มีหุ้นเดียวก็ผิด! กรณีศึกษาคำวินิจฉัยศาล รธน.ฉบับเต็ม‘ธีระเกียรติ’ถือหุ้นสัมปทานรัฐ
“…ข้อโต้แย้งว่า นางสุภาพร มิได้มีเจตนาที่จะซื้อหุ้นบริษัทที่ได้รับสัมปทาน เนื่องจากไม่ทราบมาก่อนว่าหุ้นบริษัท ปูนซิเมนต์ไทยฯ เป็นหุ้นบริษัทสัมปทานนั้น เห็นว่า สาระสำคัญของการลงทุนในหุ้นนั้น ก่อนที่ผู้ลงทุนจะตัดสินใจเข้าไปลงทุนในบริษัทใด ๆ ผู้ลงทุนย่อมจะต้องศึกษาข้อมูลพื้นฐานของบริษัทที่ประสงค์จะลงทุนเสียก่อนว่า บริษัทนั้นน่าสนใจลงทุนหรือไม่ โดยพิจารณาลักษณะและรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ข้อโต้แย้งดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้ อีกทั้งหากยินยอมหรือปล่อยให้มีการอ้างเหตุแห่งความไม่รู้ดังที่นายธีระเกียรติกล่าวอ้างแล้ว มาตรการที่มุ่งจะใช้ในการป้องกันมิให้เกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ก็มิอาจที่จะบรรลุผลตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้…”
หลายคนคงทราบกันไปแล้วว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องให้วินิจฉัยอดีต 4 รัฐมนตรีสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (1) ถือครองหุ้นสัมปทานรัฐ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และต้องสิ้นสภาพความเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง 3 ราย ได้แก่ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร และนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ และเอาผิด 1 ราย คือ นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ โดยนายธีระเกียรติ ที่ได้รับแต่งตั้งเป็น ส.ว. ยื่นใบลาออกจาก ส.ว. ไปแล้ว (อ่านประกอบ : ‘ธีระเกียรติ’โดนคนเดียว! ศาล รธน.ฟันถือหุ้นสัมปทานรัฐ-‘ปนัดดา-สุวิทย์-ไพรินทร์’รอด)
ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำวินิจฉัยฉบับเต็มคดีดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำรายละเอียดเฉพาะกรณีของนายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีตรัฐมนตรีรายเดียวที่ถูกวินิจฉัยว่าผิด ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ติดตามได้จากบรรทัดต่อไปนี้
@คำร้องจาก กกต. มติเอกฉันท์ซื้อหุ้น บ.ปูนซิเมนต์ไทยฯ หลังเป็น รมต.
คำร้องจาก กกต. ระบุว่า นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ (ผู้ถูกร้องที่ 4) ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น รมว.ศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2559 และยังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในขณะที่มีการร้องเรียน ข้อเท็จจริงตามหนังสือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2561 และหนังสือบริษัท หลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ลวันที่ 4 ก.ค. 2561 ปรากฏว่า นางสุภาพร เจริญเศรษฐศิลป์ คู่สมรสนายธีระเกียรติ ถือหุ้นในบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีประทานบัตรอันเนื่องจากการประกอบกิจการผลิตปูนซีเมนต์และมีบริษัทในเครือ คือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ทุ่งสง) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทได้รับประทานบัตรทำเหมืองแร่จากกระทรวงอุตสาหกรรม
นางสุภาพร ถือหุ้น ณ วันที่ปิดสมุดทะเบียน 13 ก.ค. 2558 เป็นแบบไร้ใบหลักทรัพย์ 2,100 หุ้น วันปิดสมุดทะเบียน 11 ส.ค. 2559 เป็นแบบไร้ใบหลักทรัพย์ 4,200 หุ้น และวันปิดสมุดทะเบียน 10 ส.ค. 2560 เป็นแบบไร้ใบหลักทรัพย์ 4,200 หุ้น ต่อมาเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2560 ซึ่งเป็นวันหลังจากที่นายธีระเกียรติ ดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ นางสุภาพร ได้ซื้อหุ้นบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เพิ่มอีกจำนวน 800 หุ้น ณ วันที่ปิดสมุดทะเบียน 9 เม.ย. 2561 เป็นแบบไร้ใบหลักทรัพย์ 5,000 หุ้น
คณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กกต. เห็นว่า การที่คู่สมรสมของนายธีระเกียรติ ซื้อหุ้นดังกล่าวเพิ่มจำนวน 800 หุ้น เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2560 ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานรัฐ หลังจากนายธีระเกียรติดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการแล้ว จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การที่นางสุภาพร ได้มาซึ่งหุ้นจำนวน 800 หุ้น เป็นการถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานรัฐ แม้ถือเพียงหุ้นเดียวก็ถือเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสาม ประกอบมาตรา 186 แล้ว จึงเป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5)
@‘ธีระเกียรติ’อ้างอยู่ ตปท.นานไม่รู้ บ.ปูนซิเมนต์ฯเป็นหุ้นสัมปทานรัฐ
นายธีระเกียรติ ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และเอกสารประกอบ สรุปได้ว่า นางสุภาพร ซื้อหุ้นบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ในตลาดหลักทรัพย์ ระหว่างปี 2558-2561 โดยไม่ทราบว่าเป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ เมื่อนายธีระเกียรติ ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น รมว.ศึกษาธิการ ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2559 โดยแจ้งการถือหุ้นของนางสุภาพร จำนวน 4,200 หุ้น ต่อมาได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ กรณีพ้นจากตำแหน่ง รมช.ศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2560 ต่อ ป.ป.ช. โดยแจ้งการถือหุ้นของนางสุภาพร จำนวน 5,000 หุ้น
เมื่อนายธีระเกียรติ ได้รับทราบข้อกล่าวหาของ กกต. ว่า กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบมาตรา 186 นางสุภาพร ได้ขายหุ้นที่ซื้อเพิ่มจำนวน 800 หุ้นดังกล่าวในราคาขาดทุน โดยขาดเจตนาซื้อหุ้นของบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ เนื่องจากนายธีระเกียรติ และนางสุภาพร ทราบดีว่าไม่อาจถือหุ้นของบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากรัฐได้ แต่ไม่ทราบว่าบริษัท ปูนซิเมนต์ไทยฯ เป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ เนื่องจากอาศัยอยู่ต่างประเทศเป็นเวลานาน ไม่เคยถือหุ้นของบริษัทใดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงไม่สนใจ และไม่มีความรู้เรื่องหุ้น
ส่วนนางสุภาพร ไม่มีความรู้เรื่องหุ้นเช่นเดียวกัน และได้ซื้อหุ้นบริษัทดังกล่าวบริษัทเดียวตลอดมา โดยซื้อเพิ่มเพียงครั้งเดียว หากทราบว่าบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทที่รับสัมปทานรัฐ จะต้องขายออกไปทั้งหมดก่อนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และไม่มีการซื้อเพิ่มแต่อย่างใด หรือหากซื้อเพิ่มก็คงจะขายออกไปก่อนที่จะแจ้งการถือครองหุ้นดังกล่าวต่อ ป.ป.ช. การที่นางสุภาพร ถือหุ้นบริษัท ปูนซิเมนต์ไทยฯ จึงเป็นการถือครองหุ้นและแจ้งการถือครองหุ้นด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่เคยเข้าประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทด้วยตนเอง หรือมอบอำนาจให้ผู้ใดเข้าประชุมแทน ไม่มีสิทธิบริหารกิจการและไม่มีสิทธิเข้าประชุมกรรมการของบริษัท รวมทั้งจำนวนหุ้นที่ถืออยู่เป็นจำนวนเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับหุ้นทั้งหมดของบริษัท
@ศาล รธน.วินิจฉัยชัด ถือหุ้นสัมปทานรัฐก่อนเป็น รมต.ได้ แต่ถ้าซื้อทีหลังถือว่าผิด
ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า ในรายของนายธีระเกียรตินั้น นางสุภาพร คู่สมรส ถือหุ้นของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทยฯ จำนวน 4,200 หุ้น ซึ่งถือมาก่อนที่นายธีระเกียรติดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แม้จะยังคงถือหุ้นจำนวนดังกล่าวอยู่ในขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ก็ไม่เป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 ประกอบมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสาม (ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยสรุปว่า ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหลายฉบับก่อนหน้านี้ และฉบับปี 2560 มิได้บัญญัติห้ามการถือครองหุ้นสัมปทานรัฐที่ได้มาก่อนดำรงตำแหน่ง และวินิจฉัยเสียงข้างมากว่า การถือหุ้นดังกล่าวไม่รวมถึงการถือหุ้นที่มีมาก่อนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี)
แต่การที่นางสุภาพร ได้ซื้อหุ้นของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทยฯ เพิ่มเติมจำนวน 800 หุ้น ภายหลังนายธีระเกียรติดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า บริษัท ปูนซิเมนต์ไทยฯ ประกอบกิจการปูนซิเมนต์ และสินค้าวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ โดยได้รับประทานบัตรทำเหมืองแร่จากกระทรวงอุตสาหกรรม บริษัทดังกล่าวจึงเป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานรัฐ อันมีลักษณะเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) ดังนั้น การถือครองหุ้นของนางสุภาพร ในบริษัท ปูนซิเมนต์ไทยฯ อีก 800 หุ้น เป็นการถือหุ้นหลังจากที่นายธีระเกียรติดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว จึงกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 ประกอบมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสาม ดังนั้นความเป็นรัฐมนตรีของนายธีระเกียรติจึงสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5)
@ข้ออ้างไม่รู้เป็นหุ้นสัมปทานรัฐฟังไม่ขึ้น
สำหรับข้อโต้แย้งว่า นางสุภาพร มิได้มีเจตนาที่จะซื้อหุ้นบริษัทที่ได้รับสัมปทาน เนื่องจากไม่ทราบมาก่อนว่าหุ้นบริษัท ปูนซิเมนต์ไทยฯ เป็นหุ้นบริษัทสัมปทานนั้น เห็นว่า สาระสำคัญของการลงทุนในหุ้นนั้น ก่อนที่ผู้ลงทุนจะตัดสินใจเข้าไปลงทุนในบริษัทใด ๆ ผู้ลงทุนย่อมจะต้องศึกษาข้อมูลพื้นฐานของบริษัทที่ประสงค์จะลงทุนเสียก่อนว่า บริษัทนั้นน่าสนใจลงทุนหรือไม่ โดยพิจารณาลักษณะและรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ความสามารถในการแข่งขัน และศักยภาพในการทำกำไร รวมถึงผลประกอบการและสถานะทางการเงินของบริษัทว่ามีแนวโน้มเป็นอย่างไร
ข้อโต้แย้งดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้ อีกทั้งหากยินยอมหรือปล่อยให้มีการอ้างเหตุแห่งความไม่รู้ดังที่นายธีระเกียรติกล่าวอ้างแล้ว มาตรการที่มุ่งจะใช้ในการป้องกันมิให้เกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ก็มิอาจที่จะบรรลุผลตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้
@ชี้ถือหุ้นเดียวก็ผิด-แม้ขายทิ้งทันทีลบล้างผลไม่ได้
ส่วนข้อโต้แย้งว่า จำนวนหุ้นที่นางสุภาพรถืออยู่นั้น เป็นจำนวนเล็กน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท และนางสุภาพร ไม่มีสิทธิบริหารจัดการ และไม่มีสิทธิเข้าประชุมกรรมการบริษัทได้ เห็นว่า รัฐธรรมนูญห้ามการถือหุ้นในบริษัทที่ได้รับสัมปทานรัฐ โดยไม่ได้ระบุว่า ต้องถือหุ้นจำนวนเท่าใด และไม่ได้ระบุว่าต้องมีอำนาจบริหารหรือครอบงำกิจการหรือไม่ การถือหุ้นเพียงหุ้นเดียวย่อมเป็นการถือหุ้นตามความหมายในรัฐธรรมนูญแล้ว ถึงแม้ว่าผู้ถือหุ้นจะไม่มีอำนาจบริหารหรือครอบงำกิจการก็ตาม การถือหุ้นของนางสุภาพร จึงเป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) แล้ว
แม้ต่อมานางสุภาพรจะขายหุ้นที่ซื้อเพิ่มเติมจำนวนดังกล่าวทันที ภายหลังได้รับทราบข้อกล่าวหาจากคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กกต. ก็ตาม ก็ไม่อาจมีผลเป็นการลบล้างการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวซึ่งได้กระทำลงไปแล้วได้
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายธีระเกียรติสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) นับแต่วันที่นายธีระเกียรติลาออกจากตำแหน่ง คือวันที่ 9 พ.ค. 2562
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ศาล รธน.รับคำร้อง กกต.ปม4รมต.รบ.บิ๊กตู่ ถือครองหุ้นสัมปทานรัฐ-สั่งแจงใน 30 วัน
วัดบรรทัดฐาน!ขุดคำวินิจฉัยปม‘ปนัดดา’ ถือหุ้นสัมปทานรัฐ กกต.ชุดเดิมตีตก-ชุดใหม่ฟัน?
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายธีระเกียรติ จาก Thaipublica