ผู้แทนUN ปลุกคนไทยต้านทุจริตป้องเงินภาษี - ACT กัดไม่ปล่อยอาหารกลางวัน-ลั่นตรวจกองทัพ
เปิดเวทีสัมมนาสร้างความโปร่งใสจัดซื้อจ้างภาครัฐ! ผู้แทน UN จี้คนไทยปรับแนวคิดช่วยกันต้านทุจริต ปกป้องเงินภาษีตัวเอง ชี้ประมาณการตัวเลขความสูญเสียแสนล้าน ใช้ปย.พัฒนาปท.หลายด้าน -ที่ปรึกษากรมบัญชีกลางเผยผลสำเร็จใช้โครงการข้อตกลงคุณธรรม-CoST 5 ปี ช่วยประหยัดงบ 8 หมื่นล้าน ACT ประกาศลั่นกัดไม่ปล่อยอาหารกลางวันเด็ก-ลุยตรวจกองทัพ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2562 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT มูลนิธิเพื่อคนไทย ร่วมกับ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) จัดงานสัมมนาระดับภูมิภาคว่าด้วยการสร้างความโปร่งใสในงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ หัวข้อ “Increasing transparency and integrity in Public Procurement in the Context of the SDGs”ที่เซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์
นายเรโนลด์ เมเยอร์ ผู้แทนUNDP ประจำประเทศไทย กล่าวระหว่างการสัมมนาตอนหนึ่ง ว่า การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐนั้นเป็นเรื่องการใช้เงินภาษีของประชาชน ดังนั้น จึงไม่ควรที่จะปล่อยให้เกิดความสูญเสีย เพราะจะกระทบต่อบริการสาธารณะของผู้ที่จ่ายภาษีเอง
"ที่ผ่านมามีการประมาณตัวเลขการว่ามีความสูญเสียจากการทุจริตของไทยอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถปรับขึ้นเบี้ยยังชีพคนชราได้ประมาณ 1,550 ต่อหัว สำหรับผู้ชราในโครงการเบี้ยยังชีพประมาณ 9 ล้านคน เป็นเงินสนับสนุนสำหรับเด็กวัยก่อนเรียน 6 ขวบ เพิ่มได้อีกประมาณ 4 ล้านคน และสามารถเพิ่มงบประมาณได้อีก 50 % สำหรับประชาชนจำนวน 48 ล้านคน ที่อยู่ในโครงการบัตรประกันสุขภาพแห่งชาติถ้วนหน้า" นายเรโนลด์ระบุ
นายเรโนลด์ ยังกล่าวต่อไปว่า หากประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาการทุจริตได้ จะส่งผลทำให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ แต่การที่จะไปถึงจุดนั้นได้ คนไทยจะต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดว่าจะไม่ยอมรับการทุจริตทุกรูปแบบ
"การพูดถึงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐนั้นเป็นภาพใหญ่ แต่เราควรเริ่มต้นจากการที่เราไม่ยอมรับการทุจริตของตัวเอง อาทิ การติดสินบนเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อฝ่าไฟแดง ไปจนถึงค่าปรับในโครงการใหญ่ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลทำให้โครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐนั้นมีความโปร่งใสและมีความสุจริตมากขึ้น สรุปก็คือจะต้องมีแรงกดดันและการมีส่วนร่วมจับตามองของภาคประชาชนอย่างเป็นระบบ"
นายเรโนลด์ ยังกล่าวด้วยว่า ประเทศไทยทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact: IP) และมีพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ถ้าหากดูตัวอย่างจากประเทศอินโดนีเซียและประเทศฟิลิปปินส์ ก็จะพบว่านอกจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การมีผู้ตรวจการอิสระเพื่อตรวจสอบการดำเนินงานในขั้นตอนต่างๆนั้น เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ นอกจากนี้การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ นั้นก็เป็นสิ่งที่เกื้อหนุนได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน ซึ่งทาง UNDP พร้อมจะสนับสนุนไทยในเรื่องเหล่านี้
ขณะที่ นางญาณี แสงศรีจันทร์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลาง ในฐานะหน่วยงานกำกับนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของประเทศ ได้ผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและผู้ประกอบการ ในการป้องกันการทุจริต ด้วยการใช้โครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact: IP) สำหรับโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีงบประมาณตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป และใช้โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) สำหรับโครงการที่มีงบประมาณต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท มาตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน ทั้งสองเครื่องมือสามารถป้องกันคอร์รัปชันได้ ประหยัดงบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวน 83,138 ล้านบาท มาจากการใช้โครงการ IP จำนวน 74,893 ล้านบาท คิดเป็น 30.40 % ของงบประมาณโครงการที่ดำเนินการจัดหา และจากโครงการ CoST อีก 8,245 ล้านบาท หรือมีการประหยัดจากวงเงินงบประมาณ 20.53 %
นางญาณี กล่าวว่า โครงการที่ใช้ข้อตกลงคุณธรรมหรือ IP มีจำนวนทั้งสิ้น 104 โครงการ วงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 1,798,445 ล้านบาท มีโครงการที่ได้ดำเนินการจัดหาได้แล้ว 51 โครงการ และงบประมาณของโครงการที่ดำเนินการจัดหาแล้ว 240,000 ล้านบาท มูลค่าสัญญา 170,000 ล้านบาท ขณะที่โครงการก่อสร้างที่เข้าร่วม CoST มีทั้งสิ้น 253 โครงการ วงเงินงบประมาณกว่า 110,000 ล้านบาท โดยมีการเปิดเผยข้อมูลบนระบบ CoST แล้ว 235 โครงการ และในจำนวนนั้นได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้วเสร็จ เป็นจำนวน 220 โครงการ ในระยะต่อไป สำหรับโครงการ IP ซึ่งดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 นั้น จะมีการขยายโครงการให้มีจำนวนมากขึ้นและครอบคลุมงานจัดซื้อจัดจ้างทุกประเภท ขณะที่โครงการ CoST เพื่อให้เกิดความยั่งยืนจึงได้ผลักดันให้ดำเนินการภายใต้พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ เช่นเดียวกับ IP โดยขณะนี้อยู่ระหว่างกำหนดหลักเกณฑ์และเตรียมจัดทำประกาศ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
ส่วนนายวิชัย อัศรัสกร รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)กล่าวว่า องค์กรภาคประชาชนที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนา IP และ CoST กับกรมบัญชีกลางอย่างต่อเนื่อง หากนับจำนวนโครงการที่ลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างแล้วคาดว่าภายในสิ้นปี 2562 นี้ การประหยัดงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ใช้สองเครื่องมือนี้จะสูงถึง 142,769 ล้านบาท โดยมาจากโครงการข้อตกลงคุณธรรมซึ่งจะประหยัดงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 97,013 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 27.06 % ของงบประมาณโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่ดำเนินการจัดหาได้แล้ว จำนวน 358,448 ล้านบาท จำนวน 62 โครงการ นอกจากนั้น ยังมีโครงการ รฟม. (PPP) ซึ่งสามารถประหยัดงบประมาณเป็นเงิน 37,457 ล้านบาท
นายวิชัย กล่าวว่า "ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ตัวเลขประหยัดงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่สูงถึงหลักแสนล้านบาท แต่เป็นการสร้างผลทางสังคมซึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่อาสาสมัครเข้ามาทำหน้าที่ผู้สังเกตการณ์ทั้งหมด 230 คน นั้น ล้วนทำงานด้วยความทุ่มเทเสียสละ ตามความยากความซับซ้อนของแต่ละโครงการ เมื่อเทียบกับปริมาณงานถือว่าทำงานเกินกำลัง ที่สำคัญอย่างยิ่ง ทั้ง IP และ CoST ทำให้ข้าราชการที่สุจริตสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีที่ยืนในสังคม เพราะเป็นกระบวนการปกป้องไม่ให้มีการใช้อิทธิพลกับข้าราชการ ย่อมเท่ากับช่วยป้องกันการทุจริตในระบบราชการ พร้อมไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพงบประมาณ และเพิ่มประสิทธิผลคุณภาพโครงการ องค์กรจึงตั้งเป้าหมายที่จะขยายผลด้วยการนำข้อตกลงคุณธรรรมไปใช้ในโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) และโครงการสัมปทานขนาดใหญ่ของรัฐ สำหรับโครงการที่ประชาชนให้ความสนใจและมีความเสี่ยงเรื่องความโปร่งใส ซึ่งอาศัยพ.ร.บ.การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ในการดำเนินงาน"
" ในบริบทสากล IP และCoST เป็นกลไกป้องกันคอร์รัปชันที่มีการใช้ในหลายประเทศทั่วโลก จึงมีองค์กรระหว่างประเทศให้การสนับสนุนประเทศไทยในเรื่องนี้ตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นองค์การพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) สถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย CoST International ส่วนใหญ่เป็นการส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำแนวทางการดำเนินงาน รวมถึงการมีส่วนร่วมสนับสนุนงบประมาณ" นายวิชัยระบุ
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ในช่วงท้ายการสัมมนา มีการเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนและผู้เข้าร่วมงานได้ซักถามข้อสงสัยในประเด็นต่างๆ
เมื่อมีคำถามว่า ในระบบการจัดซื้อจัดจ้างนั้น มีการอุทธรณ์ข้อปัญหาต่างๆเข้ามาประมาณที่เรื่อง
นางญาณีกล่าวว่า "ประมาณ 3,000 เรื่อง ส่วนมากมีประเด็นอุทธรณ์ว่าเอกชนรายนั้นมีคุณสมบัติครบถ้วน แต่หน่วยงานรัฐกลับไปเอาพรรคพวก ทำให้เขาตก ไม่ได้เข้าไปสู่กระบวนการประกวดราคา ไปจนถึงการที่เอกชนรายนั้นมาอุทธรณ์เฉยๆ แค่เพราะว่าเขาไม่ได้เป็นผู้ชนะการประกวดราคา เพราะฉะนั้นทางกรมบัญชีกลางจึงได้มีการนำเอาระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาตรวจสอบด้วยข้อเท็จจริงได้ในทุกกรณี ซึ่งก็มีทั้งกรณีที่อุทธรณ์ฟังขึ้นว่าหน่วยงานราชการนั้นผิดจริง ก็ต้องกลับไปเริ่มกระบวนการใหม่ และกรณีที่อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น แต่ทางกรมบัญชีกลางก็ต้องรับพิจารณาทั้งหมดเพื่อความโปร่งใส"
เมื่อมีคำถามว่า การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐขณะนี้ มีประเด็นเรื่องการทุจริตอาหารกลางวันเด็กนักเรียนซึ่งเป็นจำนวนน้อยในแต่ละโรงเรียน แต่เป็นงบทั้งประเทศสูงหมื่นกว่าล้านบาทจะมีการแก้ไขกันอย่างไร และการจัดซื้อของทางกองทัพนั้นจะอยู่กรอบนี้ด้วยหรือไม่
นางญาณีกล่าวว่า "กรณีอาหารกลางวันนั้นมีเรื่องอุทธรณ์เข้ามาเช่นกัน ตอนนี้เรามีการจัดซื้ออาหารกลางวันหลายรูปแบบตั้งแต่การไปซื้อวัตถุดิบมาแล้วมาทำที่โรงเรียน การไปจ้างคนมาทำอาหารเป็นมื้อ หรือการเหมาอาหารทำเสร็จมา ซึ่งแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน บางโรงเรียนนั้นก็มีการปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ซึ่งตรงนี้กฎหมายนั้นเปิดกว้างและมีกติการองรับ โดยการตรวจรับนั้นก็จะตรวจรับตามเมนูอาหาร ถ้าหากไม่เป็นไปตามนั้นเราก็ไม่ตรวจรับและไม่จ่ายเงิน และก็ต้องปรับและขึ้นบัญชีว่าเป็นผู้ทิ้งงานด้วย ส่วนเรื่องของกองทัพนั้นขอเรียนว่าทางกรมบัญชีกลางก็ยังดูแลความโปร่งใสตรงนี้ด้วย โดยการจัดซื้อถ้าหากเกินพันล้านบาท ก็ต้องเสนอมาที่กรมบัญชีกลาง"
เมื่อถามถึงปัญหาของการเปิดเผยข้อมูลบนเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง ที่ยังมีความยากลำบากสำหรับสื่อมวลชนและประชาชนจะเข้าไปตรวจสอบได้อยู่นั้น นางญาณี ได้มอบหมายให้ทางด้านของผู้อำนวยการด้วยฝ่ายไอทีเป็นผู้ตอบคำถามแทน
โดยผู้อำนวยการกล่าวว่า "ขณะนี้เว็บไซต์กำลังอยู่ในระหว่างพัฒนา ต้องขอเรียนว่ามุมมองเรื่องการเปิดเผยข้อมูลนั้นในมุมของส่วนราชการและมุมมองผู้ประกอบการนั้นอาจจะมองในเรื่องของการทำงานเป็นหลัก ดังนั้น ประชาชนอาจจะไม่เข้าใจในเรื่องของการเข้าไปดูข้อมูลที่ยาก อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ทางกรมบัญชีกลางได้ร่วมกับภาคเอกชนในการพัฒนาเว็บไซต์สำหรับภาคประชาชนโดยเฉพาะ โดยประมาณวันที่ 5 ต.ค. น่าจะขึ้นเว็บไซต์ที่ว่านี้ได้"
ขณะที่ นายวิชัย กล่าวเพิ่มเติม ว่า "ขณะนี้ ACT ได้พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ในการตรวจสอบกรณีการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ส่วนกองทัพนั้นขอย้ำว่าไม่มีข้อยกเว้นอย่างเด็ดขาด ยกเว้นกรณีเดียว ก็คือการจัดซื้อกันแบบรัฐต่อรัฐหรือที่เรียกว่าจีทูจี ซึ่งขณะนี้ในฐานข้อมูลนั้นมีข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อของกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศเข้ามาหมดแล้ว หลังจากนี้พอระบบของเราเริ่มเข้มข้นขึ้น ถ้าหากเกิดประเด็นที่ทางประชาชนหรือผู้สื่อข่าวส่งสัญญาณมาว่าการจัดซื้อนั้นไม่ชอบมาพากล เราก็จะเลือกโครงการที่จะเข้าไปสังเกตการณ์ แต่เราคงจะส่งไปทั้งหมดไม่ไหว เพราะโครงการที่มีการจัดซื้อนั้นมันเยอะมาก เช่นเดียวกับโครงการอาหารกลางวัน ซึ่งแม้บางโครงการเป็นโครงการที่มีมูลค่าต่ำว่าพันล้านบาท แต่ถ้าหากมีกรณีการร้องเรียนขึ้นมานั้นเราก็จะพิจารณาเพื่อที่จะเข้าไปสังเกตุการณ์เช่นกัน"
นายวิชัยกล่าวต่อว่า "เวลาผู้สังเกตการณ์เข้าไปตรวจสอบนั้นจะเข้าไปดูลึกถึงเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้างหรือทีโออาร์ โดยการทุจริตนั้นจะเกิดขึ้นมักจะเกิดจากการล็อกสเปก การกำหนดราคากลางที่อาจจะมีเงินทอน ถ้าขจัดพวกนี้ออกไปก็ขจัดการทุจริตได้ และอีกประเด็นก็คือเรื่องประสิทธิภาพ ดังนั้นการนำเอา IP และ CoST เข้ามาใช้ควบคู่ด้วยกันก็จะทำให้ลดปัญหาเหล่านี้ลงไปได้"
เมื่อถามถึงโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีและการต่อสัมปทานทางด่วนที่กำลังจะหมดลงนั้นทางด้านของ ACT จะเข้าไปดูในเรื่องเหล่านี้หรือไม่ นายวิชัยกล่าวว่า "ในเรื่องของ EEC นั้นมีกฎหมายระบุชัดเจนว่าการคัดเลือกนั้นจะต้องใช้ข้อตกลงคุณธรรม ซึ่งเราก็ได้ส่งผู้สังเกตการณ์เข้าไปทุกโครงการแล้ว และในเวลานี้เรากำลังพูดคุยกันว่าจะไม่เข้าไปสังเกตุการณ์เฉพาะการคัดเลือกเท่านั้น แต่จะต้องดูตลอดเส้นทาง เพราะมันล้วนเกิดความเสี่ยงที่จะเกิดกรณีการทุจริตได้เสมอ"
"าสัมปทานนั้นจะต้องใช้มติคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ “PPP” และเรื่องสัมปทาน ทางด้านของ ACT จึงจะส่งผู้สังเกตุการณ์เข้าไปตรวจสอบได้" นายวิชัยระบุ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage