รัฐพร้อมจัดการคนเมาขับแค่ไหน ? ก่อนขยายเวลาปิดผับตี 4
"...ดังนั้นถ้ามีการขยายเวลาปิดผับออกไปถึงตี 4 ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จำนวนการเกิดเหตุจากเมาขับและ peak ของการเกิดเหตุจะขยายยาวออกไปตั้งแต่เที่ยงคืนถึงตี 5 หรือเช้า ในขณะที่ช่วงเช้าจะมีกลุ่มคนที่ต้องใช้รถใช้ถนน ต้องมากลายเป็นเหยื่อของคนเมาขับ ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าแม่ค้าจ่ายตลาด นักปั่นที่ออกมาขี่จักรยานเพื่อสุขภาพตั้งแต่เช้า พนักงานทำความสะอาด เก็บขยะ กวาดถนน (ที่ผ่านมาพนักงานกวาดถนนมีข่าวถูกคนเมาขับชนในช่วงเช้าอยู่เป็นระยะ ๆ ) หรือแม้แต่พระออกบิณฑบาท เด็ก ๆ ไปโรงเรียน ฯลฯ..."
จากข่าว รมว.ท่องเที่ยวฯ เตรียมมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวโดยขยายเวลาเปิดปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 ในพื้นที่นักท่องเที่ยว โดยเน้นแหล่งท่องเที่ยวยามราตรีที่สำคัญและมีชาวต่างชาติจำนวนมาก ได้แก่ จ.ภูเก็ต เชียงใหม่ กระบี่ พัทยา ภูเก็ต และสมุย เชื่อจะช่วยเพิ่มการใช้จ่ายได้อีก 25% จากปัจจุบันที่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เฉลี่ย 5,000-6,000 บาท และมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว https://www.posttoday.com/economy/news/598182
ข้อมูลการเฝ้าระวังการบาดเจ็บของกระทรวงสาธารณสุข (Injury Surveillance) ในปีพ.ศ. 2561 พบจำนวนผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ทั้งที่เป็นคนขับขี่และคนโดยสารหรือคนเดินถนน จำนวนสูงถึง 41,396 คน เฉลี่ย 113.4 คน/วัน ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 80.3% จากจำนวน 22,960 ราย ในปี 2560
เมื่อพิจารณาตามช่วงเวลาของการเกิดเหตุจะพบว่าผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต เริ่มมีแนวโน้มตั้งแต่ช่วงเย็นและพบมากในช่วงเวลา 19-20 น. แล้วลดลงเล็กน้อย ซึ่งจุดสูงสุด (peak) ของการบาดเจ็บจะเป็นช่วงเวลา 24 น. และค่อยๆ ลดลงในช่วงตี 1-ตี 4 (ตามภาพ)
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงเย็น-ค่ำ ผู้บาดเจ็บจะเป็นทั้งกลุ่มที่ดื่มหลังเลิกงาน งานเลี้ยงหรือการสังสรรค์ ในขณะที่กลุ่มที่เกิดเหตุสูงสุดช่วงเที่ยงคืน ถึงช่วงตี 1 ตี 2 จะเป็นกลุ่มที่ไปดื่มตามสถานบันเทิงและเดินทางกลับบ้าน สอดคล้องกับอายุของผู้บาดเจ็บในช่วงเที่ยงคืนถึงตีสาม (24.00 น.- 3.00 น.) ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 จะอยู่ในวัยรุ่นถึงวัยทำงาน อายุ 15-40 ปี ซึ่งโดยทั่ว ๆ ไปแหล่งบันเทิง ผับบาร์ จะปิดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเที่ยงคืน บางที่อาจจะต่อเนื่องถึงตี 1 แต่เมื่อนับรวมไปถึงการต้องเดินทางกลับบ้านก็จะมีคนดื่ม/หรือเมาขับบนถนนต่อเนื่องไปถึงตี 3-4
ดังนั้นถ้ามีการขยายเวลาปิดผับออกไปถึงตี 4 ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จำนวนการเกิดเหตุจากเมาขับและ peak ของการเกิดเหตุจะขยายยาวออกไปตั้งแต่เที่ยงคืนถึงตี 5 หรือเช้า ในขณะที่ช่วงเช้าจะมีกลุ่มคนที่ต้องใช้รถใช้ถนน ต้องมากลายเป็นเหยื่อของคนเมาขับ ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าแม่ค้าจ่ายตลาด นักปั่นที่ออกมาขี่จักรยานเพื่อสุขภาพตั้งแต่เช้า พนักงานทำความสะอาด เก็บขยะ กวาดถนน (ที่ผ่านมาพนักงานกวาดถนนมีข่าวถูกคนเมาขับชนในช่วงเช้าอยู่เป็นระยะ ๆ ) หรือแม้แต่พระออกบิณฑบาท เด็ก ๆ ไปโรงเรียน ฯลฯ
https://www.youtube.com/watch?v=CVVyiJDk-fE หนุ่มขับชนคนกวาดถนนสารภาพเมา
https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_2769700 ฟัน 3 ข้อหาหนัก ส.ต.ต.เมาขับ ชนนักปั่นดับ ตรวจแอลกอฮอล์พุ่ง 140
ในขณะเดียวกันจะพบว่าการตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์บนถนนในช่วงหลังเที่ยงคืนก็ทำได้จำกัด เพราะสถานบันเทิงมีการกระจายตัวไปอยู่หลายจุดของเมือง ไม่สามารถตั้งจุดได้ครอบคลุมการเดินทาง ที่สำคัญ แต่ละจุดก็สามารถตรวจสอบพิกัดผ่านมือถือได้อีก เช่นตรวจสอบผ่าน facebook “มีด่านบอกด้วย” เพื่อหลบเลี่ยงไม่ต้องผ่านจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์
ข้อมูลการสำรวจโดยมูลนิธิไทยโรดส์ (2554) ชี้ให้เห็นว่า ร้อยละ 21 ของผู้ตอบคิดว่าดื่มก็ขับได้ถ้ามีสติ และ 1 ใน 3 (ร้อยละ 37) ตอบว่ายังคงดื่มแล้วขับรถในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา สอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจโดย จส.100 ในช่วงสงกรานต์ปี พ.ศ. 2561 พบว่าร้อยละ 69.45 ไม่พบเห็นด่านตรวจ และเกือบทั้งหมด ร้อยละ 93.8 ไม่เคยถูกเรียกตรวจ
ซึ่งที่ผ่านมาไม่เพียงปัญหาคนเมาขับมาทำให้เกิดอุบัติเหตุและความสูญเสีย แต่ปัญหาสถานบันเทิงไม่ปิดตามกำหนด ก็มีข่าวก่อผลกระทบอยู่เป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะเรื่องเสียงดังรบกวนคนพักอาศัยข้างเคียงตลอดทั้งคืน การทะเลาะวิวาท ฯลฯ
ดังนั้น ตราบใดที่ภาครัฐและภาคเอกชน ยังไม่สามารถจัดให้มีพื้นที่ควบคุม (Zoning) สถานบันเทิง เพื่อบริหารจัดการ ทั้งการเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ ไม่ต้องใช้รถส่วนบุคคล รวมทั้งการมีมาตรการป้องกันคนเมาขับออกมาบนถนน .. ก็เท่ากับว่าคนใช้รถใช้ถนนก็ไม่มีหลักประกันว่าการขยายเวลาปิดผับไปช่วงตี 4 จะสามารถป้องกันคนดื่ม/เมาขับ ออกมาบนถนนได้
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากเว็บไซต์กระปุก