งานล่าช้าไม่ช่วยกระตุ้นศก.! สตง.ชี้ปัญหาใช้งบปรับภูมิทัศน์บึงขุนทะเล สุราษฎร์ฯ 108 ล.
สตง. แพร่ผลสอบปรับปรุงภูมิทัศน์แหล่งท่องเที่ยวกลางเมืองบึงขุนทะเล สุราษฎร์ฯ 108 ล้าน พบปัญหางานก่อสร้างล่าช้าไม่ช่วยกระตุ้นศก. เริ่มประกวดราคาปลายปี 58 ผ่านไป 5 เดือน ถึงได้ตัวผู้รับเหมา ล่าสุดเข้าตรวจงานยังอยู่ขั้นตอนก่อสร้าง บางรายการสร้างเสร็๋จใช้งานไม่ได้ ทำประชาชนเสียโอกาสเข้าใช้ประโยชน์-กระทบวินัยงบ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์แหล่งท่องเที่ยวกลางเมือง (บึงขุนทะเล) ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 - 2561 เป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น 108,250,000 บาท โดยมอบหมายให้สํานักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นผู้รับผิดชอบดําเนินโครงการ และเมื่อทุกโครงการดําเนินการแล็วเสร็จจึงจะส่งมอบให้กับเทศบาลนครสุราษฎร์ธานีเป็นผู้รับผิดชอบดูแลและบํารุงรักษาต่อไป
แต่จากการตรวจสอบ พบว่า การดําเนินโครงการฯ ประสบปัญหาอุปสรรคสําคัญหลายประการโดยเฉพาะการดําเนินโครงการล่าช้าไม่เป็นไปตามแผนที่กําหนด รวมทั้งสิ่งก่อสร้างบางรายการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งล้วนแต่ส่งผลต่อความสําเร็จในการบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ และส่งผลกระทบต่อระบบงบประมาณของประเทศและวินัยในการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ และส่งผลกระทบต่อประชาชนที่มาใช้ประโยชน์โดยตรง
โดยประเด็นเรื่องโครงการล่าช้ากว่าแผนการดําเนินงานที่กําหนด นั้น ในปีงบประมาณ 2559 ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้แจ้งผลการอนุมัติโครงการของส่วนราชการผู้รับผิดชอบโครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจําปี2559ตามหนังสือ สฎ 0017.2/ว6110 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2558 เพื่อให้ส่วนราชการผู้รับผิดชอบโครงการเตรียมความพร้อมของโครงการและให้ดําเนินการจัดจ้างตามระเบียบฯได้ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2558 เป็นต้นไป เพื่อจะได้ลงนามได้ทันทีเมื่อได้รับโอนการจัดสรรงบประมาณจากสํานักงบประมาณ
จากการตรวจสอบพบว่า หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการเริ่มดําเนินการจัดจ้างตามระเบียบฯ ภายหลังจากที่ได้รับงบประมาณแล้ว กล่าวคือ จังหวัดสุราษฎร์ธานีได้รับแจ้งการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ 2559 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 โดยสํานักงานโยธาธิการฯ ประกาศประกวดราคาจ้างเหมาโครงการฯครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 24พฤศจิกายน 2558 แต่ปรากฏว่า มีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียวจึงยกเลิกประกาศฯและดําเนินการประกาศประกวดราคาจ้างเหมาโครงการฯ ครั้งที่ 2 ได้ ผู้ชนะการเสนอราคาคือ บริษัท เอสซีจี 1995 จํากัด และผู้รับจ้างได้เข้ามาทําสัญญาจ้างเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 ตามสัญญาจ้างเลขที่235/2559มีระยะเวลาดําเนินโครงการฯจํานวน 210วัน และครบ กําหนดระยะเวลาตามสัญญาวันที่ 27 กันยายน 2559 ทั้งนี้ ตั้งแต่ได้รับแจ้งการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายฯ จนกระทั่งเสร็จสิ้นขั้นตอนการจัดจ้างฯ ใช้ระยะเวลาดําเนินการทั้งสิ้น จํานวน 152 วัน หรือ ประมาณ 5 เดือน จึงจะได้ตัวผู้จ้างและจัดทําสัญญาจ้าง
เมื่อพิจารณาการดําเนินโครงการตามระยะเวลาที่กําหนดในสัญญา พบว่า ผู้รับจ้างดําเนินโครงการฯ ล่าช้ากว่าแผนการปฏิบัติงานที่กําหนด กล่าวคือ โครงการฯ มีระยะเวลาดําเนินการครบกําหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างในวันที่ 27 กันยายน 2559 แต่จากการตรวจสอบพบว่า การดําเนินโครงการฯแล้วเสร็จและส่งมอบงานเมื่อวันที่14 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งล่าช้ากว่าที่กําหนดตามสัญญาเป็นระยะเวลาจํานวน 48 วัน และมีค่าปรับวันละ 27,650.00 บาท คิดเป็นจํานวนเงิน 1,327,200.00 บาท
สำหรับการดําเนินโครงการในปีงบประมาณ 2560 นั้น พบว่า ล่าช้าเช่นเดียวกับปีงบประมาณ พ.ศ.2559 จากการตรวจสอบ พบว่า หน่วยงานผู็รับผิดชอบโครงการเริ่มดําเนินการจัดจ้างตามระเบียบฯ ภายหลังจากที่ได้รับงบประมาณแล้วเช่นเดียวกับปีงบประมาณ 2559 โดยตั้งแต่ได้รับแจ้งการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายฯจนกระทั่งเสร็จสิ้นขั้นตอนการจัดจ้างฯ ใช้ระยะเวลาดําเนินการทั้งสิ้น จํานวน 156 วัน หรือประมาณ 5 เดือน จึงจะได้ตัวผู้จ้างและจัดทําสัญญาจ้าง เมื่อพิจารณาการดําเนินโครงการตามระยะเวลาที่กําหนดในสัญญา พบว่า การดําเนินโครงการฯ ล่าช้ากว่าแผนการปฏิบัติงานที่กําหนด กล่าวคือ โครงการฯ มีระยะเวลาดําเนินการครบกําหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างในวันที่ 9 กรกฎาคม 2561
จากการตรวจสอบสังเกตการณ์การ ดําเนินโครงการเพียงวันที่ 20 สิงหาคม 2561 พบว่า โครงการฯ ยังดําเนินการไม่แล้วเสร็จอยู่ระหว่างงานก่อสร้าง ซึ่งล่วงเลยระยะเวลาครบกําหนดตามที่ขยายสัญญาจ้างแล้วเป็นระยะเวลาจํานวน 42 วัน แต่ยังดําเนินการไม่แล้วเสร็จ และมีค่าปรับวันละ 29,700.00 บาท
สตง. ยังระบุว่า การดําเนินโครงการฯล่าช้าไม่เป็นไปตามแผนที่กําหนด ทําให้ประชาชนเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่โครงการกําหนดไว้ และทําให้ต้องมีการขอกันเงินเพื่อเบิกจ่ายในปีงบประมาณถัดไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริหารงบประมาณในปีปัจจุบันและในปีถัดไปเพราะต้องใช้ระยะเวลาและทรัพยากรมาดําเนินโครงการที่ค้างไว้ให้แล้วเสร็จ และส่งผลต่อระบบงบประมาณของประเทศและวินัยในการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งไม่เกิดการหมุนเวียนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินของภาครัฐ และนโยบายของรัฐบาล สาเหตุสําคัญเกิดจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการขาดการเตรียมความพร้อมของโครงการเพื่อเตรียมดําเนินการจัดจ้าง และผู้รับจ้างปฏิบัติงานไม่ต่อเนื่องและการปฏิบัติงานล่าช้าในการดําเนินโครงการฯ
โดยปี งบประมาณ 2559 พบว่า ผู้รับจ้างไม่เข้ามาปฏิบัติงานติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3สัปดาห์ รวมทั้งการปฏิบัติงานล่าช้าไม่เป็นไปตามแผนการปฏิบัติงานที่กําหนด และสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาสภาพพื้นที่ดําเนินโครงการเดิมเป็นป่ารกน้ำท่วมขัง สภาพดินอ่อนมาก มีขอบเขตไม่ชัดเจน และเป็นพื้นที่รองรับน้ำจากพื้นที่โดยรอบ ทําให้การดําเนินงานเกิดความล่าช้า รวมทั้งการแก้ไขแบบรูปรายการในการก่อสร้างและมีการขยายระยะเวลาสัญญาให้ผู้รับจ้าง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
หมายเหตุ : ภาพประกอบเรื่องจาก https://www.facebook.com/qisarasuratthani