ผนึกกำลังกันอาสา ‘วางปะการังเทียม’ ฟื้นฟูทะเลผ่านแนวคิด ‘SEACOSYSTEM’
กรมประมง ผนึกกำลังเครือเจริญโภคภัณฑ์ ส่งมอบปะการังเทียมแก่ชุมชนประมง จ.สงขลา-นราธิวาส หวังฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน
ปัจจุบันทรัพยากรทางทะเลในประเทศไทยกำลังเข้าสู่วิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นขยะในทะเล ปะการังฟอกขาว ปะการังเสื่อมโทรม หรือสัตว์น้ำที่เริ่มสูญพันธุ์ลง อย่างกรณีการพบขยะในทะเลมากกว่า 1 ล้านตันต่อปีที่ต้องฟื้นฟูสภาพทะเลไทยให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ตามเดิม
ด้วยเหตุนี้กรมประมง ร่วมกับ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) พร้อมด้วย พล.ร.ต.ภูมิพันธ์ นิลกำแหง รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 นายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง นายธนาวุฒิ กุลจิตติชนก ประมงจังหวัดสงขลา นายเรวัตร คงประดิษฐ์ ประมงจังหวัดนราธิวาส และนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกันเป็นสักขีพยานใน พิธีส่งมอบปะการังเทียมจำนวน 1,000 แท่ง ให้กับผู้แทนชุมชนประมงจังหวัดสงขลาและนราธิวาส เพื่อดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติต่อไป
พร้อมกันนี้ ภายในกิจกรรมยังมีการเสวนาในหัวข้อ “ความร่วมมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและฟื้นฟูการประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน”
นายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า การจัดวางปะการังเทียมร่วมกับบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ ในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกจัดขึ้นมีการจัดวางปะการังเทียมที่ตำบลกระดังงา อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา และตำบลปะนาเระ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี สำหรับการจัดวางปะการังเทียมในวันนี้ เป็นการจัดสร้างปะการังเทียมแหล่งเล็ก นำไปจัดวางเพื่อให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำตามแนวชายฝั่งทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์ จำนวน 2 แหล่ง 2 จังหวัด ได้แก่ แหล่งที่ 1 ใช้ปะการังเทียม จำนวน 500 แท่ง พร้อมทุ่นลอย 3 ทุ่น จัดวางบริเวณทะเลหน้าชายฝั่งตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา และแหล่งที่2 ใช้ปะการังเทียม จำนวน 500 แท่ง พร้อมทุ่นลอย 4 ทุ่น จัดวางบริเวณทะเลหน้าชายฝั่งตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส
โดยปัจจุบันนี้ทั้งจังหวัดสงขลา และจังหวัดนราธิวาส มีการจัดสร้างปะการังเทียมจังหวัดละ 77 แหล่ง และในอนาคตหากชุมชนประมงมีความต้องการก็จะมีการดำเนินการเพิ่มเติมขึ้นอีก
“กรมประมงได้มีการออกกฎระเบียบเป็นตัวกำหนดและสามารถปรับเปลี่ยนได้ เพราะในมาตรา 12 ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ในการกำหนดนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรต้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาเป็นส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและแนวทาง ซึ่งมีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
ด้านทางภาครัฐได้มีการปรับเปลี่ยนบริบทในปัจจุบันถ้าจะเข้าถึงทรัพยากรต้องได้รับการอนุญาตโดยเฉพะเรือประมงพาณิชย์และเรือประมงพื้นบ้านจะมีการจดทะเบียนควบคุมรูปแบบการประกอบเครื่องมือเพื่อออกใบอนุญาตให้ ส่วนเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรต่าง ๆ ทางภาครัฐได้ร่วมมือกับบริษัทเอกชนและชุมชนในการช่วยเหลือขับเคลื่อนให้เข้าถึงทรัพยากรได้ โดยต้องอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืน” นายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง กล่าว
ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า จากวิกฤตและปัญหาที่เกิดขึ้นกับท้องทะเลของประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม เครือเจริญโภคภัณฑ์ในฐานะภาคเอกชนที่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของระบบเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารที่เกี่ยวข้องกับท้องทะเลไทย จึงให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและฟื้นฟูการประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยดำเนินการผ่านแนวคิดหลัก “SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยยั่งยืน” เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลเชิงบูรณาการสำคัญ 5 ด้าน ประกอบด้วย
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์
1.นโยบายในการพัฒนารูปแบบการทำธุรกิจที่ยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน (SD in Process) โดยชูการทำงานที่โปร่งใสและมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย เช่น นโยบายการรับซื้อปลาป่นที่ต้องได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ ตลอดจนนโยบายบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ที่มีเจตนารมณ์ในการจัดการของเสียและขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ
2.ส่งเสริมศักยภาพชีวิตชุมชน เช่น การพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดียั่งยืน ด้วยรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม และส่งเสริมกระบวนการสร้างความเข้มแข็งให้แก่คนในชุมชน
3. สร้างแหล่งที่อยู่อาศัยสัตว์น้ำ เช่น โครงการป่าชายเลน โครงการปะการังเทียม บ้านปลา แนวเขตและกติกาเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรของชุมชน
4. การขยายพันธุ์สัตว์น้ำ เช่น โครงการธนาคารสัตว์น้ำ
5. การวิจัยและพัฒนา โดยร่วมผลักดันให้เกิดการพัฒนา ผ่านงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน
ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้บริหารสำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ด้านทางเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้มีการส่งมอบปะการังเทียมให้กับทางกรมประมงและทางกรมประมงได้ส่งมอบให้กับชาวบ้าน เพื่อเป็นการช่วยเหลือและอนุรักษ์ทรัพยากรในทะเลต่อไป ส่วนความยั่งยืนทางเครือเจริญโภคภัณฑ์ตั้งเป้าหมายไว้ว่าเวลาชาวบ้านที่ทำงานอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรต้องมีรายได้กลับคืนมาไม่งั้นชาวบ้านที่ทำงานอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรจะเสียเงินเสียทุกอย่างแต่รายได้ที่กลับเข้ามาก็ไม่มีการวัดผลที่ชัดเจน ทางเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้มีการดูว่าทำยังไงชาวที่บ้านมาทำงานอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรในชุมชนของตัวเองสามารถมั่นใจได้ว่าเวลาทำไปแล้วชุมชนดีขึ้นจริงมีรายได้กลับเข้ามาในชุมชนซึ่งเรื่องงานอนุรักษ์ฟื้นฟูทุกคนจะต้องอยู่ได้และมีอันจะกิน เพราะเป็นความมั่นคงและยั่งยืนของชีวิต
นายบรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย
ขณะที่นายบรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าว่า ถ้าจะให้พูดเรื่องทะเลให้มีน้ำหนักก็ควรให้ชาวประมงพูดถึงปัญหาของทะเลไทยเองเลยได้มีการจัดตั้งสมาคมรักษ์ทะเลไทยขึ้นมามีแนวทางการพื้นฟูทะเลได้มีการทำธนาคารปู บ้านปลา ปลูกหญ้าทะเล ปะการังเทียม เป็นบทเรียนที่สะสมและมีการถ่ายเทกันในพี่น้องชาวประมง เราโชคดีที่ว่ามีทั้งทะเลอันดามันและอ่าวไทยให้มีการทำประมง แต่เราโชคร้ายตรงที่ไม่สามารถบริหารจัดการทะเลให้มันสอดคล้องกับหลักวิชาการได้ แต่เรามีความหวังที่จะนำทะเลกลับมาเป็นแหล่งอาหารโปรตีนให้กลับลูกหลานได้และทำให้พี่น้องประมงพื้นบ้านใน 22 จังหวัดมีอาชีพที่มั่งคง ส่วนในเรื่องการทำปะการังเทียมมันจะส่งผลยังไงก็อยากให้มีการติดตามถึงผลการทำปะการังเทียมกันต่อไป
ฝ่ายนายสุไลมาน ดาราโอะ ประธานชมรมประมงพื้นบ้าน อ.ปะนาเราะ จ.ปัตตานี กล่าวว่า การทำปะการังเทียมทำให้เกิดห่วงโซ่อาหารของสัตว์น้ำ เพราะปะการังเทียมเป็นอนุบาลของสัตว์น้ำวัยละอ่อนและพอมีสัตว์น้ำตัวเล็กเพิ่มขึ้นตัวใหญ่เข้ากินตัวเล็ก เราสามารถจับสัตว์น้ำได้หลากหลายชนิดมันตอบโจทย์การฟื้นฟูท้องทะเล ส่วนด้านชุมชนเกี่ยวกับการวางปะการังเทียมชุมชนเป็นบทบาทหนึ่งที่มีความสำคัญในการที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน การที่ไม่นำอุปกรณ์ประมงที่ผิดกฎหมายไปทำลายปะการังเทียมและต้องช่วยกันดูแลเพราะว่ามันเป็นแหล่งอาหารของเรานั้นเอง
การร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการจัดวางแนวปะการังเทียมถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูผืนทะเลไทย แต่ต้องมีการติดตามผลการวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามความเติบโตของโครงการ และความเป็นอยู่ของชาวประมงที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามฝากถึงพี่น้องชาวประมงทุกคนว่า ขอให้ใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ให้รักและหวงแหนในทรัพยากรพื้นถิ่นของตน เพื่อให้ลูกหลานไทยได้มีสัตว์น้ำไว้ใช้อย่างยั่งยืน .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/