สู้คดีมีสิทธิชนะ! ‘สุเมธ’ แนะปมยืดสัมปทานทางด่วน เสียหายจริง ค่อยเจรจาต่อรอง
‘ดร.สุเมธ’ เผยมติชั้นกรรมาธิการฯ ถกปมค่าโง่ทางด่วน เสียงข้างมากเห็นด้วย ให้ต่ออายุสัมปทาน ยังเห็นต่าง 15 กับ 30 ปี ระบุต่อสู้อีกหลายคดียังมีโอกาสชนะ หากความเสียหายเกิด เชื่อจะเจรจาต่อรองได้ ด้านกมธ.เสียงข้างน้อย จากพรรคอนาคตใหม่ ประกาศจุดยืนค้านขยายสัญญา ยันไม่เคยรับเงินใคร
วันที่ 20 ก.ย. 2562 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงาน เวทีสภาผู้บริโภค ผ่าทางตัน สภาองค์กรผู้บริโภคประเทศไทย ประจำปี 2562 ซึ่งมีการเสวนาหาทางออก "สภาผู้บริโภคร่วมมือพรรคการเมืองตัดสินใจเรื่องสัญญาสัมปาทานทางด่วน ครั้งที่ 2" ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กรุงเทพฯ
ดร. สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า รายละเอียดการต่อสัญญาสัมปทานในแต่ละส่วน ยังมีความซับซ้อนอยู่บ้าง ปัญหาหลักประการหนึ่งที่เกิดขึ้น ทำให้ต้องมีการเลิกเจรจา คือ เรื่องการบริหารข้อพิพาท ที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กพท.) มีต่อบริษัทผู้รับสัมปทาน ซึ่งข้อพิพาทเมื่อรวบรวมมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งที่ตัดสินแล้วและไม่ตัดสิน มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท
เมื่อมีมูลค่าหลายแสนล้านบาท รัฐบาลจึงให้นโยบายแก่ กพท. ให้ไปเจรจาว่า จะไม่ชดเชยความเสียหาย และให้เลิกแล้วต่อกัน เพื่อแลกกับการต่ออายุสัญญาสัมปทานว่าน่าจะคุ้มหรือไม่ รัฐจะได้ไม่ต้องเสียค่าโง่ และให้สิทธิเอกชนเพิ่มเติมตามที่จะเจรจากัน ทำให้ปัญหาเกิดขึ้นเกี่ยวกับความคิดเห็นที่แตกต่างกันในคณะกรรมาธิการคมนาคม คือ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการฟ้องร้องควรจะให้ฟ้องต่อไปและให้ตัดสินในอนาคต หรือจะยอมแพ้ตั้งแต่ปัจจุบัน แล้วยอมประเมินค่าเสียหายวันนี้ จากนั้นทดแทนโดยการต่ออายุสัญญาสัมปทาน
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ฝ่ายให้ต่ออายุสัญญาสัมปทาน คาดว่า ไม่น่าสู้ แล้วให้นำความเสียหายมาเจรจาต่อรองกัน แต่ฝ่ายไม่เห็นด้วยที่จะให้ต่ออายุสัญญาสัมปทาน เห็นว่า กรณีนี้เป็นควมเสียหายที่ยังไม่เกิดขึ้น และการฟ้องร้องยังไม่แน่นอน อาจแพ้หรืออาจชนะก็ได้ แม้ว่าในอนาคตยังมีความเสี่ยงอยู่ ซึ่งคาดว่า ความเสียหายในอนาคตจะเยอะพอสมควร จึงเป็นที่มาของเสียงข้างมาก
“การต่อสู้คดีความ ยังมีโอกาสชนะในหลายคดี เพราะฉะนั้นความเสียหายที่เกิดจากการฟ้องร้อง คิดว่า น่าจะดำเนินการต่อไปตามกระบวนการยุติธรรม แล้วความเสียหายที่เกิดขึ้นคงจะมีการเจรจาต่อรองได้ในอนาคต โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวแลกสัญญาสัมปทานที่จะต้องต่อในคราวนี้”
ดร.สุเมธ กล่าวอีกว่า กรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ควรนำมาคิดรวมกับการต่ออายุสัญญาสัมปทาน คำถามเกิดขึ้นตามมาว่า ถ้าจะต่อสัญญาสัมปทาน ควรต่อสัญญาตามกระบวนการปกติที่ระเบียบมีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งในสัญญาสัมปทานมีการระบุไว้ เดิมสามารถต่อได้ 10 ปี บวก 10 ปี ภายใต้เงื่อนไขที่มีการเจรจาของรายได้ที่เหมาะสม ซึ่งกระบวนการยังไม่เกิดขึ้น แล้วกระบวนการตามระเบียบพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ยังไม่มีกระบวนการเกิดขึ้นที่แน่นอน แต่สิ่งทีเกิดขึ้น คือ การเจรจาต่อรองของภาครัฐกับผู้รับสัมปทานนำส่วนที่เป็นค่าเสียหายมารวมกับการลงทุนใหม่ แล้วต่อสัญญา 30 ปี
“คณะกรรมาธิการที่เห็นด้วยกับการต่ออายุสัญญาสัมปทาน จะมีความเห็นที่แตกต่างกันสองส่วน คือ บางท่านเห็นด้วยให้ต่อสัญญา 15 ปี บางท่านให้ต่อสัญญา 30 ปี ความแตกต่างระหว่าง 15 ปี กับ 30 ปี คือ ตามข้อเสนอของผู้รับสัมปทานระบุว่า ถ้าต่อ 15 ปี แรก เพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดจากคดีความฟ้องร้อง และ 15 ปีหลัง เพื่อชดเชยในส่วนที่มีการลงทุน อย่างไรก็ตาม เห็นว่า กรณีนี้ต้องพิจารณาอีกมากพอสมควรภายใต้เงื่อนไขเวลาที่จำกัดของกรรมาธิการคงไม่สามารถลงลึกได้มากนัก จึงทำได้เพียงข้อเสนอแนะว่าควรดำเนินการอย่างไรต่อไป อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องไปดำเนินการในเรื่องรายละเอียด” นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ กล่าว
ด้านดร.สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ รองประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม คนที่สาม และกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ในคณะกรรมาธิการชุดนี้ มีสิ่งที่ประสบความสำเร็จ 2 ข้อ 1 .สัญญาสัมปทานทางด่วน ได้พยายามอย่างเต็มที่ ในการพิทักษ์ผลประโยชน์แก่ประชาชน และ 2.เมื่อกลายเป็นเสียงข้างน้อยที่คัดค้านการขยายสัมปทานทางด่วน จึงเรียกร้องเรื่องรัฐโปร่งใส และเป็นที่มาของการเปิดเผยผลการลงมติว่าใครเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
“ต้องยอมรับว่า ในระบอบประชาธิปไตย ต้องเคารพความเห็นต่าง ไม่ได้บังคับให้เชื่อ ซึ่งจุดยืนของผมชัดเจนมากว่า ไม่ควรขยายสัญญาสัมปทาน แต่ด้วยความเป็นประชาธิปไตย เราต้องเคารพความเห็นต่าง ฉะนั้นสิ่งที่ทำได้ คือ เรียกร้องให้มีการเปิดเผยผลความคิดเห็น”
กรรมาธิการคมนาคม กล่าวต่อถึงบรรยากาศในกรรมาธิการ กรรมการชุดนี้อาจแตกต่างจากรายงานคณะกรรมาธิการชุดอื่น ๆ ที่ได้เป็นข้อสังเกต เพราะหาข้อสรุปร่วมกันไม่ได้ ประเด็นคำถามปลายปิด เป็นเรื่องที่พิจารณาว่าจะขยายหรือไม่ขยาย Yes หรือ No ซึ่งหากจะมีข้อสรุปร่วมกัน มานั่งเขียนข้อ 1 อีกทีมจะแย้งขึ้น ใครพูดเหตุผลเชิงขยาย ฝ่ายขยายก็จะไม่ยอม จึงเป็นที่มาที่ประธานกรรมาธิการ ให้แจกกระดาษคนละหนึ่งใบ เพื่อให้เขียนว่า ใครเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย พร้อมเหตุผลประกอบ ส่วนใครไม่ตัดสินใจให้งดออกเสียง พร้อมย้ำว่า เป็นคนละประเด็นกับการสงวนความเห็น
“คำว่าสงวนความคิดเห็น คือ ผมเป็นเสียงข้างน้อย สงวนความคิดเห็นได้ คนงดออกเสียงก็สงวนความคิดเห็นได้ เพื่อไปพูดที่ประชุมใหญ่ได้ แม้แต่คนเลือกก็สามารถสงวนความเห็นไปชี้แจงได้”
ทั้งนี้ ให้กรรมาธิการบางท่าน ว่าจะเปิดเผยความคิดเห็นไม่เป็นไร ในวันโหวตได้ชี้แจงเหตุผลว่า เรื่องนี้ต้องออกสู่สาธารณะ ประชาชนได้เห็นว่า ใครสู้เพื่อเขา ใครสู้เพื่อใคร แต่ยืนยันว่า ตนเองและพรรคอนาคตใหม่ ทำเต็มที่เพื่อประชาชน จุดยืนเราชัดเจนว่า คัดค้านการขยายสัมปทานทางด่วน แต่เห็นด้วยที่จะให้รายงานฉบับนี้เผยแพร่ออกไปสู่สาธารณะ และยืนยันไม่เคยรับเงินใคร
ขณะที่ นายเกียรติ สิทธีอมร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ปกติการให้ความเห็นของกรรมาธิการ ไม่ใช่การตัดสิน แต่เป็นการให้ความเห็นเพื่อส่งให้รัฐบาลไปพิจารณา บางเหตุผลของกรรมาธิการ มีความหลากหลาย เผอิญกรณีนี้คนสนใจเป็นจำนวนมากและมีความเห็นค่อนข้างหลากหลาย ทางออกจึงมีมาก ฉะนั้นวิธีเดียว โดยเป็นวิธีปกติของคณะกรรมาธิการ คือ ให้แต่ละคนที่มีความเห็นเขียนลงกระดาษ แล้วการเสนอความเห็นมีประเด็นเดียว คือ ควรนำเสนอความเห็นนั้นพูดให้สภาผู้แทนราษฎรฟัง จึงอยากให้เข้าใจว่า การสงวนความเห็นไม่ใช่การปกปิด แต่รอวันที่เข้าสภาฯ จึงจะเปิดเผย
“เหตุผลต้องมีการสงวนความเห็น เพราะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มาก ทำให้ต้องสงวนความเห็นไปถึงเวลานั้น เพื่อไม่ต้องการให้มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเคลื่อนไหวเพื่อผลประโยชน์ตนเอง เพราะฉะนั้นการซ่อนความเห็น มิได้เป็นการมีเจตนาปกปิด แต่ต้องการเปิดเผยในสภาฯ ฟัง” ส.ส.ปชป. ระบุ .
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในการเสวนาครั้งนี้ ไม่มีตัวเเทนจากคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากที่เห็นด้วยให้มีการต่ออายุสัญญาสัมปทานเข้าร่วมด้วย .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:ศาลปค.กลาง เพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตฯ -กทพ.ไม่ต้องจ่ายค่าก่อสร้าง กว่า 300 ล.ให้บีอีเอ็ม