EXCLUSIVE! สัมภาษณ์ ‘บิ๊กป๊อก’ ปลุกปั้นคลัสเตอร์ 76 จังหวัด จัดการขยะ
เปิดห้องทำงาน ‘บิ๊กป๊อก’ อนุพงษ์ เผ่าจินดา มท.1 คุยนโยบายสร้างคลัสเตอร์ จัดการขยะ วาดฝันอีก 20 ปี ต้องเกิดขึ้นทุกจังหวัด พร้อมเผยชื่อบริษัทรับทำโครงการโรงกำจัดฯ ผลิตกระแสไฟฟ้า 11 แห่ง- รณรงค์คนไทยเปลี่ยนพฤติกรรม ยึดหลัก 3R
ปี พ.ศ.2561 ประเทศไทยมีปริมาณ ‘ขยะมูลฝอย’ เกิดขึ้นประมาณ 27.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก ปี พ.ศ. 2560 หรือราวร้อยละ 1.64 ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของชุมชนเมือง การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร และการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นนั่นเอง
ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ระบุการจัดการขยะมูลฝอยปีที่ผ่านมามีแนวโน้มดีขึ้น พบมีการคัดแยกจากต้นทาง และนำกลับไปใช้ประโยชน์ 9.58 ล้านตัน (ร้อยละ 34) โดยส่วนใหญ่เป็นขยะรีไซเคิลและทำปุ๋ยอินทรีย์ ขณะที่ 10.88 ล้านตัน (ร้อยละ 39) ถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง และ 7.36 ล้านตัน (ร้อยละ 27) เป็นขยะที่ถูกนำไปกำจัดไม่ถูกต้อง
แน่นอนว่า ผลสำเร็จจากการกำจัดขยะส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์มาจากนโยบายของภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมสังคมปลอดขยะ (Zero Waste Society) บนแนวคิด 3R ได้แก่ Reduce (ลดการใช้/ใช้เท่าที่จำเป็น) Reuse (การใช้ซ้ำ) Recycle (แปรรูปใหม่) อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความพยายามรณรงค์ลดขยะตั้งแต่ต้นทาง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การบริหารจัดการที่ผ่านมายังประสบปัญหา
|“ขยะในระบบส่วนหนึ่ง
ยังถูกกำจัดไม่ถูกต้องและตกค้างอีกมากมาย”|
‘พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา’ (บิ๊กป๊อก) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ ‘สำนักข่าวอิศรา’ โดยชี้ให้เห็น รวมไปถึงปูพื้นถึงความเป็นมาของปัญหาเกี่ยวกับขยะในประเทศไทย
รมว.มหาดไทย ย้อนอดีตให้คนรุ่นนี้เห็นภาพ สมัยก่อน คนซื้อก๊วยเตี๋ยวแห้งจะห่อกระดาษหรือใบตอง มีเชือกกล้วยผูก หากเป็นก๊วยเตี๋ยวน้ำ จะต้องนำภาชนะไปใส่ นั่นคือ ปิ่นโตกับหม้อเคลือบหูหิ้ว ซึ่งคนจะกินกันไม่เยอะ เพราะที่บ้านทำกับข้าวไว้รอ แล้วขยะจะถูกทิ้งลงถัง จากนั้นจะถูกเทลงในรถเก็บขยะที่มีลักษณะเหมือนประตูเปิด ซึ่งเต็มไปด้วยขยะสด ไม่มีถุงพลาสติก น้ำนองส่งกลิ่นเหม็นตลอดทาง ส่วนอาหารที่เหลือจากการกิน จะถูกนำไปคลุกข้าวให้สุนัขกิน แต่ปัจจุบันสุนัขกินอาหารเม็ด ทำให้มีเศษอาหารเหลือ
ขณะที่พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไป เขาเชื่อว่า เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ขยะมีปริมาณมากขึ้นตามไปด้วย
พล.อ.อนุพงษ์ ยอมรับถึงการบริหารจัดการขยะที่ผ่านมา มีปัญหาเกิดขึ้นจริง ทั้งการกำจัดไม่ถูกวิธี มีขยะการตกค้าง เราใช้วิธีจัดการแบบกองขยะกระจายทั่วประเทศ แม้จะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กว่า 7,000 แห่ง ทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการสาธารณะ แต่ขยะเกือบ 3,000 กองกระจายอยู่ทั่วประเทศ
“วิธีการกำจัดขยะดีที่สุด คือ การเผา เพราะหากนำขยะไปฝังกลบ ยิ่งในอนาคตขยะจะมีปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีพื้นที่รองรับ” รมว.มหาดไทย ชี้ให้เห็นถึงปัญหา และเห็นว่า ปัจจุบันแทบหาพื้นที่ทิ้งขยะไม่เจอ เชื่อจะส่งผลให้เกิดปัญหาในอนาคตตามมากมาย ฉะนั้นจึงต้องเผา!
รมว.มหาดไทย ยืนยันว่า การเผาโดยไม่เป็นพลังงานทำได้แน่นอน แต่ต้องใช้เงินเยอะประมาณ 1,000 บาท/ตัน แต่หากนำไปเป็นพลังงานไฟฟ้า ค่าดำเนินการจะเหลือเฉลี่ย 500 บาท/ตัน พลังงานหมุนเวียนจะช่วยประเทศและโลกได้ ด้วยการนำขยะไปทำเป็นพลังงานไฟฟ้าและขายไฟฟ้าที่ได้จากการเผาขยะ
แต่ปัญหาที่จะเกิดขึ้น คือ อปท.ขนาดเล็ก ที่มีปริมาณขยะ 20 ตัน/วัน จะเผาสร้างเป็นพลังงานไฟฟ้าไม่ได้ เพราะมีปริมาณไม่เพียงพอ ซึ่งปริมาณที่เหมาะสมสำหรับขยะในประเทศไทยที่ส่วนใหญ่เป็นขยะเปียกนั้นจะต้องมีขยะมากถึง 300 ตัน/วัน พล.อ.อนุพงษ์ บอกว่า นี่คือความแตกต่างจากญี่ปุ่นที่ขยะมีค่าความร้อนอยู่แล้ว ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้ปริมาณมากเท่ากับประเทศไทย
“จำนวนปริมาณขยะมีความสำคัญมาก" มท.1 เน้นย้ำ แล้วตั้งเป็นคำถาม เราจะเอาขยะมาจากไหน?
ก่อนจะยกตัวอย่าง จ.สระแก้ว ถ้าจะเอาขยะมาจาก อ.ตาพระยา ซึ่งห่างออกไป 70 กิโลเมตร ก็จะทำไม่ได้ เพราะไม่คุ้มกับค่าขนส่ง ผู้ประกอบการทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นระยะทางของขยะที่จะนำมาเผา จึงต้องสอดคล้องกันทั้งระยะทางและภูมิประเทศ
หรือจะนำขยะจาก อ.แม่สะเรียง ไปอ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน หรือนำขยะจาก อ.ปาย มาอ.แม่สะเรียง ก็ทำไม่ได้อีก แต่ถ้าจะมีทั้งอ.แม่สะเรียง และอ.เมือง ขยะก็ไม่เพียงพอ นี่จึงเป็นปัญหา ที่พล.อ.อนุพงษ์ มั่นใจว่า หนทางแก้ไข คือการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย (Clusters)”
|“ผมอยู่มา 5 ปีแล้ว รัฐบาลยังไม่เคยให้เงินไปสร้างโรงขยะได้เลย
เพราะโรงขยะ 1 แห่ง ใช้เงินเป็นพันล้านบาท
ถ้าคลัสเตอร์ 262 แห่ง ต้องใช้เงิน 2.62 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นไปไม่ได้”|
พล.อ.อนุพงษ์ หยิบยกให้เห็นถึงเหตุผล ทำไมรัฐจึงไม่ดำเนินการเอง แต่กลับปล่อยให้ภาคเอกชนดำเนินการกำจัดขยะ เพราะติดขัดเรื่องงบประมาณ ฉะนั้นจึงต้องให้ผู้ที่มีความรู้อย่างภาคเอกชนทำ ในรูปแบบ Public Private Partnership : PPP หรือการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งปัจจุบันมีคลัสเตอร์ 262 แห่ง
“เรากำหนดคลัสเตอร์ให้คุยกันว่าจะทำอย่างไร กลั่นกรองจนอนุมัติหลักการไปแล้ว จากนั้นให้ไปหาผู้ประกอบการ PPP กับภาคเอกชน ซึ่งการทำค่อนข้างจะดี แล้ววันหนึ่งจะกลับมาสู่ท้องถิ่น ถ้าท้องถิ่นพัฒนาตนเองไป จะสามารถดำเนินการได้ในอนาคต ถ้าไม่ได้ก็ให้จ้างภาคเอกชนดำเนินการแทน ตัวแบบดีที่สุดในขณะนี้ รัฐจึงไม่ต้องลงทุน แต่ให้เอกชนลงทุนแทน เพราะมีความสามารถ เอกชนไม่ยอมเจ๊ง รู้ไม่รู้ต้องรู้ เจ๊งไม่ได้ ต้องรอด หากเอกชนทำสำเร็จจะคืนทุนได้ภายใน 8 ปี และมีกำไร 10 ปี เรียกว่า เป็นธุรกิจที่เหมาะกับคนวัยหนุ่มสาว”
ส่วนสัญญาแบบ BOT (Build Operate and Transfer) ให้เอกชนดำเนินการจนครบสัญญา จากนั้นโรงกำจัดขยะจะกลับมาเป็นของรัฐ ถือว่า ดีที่สุด แต่ท้องถิ่นต้องมีพื้นที่ของตนเอง กรณีไม่มีพื้นที่ อาจต้องใช้สัญญาแบบ BOO (Build Own and Operate) เอกชนดำเนินการทั้งหมด
“ท้องถิ่นมีหน้าที่ในการบริการสาธารณะในเรื่องการกำจัดขยะ เนื่องจากการกำจัดปัจจุบันเป็นเทคโนโลยี ขยะเองก็มีปัญหา เช่น ขยะที่เป็นพลาสติก โฟม ต้องใช้เทคโนโลยีในการกำจัด ใช้เครื่องมือที่ซับซ้อน เพราะฉะนั้นในช่วงที่มีการร่วมทุน ท้องถิ่นต้องเรียนรู้ตามให้ทันเทคโนโลยี เพราะ PPP วันหนึ่งโรงกำจัดขยะจะกลับมาเป็นสิทธิของท้องถิ่นบริหารจัดการเดินเครื่องได้ ฉะนั้นท้องถิ่นต้องมีความรู้ ในการทำเทคโนโลยีนั้น ๆ”
ปัจจุบันมีบริษัทผู้ดำเนินโครงการโรงกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า (Quick Win Projects) 11 แห่ง โดยอยู่ในกระบวนการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1-2 ปี และยังมีอีก 15 รายที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการแต่งตัวเข้ามา ซึ่งเบื้องต้นอนุมัติเรียบร้อยแล้ว
โดยโครงการโรงกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า 11 แห่ง มีดังต่อไปนี้
-โครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตไฟฟ้าของศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย อ่อนนุช กรุงเทพฯ โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กรรมการบริหาร ได้แก่ นายวิสนุ ปราสาททองโอสถ, นายมานิต เตชอภิโชค, นายกิติศักดิ์ อร่ามเรือง, นายปิยะ พูดคล่อง, นายกฤษดา กวีญาณ, นายวีระวุธ ภู่ชนะกิจ, นายธัชชัย ชื่นชม, นายปรีชาพร สุวัฒโนดม, นายไทภัทร ธนสมบัติกุล, นายอาคม พูนชัย, นายโดม ชโยธิน, นายอนันต์ มโนมัยพิบูลย์ และนายอรวิทย์ เหมะจุฑา
-โครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตไฟฟ้าเทศบาลเมืองกระบี่ จ.กระบี่ โดยบริษัท อัลไลแอนซ์คลีนเพาเวอร์ กรรมการบริหาร ได้แก่ น.ส.จิรฐา ทรงเมตตา, นายธนวิจิตร อังคพิพัฒนชัย, นางชัญญา สังคะหะ, นายธีรวุฒิ ทรงเมตตา, นายพรเมตต์ ทรงเมตตา และนายวินัย บัวประดิษฐ์
-โครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตไฟฟ้าเทศบาลนครแม่สอด จ.ตาก โดยบริษัท คลีน แพลนนิ่ง จำกัด กรรมการบริหาร ได้แก่ นายธนิส สุทธิพันธ์, นางสิริพันธ์ เขียนสุภาพ และนายแดน เหตระกูล
-โครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตไฟฟ้ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา โดยบริษัท เอ็นคอมเวสท์ ทู เอเนอร์ยี่ จำกัด กรรมการบริหาร ได้แก่ นายคณพศ นิจสิริภัช, นางจิตราภรณ์ เตชาชาญ, นายธนพล ปิยาภรณ์, นายประจักษุ์ อุดหนุน และนายวชิระ พิทักษ์ตันสกุล
-โครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตไฟฟ้าของเทศบาลตำบลนครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา โดยบริษัท พาโนว่า จำกัด กรรมการบริหาร ได้แก่ นายคริสเตียน ชาคกี, นายริชาร์ด ฟูลเลอร์ มิลส์ ทรี, นายวุฒิชัย ลีนะบรรจง และนายไมเคิล ลีโอ เคซีย์
-โครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตไฟฟ้าของ อบจ.ระยอง โดยบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กรรมการบริหาร ได้แก่ นายวุฒิกร สติฐิต, นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต, นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม, นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล, พล.ต.เชาวเลข ชยันตร์สุภาพ, นายอธิคม เติบศิริ, นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์, นายคงกระพัน อินทรแจ้ง, นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต, นายคุรุจิต นาครทรรพ, น.ส.เพียงพนอ บุญกล่ำ, นายชวลิต ทิพพาวนิช และนางสุวิมล กฤตยาเกียรณ์
-โครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตไฟฟ้า เทศบาลนครอุดรธานี จ.อุดรธานี โดยบริษัท ไทยโซริค รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด กรรมการบริหาร ได้แก่ นายวีระ บูรพชัยศรี, นายกิตติ รุจนเวชช์, นายธนเดช คุพวงศ์ และนายปราโมทย์ ทัศนวิบูลย์
-โครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตไฟฟ้าของเทศบาลเมืองพระพุทธบาท จ.สระบุรี โดยบริษัท มิทท คอร์ปอเรชั่น จำกัด กรรมการบริหาร ได้แก่ น.ส.ปิยะนุช โฆษิตวุทธิ
-โครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตไฟฟ้าของ อบจ.นนทบุรี (หมู่ 2) จ.นนทบุรี โดยบริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด กรรมการบริหาร ได้แก่ นายทวี จงควินิต, นายวีระพล โชควิทยารัตน์, นายศิลป์ชัย ชัยสิทธิเวชช, นายสุชาติ จงควินิต, นายไชยณรงค์ จันทร์พลังศรี, นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี, นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล และนายธนู กุลชล
-โครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตไฟฟ้าของ อบจ.นนทบุรี (หมู่ 8) จ.นนทบุรี โดยบริษัท บุญ เอนเนอร์ซิส จำกัด กรรมการบริหาร ได้แก่ นายประดิษฐ์ ตันวัฒนะพงษ์, น.ส.เมธาวี ตันวัฒนะพงษ์, นายบุรินทร์ ตันวัฒนะพงษ์ และนายศรัณย์ ตันวัฒนะพงษ์
-โครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตไฟฟ้าของอบจ.หนองคาย จ.หนองคาย โดยบริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด กรรมการบริหาร ได้แก่ นายจอมทรัพย์ โลจายะ
พล.อ.อนุพงษ์ ยังวาดฝันในอีก 20 ปีข้างหน้า อยากให้คลัสเตอร์ต่าง ๆ รวมกลุ่มกันเป็นจังหวัดตามหลักการ พูดง่าย ๆ ให้มี 76 เเห่งในประเทศไทย โดยในจังหวัดหนึ่งอาจมีรวมกัน 2-3 คลัสเตอร์ เพราะมีเทคโนโลยีในการขนขยะเเล้ว ดังนั้น จึงน่าจะรวมกันได้ เเละมีผู้ลงทุนไม่มาก การที่จะบอกขายไฟฟ้ากับกระทรวงพลังงานสามารถทำได้ง่ายกว่า
| “ขยะทะเลมาจากขยะบก 80%
และมาจากคนทะเล 20%” |
ส่วนขยะในทะเล ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งให้ ‘ยามีล’ กับ ‘มาเรียม’ เสียชีวิต พล.อ.อนุพงษ์ ระบุ เป็นขยะที่มาจากบกทั้งนั้น หากทำให้อยู่ในที่ที่ควรทิ้ง จะกลายเป็นขยะในระบบ และถูกเก็บโดยรถขนขยะ นำไปกำจัดต่อไป แม้จะกำจัดด้วยวิธีใดก็ตาม ทั้งฝังกลบ พื้นที่โล่ง หรือเผา ขยะจะไม่ไปไหน แต่สิ่งที่อยู่ในทะเลได้ เพราะขยะลอยมาตามท่อระบายน้ำ ไหลลงคลองระบายน้ำออกสู่ทะเล
“คนไทยไม่ทิ้งขยะในที่ทิ้ง นั่นจึงเป็นเรื่องใหญ่ การจะทำอย่างนั้นต้องกลับไปขอความร่วมมือไม่ให้ทิ้ง แต่มีอีกวิธีหนึ่ง ถ้าไม่อยากให้ขยะไปอยู่ในทะเล ต้องเก็บให้เก่ง หาเทศบาลหรือท้องถิ่นเก็บเก่ง ๆ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะเก็บอย่างไร ไม่ชนะคนทิ้ง แล้วพลาสติกจะมีคุณสมบัติ บางช่วงจม บางช่วงปลิวไปเรื่อยทุกแห่งด้วย”
มท. 1 เน้นย้ำทิ้งท้ายด้วยว่า คนทำขยะต้องร่วมมือกันปฏิบัติตามหลัก 3R ซึ่งทั่วโลกปฏิบัติกันอยู่ ยอมรับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ มีนโยบายเชิงโครงสร้าง เช่น ปีที่ผ่านมายกเลิกพลาสติกหุ้มฝาขวด และไมโครบีดส์ในผลิตภัณฑ์สครัปผิว ขณะที่ปีใหม่นี้จะยกเลิกผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ผสมสารอ็อกโซ่ (Oxo) ดังนั้นจะเห็นว่า ประชาชนบริโภค เพราะมีการผลิตขึ้นมา ใช้แล้วก็ทิ้ง กลายเป็นพฤติกรรมของคน
******************************
ฟังจาก ‘บิ๊กป๊อก’ พล.อ.อนุพงษ์’ ตอกย้ำว่า ในห้วงเวลานี้ คงไม่มีวิธีการใดจะหยุดยั้งปริมาณขยะได้เท่ากับคนในชาติที่ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและพฤติกรรมส่วนตัวเสียเอง และคงไม่มีวิธีการใดจะกำจัดขยะได้ดีที่สุด นอกจากการเผาที่มาในรูปแบบของการรวมกลุ่มพื้นที่ ‘คลัสเตอร์’ อีกแล้ว .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
เรื่องที่เกี่ยวข้อง :'อนุพงษ์' โต้ข่าวลูกชายเอี่ยวโรงกำจัดขยะ -แจง 5 ปี รัฐไม่มีเงินสร้าง ลั่นราชการทำเองเจ๊งหมด