เชษฐา ทรัพย์เย็น : ระเบิดเวลาอุดมศึกษาไทย
วิกฤตการณ์ในวงการอุดมศึกษาไทยเป็นข่าวใหญ่มาตลอดหลายปี
ช่วงที่ คสช.เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง และพยายามยกเครื่องระบบราชการในหลายๆ ภาคส่วนนั้น ปรากฏว่าแวดวงอุดมศึกษาก็เป็นเป้าหมายหนึ่ง
มีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.หลากหลายฉบับ โดยเฉพาะฉบับหลักคือฉบับที่ 39/59 ที่เปิดช่องให้กระทรวงศึกษาธิการเข้ายึดอำนาจการบริหารของมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาธรรมาบาลได้
แต่เมื่อเวลาผ่านไป กลับมองไม่เห็นรูปธรรมของการแก้ไขปัญหามากนัก โดยเฉพาะปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรียกว่า "สภาเกาหลัง" เมื่อสภามหาวิทยาลัยสมประโยชน์กันกับฝ่ายบริหาร แล้วธรรมาภิบาลจะเกิดได้อย่างไร
อาจารย์ ข้าราชการ และพนักงานมหาวิทยาลัยที่เคลื่อนไหวเรียกร้องความโปร่งใสและความเป็นธรรม ต้องเผชิญชะตากรรมถูกสอบสวน ถูกปลด ถูกลอยแพ ถูกเลิกจ้าง มีคดีฟ้องร้องคั่งค้างอยู่ในศาลปกครองหลายร้อยคดี
ขณะเดียวกันยังมีปัญหาคั่งค้าง ยืดเยื้อ ซุกอยู่ใต้พรมอีกหลายปัญหา ซึ่งตลอด 5 ปีของรัฐบาล คสช.ก็ไม่ได้แก้ไข แถมยังเพิ่มปัญหาจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ให้หนักขึ้นไปอีก
ปลายรัฐบาล คสช. มีการผลักดันกฎหมายจัดตั้ง กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ปัจจุบันเป็นกระทรวงใหม่ถอดด้ามของประเทศไทย มีรัฐมนตรีใหม่ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีคนแรกเข้าไปรับหน้าที่ แต่ทำงานผ่านมาเข้าเดือนที่ 3 ดูเหมือนรัฐมนตรีจะยังไม่แตะสารพัดปัญหาในวงการอุดมศึกษาเลย
ทีมข่าวได้จับเข่าคุยแบบยาวๆ กับ ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น ว่าที่ประธานที่ประชุมสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) ถึงปัญหาในวงการอุดมศึกษา พร้อมทางออกที่เป็นไปได้
ความเห็นและท่าทีของ ทปสท.เป็นเรื่องที่ผู้บริหารกระทรวงอุดมศึกษาต้องเงี่ยหูฟัง เพราะ ทปสท.คือองค์กรตัวแทนของ "คนอุดมศึกษา" ส่วนใหญ่อย่างแท้จริง เนื่องจาก ทปสท.มีผู้แทนจากมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งซึ่งมาจากการเลือกตั้งของข้าราชการและพนักงานมหาวิทยาลัยของรัฐทั่วทุกภูมิภาค
รายได้-เงินเดือน...ยังเหลื่อมล้ำ
ดร.เชษฐา ให้ข้อมูลว่า บุคคลากรของมหาวิทยาลัยขณะนี้ แยกเป็นกลุ่มที่มีสถานะเป็นข้าราชการจำนวนราวๆ 3-4 หมื่นคน นอกจากนั้นเป็นกลุ่ม "พนักงานมหาวิทยาลัย" หรือ "พม." ที่มีจำนวนเกิน 1 แสนคน ถ้ารวมกับลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราว จะมีบุคลากรทั้งระบบอุดมศึกษาประมาณ 2 แสนคน แต่ปรากฏว่ามีปัญหาความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม 2 เรื่องหลักๆ คือ
1. กลุ่มข้าราชการ เรียกเต็มๆ ว่า "ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา" มีความเหลื่อมล้ำเรื่องเงินเดือนกับข้าราชการครูในสังกัดอื่นๆ เพราะมติ ครม.เมื่อปี 54อนุมัติขึ้นเงินเดือนให้เฉพาะข้าราชการครูในสังกัด สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ซึ่งก็คือครูตามโรงเรียนต่างๆ ด้วยเหตุผลทางการเมือง เพราะเป็นครูกลุ่มใหญ่ แต่ไม่ได้อนุมัติขึ้นเงินเดือนให้อาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีสถานะเป็น "ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา" ด้วย กลายเป็นความเหลื่อมล้ำของเงินเดือนประมาณ 8% ซึ่ง ทปสท.เป็นหัวหอกเรียกร้องให้ปรับขึ้นเงินเดือนมาแล้วหลายรัฐบาล
"เรื่องนี้เรื้อรังมา 9 ปี จะเข้าสู่ปีที่ 10 อยู่แล้ว โดยที่ผ่านมา ทปสท.ได้ขับเคลื่อนจนกระทั่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ได้ออกกฎหมายแก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา เปิดช่องให้ ก.พ.อ. (คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา) สามารถพิจารณาเยียวยาเรื่องเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งให้เหมาะสมและเป็นธรรมได้ แต่กลับเกิดความโชคร้ายขึ้น เพราะมีการออกพระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษาฯขึ้นมาในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ทำให้การดำเนินการต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากต้องสรรหา ก.พ.อ.ชุดใหม่ ทำให้ข้าราชการมหาวิทยาลัยต้องตั้งตารออย่างมีความหวังต่อไป" ว่าที่ประธาน ทปสท.ระบุ
2. กลุ่มพนักงานมหาวิทยาลัย หรือ พม. ตำแหน่งนี้เป็นผลมาจากนโยบายคุมกำเนิดข้าราชการ จึงลดการบรรจุข้าราชการมหาวิทยาลัย แต่ให้จ้างเป็น "พนักงานมหาวิทยาลัย" หรือ พม.แทน ซึ่งคนกลุ่มนี้จะไม่ได้รับสวัสดิการ โดยเฉพาะบำเหน็จบำนาญเหมือนข้าราชการ จึงมีมติ ครม.เมื่อปี 42 ให้ พม.สายผู้สอน (อาจารย์) ได้รับเงินเดือนมากกว่าข้าราชการ 1.7 เท่า และ พม.สายสนับสนุน ได้เงินเดือนมากกว่าข้าราชการ 1.5 เท่า แต่ปรากฏว่าตลอดเกือบๆ 20 ที่ผ่านมา พนักงานมหาวิทยาลัยไม่เคยได้รับเงินเดือนเต็มตามอัตราที่ ครม.กำหนดเลย แต่ถูกมหาวิทยาลัยหักเอาไว้ อ้างว่าเพื่อตั้งเป็นกองทุนสวัสดิการ แต่จริงๆ แล้วมีบางแห่งนำเงินไปใช้อย่างอื่น ทำให้กลุ่มพนักงานมหาวิทยาลัยเสียประโยชน์ และไม่ได้รับความเป็นธรรม
"ข้าราชการเมื่อเกษียณก็จะมีบำเหน็จบำนาญ แต่พนักงานมหาวิทยาลัย เมื่ออายุครบ 60 ปีกลับไม่ได้อะไรเลย ถ้าอายุยืนเกิน 60 ปีก็ต้องไปหาอาชีพเอง อย่างในมหาวิทยาลัยที่ผมทำงานอยู่ (มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี) มีพนักงานมหาวิทยาลัยคนหนึ่ง อายุครบ 60 ปีแล้ว กลับไม่ได้ค่าอะไรเท่าไหร่เลย การที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งไม่ยอมจ่ายเงินเต็มตามอัตราค่าจ้าง 1.7 เท่า หรือ 1.5 เท่าของข้าราชการตามมติ ครม.ปี 42 ทำให้พนักงานมหาวิทยาลัยมีเงินสะสมน้อยมาก เมื่อครบอายุ 60 ปีก็ต้องไปหาอาชีพทำตอนแก่ ไม่สมศักดิ์ศรีที่เรียนจบปริญญาเอกมา ถือเป็นชีวิตที่รันทดอีกมุมหนึ่ง" ว่าที่ประธาน ทปสท.กล่าว
ดร.เชษฐา เตือนว่า ปัญหานี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรใส่ใจ โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาฯ เพราะเป็นเรื่องความเป็นธรรมของบุคลากรนับแสนคน ที่สำคัญพนักงานมหาวิทยาลัยที่กำลังเข้าสู่วัยเกษียณจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หากยังละเลยจะกลายเป็นระเบิดเวลาในวงการอุดมศึกษาไทย และสะเทือนไปถึงปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่เมืองไทยกำลังเผชิญอยู่ด้วย
"แม้ขณะนี้จำนวนพนักงานมหาวิทยาลัยที่เริ่มเกษียณจะยังมีไม่มาก แต่มันคือระเบิดเวลา เพราะจะมีคนเกษียณมากขึ้นในระยะต่อไป จากการสำรวจมหาวิทยาลัยในเครือข่ายของ ทปสท.ทั้งหมด 48 แห่ง ในรอบ 1 ปี พบว่ามีคนที่กำลังจะเกษียณอายุ คีอมีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป มากขึ้นกว่าเดิม 20-30% คนเหล่านี้ถ้ามีเงินสะสมไม่พอ สุดท้ายก็ต้องไปหาเงินเลี้ยงชีพเอง กลายเป็นบุคคลที่อาจจะสร้างปัญหาให้กับสังคมต่อไป"
อธิการเกษียณ...ยังคาราคาซัง
ปัญหาต่อมาที่ยังถูกซุกไว้ใต้พรม ก็คือ การแต่งตั้งหรือปล่อยให้คนที่อายุเกิน 60 ปี ดำรงตำแหน่งอธิการบดีได้ต่อไป ซึ่งว่าที่ประธาน ทปสท. มองว่า เป็นหนึ่งในปัญหาธรรมาภิบาล และเข้าข่ายละเมิดกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติการจัดตั้งมหาวิทยาลัยของรัฐแต่ละแห่ง, พระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา และพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ยึดโยงกันและมีผลชัดเจนว่า คนที่จะเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย ต้องไม่ใช่ข้าราชการที่เกษียณอายุแล้ว แต่ปรากฏว่าปัจจุบันยังมีการละเมิดเงื่อนไขข้อนี้เป็นจำนวนมาก
"มีการสำรวจพบว่ามีอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐที่เป็นข้าราชการเกษียณแล้วถึงราวๆ 20 คนจาก 20 สถาบัน อย่าลืมว่าขนาด ผบ.ทบ.อายุ 60 ปียังต้องเกษียณ แล้วทำไมคนที่เกษียณแล้วยังนั่งเป็นอธิการบดีได้ มหาวิทยาลัยบางแห่งมีอธิการบดีอายุ 78 ปี บางแห่ง 74 ปี เราคิดว่ามันไม่เกิดผลดีต่อการพัฒนาระบบราชการ เนื่องจากเป็นการละเมิดกฎหมาย เมื่อปีที่แล้วมีคดีที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินแล้ว เป็นกรณีของมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี สรุปชัดเจนว่าคนที่เกษียณอายุราชการแล้วเป็นอธิการบดีไม่ได้ แต่กลับยังมีหลายมหาวิทยาลัยทำกันอยู่" ดร.เชษฐา ระบุ
ว่าที่ประธาน ทปสท. กล่าวอีกว่า เมื่อไม่นานมานี้ ศาลปกครองสูงสุดได้ออกแนวปฏิบัติราชการให้ทุกหน่วยปฏิบัติ ซึ่งมีข้อหนึ่งระบุว่า การเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยของรัฐ ให้ยึดตามแนวคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด หากอายุเกิน 60 ปี หรือเกษียณอายุราชการแล้ว จะเป็นอธิการบดีไม่ได้ เป็นได้แค่อาจารย์ผู้สอนเท่านั้น
"รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาฯท่านแรกของประเทศไทย ควรนำเรื่องนี้ไปจัดทำเป็นมาตรฐานกลาง เพราะก่อนหน้านี้เราเคยไปเรียกร้อง สกอ. (สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา สมัยยังไม่มีกระทรวงอุดมศึกษาฯ) ให้ออกมาตรฐานกลางแล้ว แต่กลับถูก สกอ.แจ้งว่าไม่มีอำนาจออกมาตรฐานกลาง แต่ต้องไม่ลืมว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดออกมาแล้ว และยังมีแนวปฏิบัติจากศาลปกครองออกมาชัดเจน จึงไม่ควรปล่อยให้แต่ละมหาวิทยาลัยฟ้องศาลกันไปเรื่อยๆ แต่รัฐมนตรีสามารถหันมาสนใจและแก้ไขปัญหานี้ได้" ดร.เชษฐา กล่าว
รักษาการไม่จำกัด...มรดก(บาป)คสช.
ประเด็นอธิการบดียังมีต่อเนื่องไปถึงผลพวงจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 37/60 ที่เปิดช่องให้ผู้ที่รักษาราชการแทนในตำแหน่งอธิการบดี สามารถรักษาการได้นานกว่า 180 วันตามที่กำหนดในกฎหมาย ในระหว่างการดําเนินการสรรหาหรือดําเนินการเพื่อแต่งตั้งอธิการบดีคนใหม่
ดร.เชษฐา เห็นว่า การออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับนี้ พอเข้าใจได้ว่ามีเจตนาไม่ให้การบริหารมหาวิทยาลัยสะดุด หากมีปัญหาเรื่องการสรรหาอธิการบดีนานเกิน 180 วัน แต่ผลอีกด้านที่ คสช.อาจคาดไม่ถึงก็คือ ทำให้เกิดกระบวนการรักษาการแบบไม่จำกัดเวลา หรือ unlimit
"คำสั่ง คสช.ที่ 37/60 ยังไม่ถูกยกเลิก ตอนแรกหลายคนคิดว่าจะมีการยกเลิกคำสั่งนี้หลัง คสช.หมดอำนาจ เนื่องจากเป็นคำสั่งชั่วคราว แต่กลับไม่มีการยกเลิกใดๆ ทำให้เกิดช่องว่างของกฎหมาย อธิการบดีที่มีข้อครหา หรือหมดวาระไปแล้ว และยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ (บางคน สกอ.ไม่เสนอทูลเกล้าฯ เพราะมีปัญหาถูกร้องเรียน หรือถูกสอบทุจริต) แต่ยังนั่งรักษาการต่อไป สามารถครองเก้าอี้ต่อไปได้แบบไม่จำกัดเวลา ซึ่งอธิการบดีกลุ่มนี้ชื่นชอบด้วยซ้ำ เพราะถ้ามีการแต่งตั้ง มีการโปรดเกล้าฯ ไม่รักษาการ จะนั่งตำแหน่งอธิการบดีได้แค่ 4 ปี แต่ถ้าเป็นรักษาการ สามารถอยู่ไปเรื่อยๆ กี่ปีก็ได้"
"เรื่องนี้ รมว.อุดมศึกษาฯ สามารถเข้าไปแก้ไขได้ทันที สามารถนำเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับนี้ได้ หรือเสนอเป็นพระราชบัญญัติเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร เพราะคำสั่งที่ออกมาก็เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอยู่แล้ว เมื่อมันสร้างปัญหาใหม่ ก็ควรยกเลิก" ดร.เชษฐา กล่าว
ไร้ธรรมาภิบาล...ยังเบิกบานไม่เปลี่ยน
ส่วนปัญหาธรรมาภิบาล ว่าที่ประธาน ทปสท. แจกแจงว่า ทั้งการทุจริตคอรัปชั่นโครงการก่อสร้าง ตึกร้าง ถนนไม่ได้มาตรฐาน ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเปิดหลักสูตรด้อยคุณภาพ การกินหัวคิวหรือแบ่งผลประโยชน์กันเป็นทอดๆ บางเรื่องตรวจสอบพบว่ามีการทุจริตจริง แต่ไม่มีกระบวนเอาผิดผู้เกี่ยวข้อง หรือระงับยับยั้งโครงการได้
"ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่กระทรวงอุดมศึกษาฯต้องใส่ใจอย่างมาก เพราะรัฐบาลประกาศแล้วว่าไม่เอาการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่การทุจริตกลับมีมากมายในมหาวิทยาลัยเต็มไปหมดเลย แล้วแวดวงอุดมศึกษาจะไปสร้างเด็กที่มีคุณภาพได้อย่างไร ขณะที่การใช้อำนาจของฝ่ายบริหารกลั่นแกล้งบุคลากรในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะกลุ่ม พม.ที่ขัดขวางการใช้อำนาจโดยมิชอบ หรือทุจริตคอร์รัปชั่น ยังคงมีอยู่ตลอด เพราะกลุ่ม พม.ใช้ระบบสัญญาจ้าง 3-5 ปี หากคนกลุ่มนี้ออกมาเรียกร้องอะไรที่ขัดกับผู้บริหาร หรือแสดงตัวอยู่ฝ่ายตรงข้าม ก็จะถูกเลิกจ้างเมื่อครบสัญญาทันที ต้องจบอาชีพอาจารย์ บางคนต้องออกไปขายหมูทอด หมูปิ้งก็ยังมี"
ดร.เชษฐา อธิบายว่า ต้นตอของปัญหามาจากโครงสร้าง "สภาเกาหลัง" คือสภามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นฝ่ายตรวจสอบ กับอธิการบดีซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร กลายเป็นพวกเดียวกัน แต่งตั้งตำแหน่งแบบต่างตอบแทน ไม่ได้ตรวจสอบถ่วงดุลกันจริง จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงอุดมศึกษาฯ ปฏิรูปโครงสร้างการสรรหาสภามหาวิทยาลัยเสียใหม่ ให้เกิดความเป็นธรรม และไม่ขึ้นกับอำนาจฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัย ถ้าไม่ทำแบบนี้ไม่มีทางแก้ไขได้ แม้ว่ากระทรวงอุดมศึกษาฯ จะมีนโยบายสวยหรูขนาดไหนก็ตาม
"มหาวิทยาลัยควรมีระบบคัดสรรบุคลากรที่จะขึ้นไปเป็นผู้บริหาร ต้องไม่ตกอยู่ในอำนาจการเลือกกันเองของสภามหาวิทยาลัย และควรมีองค์กรจากนอกมหาวิทยาลัยร่วมด้วย เพื่อสร้างสมดุล ซึ่งจะทำให้ได้ผู้บริหารตามต้องการ และอิสระในการบริหารของมหาวิทยาลัยก็จะยังคงอยู่"
"ยกตัวอย่างง่ายๆ สภามหาวิทยาลัยที่เป็นผู้เลือกอธิการบดี ทำไมต้องให้อธิการบดีเลือกผู้ทรงคุณวุฒิมาเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย (กลายเป็นเลือกไขว้ เอื้อประโยชน์กันเอง) ทำไมไม่มีบัญชีกลางของทั้งประเทศ ขึ้นทะเบียนผู้ทรงคุณวุฒิที่ผ่านการคัดสรรอย่างดีเอาไว้ แยกตามสาขาที่จำเป็น เมื่อมหาวิทยาลัยไหนต้องการผู้ทรงคุณวุฒิมาเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ก็ออกระเบียบห้ามเอาพรรคพวกตัวเองเข้ามา แต่ให้ดึงมาจากรายชื่อในบัญชีกลางที่ว่านี้ ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง"
พม.กว่าแสนคน...ยังไร้กฎหมายดูแล
"ส่วนการปลดแอกพนักงานมหาวิทยาลัย ไม่ให้ฝ่ายบริหารมีอิทธิพลเหนือกว่า ก็ควรให้มีสัญญาจ้างระบบเดียวกับข้าราชการ คือทดลองงาน 1 ปี ถ้าผ่านประเมินก็จะทำสัญญาจ้างต่อไปจนถึง 60 ปี หากระหว่างนั้นประพฤติผิดทางวินัย ก็สามารถไล่ออกปลดออกได้ ประเมินผลงานได้ พนักงานมหาวิทยาลัยควรมีสัญญาจ้างแบบนี้ เพราะคุณสมบัติและคุณภาพเท่าเทียมกันกับข้าราชการ สามารถประเมินผลงานเป็นระยะได้ แต่ปัจจุบันมหาวิทยาลัยใช้วิธีไม่เป็นธรรม ทำสัญญาจ้างแค่ 3 ปี กลายเป็นช่องทางให้ฝ่ายบริหารบีบหรือกดดันได้"
"ปัจจุบันทิศทางการบริหารบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษากำลังเปลี่ยนไป พนักงานมหาวิทยาลัยกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ มีจำนวนมากกว่า 1 แสนคน แต่กลับไม่มีกฎหมายใดรองรับหรือดูแลพวกเขาเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงอุดมศึกษาฯต้องเร่งจัดการ วันนี้โอกาสเปิดแล้ว มาจับมือกับ ทปสท.ก็ได้ เพื่อผลักดันพระราชบัญญัติระเบียบบริหารพนักงานมหาวิทยาลัย จะได้ช่วยแก้ไขปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรม" ว่าที่ประธาน ทปสท.กล่าว
และว่า ความเสมอภาคของบุคลากรในวงการอุดมศึกษาถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะทุกวันนี้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา หรือ ก.พ.อ. ซึ่งมีอำนาจทุกอย่างในการบริหารงานบุคคล กลับมีเฉพาะข้าราชการเท่านั้น ถือเป็นกฎหมายที่ล้าหลังมาก เพราะข้าราชการในระบบอุดมศึกษาทุกวันนี้เหลือน้อยมาก พนักงานมหาวิทยาลัยมีจำนวนมากกว่า แต่กลับไม่มีตัวแทนใน ก.พ.อ.เลย ถือเป็นเรื่องที่ผิดหลักมากๆ
รมว.อุดมศึกษาฯ...ถูกกังขาตาชั่งเอียง
ดร.เชษฐา ยังฝากไปถึง ดร.สุวิทย์ เมษิณทรีย์ รมว.อุดมศึกษาฯ ว่า ตั้งแต่เริ่มงานพร้อมกับรัฐบาลชุดใหม่ เหตุใดรัฐมนตรีจึงให้ความสำคัญเฉพาะกับกลุ่มอธิการบดี และผู้บริหารมหาวิทยาลัย ซึ่งรวมตัวกันเป็น "ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย" หรือ ทปอ.เท่านั้น แต่ไม่เคยพบปะหรือรับฟังความเห็นจาก ทปสท. ซึ่งเป็นตัวแทนของคณาจารย์และพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งประเทศเลย
"มันไม่มีความสมมาตรของข้อมูล เพราะท่านรัฐมนตรีฟังแต่ข้อมูลข้างเดียว เน้นแต่กลุ่มอธิการบดี หรือ ทปอ. ทั้งๆ ที่กลุ่มผู้บริหารกลุ่มนี้มีปริมาณไม่ถึง 1% ของบุคลากรมหาวิทยาลัยทั้งหมดเกือบ 2 แสนคน ที่ผ่านมาตลอด 2-3 เดือน พวกเราไม่เคยถูกเชิญหรือรับฟังความคิดเห็นของพวกเราเลย แต่กลับไปฟังข้อมูลเพียงแค่ปีกเดียว คล้ายกับตาชั่งมันเอียง"
"ทางสภาคณาจารย์และข้าราชการเริ่มพูดกันหนาหูว่า กระทรวงอุดมศึกษาฯเกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองกลุ่มอธิการบดีเพียงแค่ไม่ถึง 1% โดยไม่สนใจบุคลากรอีกกว่า 2 แสนคนเลย และกำลังมีข้อครหาว่า กระทรวงอุดมศึกษาฯกำลังถูกครอบงำหรือไม่ ซึ่งผมมองว่า หากยังเป็นแบบนี้จะทำให้การตัดสินใจเชิงนโยบายผิดพลาด 100% เพราะข้อมูลไม่รอบด้าน"
ดร.เชษฐา เสนอทิ้งท้ายว่า ทิศทางของมหาวิทยาลัยไทยในอนาคตอันใกล้ ถือว่าท้าทายอย่างมาก เพราะต้องเผชิญปัญหาเด็กเกิดน้อย ทำให้ที่นั่งในมหาวิทยาลัยยังว่างเป็นจำนวนมาก นักศึกษาปี 1 ทุกคณะของบางสถาบัน เหลือไม่ถึง 1,000 คน นี่คืออีกหนึ่งปัญหาที่รอการแก้ไข ซึ่งอาจต้องควบรวมบางมหาวิทยาลัยเข้าด้วยกัน
ขณะที่มหาวิทยาลัยในกลุ่มราชภัฎและเทคโนโลยีราชมงคล ต้องกลับไปให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กในชุมชน แต่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ออกนอกระบบราชการ ทำให้มหาวิทยาลัยต้องหาเงินเอง เมื่อหาไม่ได้ก็ต้องไปเพิ่มค่าเทอมเด็ก ทำให้เด็กที่ยากจน ไม่มีเงินเรียน ยิ่งหาที่เรียนยากขึ้นไปอีก
ถึงเวลาแล้วที่ตัองกำหนดนโยบายให้มหาวิทยาลัยกลุ่มนี้ยังดำรงสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในระบบราชการเหมือนเดิม เพื่อให้คงวัตถุประสงค์เดิม คือการให้เด็กยากไร้ได้เรียนหนังสือ ตรงตามนโยบายของรัฐบาลที่ว่า...ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง