ข้อเสนอวิธีแก้ปัญหา 'น้ำท่วม-ภัยแล้ง' โดยเร่งด่วน
"...ดังนั้นจึงควรพึงพาน้ำในประเทศเองจะดีกว่า ปัจจุบันเราเก็บกักได้เพียง 25 % หากเราเพิ่มการเก็บกักเป็น 40-50 % เราก็จะแก้ปัญหาภัยแล้งได้แล้ว เราไม่ได้ขาดน้ำ แต่ขาดทักษะในบริหารจัดการน้ำ หวังว่าข้อเสนอ เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลและประเทศไทย..."
หมายเหตุ: นายวีระพงษ์ ศรีนวกุล อดีตอาจารย์พิเศษ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลและ ที่ปรึกษาคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมสาขาโยธา และที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการ สาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เขียนบทความ ว่าด้วย “ข้อเสนอในการจัดการบริหารน้ำ” เสนอถึงสำนักข่าวอิศรา ผ่านไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบดังนี้
การแก้ปัญหา น้ำท่วม-ภัยแล้ง (โดยเร่งด่วน) ขอเสนอวิธีแก้ปัญหา ‘น้ำท่วม-ภัยแล้ง’ โดยเร่งด่วน ดังต่อไปนี้
น้ำท่วม-ภัยแล้ง เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากทุกปี เป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้ว ปัจจุบันยังไม่มีโครงการแก้ปัญหานี้ที่สมบูรณ์แบบยั่งยืน ที่ผ่านมามีผู้เสนอแนวทาง การแก้ปัญหาหลากหลายวิธี แต่รัฐบาลที่ผ่านมายังไม่ได้มีการตัดสินใจว่าจะเดินไปทางไหน เพราะแต่ละแนวทางต้องใช้งบประมาณมาก และอาจจะใช้เวลาซึ่งค่อนข้างนาน อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเศรษฐกิจสังคมเป็นอย่างมาก ประชาชนมีการต่อต้านในบางโครงการที่ผ่านมา ในส่วนของบางแนวทางอาจจะมีความเป็นไปได้ยาก หรือที่เรียกว่า "very unpractical" จึงขอเสนอวิธีแก้ปัญหาที่มีความเป็นไปได้มาก(Practical Approach ) โดยแบ่งเป็น 2 แนวทางคือ
แนวทางที่ 1 : การแก้ปัญหา น้ำท่วม-ภัยแล้ง (อย่างยั่งยืน)
แนวทางที่ 2 : การแก้ปัญหา น้ำท่วม- ภัยแล้ง (โดยเร่งด่วน )
แนวทางที่ 1: เน้นการชะลอน้ำ โดยเขื่อน diversional dam (เขื่อนแบบเขื่อนเจ้าพระยา)
แนวทางที่ 2: เน้นการเก็บกักน้ำไว้ในพื้นที่แก้มลิง เขื่อน ฝาย ในลำน้ำเดิม คลองทดน้ำ บริเวณเหนือน้ำ (ตั้งแต่นครสวรรค์ขึ้นไป)
ข้อเสนอและวิธีการปฏิบัติ
แนวทางที่ 1 การชะลอน้ำ โดยเขื่อน diversional dam (เขื่อนแบบเขื่อนเจ้าพระยา)
การแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง ที่ค่อนข้างระยะยาวหรือยั่งยืนนาน
1 การบริหารจัดการน้ำของภาคเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพ และปริมณฑล น้ำทั้งหมดมาจาก ภาคเหนือ แล้วไหลสู่ภาคกลาง กรุงเทพและปริมณฑล โดยพื้นที่(Catchment area หรือ Drainage basin หรือ Water sheds หรือ ผังน้ำ )ของภาคเหนือประมาณ 100,000 ตร.กิโลเมตร และปริมาณน้ำฝนตกประมาณ 1700 มม.( ปี 54 ) ซึ่งคำนวณจะได้ปริมาณน้ำ 170,000 ล้านลบ.ม โดยคูณ factor ก็จะได้ปริมาณน้ำ 85,000 ล้านลบ.ม นี่คือปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านภาคกลาง กรุงเทพ และปริมณฑล โดยจะเก็บตามเขื่อนต่างๆในภาคเหนือได้ 26,000 ล้าน ลบ.ม และเก็บในแม่น้ำ ปิง วัง ยม น่าน ประมาณ3000 ล้านลบ.ม ที่เหลือจะไหลเข้าภาคกลาง กรุงเทพ และปริมณฑล 56,000 ล้าน ลบ.ม นี่คือต้นเหตุของน้ำท่วม และการแก้ปัญหาคือต้องชะลอน้ำดังกล่าวที่แม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน แม่น้ำดังกล่าวมี Pressure head สูงมากโดยทางภาคเหนือสูงกว่าภาคกลาง กรุงเทพและปริมณฑล 200กว่าเมตรจึงทำให้เกิดมวลน้ำมหาศาล การแก้ปัญหาจะต้องทำdiversional dam ไม่น้อยกว่า 10-12 เขื่อน Diversional dam ก็คือเขื่อนแบบเขื่อนเจ้าพระยา ไม่ต้องเวนคืน งบประมาณไม่สูง โดยจากการประมาณไม่เกิน 50,000 ล้านบาท
อนึ่งแก้มลิงที่ช่วยได้ก็คือแก้มลิงแบบเคลื่อนที่ หรือคูคลอง แม่น้ำและถ้าจะให้แก้ได้เกือบ95 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องขุดคลองหรือ แก้มลิงแบบเคลื่อนที่ แทรกตามแม่น้ำ ปิง วัง ยม น่าน ในปัจจุบันนี้แม่น้ำโขง จีนได้ก่อสร้าง diversional Dam เสร็จแล้ว 10 เขื่อนและกำลังก่อสร้างและวางแผนอีก 13 เขื่อน ซึ่งน่าจะแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งของเราได้
2. การบริหารจัดการน้ำของภาคอีสาน คือแม่น้ำชีและ มูล ที่ไหลจากชัยภูมิไปลงที่อุบลราชธานี แม่น้ำชีและมูล มีแม่น้ำสาขาประมาณ 50 สาขา ให้ทำ Diversional dam กั้นน้ำก่อนที่จะลงแม่น้ำชีและมูล ทั้งหมดก็จะควบคุมการไหลของแม่น้ำชีและมูล ได้ส่วนที่บอกว่ามีการซึมก็ปล่อยให้ซึม. และถ้าจะใช้น้ำก็สูบขึ้นมาใช้ได้เลยส่วนซีกที่น้ำไหลแม่น้ำโขง ก็ทำประตูน้ำแบบมีเครื่องสูบน้ำช่วยระบายน้ำลงแม่น้ำโขงได้เร็วขึ้น งบประมาณก่อสร้างโดยประมาณไม่เกิน 75,000 ล้านบาท
แนวทางที่ 2 เก็บกักน้ำไว้ในพื้นที่แก้มลิง ซึ่งมีอยู่กระจัดกระจายในเขตลุ่ม
น้ำภาคเหนือตอนล่างในจังหวัด พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ ฯลฯกว่า 30 แห่ง พื้นที่เหล่านี้เรียกว่า "พื้นที่รับน้ำนองชั่วคราว " ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 5 ล้านไร่ สามารถเก็บกักน้ำหลาก หรือ น้ำนองได้ไว้ใช้ในฤดูแล้งได้กว่า 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ( หรือมีความจุน้ำเท่ากับ เขื่อนภูมิพล ) และลดอิทธิพลของน้ำท่วมได้ในเวลาเดียวกัน
ข้อสังเกต
มีการกล่าวถึงมานานแล้วสำหรับโครงการ โขง ชี มูล และ สาละวินซึ่งเป็นการนำน้ำจากแม่น้ำโขง มาเติมให้แม่น้ำ ชี และ มูล และ เอาน้ำจากสาละวินมาเติมให้เขื่อนภูมิพล ในความเป็นจริงแล้วฝนที่ตกในประเทศไทยมีปริมาณมากมาย ภาคเหนือฝนตก เฉลี่ย 1,500 มม.ต่อปี ภาคอีสานฝนตกเฉลี่ย 1500 มม. ต่อปี ต่างประเทศที่เขาแล้ง เช่น ไคโร อียิปต์ 25 มม. อิหร่าน 241 มม. สเปน 439 มม. อังกฤษ 589 มม ฝรั่งเศส 607 มม. ส่วนต่างประเทศที่เขาน้ำท่วม เช่น แคนนาดา6502 มม. ออสเตรเลีย 8,636 มม.ฮาวาย อเมริกา 11,684 มม. อินเดีย 11,872 มม. น้ำฝนที่เราเก็บกักได้ในภาคเหนือเพียง 25 % เท่านั้น อีก 75 % ของปริมาณน้ำปล่อยให้ไหลนองเป็นน้ำหลากไปท่วมพื้นที่ภาคกลาง กรุงเทพและปริมณฑล และเป็นการเพิ่มปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง กรุงเทพและปริมณฑลอย่างหนัก อีกทั้งงบประมาณที่จะทำโครงการสูงมากๆอีกด้วย ส่วนการนำน้ำจากแม่น้ำโขงมาเติมให้ประเทศไทย เป็นการแก้ปัญหาภัยแล้งได้อย่างเดียว ในหน้าแล้งบางปีแม่น้ำโขงก็แห้งขอดถึงท้องน้ำ อาจไม่สามารถดึงน้ำจากแม่น้ำโขงมาช่วยแก้ภัยแล้งในประเทศไทยได้
ดังนั้นจึงควรพึงพาน้ำในประเทศเองจะดีกว่า ปัจจุบันเราเก็บกักได้เพียง 25 % หากเราเพิ่มการเก็บกักเป็น 40-50 % เราก็จะแก้ปัญหาภัยแล้งได้แล้ว เราไม่ได้ขาดน้ำ แต่ขาดทักษะในบริหารจัดการน้ำ หวังว่าข้อเสนอ เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลและประเทศไทย
ทางกระผมหวังว่าข้อมูลเบื้องต้นจะเป็นประโยชน์กับสำนักงานทรัพยากรน้ำไม่มากก็น้อย
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://siamrath.co.th/n/92282