เครือข่ายค้านสารพิษบุกก.เกษตร จี้เลิกสารเคมีอย่างน้อย 2 ชนิด ภายในปี 62
เครือข่ายค้านสารพิษบุกจี้ก.เกษตรฯ ยกเลิกสารเคมีอย่างน้อย 2 ชนิดให้ได้ภายในปี 62 เผยข้อมูลอัตราการเกิดมะเร็งในเกษตรกรสูงขึ้นหลังให้สารเคมี ขณะที่อดีต ส.ส.ปชป. โผล่แจมเสนอยุบคณะกก.สารพิษ ฝ่าย รมช.เกษตร ยันเลิกแน่ ทุกอย่างในแผนหมดแล้ว ด้านอนุทิน ยืนยันจุดเดิม หลังเห็นคนเจ็บป่วยจากการใช้สารพิษ
วันที่ 10 ก.ย. 2562 เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายวิชาการ เครือข่ายผู้บริโภค Thai-Pan และเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง รวม 686 องค์กร เข้าพบนางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีวช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อสนับสนุนการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงภายในปี 2562
น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ในฐานะตัวแทนเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร ยื่นข้อเสนอเพื่อให้เกิดการยกเลิกใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงภายในปี 2562 โดยระบุว่า มีข้อมูลผลกระทบทางสุขภาพที่ชัดเจน โดยเฉพาะอัตราการเกิดโรคมะเร็งของเกษตรกรที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด พร้อมกันนั้นได้ยื่นข้อเสนอ 3 ข้อ ประกอบด้วย
1.สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร ซึ่งกำกับดูแลการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ยกเลิกการต่อทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิดได้แก่ พาราควอต คลอไพริฟอส และไกลโพเซต โดยให้มีผลทันที
2.ให้กระทรวงเกษตรฯ เสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อยกเลิกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง 2 ชนิดในสิ้นปี 2562 ตามมติของคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แถลงเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 และกำหนดกรอบเวลาการแบนไกลโฟเซตให้ชัดเจนโดยเร็วที่สุด เพื่อให้เกษตรกรสามารถปรับตัวและหาวิธีการทดแทนได้ล่วงหน้า
3.เสนอให้ตั้งคณะทำงานดำเนินงานในเรื่องนี้เพื่อหามาตรการทางเลือกในการควบคุมศัตรูพืช และหาแนวทางหรือมาตรการในการสนับสนุนเกษตรกรเฉพาะกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น โดยไม่ต้องศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพอีก เนื่องจากได้มีการศึกษาโดยกระทรวงสาธารณสุขอย่างรอบคอบแล้ว
ทั้งนี้ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตส.ส.กทม. เขตจตุจักร พรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้าร่วมประชุมและเสนอให้ยกเลิกคณะกรรมกรรมวัตถุอันตรายเพื่อยกเลิกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงที่ได้ตั้งมา 2 ปีแล้ว แต่ไม่มีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจน ด้วยหน่วยงานหลักที่เป็นผู้ควบคุมสารเคมีคือกระทรวงอุตสาหกรรม ทำให้มีหน่วยงานร่วมกันหลายแห่งยากแก่การแก้ไขผลักดันให้เกิดผลอย่างรวดเร็วได้ จึงขอเสนอให้ออกพระราชกฤษฎีกาที่ชัดเจน เพื่อกำหนดข้อบังคับและแนวทางปฏิบัติให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ด้านนางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงความก้าวหน้าในการดำเนินงานเพื่อยกเลิก 2 สารเคมีอันตรายในปี 2562 ว่า นอกจากสารเคมี 2 ชนิดที่กล่าวถึงแล้ว ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้ยกเลิกการนำเข้าสารเคมีการเกษตรทุกชนิดไว้แล้ว และได้เตรียมการศึกษาผลดีและผลเสียของสารเคมีแต่ละตัว และสนับสนุนให้เกิดการใช้เครื่องจักร ตลอดจนสารชีวภัณฑ์แทน ซึ่งจะดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่ความเป็นครัวของโลกและมีมาตรฐาน GAP
อย่างไรก็ตาม รมช. เกษตรฯ ยังยืนยันด้วยว่า ได้ตระหนักถึงอันตรายของสารเคมีเกษตรต่อสุขภาพส่งผลต่อชีวิตคน ซึ่งไม่สามารถประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ อย่างไรก็ตามทาง กระทรวงเกษตรฯ ต้องช่วยให้เกิดสารทดแทนที่เกษตรกรสามารถนำมาใช้ทดแทนได้แบบไม่ต้องเพิ่มต้นทุนการผลิต พร้อมทั้งให้ความรู้กับเกษตรกรเพื่อสามารถปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตได้
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อถูกสื่อมวลชนถามถึงความเห็นต่อการแบน 3 สารพิษทางการเกษตร หรือ พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส ว่า ยืนยันจุดยืนเดิม แต่ขอถามกลับว่า เห็นคนเจ็บคนป่วยจากสารพิษเหล่านี้แล้ว ยังจะสนับสนุนให้ใช้กันอีกหรือ ส่วนตัว เมื่อเห็นผลลัพธ์ แล้ว จะให้ใช้สารพิษดังกล่าวต่อไป ก็ลำบากใจ แต่เรื่องนี้ต้องคุยกันหลายภาคส่วน หวังว่าจะได้คำตอบที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/