‘ก้องศักดิ์’ ไขปมร้อน กกท.ปรับปรุง 3 สนาม 512 ล. เปลี่ยนเท่าที่จำเป็น-ตามมาตรฐาน AFC
"...ในปัจจุบันสนามฟุตบอลที่อยู่ในการดูแลของ กกท. ยังไม่มีสนามใดที่ได้มาตรฐาน AFC ขณะที่ กกท. มีแผนที่จะปรับปรุงอยู่ แต่งบประมาณมีจำกัด จึงต้องเลือกปรับปรุงสนามหลักก่อน คือ สนามราชมังฯ สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ฯ และสนามเฉลิมพระเกียรตินครราชสีมาฯ ซึ่งเป็นสนามที่ใช้งานในระดับนานาชาติได้ ขณะที่อุปกรณ์ปัจจุบันก็อยู่ในสภาพเก่าทรุดโทรม และเมื่อปรับปรุงรอบนี้แล้ว จะสามารถใช้งานสนามในการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติอื่นๆ ได้ ไม่ใช่แค่ใช้ในการแข่ง U23 รอบคัดเลือกเท่านั้น ..."
สืบเนื่องจาก สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับแจ้งเบาะแสจากแหล่งข่าวใน การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ว่า ขณะนี้ กกท. กำลังดำเนินการจัดทำโครงการจ้างซ่อมบำรุงสนามกีฬา เพื่อรองรับการแข่งขันฟุตบอล AFC (เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก) จำนวน 3 แห่ง คือ สนามราชมังคลากีฬาสถาน งบประมาณ 167 ล้านบาท สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี งบประมาณ 156 ล้านบาท และสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 จ.นครราชสีมา งบประมาณ 189 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 512.8 ล้านบาท ทั้งยังระบุอีกว่า การจัดการแข่งขันฟุตบอล AFC ดังกล่าวนั้น ใช้เวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ การใช้งบประมาณมากขนาดนี้ทำให้ไม่คุ้มค่า โดยตามแบบรายการที่กำหนดทำการปรับปรุงนั้น 80% ไม่ได้ชำรุดเสียหาย ยังสามารถใช้งานได้ดี และมีการกำหนดคุณลักษณะวัสดุอุปกรณ์แบบเจาะจงทุกรายการ ทำให้ราคาสูงกว่าปกติ จึงต้องการให้ตรวจสอบการดำเนินโครงการซ่อมบำรุงดังกล่าว (อ่านประกอบ : แฉ กกท.ทุ่ม 512ล.ปรับปรุงสนามแข่ง AFC ของเก่าสภาพดี80% - 'ก้องศักดิ์' แจงยกระดับนานาชาติ)
ล่าสุด นายก้องศักดิ์ ยอดมณี ให้สัมภาษณ์ชี้แจงสำนักข่าวอิศราถึงกรณีมีผู้ให้ข้อมูลว่าวัสดุอุปกรณ์ในสนามเกือบ 80% ยังใช้การได้ดีแต่มีการทำใหม่ทั้งหมด ว่า “ไม่จริง ไม่ทราบว่าเขาไปเอาข้อมูลมาจากไหน เราเปลี่ยนเฉพาะสิ่งที่จำเป็นต้องเปลี่ยน สิ่งที่ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนก็ยังคงไว้ ยกตัวอย่าง สนามราชมังฯ ทำตามข้อกำหนด เช่น ห้องแต่งตัวนักกีฬาข้อกำหนดระบุว่า ต้องเป็นกระเบื้องยาง กระเบื้องปกติที่ใช้อยู่ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้แตกชำรุดก็ต้องเปลี่ยน อยากสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน "
“ส่วนเก้าอี้นั้น ส่วนไหนยังใช้งานได้ดีและปลอดภัยอยู่ ก็ยังใช้ต่อไป สนามราชมังฯ เปลี่ยนเก้าอี้ 2 หมื่นกว่าที่นั่ง จากทั้งหมดประมาณเกือบ 5 หมื่นที่นั่ง เพราะเราสำรวจแล้วว่าเก้าอี้ 2 หมื่นกว่าตัวนั้น เป็นส่วนที่ตากแดด เสื่อมอายุการใช้งาน อาจจะเป็นอันตรายได้ ก็จำเป็นต้องเปลี่ยน ผมเน้นเรื่องความโปร่งใส ความถูกต้อง”
นายก้องศักดิ์ ยังอธิบายว่า ในปัจจุบันสนามฟุตบอลที่อยู่ในการดูแลของ กกท. ยังไม่มีสนามใดที่ได้มาตรฐาน AFC ขณะที่ กกท. มีแผนที่จะปรับปรุงอยู่ แต่งบประมาณมีจำกัด จึงต้องเลือกปรับปรุงสนามหลักก่อน คือ สนามราชมังฯ สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ฯ และสนามเฉลิมพระเกียรตินครราชสีมาฯ ซึ่งเป็นสนามที่ใช้งานในระดับนานาชาติได้ ขณะที่อุปกรณ์ปัจจุบันก็อยู่ในสภาพเก่าทรุดโทรม และเมื่อปรับปรุงรอบนี้แล้ว จะสามารถใช้งานสนามในการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติอื่นๆ ได้ ไม่ใช่แค่ใช้ในการแข่ง U23 รอบคัดเลือกเท่านั้น
“ผมเคยคุยกับท่านนายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี) ว่า สนามที่เชียงใหม่ หากปรับปรุงได้มาตรฐานแล้ว เราก็จะเอาการแข่งขันระดับนานาชาติมา เช่น คิงคัพ ที่เราเคยจัดที่ จ.บุรีรัมย์ ปีที่ผ่านมา และหากมองภาพว่าเป็นเจ้าภาพร่วมในการแข่งขันฟุตบอลโลกต่อไปในอนาคต เพราะต้องยอมรับว่า หากไม่ทำการปรับปรุง ประเทศไทยจะไม่มีสนามใดที่เป็นมาตรฐานที่จะใช้จัดการแข่งขันได้ ซึ่งเรามุ่งเป้าแบบนั้น ในการยกระดับมาตรฐานงบประมาณแค่นี้ยังไม่พอ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้างอาเซียนอย่าง อินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือสิงคโปร์ ที่ใช้ในการซ่อมหรือปรับปรุง แม้ว่าเราทำการปรับปรุงครั้งนี้แล้ว ก็ยังสู้ประเทศเหล่านี้ไม่ได้ แต่เราก็ค่อยยกระดับไปเรื่อย ๆ”
นายก้องศักดิ์ ยังกล่าวย้ำว่า "เมื่อพิจารณาจากสนามกีฬาประเทศอื่น ซึ่งหลายประเทศเกินมาตรฐานไปแล้ว ประเทศไทยต้องกลับมาสำรวจว่า ยังขาดอะไรและควรที่จะทำอะไรบ้าง ขณะนี้สนามที่มีอยู่ยังต่ำกว่ามาตรฐาน ฉะนั้นจะต้องทำให้ได้ตามมาตรฐานเสียก่อน ล่าสุดประเทศลาวได้ประเทศจีนเข้ามาช่วยเหลือในการยกระดับแล้ว ในระดับอาเซียนประเทศไทยยังอยู่กลาง ๆ เลย"
เมื่อสำนักข่าวอิศราถามว่า ความคืบหน้าการจัดซื้อจัดจ้างปรับปรุงทั้ง 3 สนาม เป็นอย่างไรบ้าง?
นายก้องศักดิ์ ตอบว่า สนามเฉลิมพระเกียรตินครราชสีมาฯ ได้เอกชนผู้รับจ้างแล้ว โดยใช้วิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ส่วนสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ฯ จะล่าช้าที่สุด ต้องทำประกวดราคา e-bidding ก่อน ใช้เวลาระยะหนึ่ง ทั้งนี้ จึงได้ตัดสินใจปรับพื้นผิวของสนามก่อน เพื่อใช้แข่งฟุตบอลลีกนัดสุดท้ายของทีมเชียงใหม่ให้ได้ก่อน
“ส่วนสนามราชมังฯ ทำประกวดราคา e-bidding ไปหนึ่งรอบแล้ว แต่ไม่ได้ เพราะไม่มีผู้เสนอราคาเข้ามา จากการสอบถามเจ้าหน้าที่มีหลายเหตุผล คือ เรื่องของระยะเวลาที่กระชั้นชิด ค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างตึงมาก ราคากลางเราใช้ของกรมบัญชีกลาง ในที่สุดแล้ว ได้ทำตามระเบียบพัสดุ ตามกฎหมาย เข้าสู่กระบวนการจัดซื้อแบบคัดเลือก เพื่อให้ทันใช้งาน ได้เชิญผู้ที่มีประสบการณ์ที่เคยสร้างหรือซ่อมสนามกีฬาให้กับ กกท. และต้องมีรับรองผลงาน ที่เป็นผลงานที่ดี มาหลายบริษัท ซึ่งได้คุยไปหลายเจ้าแล้ว กระบวนการในการคัดเลือกคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณสัปดาห์กว่า ๆ ก็เสร็จสิ้น”
นายก้องศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับปรุงให้แล้วเสร็จนั้น กำหนดไว้วันที่ 15 ธ.ค. 2562 หมายถึง เสร็จตามข้อกำหนดและเงื่อนไขต่าง ๆ ของ AFC เพื่อให้แข่งขันในช่วงเดือน ม.ค. 2563 ให้ได้ ซึ่ง AFC กำหนดว่าจะต้องเสร็จก่อนวันที่ 24 ธ.ค. 2562 แต่เมื่อใช้ในการแข่งขันดังกล่าวเสร็จแล้ว กกท. จะเดินหน้าการปรับปรุงในส่วนอื่น ๆ ต่อไป
อ่านประกอบ :
แฉ กกท.ทุ่ม 512ล.ปรับปรุงสนามแข่ง AFC ของเก่าสภาพดี80% - 'ก้องศักดิ์' แจงยกระดับนานาชาติ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/