‘บิ๊กตู่’รอด!ศาล รธน.ตีความ หน.คสช. ไม่ใช่ จนท.อื่นของรัฐ-เข้ามาชั่วคราวจากยึดอำนาจ
‘บิ๊กตู่’ รอด! ศาล รธน. มติเอกฉันท์ ตีความตำแหน่งหัวหน้า คสช. ไม่ได้เป็น จนท.อื่นของรัฐ เหตุเข้ามาชั่วคราวเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย จึงไม่สิ้นสุดความเป็น รมต.
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัย กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ยื่นคำร้องให้วินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นผู้ถูกร้อง ต้องสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวหรือไม่ กรณีถูกกล่าวหาว่าเคยเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ โดยฝ่ายผู้ร้องส่งนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้แทน ส่วนฝ่ายผู้ถูกร้อง รับทราบนัดโดยชอบ โดย พล.อ.ประยุทธ์ มอบหมายให้ พล.ต.วิระ โรจนวาศ คณะทำงานนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนมาฟังคำพิพากษา
โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สิ้นสุดลง เนื่องจากตำแหน่งหัวหน้า คสช. เข้ามาจากการยึดอำนาจ และเป็นตำแหน่งหน้าที่ชั่วคราวเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย
สำหรับข้อเท็จจริงกรณีนี้ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 คสช. ยึดและควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ วันดังกล่าว คสช. ออกประกาศ คสช. 1/2557 เรื่อง การควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ และประกาศ คสช. 6/2557 เรื่อง แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในการรักษาความสงบแห่งชาติ โดยมีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้า คสช. รวมทั้งประกาศ คสช. 10/2557 เรื่อง ให้อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี เป็นอำนาจหน้าที่ของหัวหน้า คสช.
ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2557 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้า คสช. และเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2557 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 โดยมาตรา 42 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ คสช. เป็น คสช. ต่อไป ต่อมาเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 โดยมาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่หลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญจะเข้ารับหน้าที่ โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ คสช. ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่หลังเลือกตั้งจะเข้ารับหน้าที่
ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัย ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเหตุเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (15) หรือไม่นั้น
ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยกรณีความเป็นเจ้าอื่นของรัฐไว้แล้วในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2543 ซึ่งใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 โดยมีมาตรา 109 (11) หลักการเดียวกันกับรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 98 (15) สรุปได้ว่า การพิจารณาความหมายของคำว่าเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามมาตรา 109 (11) เป็นการตีความจำกัดสิทธิของบุคคลในการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. เป็นการจำกัดสิทธิของบุคคล จึงต้องตีความอย่างแคบ การตีความถ้อยคำที่มีลักษณะนี้ ควรถือว่าเป็นคำทั่วไปที่ต่อมาจากคำเฉพาะหลายคำที่มีมาก่อนหน้านั้น ย่อมมีความหมายในแนวทางเดียวกันกับคำเฉพาะที่นำมาข้างหน้า
ม 109 (11) หลักการเดียวกันกับ รธน 2560 ม 98 (15) ไว้ดังปรากฏตามคำวินิจฉัย ศาล รธน 5/2543 สรุปได้ว่า การพิจารณาความหมายของคำว่าเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตาม 109 (11) เป็นการตีความจำกัดสิทธิของบุคคลในการสมัครรับเลือกตั้ง สส และ สว เป็นการจำกัดสิทธิของบุคคล จึงต้องตีความอย่างแคบ การตีความถ้อยคำที่มีลักษณะนี้ ควรถือว่าเป็นคำทั่วไป ที่ต่อมาจากคำเฉพาะหลายคำที่มีมาก่อนหน้านั้น ย่อมมีความหมายในแนวทางเดียวกันกับคำเฉพาะที่นำมาข้างหน้า
โดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 5/2543 ได้สรุปลักษณะเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐไว้ว่า 1.ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย 2.มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ 3.อยู่ในบังคับบัญชา หรือในกำกับดูแลของรัฐ และ4.มีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย
ขณะที่ตำแหน่งหัวหน้า คสช. มาจากการยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ต่อมามีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช. การแต่งตั้งหัวหน้า คสช. ผลสืบเนื่องจากการยึดอำนาจ และเป็นตำแหน่งรัฏฐาธิปัตย์ในการปกครองประเทศ เห็นได้จากการออกประกาศ หรือคำสั่งหลายฉฐับ หัวหน้า คสช. ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของรัฐ และตำแหน่งได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมาย ไม่มีกฎหมายหรือการเข้าสู่การดำรงตำแหน่ง มีอำนาจหน้าที่เฉพาะชั่วคราว ช่วงระยะเวลาหนึ่งมีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของประเทศของประชาชน ดังนั้นตำแหน่งหัวหน้า คสช. ไม่มีสถานะตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกันกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามมาตรา 98 (15)
พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกร้อง จึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 160 (6) 98 (15) อาศัยเหตุผลดังกล่าว จึงวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลง จากสาเหตุเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) มาตรา 160 (6) มาตรา 98 (15)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/