พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง...ไขปมทำไมไฟใต้เดือด ทำอย่างไรไฟใต้ดับ
เหตุรุนแรงถี่ยิบในภาคใต้ทำให้สังคมไทยต้องการคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้น สาเหตุคืออะไร และแนวโน้มของสถานการณ์จะเป็นอย่างไร
เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันหน่วยงานที่เป็นเสมือน "เจ้าภาพหลัก" ในภารกิจดับไฟใต้ คือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งมีกองทัพบกเป็นกำลังสำคัญ
จริงๆ กอ.รมน.รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงหลายด้าน จึงแยกเป็น "ศูนย์ประสานการปฏิบัติ" เพื่อรับผิดชอบภารกิจในแต่ละด้าน โดยปัญหาภาคใต้อยู่ในความดูแลของ "ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5" หรือ "ศปป.5"
และ พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง คือ รองผู้อำนวยการ ศปป.5 โดยเขาเป็นดั่งขุนพลคนสำคัญของศูนย์ฯ ยุทธศาสตร์หลักๆ ในการแก้ไขปัญหา เขามีส่วนร่วมร่าง บางงานก็เป็นเจ้าภาพเอง รวมทั้งโครงสร้างของ "ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้" ที่รัฐบาลเพิ่งคิดตั้งขึ้นสดๆ ร้อนๆ ด้วย
คำอธิบายทั้งในแง่สถานการณ์ ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี รวมไปถึงทางออกที่เป็น "คำตอบสุดท้าย" ของปัญหาไฟใต้ จึงน่าสนใจยิ่งจากมุมมองของ พล.ต.นักรบ ในฐานะ "ขุนพลตัวจริง" ที่คลุกคลีอยู่กับข้อมูลจริง
O เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นติดๆ กันในช่วงนี้เกิดจากอะไร?
เป็นเรื่องปกติ สงครามกองโจรก็เป็นแบบนี้ ช่วงไหนมีโอกาสมากเขาก็ต้องทำ แล้วก็มีเรื่องเดือนรอมฎอนเข้ามาเกี่ยวข้อง มีการบิดเบือนหลักการทางศาสนา การฆ่าคนพุทธในช่วงนี้จะได้บุญ 2-3 เท่า นอกจากนั้นก็มีปัจจัยประกอบอื่นๆ คือ 1.ช่วงรอมฎอนประชาชนออกจากบ้านเยอะในตอนกลางคืนและเช้ามืด (ออกไปละหมาดและหาซื้ออาหารมารับประทานก่อนปอซอ หรือก่อนเริ่มถือศีลอดวันใหม่ช่วงพระอาทิตย์ขึ้น) 2.ทหารมุสลิมก็มีเยอะ คนก็จะปะปนกัน ก็ไม่ค่อยระวังตัว เกิดความประมาท 3.ช่วงที่ผ่านมากองทัพภาคที่ 4 เปิดยุทธการปิดล้อมจับกุมเยอะมาก
วันนี้ (วันที่ให้สัมภาษณ์ 1 ส.ค.) ก็จับได้อีก 4-5 คน เราจับหมด ทั้งขบวนการก่อความไม่สงบ กลุ่มค้ายาเสพติด น้ำมันเถื่อน เมื่อจับเขาก็โต้ เป็นการโต้ตาต่อตาฟันต่อฟัน เราจับเขาเราไม่ได้ออกข่าว แต่พอเขาทำเราสื่อช่วยออกข่าว เหตุนี้มันจึงดูรุนแรง นอกจากนั้นก็เป็นเหตุผลเรื่องสงครามกองโจร เราอยู่ที่เปิด เขาอยู่ที่ปิด เราก็ต้องโดนบ้างเป็นเรื่องธรรมดา แต่เราก็จับเขาได้เยอะ ป้องกันได้มาก อย่างระเบิด สมมติมี 30 ลูก เรากู้ได้ป้องกันได้ 29 ครั้งแต่ไม่เป็นข่าว พอระเบิดตูมครั้งเดียวเป็นข่าวใหญ่
O มีเสียงวิจารณ์เรื่องยุทธศาสตร์และยุทธวิธีว่าอาจจะผิดพลาด?
ไม่มีอะไรผิดพลาด แต่เด็กๆ ที่ปฏิบัติงานในสนามเราไปว่าเขาไม่ได้ บางทีก็มีพฤติกรรมประมาท ทำซ้ำ ละเลย ไม่คิดว่าตัวเองต้องตาย สิ่งที่ฝ่ายโน้นทำโดยยุทธวิธีแล้วเป็นปฏิบัติการเล็กๆ ธรรมดาๆ ฉะนั้นยุทธวิธีของเราไม่มีอะไรผิด ทหารที่ส่งลงไปภาคใต้คือทหารที่ดีที่สุดในประเทศแล้ว สมมติเราจะส่งลูกน้องไปใต้ ต้องคัดเลือกคนดีหรือไม่ดี มันก็ต้องเลือกคนดี ไม่มีใครส่งคนไม่ดีลงไปหรอก แต่มันเป็นสงครามกองโจรแย่งชิงมวลชน
ลักษณะของสงครามแย่งชิงมวลชน คือ 1.โฆษณาชวนเชื่อ ปฏิบัติการทางจิตวิทยาว่าเจ้าหน้าที่เลว รังแกพี่น้องมุสลิม 2.ทำให้ประชาชนเป็นฝ่ายเขา ด้วยการสร้างความกลัว ยิง ระเบิด คนไหนไปร่วมกับเจ้าหน้าที่ต้องตาย มีตัวอย่างให้เห็น 3.การสร้างอิทธิพลว่ามีศักยภาพสูงมากพอ ปฏิบัติการกับทหารได้ ทำกับสถานที่ราชการได้ ให้คนเห็นว่าเก่ง
O นักการทหารบางคนบอกว่าทหารไทยไม่เชี่ยวชาญสงครามกองโจร ถนัดแต่สงครามตามแบบ
ไม่ใช่ ไม่จริงเลย ในทางทหารเราไปฝึกมาหมด ศึกษามาหมด หลับตานึกภาพได้ แต่ที่แก้ช้าและยากเพราะเขาไม่ให้เราทำเต็มที่ มันต้องมีเคอร์ฟิว ต้องเริ่มใช้จริงๆ แล้ว เพราะกำลังของเรากับขนาดพื้นที่มันไม่เหมาะสมกัน เราต้องจำกัดพื้นที่ของฝ่ายตรงข้าม ไม่อย่างนั้นทหารก็ละลายไปกับหมู่บ้าน คน 2 ล้านคนจะไปดูแลได้อย่างไร ดูแลชาวบ้านแล้วยังต้องดูแลตัวเองอีก รัฐบาลไม่ได้เปิดให้ใช้กฎหมายพิเศษเต็มที่ สาเหตุเป็นเพราะ 1.เอ็นจีโอด่า 2.สื่อจ้องด่า ปิดล้อมไม่ได้ จับกุมก็ไม่ได้ อ้างว่าละเมิดสิทธิบ้างอะไรบ้าง แล้วก็ด่าเราทันที
O เคอร์ฟิวที่จะประกาศจะใช้กฎหมายอะไร เพราะตอนนี้ใช้อยู่หลายฉบับ?
ก็จะใช้ทั้งกฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) จริงๆ ไม่ต้องเข้า ครม. แค่รองแม่ทัพก็ประกาศได้อยู่แล้ว แต่เราต้องการรายงานให้รัฐบาลพิจารณาว่าถึงเวลาหรือยังที่จะต้องดำเนินการเรื่องนี้ และรัฐบาลจะต้องเป็นปากเสียงให้ทหาร เพราะกำลังเราไม่พอ
O จะประกาศอย่างไร?
ประกาศเฉพาะเส้นทาง ให้กองทัพภาคที่ 4 ดูเส้นทางอยู่ ทำให้ควบคุมง่าย เพียงพอต่อกำลังที่เรามีอยู่ ไม่อย่างนั้นเจ้าหน้าที่เราก็ล่อเป้าตลอด ถ้าไม่ทำเรื่องนี้ ประชาชนไม่เดือดร้อนก็จะไม่ช่วยเจ้าหน้าที่เลย ต้องให้เขาเดือดร้อนบ้าง แล้วก็จะหันมาช่วยเจ้าหน้าที่ ที่ผ่านมาเราดูแลประชาชนแต่ประชาชนไม่ดูแลเจ้าหน้าที่เลย
O โครงสร้างใหม่ของรัฐบาลที่จะบูรณาการการแก้ไขปัญหา รูปแบบจะเป็นอย่างไร?
ตอนนี้ยังร่างไม่เสร็จ แต่กว้างๆ ก็คือ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นเหมือนวอร์รูม มีหน้าที่ 1.ติดตามสถานการณ์แล้วรายงานตรงถึงนายกรัฐมนตรีกับผู้อำนวยการศูนย์ เพราะปัญหาของเราในขณะนี้คือให้สัมภาษณ์ไปคนละทิศละทาง ศูนย์นี้จะให้ข้อมูลที่เป็นเอกภาพ เป็นข้อมูลที่ให้ระดับนโยบายนำไปตอบสื่อมวลชนได้ในทิศทางเดียวกัน 2.อำนวยการยุทธในชั้นต้น จากบนลงล่าง จากล่างขึ้นบน
ศูนย์นี้จะไม่ได้มีเฉพาะทหาร แต่มีกระทรวง ทบวง กรมทุกภาคส่วนที่มีส่วนรับผิดชอบกับปัญหามาทำงานร่วมกัน เพื่อติดตามสถานการณ์ ประเมินสถานการณ์ แก้ไขปัญหา และขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ต้องมีผู้แทนกระทรวง ทบวง กรมมานั่ง แล้วรายงานทุกวันว่าตอนนี้ได้ทำอะไรไปบ้าง โครงการที่หน่วยของตนเองรับผิดชอบไปถึงไหนแล้ว เพราะปัจจุบันทหารตำรวจรับหมด ถูกตั้งคำถามอยู่หน่วยเดียว ทั้งที่จริงๆ คนที่ทำมากที่สุดคือกระทรวง ทบวง กรม แต่กลับไม่ออกมารับผิดชอบอะไรเลย
ที่มีสื่อบางฉบับไปเขียนเรื่องงบประมาณ แล้วบอกว่าทหารใช้มากนั้น ไม่เป็นความจริง เลี้ยงไข้ไม่มี โธ่...ใครจะส่งลูกน้องไปตาย ยืนยันว่าไม่มีเลี้ยงไข้ และงบประมาณนั้น ที่ใช้มากที่สุดคือกระทรวง ทบวง กรม ไม่ใช่ทหาร และทหารไม่ใช่จุดจบของปัญหา เพียงแต่ทำให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมในการแก้ปัญหา
นอกจากนั้น การปฏิบัติของศูนย์จะมีระดับ สมมติระดับปกติ จะมีกำลังคนเท่านี้ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น ก็สามารถยกระดับได้ จาก 30 เป็น 50 เป็นต้น โดยจะมีทั้งศูนย์ในส่วนกลาง และศูนย์ส่วนหน้าซึ่งจะให้แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้บังคับบัญชา
ตอนนี้ระดับบน หมายถึงระดับนโยบายไม่มีปัญหา โดยเฉพาะตั้งแต่มี กปต. (คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้) แผนใหญ่เราไม่มีปัญหา เพราะระดับนโยบายเริ่มคุยกันแล้ว เริ่มด่ากันแล้ว แต่เรามีปัญหาที่ current plan คือมีปัญหาในระดับปฏิบัติข้างล่าง เอกภาพไม่มี
สาเหตุสำคัญของการขาดเอกภาพคือกฎหมาย 2 ฉบับยังขี่กันอยู่ คือ พ.ร.บ.ความมั่นคง (พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นกฎหมายของ กอ.รมน.) กับ พ.ร.บ.ศอ.บต. (พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553) ฉะนั้นจึงต้องให้ กอ.รมน.ภาค 4 ตั้งศูนย์ส่วนหน้าขึ้นมาด้วย แล้วดึง ศอ.บต.มาช่วย แต่ตรงนี้เป็นเรื่องยาก เพราะมี พ.ร.บ.ศอ.บต.ค้ำอยู่ ฉะนั้นในระดับข้างล่างจึงยังมีแนวคิดว่าอาจไม่ต้องตั้งศูนย์ก็ได้ แต่ทำเป็นคำสั่งให้แม่ทัพเป็นหัวใจในการแก้ไขปัญหา
ต่อไปงานข่าวทั้งหมดต้องออกจากศูนย์นี้ ใครให้สัมภาษณ์ได้บ้าง และจะให้สัมภาษณ์ว่าอะไร ศูนย์นี้จะเขียนให้ อย่างระเบิดโรงแรมซี.เอส.ปัตตานี เป็นอย่างไร ข้อมูลที่ตอบต้องชุดเดียวกันหมด
O เรื่องการเจรจาหรือพูดคุยกับ "กลุ่มเห็นต่าง" ซึ่งเป็นนโยบายของ สมช. ทำไปถึงไหนแล้ว?
เรื่องพูดคุยสันติภาพ หรือ peace dialogue เป็นข้อ 8 ในนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 รัฐบาลมอบให้ สมช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) ดูไปเลย แต่ สมช.ก็ยังกั๊กอยู่ ปัญหาหนักคือมีการเมืองเข้ามาแทรก มีบุคคลระดับสูง (ทางการเมือง) ก้าวข้ามกระบวนการนี้ไป แต่ยืนยันว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพราะจุดจบของเหตุการณ์ความขัดแย้งทั่วโลกคือการพูดคุยเจรจา
สถานะของเรื่องนี้ในขณะนี้ก็คือเรากำลังก้าวเข้าไป แต่ก็แน่นอนในชั้นนี้ก็จะมีบางกลุ่มอยากคุย บางกลุ่มไม่อยากคุย แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่ากระบวนการสันติภาพมันมีขั้นตอนของมัน อย่างแรกเลยต้องสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างกันก่อน ใครก็ได้ ตอนนี้เราก็อยู่ในขั้นตอนนี้ เพราะยังไม่รู้เลยว่าเป็นใครแน่ๆ ก็ต้องค่อยๆ ทำ แต่การพูดคุยกับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต้องแยกกัน ไม่จำเป็นต้องรอให้สงบก่อนแล้วค่อยคุย เราคุยได้เรื่อยๆ ด้านหนึ่งก็รบตามแบบกันไป แต่อีกด้านหนึ่งก็คุยกันเรื่องเงื่อนไขต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์
ถ้าเราดูทั่วโลกในประเทศที่มีความขัดแย้ง การปกครองในพื้นที่ขัดแย้งจะไม่เหมือนกับระบบใหญ่ รูปแบบไม่เหมือนกัน ซึ่งก็มีตัวแบบอยู่ เช่น ซินเจียง (เขตปกครองพิเศษของจีนในพื้นที่ที่มีชนมุสลิมอยู่หนาแน่น) ก็ไปได้ แต่กรณีทิเบตกลับไม่สงบ ก็อาจจะยังไม่ถูก อาเจะห์อยู่ได้ ส่วนของเราคำตอบสุดท้ายมันยังไม่จบ แต่เป้าหมายคืออยู่ด้วยกันด้วยความพอใจทั้งสองฝ่าย ของเรายังไม่ไปถึง เพิ่งกี่ปีเอง ไอร์แลนด์เหนือเขาตั้ง 30 ปีแล้วก็ตั้งพรรคการเมืองมาสู้กัน ของเราอาจจะไม่ใช่แบบนั้น อาจจะกระจายอำนาจ หรือปกครองพิเศษ หรือรูปแบบอื่นๆ ก็ต้องคุยว่าจะไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร
บางทีอยู่อย่างนี้เป็นใหญ่ แต่มีคดีติดตัว จะเลิกได้ไหม มันมีหลายเงื่อนไข แต่ขั้นตอนคือ 1.สร้างความสัมพันธ์ 2.สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ เพื่อนำไปสู่การพูดคุยด้วยความเต็มใจ และ 3.ยกประเด็นปัญหามาพูดคุยกัน เช่น 7 ข้อเรียกของฮัจญีสุหลง โต๊ะมีนา บรรจุคนมุสลิมเป็นข้าราชการในสัดส่วน 70:30 หรือใช้หลักศาสนาอิสลามในการตัดสินคดีครอบครัวมรดก ก็ว่ากันไป
O โมเดลปกครองพิเศษที่เสนอกันช่วงนี้เข้าเค้าหรือไม่ จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้จริงหรือเปล่า?
ยัง...(เสียงสูง) การพูดคุยเจรจามันไม่ใช่การยื่นหมูยื่นแมว ให้อย่างนี้แล้วสงบ ส่วนขั้นตอนของเราคือความมั่นคงกับการพัฒนา แต่จะพัฒนาได้ต้องปลอดภัยก่อน ที่บอกว่าการเมืองนำการทหาร ความจริงไม่ใช่ เรื่องความปลอดภัยต้องมาก่อน ถ้าไม่ปลอดภัยก็พัฒนาไม่ได้ จึงต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ทหารไม่ใช่จุดจุบของปัญหา เราทำแค่ป้องปราม ป้องกัน แก้ไข ที่เหลือกระทรวง ทบวง กรมต้องทำต่อไป งานพัฒนาทำหรือยัง ทำแค่ไหน
สิ่งสำคัญคือภาคประชาสังคมต้องเข้มแข็ง เพราะเป็นหัวใจในการต่อต้านโจรและขับเคลื่อนในพื้นที่ การทำงานของทุกหน่วยงานต้องเข้าพื้นที่สีเขียว เหลือง แล้วจึงแดง พื้นที่ไหนแดงก็ให้ทหารเข้าไปกด ส่วนพื้นที่สีเขียว สีเหลือง ทุกกระทรวง ทบวง กรมต้องเข้าทันที แต่สื่อกับเอ็นจีโอไม่เข้าใจ
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพ พล.ต.นักรบ จากศูนย์ภาพเนชั่น
หมายเหตุ : บางส่วนของบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันศุกรืที่ 3 ส.ค.2555 ด้วย