วิรไท สันติประภพ:แนวพระราชดำริ ภูมิคุ้มกันสังคม วัคซีนธุรกิจยั่งยืน
"...ผมขอสรุปว่ามี 3 องค์ประกอบของภูมิคุ้มกันที่จำเป็นสำหรับสังคมไทย คือ ทำอย่างไรให้คนไทยเก่งขึ้นและสามารถใช้ความเก่งได้เต็มที่ ไม่มีกำแพงกระจกมาปิดกั้น ทำอย่างไรที่จะให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนในภาคธุรกิจไทย และทำอย่างไรสังคมจึงจะมีภูมิคุ้มกัน มี safety net ทั้งสามเรื่องจะทำให้คนไทยมีความหวัง แทนที่ความกลัว และความหวังว่าเขาจะมีชีวิตที่ดีขึ้นจะเป็นภูมิคุ้มกันสำหรับสังคมไทย..."
หมายเหตุ-บทสนทนากับนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท. )ในงานสัมมนา “แนวพระราชดำริ ภูมิคุ้มกันสังคม วัคซีนธุรกิจยั่งยืน”จัดโดยมูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ
วันจันทร์ที่ 16 กันยายน 2562 ณ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ผู้สัมภาษณ์: คุณสายสวรรค์ ขยันยิ่ง
คุณสายสวรรค์ : ในขณะที่อุณหภูมิการเมือง สังคม และเศรษฐกิจในระดับโลกกำลังร้อนแรง เช่น ปัญหา Brexit สถานการณ์ในฮ่องกง สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ รวมถึงเสียงจากผู้ประกอบการรายเล็ก-ใหญ่ที่บ่นถึงสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี เราควรจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร และใช้วัคซีนอะไรสำหรับพวกเรา
ดร.วิรไท : บางครั้งเวลารับข่าวสาร เรามักสนใจเรื่องระยะสั้น ถ้ามองเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก จะเห็นว่าต่างก็มีวัฏจักร เรื่องสำคัญคือการมองไกลในระยะยาว ทำอย่างไรให้แน่ใจว่าเศรษฐกิจและสังคมของเรามีภูมิคุ้มกันสำหรับระยะยาว เรื่องที่สำคัญที่สุดคือทำอย่างไรจึงจะสร้างความหวังให้กับประชาชนคนไทย ว่าทุกภาคส่วนจะมีชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว
ยกตัวอย่างจากฮ่องกง แม้ว่าเศรษฐกิจจะไม่ได้มีปัญหามาก แต่กลับมีการประท้วงต่อเนื่อง 4-5 เดือน เพราะคนรุ่นใหม่ของฮ่องกงขาดความหวัง กลัวว่าถ้ามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแล้ว อาจจะต้องกลับไปอยู่ในระบบของจีน เขาจะสูญเสียเสรีภาพ ความกลัวทำให้ภูมิคุ้มกันของสังคมหายไป
หรือกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อกั๊กเหลือง (yellow vest) ในฝรั่งเศสปีที่แล้ว ก็เกิดจากชนชั้นกลางที่รู้สึกว่าคุณภาพชีวิตของเขาไม่ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น รายได้เพิ่มไม่มากในขณะที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อีกทั้งต้องแข่งขันกับแรงงานต่างด้าวมากขึ้น รวมถึงเทคโนโลยีก็พัฒนาเร็วขึ้น
คุณสายสวรรค์ : หมายถึงความหวังต้องมาจากความชัดเจนที่จับต้องได้ ไม่ใช่ใครเข้ามาดูแลประเทศและบอกให้เรามีความหวัง
ดร.วิรไท : ความหวังมาจากหลากหลายปัจจัย แต่ละคนต้องเห็นว่า ตนเองมีโอกาสที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเองได้ ขอยกตัวอย่างพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่า “การพัฒนาหมายถึงทำให้มั่นคง ทำให้ก้าวหน้า การพัฒนาประเทศก็ทำให้บ้านเมืองมั่นคง มีความเจริญ ความหมายของการพัฒนาประเทศนี้ก็เท่ากับตั้งใจที่จะทำให้ชีวิตของแต่ละคนมีความปลอดภัย มีความเจริญ มีความสุข”
ดังนั้น โจทย์ใหญ่คือทำอย่างไรชีวิตของคนไทยแต่ละคนจะมีความหวัง มีความเจริญ และมีความสุขในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะทางเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิศาสตร์ ซึ่งนับเป็นทั้งความท้าทายและโอกาส แต่หากเราไม่มั่นใจในตัวเอง เราจะให้น้ำหนักกับความท้าทายมากกว่าโอกาส เราจะให้น้ำหนักกับความกลัวมากกว่าความหวัง ฉะนั้น เราต้องเปลี่ยนสมดุลตรงนี้ ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันทางสังคมที่สำคัญมาก
หากต้องการให้คนไทยใช้ชีวิตอยู่ด้วยความหวังมากกว่าความกลัว มี 3 เรื่องที่ต้องคำนึงถึง คือ (1) ทำอย่างไรให้คนไทยเก่งขึ้นและมีโอกาสที่จะใช้ความเก่งของตัวเองอย่างเต็มความสามารถ (2) ต้องคำนึงถึงความยั่งยืน (sustainability) ที่สหประชาชาตินิยามว่าต้องไม่เบียดบังทรัพยากรและคุณภาพชีวิตของคนรุ่นต่อไปมาใช้ในรุ่นของเรา และ (3) ทำอย่างไรให้คนไทยมีภูมิคุ้มกันที่ดี มี safety net ที่ดีบนโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง หากมี safety net รองรับ เมื่อเกิดเรื่องที่ไม่คาดคิด ก็จะไม่กระทบชีวิตของเราหรือครอบครัวมากเกินไป
เรื่องแรกคือ ทำอย่างไรให้คนไทยเก่งขึ้นและใช้ความสามารถของตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ
เรื่องนี้เป็นหัวใจที่สำคัญมาก ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โอกาสทางเทคโนโลยีทำให้ช่องว่างด้านความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีขยายกว้างขึ้น ทำอย่างไรระบบการศึกษาของไทยจะช่วยให้ทุกคนพัฒนาตัวเองได้ตลอดเวลา มีการศึกษาตลอดชีวิต เพราะเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ความรู้มีอายุสั้นลง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้แรงงานไทยอีก 30 ล้านคนเข้าถึงการศึกษาตลอดชีวิตได้ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต คือไม่ได้จำกัดเฉพาะการศึกษาในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เพราะการพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่อยู่ในตลาดแรงงานแล้ว อาจจะสำคัญกว่าบัณฑิตที่กำลังจะจบในแต่ละรุ่น
อีกเรื่องที่มีความสำคัญคือ ทำอย่างไรให้คนไทยใช้ความรู้ความสามารถได้เต็มศักยภาพ สังคมไทยมีลักษณะเป็นเพดานกระจก (glass ceiling) การศึกษาจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้เราขยับฐานะทางสังคมได้ เมื่อช่องว่างของรายได้และช่องว่างทางการศึกษากว้างขึ้น คนจะมองเห็นความเป็นไปได้ในการพัฒนาตนเองน้อยลงกลายเป็นความกลัว ไม่ใช่ความหวัง
คุณสายสวรรค์ : เท่ากับเราทิ้งคนกลุ่มหนึ่งไว้ข้างหลัง ในขณะที่คนที่แสวงหาเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตก็จะทะลุขึ้นไป จะทิ้งห่างกันเรื่อย ๆ
ดร.วิรไท : ใช่ครับ เราต้องสร้างโอกาสให้คนไทยแต่ละคนมีโอกาสแสดงศักยภาพ ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายมิติ เช่น ระบบนิเวศของเราต้องเอื้อให้คนเก่งสามารถแสดงศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ การแข่งขันต้องเป็นธรรม รายใหม่และรายเล็กที่มีความคิดใหม่ ๆ มีศักยภาพดี สามารถเข้ามาในธุรกิจได้ มีพื้นที่ให้แสดงและสามารถเติบโต การพัฒนาระบบนิเวศ รวมถึงการพัฒนากฎเกณฑ์ของภาครัฐหลายอย่างให้ประสานกันได้ เพื่อลดความติดขัดต่าง ๆ
คุณสายสวรรค์ : มี startup เกิดขึ้นมากมาย แต่ยังไม่พอใช่ไหม
ดร.วิรไท : ในขณะที่เราพูดกันว่า กำลังซื้อคนไทยหายไปไหน บางบริษัท เช่น Kerry express เมื่อ 4 ปีก่อนส่งสินค้า 7 หมื่นกล่องต่อวัน แต่ปัจจุบันส่ง 2 ล้านกล่องต่อวัน แสดงว่ากำลังซื้อเปลี่ยนไปจากร้านค้าเป็นการซื้อขายออนไลน์ รวมถึง SME ที่ขายผ่าน e-Commerce หรือ social media ท่ามกลางบริบทที่มีการเปลี่ยนแปลง ถ้าสามารถใช้ศักยภาพของตัวเอง จะสามารถสร้างอนาคตที่ดีกว่าได้
เรื่องสองคือ การคำนึงถึงความยั่งยืน
ตามที่ ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าวในช่วงเริ่มต้น “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” วันนี้ในน้ำมีพลาสติกด้วย นี่เป็นตัวอย่างการใช้ชีวิตที่เบียดบังทรัพยากรของคนรุ่นต่อไป ทำอย่างไรจึงจะรักษาสมดุลที่เหมาะสม ไม่เบียดบังทรัพยากรของคนรุ่นต่อไปมาใช้มากเกินไป นอกเหนือจากเรื่องสิ่งแวดล้อม หลายเรื่องที่เราอาจไม่ได้คิด ก็มีลักษณะเบียดบังคนรุ่นต่อไป เช่น การขาดดุลการคลัง ซึ่งเท่ากับการใช้ภาระภาษีของคนในอนาคต บางประเทศมีกฎหมายให้สร้างทรัพย์สินให้เพิ่มขึ้นสำหรับคนรุ่นต่อไปด้วย
ความแตกต่างระหว่างคนต่างรุ่นที่เห็นได้ชัด เช่น เวลาคนรุ่นใหม่สมัครงาน เขาไม่ได้ดูแค่เงินเดือน แต่ดูว่าองค์กรนั้นรับผิดชอบหรือสร้างปัญหาต่อสังคมอย่างไร ในเรื่องนี้ภาคธุรกิจสำคัญกว่าภาครัฐบาลเพราะเป็นกลไกการจัดสรรทรัพยากร ถ้าภาคธุรกิจเน้นความยั่งยืน จะทำให้สังคมมีภูมิคุ้มกันที่ดีมาก ซึ่งหลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ และสถาบันการเงินหลายแห่ง ก็ให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืน แต่ถ้ายังทำธุรกิจแบบเดิม ๆ ไม่เพียงแต่ซ้ำเติมเรื่องความยั่งยืน แต่ยังสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นด้วย
หัวข้อวันนี้ “ภูมิคุ้มกันสังคม วัคซีนธุรกิจยั่งยืน” เป็นชื่อหัวข้อที่ดี อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล ภูมิคุ้มกันทางสังคมเป็นวัคซีน แต่ภูมิคุ้มกันจะเกิดได้ธุรกิจต้องคิดแบบยั่งยืน เป็นปฏิสัมพันธ์ (interaction) ที่เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน
เรื่องสามคือ ทำให้สังคมมีความหวังมากกว่าความกลัว
สังคมต้องมีกลไกหรือมีภูมิคุ้มกันรองรับหากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ภูมิคุ้มกันเป็นหนึ่งใน 3 เงื่อนไขสำคัญที่เรามักมองข้าม เช่น การทำประกันอุบัติเหตุ แต่บนโลกที่ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศที่มีโอกาสรุนแรงขึ้น สภาวะโลกร้อนทำให้มีแนวโน้มเกิดภัยพิบัติรุนแรงขึ้นทุกปี เช่น สองเดือนก่อนพูดเรื่องภัยแล้ง ตอนนี้พูดเรื่องน้ำท่วม ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่จำกัดเฉพาะในระดับประเทศ แต่มีผลต่อประชาชนแต่ละคน ว่าทำอย่างไรคนไทยจะมี safety net สำหรับกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค หรือโครงการประกันภัยสินค้าเกษตรที่เกษตรกรสามารถซื้อ micro-insurance ที่ค่าธรรมเนียมไม่แพงและได้รับเงินชดเชย
ผมขอสรุปว่ามี 3 องค์ประกอบของภูมิคุ้มกันที่จำเป็นสำหรับสังคมไทย คือ ทำอย่างไรให้คนไทยเก่งขึ้นและสามารถใช้ความเก่งได้เต็มที่ ไม่มีกำแพงกระจกมาปิดกั้น ทำอย่างไรที่จะให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนในภาคธุรกิจไทย และทำอย่างไรสังคมจึงจะมีภูมิคุ้มกัน มี safety net ทั้งสามเรื่องจะทำให้คนไทยมีความหวัง แทนที่ความกลัว และความหวังว่าเขาจะมีชีวิตที่ดีขึ้นจะเป็นภูมิคุ้มกันสำหรับสังคมไทย
คุณสายสวรรค์ : ท่านผู้ว่าการสะท้อนให้เห็นสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของการวางนโยบายเพื่อกระตุ้นให้คนไทยเกิดความหวัง ฝ่าฟันอุปสรรค ไม่ว่าจะเจอปัญหาหรือสิ่งที่ไม่คาดคิด ขอเรียนถามว่า ใครควรจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้ 3 สิ่งที่กล่าวไว้
ดร.วิรไท : เรามักติดกับดักของคำถามว่าเป็นหน้าที่ของใคร เพราะมักจะคิดว่าเป็นหน้าที่ของคนอื่น แต่เรื่องที่เผชิญมีหลากหลายมิติ จึงไม่ใช่หน้าที่ของใครคนหนึ่ง ถ้าคิดว่าเป็นหน้าที่ของเราทุกคนจึงจะทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นได้ แต่ละคนมีบทบาทที่เกี่ยวข้องต่างกัน จึงต้องทำหน้าที่ของตัวเอง บนโลกที่เปลี่ยนจากสภาวะแบบรวมศูนย์ top down มาสู่โลกแบบ democratization คือบนโลกที่เป็น platform หรือ social media ทุกคนสามารถมีบทบาท และสามารถมีส่วนกำหนดชีวิตของตนเองได้ แม้ว่าภาครัฐบาลจะช่วยกำหนดกรอบนโยบายกำหนดทิศทางของระบบนิเวศ แต่ภาคธุรกิจ ประชาชน และสถาบันการศึกษา ต้องมีส่วนร่วมและเห็นว่าเรื่องเหล่านี้สำคัญ
ตัวอย่างเช่น หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาของใคร เรื่องนี้เกิดจากปัญหาหลายอย่างตั้งแต่นโยบายรัฐบาลเรื่องรถคันแรกเพื่อหักภาษี ซึ่งเป็นช่วงที่หนี้ครัวเรือนเกิดขึ้นเร็ว และมีการแข่งขันเรื่องการให้สินเชื่อมากขึ้นแต่กลับไม่ใช่การเปลี่ยนสินเชื่อนอกระบบมากู้ในระบบ ธปท. ศึกษาการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนรุ่นใหม่พบว่าให้ความสนใจเรื่องหนี้น้อยลง เมื่อรูปแบบการแข่งขัน ค่านิยม และพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น สามารถซื้อของทางอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา ถ้าไม่ใช่ก็ขายต่อ ในขณะที่ความมั่นคงทางการเงินและเงินออมเป็นเรื่องสำคัญเพราะคนมีอายุยืนยาวขึ้น แต่เมื่อดอกเบี้ยต่ำ คนจะไม่มีแรงจูงใจเรื่องการออม จึงมีปัจจัยหลากหลายมิติที่เกี่ยวข้อง ในฐานะธนาคารกลางของประเทศ ธปท. ซึ่งมีหน้าที่ออกเกณฑ์การกำกับดูแลให้เหมาะสม จึงออกเกณฑ์สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เช่น เกณฑ์ LTV สำหรับสินเชื่อบ้านที่อยู่อาศัย สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ (car for cash) แต่ ธปท. ไม่ได้กำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินทุกราย เช่นสหกรณ์ออมทรัพย์ บริษัทลีสซิ่ง ก็ไม่ได้อยู่ภายใต้กำกับของ ธปท.
อีกเรื่องที่ ธปท. ทำ คือคลินิกแก้หนี้ ทำอย่างไรลูกหนี้จะออกจากวงจรหนี้ได้ คลินิกแก้หนี้จะเป็น one-stop ผ่านบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท เพื่อให้ลูกหนี้เข้ามาเจรจาและยืดระยะเวลาการผ่อนหนี้ออกไป สมาคมธนาคารไทยและสถาบันการเงินเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และเดือนที่ผ่านมามีการลงนามใน MOU สำคัญคือการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (responsible lending guidelines) และส่งผลทันที เช่น บางสถาบันการเงินอาจจะเลิกทำแคมเปญสำหรับคนมีรายได้น้อยผ่อน 0% 6 เดือน เพื่อใช้จ่ายในเรื่องที่ไม่เกิดประโยชน์
อีกเรื่องที่สำคัญคือ การให้ความรู้ทางการเงิน เพื่อให้คนไทยมีทักษะการวางแผนทางการเงินซึ่งเป็นทักษะสำคัญของชีวิต ในการขับเคลื่อนงานในเรื่องนี้ ธปท. ร่วมกับพันธมิตรหลายแห่งทั้งภาครัฐและเอกชนสถานศึกษา สถาบันอาชีวศึกษา ทุกเรื่องไม่ได้มีมิติเดียว ต้องมองให้รอบด้าน เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
ผมขอฝาก 3 คำที่สำคัญที่สุดคือ (1) productivity ทำอย่างไรให้คนไทยมีผลิตภาพสูงขึ้น ต้องทำงานเก่งขึ้นภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด (2) inclusivity ทำอย่างไรให้สิ่งที่ทำมีผลต่อคนทุกกลุ่ม ไม่จำกัดเฉพาะรายใหญ่ แต่รายเล็กรายน้อยในสังคมต้องได้ประโยชน์ (3) immunity ทำอย่างไรจึงจะมีภูมิคุ้มกันของตนเอง ครอบครัว และองค์กร ถ้าเราให้น้ำหนักทั้ง 3 เรื่องนี้ จะทำให้คนไทยมีภูมิคุ้มกันจากความหวังมากกว่าความกลัว
คุณสายสวรรค์ : สุดท้าย อยากให้พูดถึงหลักเศรษฐกิจพอเพียงหรือศาสตร์แห่งพระราชาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องภูมิคุ้มกันที่สามารถจับต้องได้ และนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตคนไทยทุกคน
ดร.วิรไท : ถ้าเราทำความเข้าใจคำว่า “พอเพียง” ให้ลึกซึ้งดีแล้ว จะมีผลต่อพฤติกรรมของเรา คำว่า พอเพียง ไม่ใช่แค่พอมีพอกิน ผมเคยถามผู้รู้ ท่านว่าเป็นเรื่องเศรษฐกิจสมดุล ทำอย่างไรให้เกิดสมดุลที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคน คำว่าพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรหมายถึง “พอเพียงที่ใจ” ซึ่งจะสะท้อนออกมาที่ความพอประมาณ ความสมเหตุสมผล และการคิดถึงอนาคตที่เราต้องสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะเป็นการเข้าใจตัวเอง เข้าใจค่านิยมหลักขององค์กร สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกระดับ ตั้งแต่ระดับบุคคลถึงองค์กร แม้แต่ ธปท. การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจต้องคำนึงถึงความสมเหตุสมผล ความพอประมาณ และการสร้างภูมิคุ้มกัน ทั้ง 3 เรื่องเป็นหัวใจของการทำหน้าที่ของธนาคารกลาง
คุณสายสวรรค์ : โดยสรุป ท่านผู้ว่าการอยากให้คนไทยทุกคนเริ่มต้นเปิดใจเรียนรู้ถึงเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเมื่อเราเข้าใจ เราจะแสดงออก กระทำ ประพฤติ และมีกลยุทธ์ในการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ นักธุรกิจ หรือองค์กรขนาดใหญ่ ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ เริ่มกันที่ใจ หรือตามที่พระองค์ท่านสอนว่า ระเบิดจากข้างในก็จะเกิดปัญญา และเดินตามรอยพระองค์ท่านได้ และฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ไปได