สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ :ความท้าทายของโลกสุขภาพในยุคดิจิทัล ‘HealthTech’
"...ในวงการสุขภาพจะมีงานที่ถูกทดแทนโดยเทคโนโลยี เช่น นักเทคโนโลยีการแพทย์ด้านแล็บ (Medical Lab Technologists) และ Medical Transcriptionsts ส่วนโอกาสถูกทดแทนน้อย เช่น แพทย์ (Doctors) นักจิตวิทยา (Psychologists)..."
วันที่ 13 ก.ย. 2562 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง Digital Transformation : แนวโน้มและความท้าทายของโลกสุขภาพในยุคดิจิทัล ภายในงาน ThaiHealth Academy Forum 2019:Digital Health จัดโดยสถาบันการเรียนรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ดร.สมเกียรติ ฉายภาพให้เห็นถึงความจำเป็นที่เราต้องเข้าไปอยู่ในสถานการณ์สนใจเรื่อง Digital Transformation โดยการหยิบยก 2 ตัวอย่าง “AI ชนะ มนุษย์” เหตุการณ์แรก เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1997 หรือกว่า 20 ปีผ่านมา โปรแกรมหมากรุกชนะ Kasparov แชมป์โลกหมากรุกชาวรัสเซีย และปี ค.ศ.2016 โปรแกรม อัลฟาโกะ (AlphaGo) ของกูเกิล ชนะ Lee Sedol แชมป์หมากล้อม
สองเหตุการณ์ข้างต้นชี้ชัดถึงหมุดหมายของเทคโนโลยีแบบใหม่ที่ทะลุทะลวงขึ้นมาและมีอิทธิพลต่อหลายอุตสาหกรรม เรียกว่า ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence:AI) ซึ่งเป็นแกนหลักของ HealthTech ในปัจจุบันจำนวนมาก
ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึง AI และ HealthTech ในแง่การป้องกันและส่งเสริมนั้น ประธานทีดีอาร์ไอ บอกว่า หลายคนคงรู้จัก wherever device (อุปกรณ์วัดสภาพร่างกายเคลื่อนที่) ซึ่งสิงคโปร์มีการแจก wherever device เป็นนาฬิกาให้คนใส่ เพื่อจะได้รู้ว่าวันไหนเดินกี่ก้าว ในมุมมองของเขากลับเห็นว่า ประเด็นสำคัญ คือ เราต้องรู้ว่า ของจำพวกนี้ทำงานอย่างไร ซึ่งจริง ๆ แล้ว นาฬิกาติดอยู่ที่มือของเรา จะรู้ว่าเราเดินได้กี่ก้าว โดยการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการแกว่งมือและเท้าหรือนับการก้าวจากการแกว่งมือนั่นเอง
OMRON เป็นนาฬิกาข้อมือที่เพิ่งผลิตออกมาใหม่ โดยสามารถวัดความดันโลหิตได้จริง ราคาประมาณ 1 หมื่นกว่าบาท ทำให้มีเครื่องมือช่วยผู้ป่วยที่อาจมีโรคความดันโลหิตให้ป้องกันตนเองได้เร็วขึ้น และเชื่อว่าในอนาคตจะมีราคาถูกลงเช่นเดียวกับ wherever device ซึ่งปัจจุบันมีราคาไม่กี่พันบาท
ดร.สมเกียรติ ยังกล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งสิ่งที่เข้ามาแล้วในบางประเทศ คือ หุ่นยนต์ เช่น หุ่นยนต์หมี (Robear) ช่วยอุ้มผู้สูงอายุขึ้นลงเตียงได้ง่าย หุ่นยนต์แมวน้ำ (Paro) คอยอ้อนผู้สูงอายุให้มาลูบหัวและคุยด้วย ซึ่งจะช่วยคลายเหงา เชื่อว่า ของลักษณะพวกนี้จะเกิดขึ้นก็ได้ นอกจากนี้ยังมี หุ่นยนต์ออกกำลังกาย (Pepper) ชวนผู้สูงอายุออกกำลังกาย
“ในประเทศไทยได้พัฒนาหุ่นยนต์ดินสอ Mini โดยบริษัท เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด ซึ่งจะช่วยติดต่อลูกหลานและเตือนกินยา ปัจจุบันจำหน่ายในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย”
ส่วนในเรื่องการวินิจฉัย AI มีบทบาทอย่างไร
ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า HealthTech สามารถทำได้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับภาพ ซึ่งต้องยอมรับว่า AI เก่ง โดยสามารถวิเคราะห์หัวใจเต้นผิดปกติหรือไม่ จากการดู ECG และค่อนข้างแม่นยำ ซึ่งเป็นผลจากการมี Big DATA ขนาดใหญ่ด้วย
อีกทั้งยังสามารถดูมะเร็งผิวหนังและวินิจฉัยปอดบวมจากภาพถ่ายได้ด้วย เพราะฉะนั้นงานประเภทอ่านภาพ ดูภาพ ดูเอกซเรย์ คลื่นหัวใจ ผิวหนัง AI เก่งกว่าแพทย์มาก
“ในญี่ปุ่นนำ AI วินิจฉัยมะเร็งลำไส้ โดยส่องกล้องเข้าไปในลำไส้ หากพบติ่งที่มีโอกาสเป็นมะเร็ง AI จะทายได้แม่นยำมาก ซึ่งปกติแพทย์ทางเดินอาหารสามารถทายได้ถูก จากรายงานระบุต้องเรียนแพทย์ 6 ปี เฉพาะทาง 3 ปี ฝึกงานอีก รวมกันร่วม 10 ปี จึงจะเก่งเท่า AI”
ดร.สมเกียรติ หยิบยกตัวอย่างอีกว่า ยังมีแอปพลิเคชั่นการวินิจฉัยมะเร็งผิวหนังในประเทศไทย โดยบริษัท เซอร์ทิส จำกัด ซึ่งจะใช้กล้องพิเศษถ่ายผิวหนังด้วยความละเอียดสูง ภายใน 2 นาที จะรู้เลยว่าเป็นมะเร็งผิวหนังหรือไม่ ซึ่งมีความแม่นยำมาก
ท้าทายมาไปกว่านั้น โปรแกรมของ IBM ชื่อว่า Watson เคยไปเล่นเกมโชว์ชนะมนุษย์ได้ โดยฟังภาษาธรรมชาติ และตอบเป็นภาษาธรรมชาติหรือเสียงมนุษย์ IBM จึงนำมาช่วยวินิจฉัยโรคมะเร็ง ซึ่งมีข่าวว่า ทดลองกับโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ในประเทศไทยด้วย
อย่างไรก็ตาม ภายหลังทราบว่า การวินิจฉัยมะเร็งนั้นยากเกินกว่าเทคโนโลยีปัจจุบันจะทำได้
“IBM โฆษณาว่า Watson สามารถอ่านวารสารทางการแพทย์ได้มากกว่าแพทย์ทุกคน ฉะนั้นจะมีความรู้มากมายมหาศาล ถ้าทำได้สำเร็จ จะถือเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่”
นอกจากนี้ในประเทศจีนทำ Telemedicine ตู้คลินิกของ Ping An Good Docter สามารถเข้าไปเพื่อปรึกษาแพทย์ได้ โดยปัจจุบันใช้ใน 8 มณฑล ให้คำปรึกษาและจ่ายยาได้ภายใน 1 นาที รวมถึงวินิจฉัยโรคเบื้องต้นได้ถึง 2,000 โรค ถือเป็นการนำดิจิทัล เทคโนโลยี มาเชื่อมมนุษย์เข้ากับแพทย์ ช่วยให้คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ได้
เมื่อมาถึง AI กับการรักษา ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ชื่อ ‘Da Vinci’ มีชื่อเสียงมาก โดยแพทย์สามารถควบคุมได้ และแขนผ่าตัดอยู่ในห้องเดียวกัน แล้วยังรุกล้ำเข้าไปในร่างกายคนน้อยมาก มีความแม่นยำมากกว่าศัลยแพทย์ และเข้าไปในบริเวณที่ผ่าตัดด้วยมือทำได้ยาก ซึ่งประเทศไทยมีการใช้แล้ว แต่ปัญหาสำคัญ คือ มีราคาแพง แต่มีบริษัทอื่นผลิตออกมาคล้ายกันมีราคาถูกกว่า
ขณะที่อนาคตจะมี 5G เกิดขึ้น จะมีความเร็วสูง จะทำให้การทำ Telemedicine และการผ่าตัดระยะไกล สามารถใช้มือถือ 5G จะได้ภาพละเอียดมาก ซึ่งส่งสัญญาณภาพ 4Kและ8K ได้แบบเรียลไทม์ ฉะนั้นต่อไปการผ่าตัดต้องใช้ความละเอียดมาก เมื่อมีกล้องขยายส่องเข้าไปส่งไปให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ และยังมีความหน่วงต่ำ เกิดการผ่าตัดในพื้นที่ห่างไกล เช่น แม่ฮ่องสอน มีการควบคุมที่กรุงเทพฯ เมื่อแพทย์ขยับมีด หุ่นยนต์ที่แม่ฮ่องสอนจะขยับมีดด้วยเวลาทันที ใช้เวลา 1 ส่วนพันวินาที
ประธานทีดีอาร์ไอ ยังกล่าวถึง AI กับการฟื้นฟูที่สำคัญ คือ การใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพื่อพิมพ์อวัยวะเทียมออกมา เช่น ในออสเตรเลียมีการออกแบบกระดูกสันอกกับซี่โครงเทียมขึ้นมา เมื่อออกแบบและสแกน จะพิมพ์ออกมา โดยใช้ไททาเนียม เนื่องจากใส่เข้าไปในร่างกายแล้วไม่ค่อยแพ้หรือมีภูมิคุ้มกันมาต่อต้าน ซึ่งข้อดีของการมีเครื่องพิมพ์นี้จะทำให้ผลิตอวัยวะเทียมเข้ากับแต่ละคนได้
รวมถึงมีการใช้ Exoskeleton ใส่ชุดเข้าไป ทำให้การเจ็บป่วยหรือพิการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ซึ่งไทยมีการใช้ในรพ.เด็กสมิติเวช เป็นต้น แต่ยังมีราคาสูง และมีการใช้ Virtual Reality ช่วยฝึกการเดินของผู้ป่วย
ทั้งนี้ มีคำถามใหญ่เกี่ยวกับ HealthTech ซึ่งดร.สมเกียรติ กล่าวทิ้งท้ายไว้ คือ เทคโนโลยีเหล่านี้จะนำมาใช้ในประเทศไทย ต้องดูว่าใช้ได้ผลจริงหรือไม่ ซึ่งต้องให้ผู้เชี่ยวชาญในวงการมาช่วยคิด และต้องดูด้วยว่า มีประโยชน์ต่อคนวงกว้างเพียงใด โดยหากมีราคาสูง จะเป็นประโยชน์ต่อคนไม่เท่าไหร่ แล้วผลตอบแทนที่ได้รับคุ้มค่ากับความเสี่ยงหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็น ความปลอดภัยในคน ความปลอดภัยในข้อมูล ความเป็นส่วนตัว และความเข้าใจของผู้ใช้
“ต่อไประบบสารสนเทศด้านสุขภาพ เตรียมตัวไว้เลย จะต้องมีคนเข้ามาแฮ็กอย่างแน่นอน วงการธนาคาร วงการต่าง ๆ ทราบกันแล้ว โจทย์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า จะมีคนแฮ็หรือไม่ แต่โจทย์คือจะมีคนมาแฮ็กเมื่อไหร่ แล้วจะรับมือต่อจากนั้นอย่างไร”
เขายังเชื่อว่า HealthTech จะมีผลต่อคนในวงการต่าง ๆ มากมาย ในวงการสุขภาพจะมีงานที่ถูกทดแทนโดยเทคโนโลยี เช่น นักเทคโนโลยีการแพทย์ด้านแล็บ (Medical Lab Technologists) และ Medical Transcriptionsts ส่วนโอกาสถูกทดแทนน้อย เช่น แพทย์ (Doctors) นักจิตวิทยา (Psychologists)
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ AI จะเหนือกว่าคน แต่เชื่อว่า ไซบอร์ก (AI+สมองคน) จะเหนือกว่า AI .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/