- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- วัดบรรทัดฐาน!ขุดคำวินิจฉัยปม‘ปนัดดา’ ถือหุ้นสัมปทานรัฐ กกต.ชุดเดิมตีตก-ชุดใหม่ฟัน?
วัดบรรทัดฐาน!ขุดคำวินิจฉัยปม‘ปนัดดา’ ถือหุ้นสัมปทานรัฐ กกต.ชุดเดิมตีตก-ชุดใหม่ฟัน?
“…ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในรายของ ม.ล.ปนัดดา ที่ กกต. ชุดเดิม (มีนายศุภชัย สมเจริญ เป็นประธาน เหลือ กกต. แค่ 4 ราย) วินิจฉัยว่า การถือหุ้นในบริษัทที่ได้รับสัมปทานของรัฐ ก่อนรับตำแหน่ง ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อ กกต. ชุดใหม่ (มีนายอิทธิพล บุญประคอง เป็นประธาน และมี กกต. รวม 7 ราย) กลับวินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เป็นข้อกล่าวหาร้องเรียนคล้ายคลึงกัน ?...”
กำลังเป็นประเด็นร้อนที่หลายฝ่ายจับตา!
กรณี 4 รัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติว่า การถือครองหุ้นของรัฐมนตรีทั้ง 4 ราย ได้แก่ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม และ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีต รมช.ศึกษาธิการ ถือครองหุ้นสัมปทานของรัฐ เข้าข่ายกระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 ประกอบมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) และขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือไม่
สถานะปัจจุบันสำนักงาน กกต. อยู่ระหว่างยกร่างคำร้อง ก่อนเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ กกต. พิจารณา และประธาน กกต. ลงนาม เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป (อ้างอิงข่าวจาก ไทยโพสต์ออนไลน์)
ที่มาที่ไปของกรณีนี้ เริ่มต้นมาจากนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย (ปัจจุบันอยู่พรรคไทยรักษาชาติ) ที่ยื่นเรื่องร้องเรียนตั้งแต่เดือน ม.ค. และ ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนของนายเรืองไกร พบรายละเอียด ดังนี้
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวมหมวกเป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐอีกใบ) ถูกร้องเรียนว่า ถือครองหุ้นในบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC จำนวน 9 หมื่นหุ้น ซึ่ง GPSC เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่รวมกับบริษัทลูกของ ปตท. ที่เป็นคู่สัญญากับสัมปทานรัฐ
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีต รมช.ศึกษาธิการ ถูกร้องเรียนว่า ถือครองหุ้นของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. จำนวน 6 พันหุ้นเศษ
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.สาธารณสุข ถูกร้องเรียนว่า ถือหุ้นสัมปทานบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG จำนวน 5 พันหุ้น
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม ถูกร้องเรียนว่า ถือหุ้นบริษัท GPSC จำนวน 5 หมื่นหุ้น ซึ่ง GPSC เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่รวมกับบริษัทลูกของ ปตท. ที่เป็นคู่สัญญากับสัมปทานรัฐ นอกจากนี้ยังถือหุ้นบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC จำนวน 2.4 แสนหุ้น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 5 พันหุ้น บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) 6 หมื่นหุ้น บริษัท ไทยออย จำกัด (มหาชน) 4 หมื่นหุ้น บริษัท กัลฟ์ เอนเนอร์จี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) 3 แสนหุ้น บริษัท บ้านปู พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) 1 หมื่นหุ้น บริษัท อินทัช โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) 2.6 หมื่นหุ้น
อย่างไรก็ดีข้อมูลสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ในรายของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล เคยถูกนายเรืองไกรร้องเรียนมาแล้วก่อนหน้านี้ ในล็อตเดียวกับ 9 รัฐมนตรี ที่มีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ เป็นหนึ่งในผู้ถูกร้องเรียนด้วย
โดย กกต. วินิจฉัยตีตกกรณีรัฐมนตรี 8 ราย ส่วนนายดอน ปรมัตถ์วินัย กกต. มติเสียง 2:2 (ก่อนให้ประธาน กกต.ชี้ขาด) ว่า ภรรยา ถือหุ้นในบริษัท ปานะวงศ์ จำกัด และบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที จำกัด เกิน 5% และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยช่วงปลายปี 2561 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยกคำร้องดังกล่าว
สำหรับข้อร้องเรียนกล่าวหา ม.ล.ปนัดดา ในล็อตเดียวกับนายดอนนั้น คล้ายคลึงกับคำร้องล่าสุดที่ กกต. เพิ่งวินิจฉัย นั่นคือ ถือหุ้นในบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ที่รับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 ประกอบมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5)
คณะกรรมการ กกต. ชุดก่อนหน้า (มีนายศุภชัย สมเจริญ เป็นประธาน เหลือ กกต. 4 ราย เนื่องจากนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ถูกคำสั่ง คสช. ปลดจาก กกต. แล้ว) วินิจฉัยว่า ม.ล.ปนัดดา ถือหุ้นในบริษัทก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี และก่อนที่รัฐธรรมนูญปี 2560 จะมีผลใช้บังคับ แม้จะยังคงไว้ซึ่งความเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวภายหลังได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี และรัฐธรรมนูญใช้บังคับแล้วก็ตาม ก็ไม่เป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) และมาตรา 186 ประกอบมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) กกต. ได้อ้างตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 12-14/2553 ระหว่างประธานวุฒิสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้ร้อง มี ส.ส. จำนวน 29 ราย และ ส.ว. 16 ราย เป็นผู้ถูกร้อง
(ทั้งหมดเป็นกรณี ส.ส. และ ส.ว. ถือหุ้นในบริษัทที่ได้รับสัมปทานแห่งรัฐ เช่น บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นต้น โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในส่วนของการถือหุ้นก่อนวันเลือกตั้งว่า การถือหุ้นที่มีก่อนวันเลือกตั้ง หรือวันที่ กกต. ประกาศผล ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ)
ส่วนรัฐมนตรีอีก 3 ราย ได้แก่ นพ.ธีระเกียรติ นายไพรินทร์ และนายสุวิทย์ เพิ่งถูกร้องเรียนกล่าวหา และถูก กกต. วินิจฉัยเป็นครั้งแรก จึงไม่มีแนวทางคำวินิจฉัยของ กกต. มาประกอบ
อย่างไรก็ดีประเด็นที่น่าสนใจคือ ในรายของ ม.ล.ปนัดดา ที่ กกต. ชุดเดิม (มีนายศุภชัย สมเจริญ เป็นประธาน เหลือ กกต. แค่ 4 ราย) วินิจฉัยว่า การถือหุ้นในบริษัทที่ได้รับสัมปทานของรัฐ ก่อนรับตำแหน่ง ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อ กกต. ชุดใหม่ (มีนายอิทธิพล บุญประคอง เป็นประธาน และมี กกต. รวม 7 ราย) กลับวินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เป็นข้อกล่าวหาร้องเรียนคล้ายคลึงกัน ?
นี่คือที่มาที่ไปก่อน กกต. จะฟัน 4 รัฐมนตรียุครัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ ขัดรัฐธรรมนูญ ปมถือหุ้นในบริษัทสัมปทานรัฐ ส่วนกรณีของนายดอนที่โดนก่อนหน้านี้ เป็นกรณีถือหุ้นเกิน 5%
ส่วนจะใช้บรรทัดฐาน หรือเหตุผลอะไรมารองรับ คงต้องรอฟังคำชี้แจงจาก กกต. ต่อไป !
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/