บัญญัติ10ประการ: เกราะป้องกัน'คุก'ของกรรมการจัดซื้อ-ตรวจรับ
"...คำแนะนำข้างต้นเป็นเพียงคำแนะนำทั่วๆไปที่หลายคนอาจเผอเรอหรือละเลยโดยเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาและไม่จำเป็นต้องเข้มงวดกวดขันมากจนเกินไป ทั้งนี้ส่วนหนึ่งท่านอาจเชื่อมั่นในตัวเองและกรรมการท่านอื่นว่าปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้องและสุจริต แต่ความสุจริตอย่างเดียวอาจไม่สามารถเป็นเกราะกำบังให้ท่านได้หากโครงการนั้นมีแนวโน้มส่อไปในทางทุจริตและมีการร้องเรียน กล่าวโทษ ซึ่งหากท่านไม่สามารถหาหลักฐานหรือคำอธิบายที่สามารถหักล้างข้อกล่าวหาที่มีต่อท่านและกรรมการคนอื่นๆได้ ท่านจึงต้องตกอยู่ในสถานะล่อแหลมที่จะถูกกล่าวหาว่าทุจริตและอาจถูกดำเนินคดีได้ แม้ท่านจะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่สุจริตอย่างยิ่งก็ตาม..."
เป็นข่าวตามสื่ออยู่เสมอๆว่า ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานของรัฐประเภทต่างๆ ถูกสั่งให้ออกจากราชการบ้าง ถูกสอบสวนทางวินัยบ้างหรือแม้กระทั่งถูกตัดสินจำคุกเหตุเพราะทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งเกิดจากปัจจัยต่างๆนานา นับตั้งแต่ ความจงใจทุจริต ความสะเพร่า ไม่รู้ว่าสิ่งที่กระทำนั้นเป็นความผิด ทำตามคำสั่งหัวหน้า ถูกใช้เป็นเครื่องมือหรือแม้แต่ถูกลงโทษด้วยเล่ห์เพทุบายของบุคคลอื่น เป็นต้น
เหตุการณ์เหล่านี้สร้างความเสียหายและเสื่อมเสียทั้งแก่ หน่วยงาน ตนเองและวงศ์ตระกูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถูกใช้เป็นเครื่องมือของบุคคลที่ใช้องค์กรเป็นแหล่งทำมาหากินโดยที่ตัวเองไม่รู้ตัวว่าตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ของการทุจริตนั้น สร้างความเดือดร้อนและขมขื่นต่อผู้ถูกลงโทษและครอบครัวเป็นอย่างยิ่งและเป็นบทเรียนที่ต้องจดจำไปตลอดชีวิต
การรับราชการหรือเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจรวมทั้งการเป็นเจ้าหน้าที่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆนั้น หนึ่งในภารกิจที่มักได้รับมอบหมายในช่วงชีวิตของการทำงานคือ การได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการจัดซื้อ-จัดหา เช่น จัดซื้ออุปกรณ์ทางเทคนิคสำหรับโครงการต่างๆ จัดซื้ออุปกรณ์สำนักงาน โครงการก่อสร้าง จัดจ้างที่ปรึกษา ฯลฯ รวมทั้งมักจะได้รับมอบภารกิจในการเป็นกรรมการตรวจรับงาน ซึ่งมักจะถูกแต่งตั้งมาพร้อมๆกับการเป็นกรรมการจัดซื้อ-จัดหา ส่วนคุณสมบัติและจำนวนของคณะกรรมการทั้งสองชุดนั้นขึ้นอยู่กับระเบียบพัสดุและหลักเกณฑ์การจัดตั้งคณะกรรมการฯ ของหน่วยงานนั้นๆเอง รวมทั้ง ลักษณะของโครงการ จำนวนงบประมาณ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของกรรมการ ฯลฯ ทั้งนี้ตัวกรรมการเองอาจเป็นบุคคลในองค์กรหรือบุคคลภายนอกซึ่งมีทั้งผู้เชี่ยวชาญและพนักงานผู้เกษียณอายุที่ถูกเชิญให้เข้ามาร่วมเป็นกรรมการฯในฐานะผู้มีประสบการณ์ เป็นต้น
การถูกกล่าวหาว่ากระทำการส่อไปในทางทุจริตนั้น กรรมการฯ ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาอาจจะถูกฟ้องร้องจากหน่วยงานต้นสังกัดเองหรืออาจมีผู้ร้องทุกข์ซึ่งสามารถนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลโดยตรงหรือมีการร้องเรียนไปยัง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป .ช.)
การถูกกล่าวหาและฟ้องร้องในขณะอยู่ในตำแหน่งนั้น หากองค์กรต้นสังกัดไม่ได้เป็นผู้กล่าวหา แต่การกล่าวหามาจากบุคคลอื่นที่อาจเสียผลประโยชน์ องค์กรต้นสังกัดอาจเป็นธุระให้ เช่น ช่วยอำนวยความสะดวกในการแก้ข้อกล่าวหาหรือกรณีคดีถูกนำสู่ศาล องค์กรต้นสังกัดอาจจัดหาทนายและให้คำแนะนำด้านกฎหมายในการต่อสู้คดีในศาล
แต่เมื่อใดก็ตามถ้ากรรมการเหล่านั้นพ้นจากตำแหน่งในหน่วยงานไปแล้วไม่ว่าจะลาออกหรือเกษียณอายุก็ตามและมีการถูกกล่าวหาและถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในภายหลัง ภาระหนักที่สุดจะตกอยู่กับผู้ถูกกล่าวหาเอง ทั้งเรื่อง การจัดเตรียมเอกสารเพื่อแก้ข้อกล่าวหา การสืบหาพยาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆในการต่อสู้คดีซึ่งเป็นภาระหนักอย่างยิ่งต่อผู้เกษียณอายุซึ่งต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด เว้นแต่บุคคลผู้นั้นจะมีเงินทองสะสมไว้มากเพียงพอที่จะใช้จ่ายได้อย่างไม่เดือดร้อน ผู้ถูกกล่าวหาจำนวนไม่น้อยจึงต้องจมอยู่ในความทุกข์เมื่อถูกกล่าวหา แม้ว่าเป็นความผิดที่ตัวเองไม่ได้ก่อ แต่การถูกกล่าวหาว่าทุจริตได้ส่งผลกระทบต่อทั้งชื่อเสียงและบั่นทอนความสงบสุขของชีวิตบั้นปลายหลังจากพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ไปแล้วอย่างยิ่ง
การได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการต่างๆนั้นเป็นตำแหน่งเฉพาะตัว บางคนจึงชิงลาออกหากเห็นว่าโครงการใดไม่ชอบมาพากลหรือผู้ที่เป็นกรรมการร่วมเป็นบุคคลที่ไม่น่าไว้วางใจหรือมีประวัติด่างพร้อยในเรื่องความประพฤติมิชอบมาก่อน โดยการลาออกมักอ้างเหตุผลว่ามีภารกิจในงานประจำมากหรือมีปัญหาสุขภาพ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามการลาออกจากตำแหน่งกรรมการฯนั้นแม้ว่าเป็นความพยายามที่จะทำให้ตัวเองพ้นจากมลทินทั้งปวงอันอาจจะเกิดขึ้นจากการทำหน้าที่กรรมการฯ แต่องค์กรอาจได้รับความเสียหายซึ่งโครงการหลายโครงการมีความจำเป็นเร่งด่วน หลายโครงการต้องล้มคว่ำหรือล่าช้าไปเพราะไม่สามารถตั้งกรรมการขึ้นมารับผิดชอบงานได้เพราะความฉาวของโครงการ ซึ่งสร้างความเสียหายแก่องค์กร รวมทั้งสร้างความเสียหายแก่ประเทศชาติซ้ำแล้วซ้ำเล่า
นอกจากนี้การลาออกจากกรรมการฯ ยังอาจถูกเพ่งเล็งว่าเป็นผู้ขาดความรับผิดชอบและไม่ตอบสนองต่อนโยบายขององค์กร ซึ่งอาจมีผลต่อการพิจารณาความดีความชอบได้เช่นกัน
คำแนะนำ 10 ประการเมื่อท่านต้องเป็นกรรมการจัดซื้อ-จัดหาและกรรมการตรวจรับ
ทันทีที่ที่ท่านได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมการไม่ว่าจะเป็นกรรมการจัดซื้อ-จัดหา หรือกรรมการตรวจรับงานก็ตาม นอกจากท่านจะต้องปฏิบัติภารกิจตามคำสั่งที่ท่านได้รับมอบหมายแล้ว อย่างน้อยที่สุดท่านต้องมีการตรวจสอบในแง่มุมอื่นซึ่งอาจช่วยให้ท่านไม่ต้องเข้าไปพัวพันกับวงจรของการทุจริตในฐานะกรรมการฯ ดังนี้
1. ท่านควรตรวจสอบในเบื้องต้นว่า โครงการที่ได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมการจัดหาหรือกรรมการตรวจรับนั้น เป็นโครงการที่ได้รับความเห็นชอบตามระเบียบขององค์กรและมีที่มาโปร่งใสไม่เป็นที่กล่าวถึงในเชิงลบจากคนในองค์กรหรือสื่อสาธารณะและเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรและส่วนรวม
2. ท่านควรตรวจสอบรายชื่อของกรรมการร่วมว่าเคยเป็นบุคคลที่มีมลทินต่อเรื่องการทุจริตในโครงการต่างๆขององค์กรมาก่อนหรือไม่และเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งตามระเบียบขององค์กรถูกต้อง ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังที่อาจจะพาให้กรรมการคนอื่นๆรวมทั้งตัวท่านเดือดร้อนไปด้วย
3. ท่านต้องตรวจสอบราคาอุปกรณ์ที่มีการนำเสนออย่างละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคากลางและราคาที่เคยจัดซื้อมาก่อนหน้า ที่สำคัญคือราคาตลาดของอุปกรณ์บางประเภทที่สามารถซื้อหาได้ทั่วไปแต่มักมีราคาสูงลิ่วเมื่อจัดซื้อในโครงการของรัฐ
4. ท่านควรตรวจสอบการทำงานทางเทคนิคของอุปกรณ์ที่จัดซื้อว่าต้องสามารถทำงานได้จริง โดยพิสูจน์จากหลักฐานที่มีการใช้งานมาก่อนหน้าในองค์กรของตัวเองหรือองค์กรอื่นๆหรือแม้แต่การใช้งานในต่างประเทศก็ตาม
5. ท่านต้องตรวจสอบการลงนามเอกสารทุกใบโดยเฉพาะเอกสารข้อกำหนด(Specification)และรายงานต่างๆให้แน่ชัดว่าเป็นเอกสารเดียวกันกับต้นฉบับที่มีการนำเสนอขออนุมัติจากผู้มีอำนาจหรือผู้รับผิดชอบจริง ไม่ใช่เอกสารที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือมีการยัดไส้เอกสารใหม่หรือมีการแก้ไขข้อความในภายหลังโดยที่ท่านไม่รู้
6. ท่านควรเก็บเอกสารที่จำเป็นในการจัดหาหรือตรวจรับที่ท่านเป็นกรรมการในแต่ละครั้งเอาไว้ให้ดี เพราะหลายต่อหลายคดีที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาจาก ป.ป.ช. อาจมีระยะเวลาผ่านมาแล้วนานกว่า 10 ปี หากท่านพ้นจากหน้าที่การงานมาแล้ว การกลับไปหาเอกสารย้อนหลังเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก เพราะเอกสารจำนวนหนึ่งอาจถูกทำลายไปแล้วหรือแม้แต่เอกสารทางอิเลคทรอนิกส์ที่อาจเก็บไว้ได้นานกว่า 10 ปี ก็ไม่อาจรับประกันได้ว่าท่านสามารถจะเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการได้
7. อย่าเกรงใจใคร หากท่านเห็นว่ามีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นในระหว่างการจัดหาหรือตรวจรับ ท่านต้องทำหนังสือโต้แย้งเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังประธานกรรมการฯหรือผู้รับผิดชอบและเก็บสำเนาเอกสารนั้นเอาไว้อย่าให้สูญหายเป็นอันขาด เพราะในวันข้างหน้าเอกสารบางชิ้นที่ท่านอาจลืมไปแล้วว่าท่านเคยได้ให้ความเห็นเอาไว้ อาจมีประโยชน์ในการแก้ต่างหรือสืบหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการทำหน้าที่กรรมการฯ ของท่านได้ในภายหลัง
8. ท่านต้องสามารถระบุตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงการจัดหาหรือตรวจรับในอดีตที่สามารถ อ้างอิง อธิบาย หรือสามารถให้ข้อมูลที่เป็นคุณกับท่านได้หากมีการพาดพิงถึงตัวบุคคล
9. ท่านต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่าการทำหน้าที่ของท่านในฐานะกรรมการคณะต่างๆนั้น ท่านมีความเสี่ยงต่อการถูกตรวจสอบและร้องเรียนอยู่ตลอดเวลาที่ท่านกำลังทำหน้าที่ของท่านและท่านต้องชี้แจงภารกิจในการทำหน้าที่กรรมการฯของท่านได้อย่างชัดเจน ครบถ้วน ปราศจากข้อสงสัยใดๆ
10. ระหว่างที่ท่านทำหน้าที่เป็นกรรมการ ท่านมักจะถูกห้อมล้อมจากผู้ที่ต้องการผลประโยชน์จากเกือบตลอดเวลา ท่านอาจได้รับการเสนอผลประโยชน์ต่างๆนานา แต่ขอให้ท่านมีความหนักแน่นในการทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาและถือว่าผลประโยชน์เหล่านั้นคือลาภที่มิพึงได้รับและต้องตระหนักอยู่เสมอว่า บุคคลที่อยู่รอบตัวท่านเพื่อหวังเพียงผลประโยชน์นั้น อาจพาชีวิตท่านดิ่งลงเหวโดยไม่รู้ตัว
คำแนะนำข้างต้นเป็นเพียงคำแนะนำทั่วๆไปที่หลายคนอาจเผอเรอหรือละเลยโดยเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาและไม่จำเป็นต้องเข้มงวดกวดขันมากจนเกินไป ทั้งนี้ส่วนหนึ่งท่านอาจเชื่อมั่นในตัวเองและกรรมการท่านอื่นว่าปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้องและสุจริต แต่ความสุจริตอย่างเดียวอาจไม่สามารถเป็นเกราะกำบังให้ท่านได้หากโครงการนั้นมีแนวโน้มส่อไปในทางทุจริตและมีการร้องเรียน กล่าวโทษ ซึ่งหากท่านไม่สามารถหาหลักฐานหรือคำอธิบายที่สามารถหักล้างข้อกล่าวหาที่มีต่อท่านและกรรมการคนอื่นๆได้ ท่านจึงต้องตกอยู่ในสถานะล่อแหลมที่จะถูกกล่าวหาว่าทุจริตและอาจถูกดำเนินคดีได้ แม้ท่านจะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่สุจริตอย่างยิ่งก็ตาม
หมายเหตุ : ภาพประกอบ http://www.theindependentbd.com/post/128498