ทัวร์ผวาบึ้ม-หนีสามจังหวัด เอกชนชี้เคอร์ฟิวซ้ำเชื่อมั่นทรุด ชาวบ้านโวยแก้ปัญหามั่ว
สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการลอบวางระเบิดขนาดใหญ่โจมตีเจ้าหน้าที่ เมืองเศรษฐกิจ และโรงแรมชื่อดัง ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจโดยเฉพาะการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง นอกจากนั้นการที่มีข่าวรัฐบาลเตรียมประกาศเคอร์ฟิว (มาตรการห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด) ทำให้นักธุรกิจและชาวบ้านในพื้นที่เห็นว่าจะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ให้ทรุดหนักลงไปอีก
นายสมศักดิ์ อิสริยะภิญโญ ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยเลยที่รัฐจะแก้ปัญหาด้วยการประกาศเคอร์ฟิว เพราะเป็นการจำกัดวิถีชีวิตของประชาชนมากเกินไป ทั้งที่จริงๆ แล้วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คนร้ายได้เปลี่ยนวิธีการจากการติดตั้งระเบิดในรถจักรยานยนต์เป็นรถยนต์ ซึ่งรถยนต์ตรวจง่ายกว่ารถจักรยานยนต์ ถ้ารัฐปรับวิธีการตรวจสอบรถยนต์ที่เข้าออกพื้นที่ให้เข้มข้นกว่านี้ มีระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ก็จะสามารถสกัดคนร้ายได้
"ขณะนี้เศรษฐกิจในพื้นที่แย่ลงทุกที โดยเฉพาะการท่องเทียว พอเกิดระเบิดครั้งหนึ่ง นักท่องเที่ยวก็หายไป จากนั้นจะค่อยๆ ฟื้นขึ้นจนอยู่ในระดับดี แต่พอเตรียมประกาศเคอร์ฟิว ความรู้สึกจะเป็นอีกมิติไปเลย ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจเองก็หายไป และขณะนี้นักธุรกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างเฝ้ารอให้รัฐบาลต่ออายุเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่จะหมดอายุในอีก 1 ปีข้างหน้า เพราะมาตรการนี้ช่วยพยุงเศรษฐกิจในพื้นที่ได้พอสมควร" นายสมศักดิ์ ระบุ
เจ้าของ"โรงแรมซี.เอส."หวั่นสร้างเงื่อนไขใหม่
นายอนุศาสตร์ สุวรรณมงคล เจ้าของโรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี ที่เพิ่งตกเป็นเป้าถูกโจมตีด้วยคาร์บอมบ์ครั้งล่าสุด กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการประกาศเคอร์ฟิว เพราะจะเป็นการสร้างเงื่อนไขใหม่ แม้ว่าสถานการณ์จะรุนแรงต่อเนื่อง แต่ยังไม่ถึงกับต้องประกาศเคอร์ฟิว เพราะประชาชนจะได้รับความเดือดร้อน
สำหรับการฟื้นฟูโรงแรมนั้น ขณะนี้กำลังเร่งปรับปรุงเพื่อให้เปิดบริการได้โดยเร็วที่สุด แต่ความเสียหายค่อนข้างมาก เนื่องจากบริเวณด้านหลังโรงแรมทรุด ต้องทุบผนังทิ้ง จึงอยากขอให้ภาครัฐเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยให้มากขึ้น แม้ว่าขณะนี้จะทำได้ดีอยู่แล้ว แต่ชาวปัตตานียังไม่มั่นใจเท่าใดนัก
เตือนเคอร์ฟิวแล้วไม่สงบยิ่งเสียหาย
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวกับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจว่า หากรัฐบาลจะประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องมีแนวทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจน เพราะการประกาศเท่ากับยอมรับว่าสถานการณ์รุนแรงขึ้น และถ้าประกาศแล้วแก้ปัญหาไม่ได้ รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ถือว่ามีความเสี่ยงต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาล และถ้าประกาศมาแล้วสถานการณ์รุนแรงขึ้น จะมีผลทางจิตวิทยาสูงจนอาจสร้างความตึงเครียดในพื้นที่ใกล้เคียงว่าจะได้รับผลกระทบหรือไม่ เช่น อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นต้น
"ข่าวที่รัฐบาลจะประกาศเคอร์ฟิวเท่ากับเป็นการตอกย้ำว่าบริเวณที่ประกาศมีอันตราย และถ้ามีการนำเสนอข่าวให้เห็นภาพความรุนแรงก็จะมีผลต่อความรู้สึกของคนไทยที่อยู่ในภาคอื่น และส่งผลต่อต่างชาติที่รับข่าวจากไทยด้วย" นายพรศิลป์ ระบุ
ทัวร์มาเลย์ขอไม่ผ่านสามจังหวัด
นายอดุลย์ แวมะ กรรมการผู้จัดการบริษัทยัสกิน แทรเวล แอนด์ ทัวร์ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นสาขาของบริษัททัวร์รายใหญ่จากมาเลเซีย กล่าวกับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจว่า เหตุระเบิดที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส อ.รามัน จ.ยะลา รวมถึงที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการท่องเที่ยวที่มีตลาดหลักคือมาเลเซีย เพราะใช้พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นจุดแวะพักของทัวร์ โดยเฉพาะ จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นจุดแวะรับประทานอาหารที่ได้รับความนิยมจากลูกค้าทัวร์มาเลเซีย รวมทั้งทัวร์ประเภทศึกษาดูงาน
"สถานการณ์ขณะนี้คือ คณะทัวร์ขอระงับเส้นทาง หลีกเลี่ยงไม่ผ่าน 3 จังหวัด แต่ให้อ้อมไปเข้าที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หรือขึ้นเครื่องบินตรงไปยังกระบี่ ภูเก็ตเลย" นายอดุลย์ ระบุ
อนึ่ง ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า การเติบโตของการท่องเที่ยวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ในปี 2554 นั้น มีอัตราการเติบโตราว 5-10% จากจำนวนนักท่องเที่ยว 1.3 ล้านคน รายได้ 1.3 พันล้านบาท และในปี 2555 ตั้งเป้าเติบโตไว้ราว 5-10% เนื่องจากมีชาวมาเลเซียเป็นลูกค้าหลักในสัดส่วนกว่า 80% ขณะที่คนไทยมีอยู่ราว 20% ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนในพื้นที่ภาคใต้ด้วยกัน
ชาวสวนยางโวยเจอเคอร์ฟิวคงต้องอยู่แต่ในบ้าน
ด้านความเห็นของประชาชนทั่วไป นางอุสมาน มูดอ อายุ 28 ปี ชาว จ.ยะลา อาชีพทำสวนยาง กล่าวว่า ทุกวันนี้ทหารก็จำกัดพื้นที่ในการเดินทางไปไหนมาไหนอยู่แล้ว ถ้ามีการประกาศเคอร์ฟิวอีกคงทำให้ชาวบ้านต้องลำบากและใช้ชีวิตประจำวันยากขึ้น คงต้องอยู่แต่ในบ้าน เพราะไม่มีชาวบ้านคนไหนไม่กลัวเคอร์ฟิว ทุกคนกลัว เมื่อก่อนก็เคยประกาศแล้ว ทหารก็เข้ามาในพื้นที่เยอะ หันไปทางไหนจะเห็นแต่กำลังทหาร คิดว่าการประกาศครั้งใหม่คงไม่ต่างจากที่เคยประกาศมา และเหตุการณ์รุนแรงก็ยังเกิดขึ้นเยอะเหมือนเดิม คิดว่าการประกาศเคอร์ฟิวไม่มีผลกับการลดความรุนแรง
"การแก้ปัญหาในพื้นที่ไม่จำเป็นต้องใช้เคอร์ฟิว แค่ใช้ความจริงใจในการทำงานกับชาวบ้าน แก้ปัญหาของชาวบ้านอย่างต่อเนื่องก็น่าจะสำเร็จแล้ว ไม่ใช่แค่เข้ามารับฟังแล้วเอาไปเสนอข่าวว่าเข้ามาแก้ปัญหาให้ชาวบ้านแล้ว จากนั้นก็ปล่อยให้ชาวบ้านต่อสู้ปัญหาต่อไปเอง ทุกวันนี้ข้าราชการบางส่วนยังเป็นแบบนี้ ทำให้ชาวบ้านไปอยู่ข้างขบวนการมากกว่าเจ้าหน้าที่ จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเหตุการณ์ยังเกิดขึ้น"
ซัดรัฐแก้ปัญหามั่วแล้วลงที่ชาวบ้าน
นางสาวแมะซง อาบะ อายุ 46 ปี แม่ค้าขายข้าวเหนียวไก่ตามตลาดนัด กล่าวว่า การค้าขายก็ฝืดเคืองอยู่แล้ว ขายไม่ค่อยได้ ถ้าจะประกาศเคอร์ฟิวอีกคงต้องหยุดขายของแน่ๆ แล้วจะเอาอะไรกิน คงต้องคิดหาทางกันต่อไป
"แม่ค้าต้องตื่นขึ้นมาตอนดึกเพื่อเตรียมของ และไปตลาดเช้ามืด ถ้าไปถึงตลาดสาย ขายได้ไม่นานก็ต้องรีบกลับแล้วเพราะกลัวติดเวลาเคอร์ฟิวอีก แค่คำว่าเคอร์ฟิวชาวบ้านก็กลัว ไม่มีใครกล้าเดินซื้อของ แล้วเราเป็นแม่ค้า ถ้าขายไม่ได้ ไม่มีลูกค้า ทุนก็หายกำไรก็ไม่มี แล้วจะทำไปทำไม ก็คงต้องเลิกทำ นอนรอความหวังให้รัฐมาช่วย แจกข้าวสาร อาหารแห้ง คงจะพอใจรัฐ"
"รัฐแก้ปัญหามั่ว เจอทางตันหน่อยก็มาลงที่ชาวบ้าน จริงๆ เรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต้องไปลงกับคนร้ายที่ทำ การประกาศเคอร์ฟิวแบบนี้เหมือนรัฐเอาความกดดันมาให้ชาวบ้าน ทำไมไม่ลองแก้ตามระบบ ลดกำลังทหารลงเพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเป้า แล้วเปลี่ยนทิศทางการแก้ปัญหาใหม่ ปัญหาก็จะจบ ไม่ใช่มาใช้มาตรการเหมือนชาวบ้านเป็นโจรไปด้วย"แมะซง กล่าว
ประชดถ้าเคอร์ฟิวอีกก็ไม่รู้จะกินอะไร
นางสาวฟารียะ ลาเตะ อายุ 35 ปี แม่ค้าขายเสื้อผ้าใน จ.นราธิวาส กล่าวว่า ตอนนี้การค้าขายในพื้นที่ก็แย่อยู่แล้ว ยิ่งนานวันลูกค้ายิ่งหายไปทุกที เมื่อไหร่มีระเบิดก็ไม่มีลูกค้าเข้าร้านแม่แต่คนเดียว ถ้าจะประกาศเคอร์ฟิวอีกก็ไม่รู้จะกินอะไร ขายของก็ไม่ได้เพราะไม่มีลูกค้า ลูกไปโรงเรียนไม่ได้เพราะไม่มีเงินส่งเสีย ทางออกเดียวคือหนีเข้ามาเลเซีย ไปทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟตามร้านอาหารดีกว่าเยอะ
"คิดว่าการประกาศเคอร์ฟิวไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาใหชาวบ้านเลย เหตุการณ์รุนแรงก็ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ไม่รู้ใครที่จะได้ประโยชน์จากเคอร์ฟิว" ฟารียะ กล่าว
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การตรวจเข้มบริเวณช่องทางเข้าเมืองยะลาเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน แม้จะยังไม่มีการประกาศมาตรการเคอร์ฟิว (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)