช้ในทางบิดเบือนเพื่อผลทางการเมืองเป็นอันขาด
แล้วขอเพิ่มกติกาแจ้งรายการขอยืมมาใส่มาใช้ด้วย จะได้ชัดเจนกันไปเลย
นักการเมืองที่แจ้งรายการแล้วผลออกมามีทรัพย์สินน้อยนิดก็ไม่ต้องไปเก้อเขินอับอายใครเขาเลย ข้าพเจ้ายังภูมิใจแทนท่านด้วยซ้ำ ที่ไม่ใช่เศรษฐีแต่สามารถเข้ามาในวงการเมืองได้
เพียงขอให้ท่านสุจริตและเป็นตัวของตัวเอง ทำเพื่อประชาชน ไม่ใช่เพื่อเงิน ไม่คล้อยตามเสียงในพรรคที่ให้ท่านทำผิด... ถ้าทำได้เช่นนั้น ท่านคือผู้ประเสริฐยิ่ง
.
https://www.nacc.go.th/images/article/freetemp/article_20110707124424.pdf
วรวรรณ ธาราภูมิ
24 กันยายน 2562