“ณัฐวุฒิ” ดึงอปท.ร่วมยกระดับสหกรณ์ชุมชนสู่สังคมเมือง
ก.เกษตรเดินหน้าพัฒนาสหกรณ์หลังครม. ดันขึ้นวาระชาติ “ณัฐวุฒิ” ดึงอปท.ร่วมยกระดับสหกรณ์ชุมชนสู่สังคมเมือง
วันที่ 1 ส.ค. 55 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.กษ.) เปิดเผยว่า ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเมื่อ 30 ก.ค. 55 ประกาศให้สหกรณ์เป็นวาระแห่งชาติ และดำเนินการตามข้อเสนอวาระแห่งชาติด้านการสหกรณ์ตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอ ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาศึกษา เรื่อง การส่งเสริมและสนับสนุนให้สหกรณ์เป็นวาระแห่งชาติในโอกาสครบ 100 ปี ของการสหกรณ์ไทย
กระทรวงเกษตรฯ จึงร่วมกับกระทรวงต่าง ๆ ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ, คลัง, คมนาคม, พาณิชย์ และมหาดไทย ผลักดันยุทธศาสตร์และแผนงานให้สอดรับกับ 5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1. สร้างและพัฒนาการเรียนรู้และทักษะการสหกรณ์สู่วิถีชีวิตประชาชนในชาติ 2. สนับสนุนและพัฒนาการรวมกลุ่มของประชาชนด้วยวิธีการสหกรณ์ให้เป็นรากฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 3. เพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงเครือข่ายระบบการผลิต การตลาด และการเงินของสหกรณ์ 4. สนับสนุนแผนพัฒนาการสหกรณ์ให้เป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้มแข็งของขบวนการสหกรณ์ และ 5. ปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐ ขบวนการสหกรณ์ และปรับปรุงกฎหมายสหกรณ์ให้เอื้อต่อการพัฒนา
“เราให้ความสำคัญการให้ความรู้เรื่องสหกรณ์ จึงต้องมีกระทรวงศึกษาธิการเข้ามาให้ความรู้ในระดับสถานศึกษา ส่วนกระทรวงมหาดไทยจะขอความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการสื่อสารสู่ครัวเรือน นอกจากนั้นยังมีคลัง พาณิชย์ คมนาคม เพราะมีความสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการผลิตเกษตรและกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน”
รมช.กษ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สหกรณ์เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาสังคมไทย โดยด้านการเมือง สหกรณ์สร้างการมีส่วนร่วมและเท่าเทียม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการประชาธิปไตย ด้านเศรษฐกิจ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนที่เข้มแข็งในท้องถิ่น ส่งผลให้เศรษฐกิจมหภาคเข้มแข็งด้วย ด้านสังคม สมาชิกในสหกรณ์จะมีจิตวิญญาณไม่เอาเปรียบ ข่มเหง หรือรังแกกัน เพราะทุกคนตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงเมืองใหญ่มีสิทธิเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ยังมีบทบาทต่อการพัฒนาเกษตรชุมชน โดยสามารถขับเคลื่อนนโยบายประกันรายได้เกษตรกร และการรองรับตลาดผลผลิตการเกษตร รวมถึงส่งเสริมให้คนในชุมชนเกิดการออมและสามารถนำเงินมาพัฒนาท้องถิ่นได้
นายณัฐวุฒิ ยังกล่าวว่า ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ากระบวนการสหกรณ์ของประเทศเจริญก้าวหน้ามีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง แต่ในความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ยังเห็นว่าสหกรณ์เป็นเรื่องของเกษตรกรเท่านั้น ทั้งที่จริงระบบสหกรณ์สามารถเข้าไปมีบทบาทในสังคมได้ทุกมิติ เราจึงพยายามผลักดัน เช่น การวิพากษ์วิจารณ์ผลงานรัฐบาลเกี่ยวกับสินค้าราคาแพง จนเกิดวาทกรรม “แพงทั้งแผ่นดิน” เราจึงนำสินค้าของสหกรณ์เข้าโครงการสหกรณ์ถูกทั้งแผ่นดิน ซึ่งได้พัฒนาเป็นศูนย์กระจายสินค้าระดับจังหวัด และคาดว่าภายใน 2 เดือน จะนำสินค้าสหกรณ์ไทยไปจำหน่ายในจีนได้ หรือกรณีพนักงานขับรถแท็กซี่จะปรับขึ้นราคาค่าโดยสาร โครงการแท๊กซี่วิ่งสู้ฟัดจึงเกิดขึ้น โดยแท็กซี่ทั่วประเทศรวมตัวในระบบสหกรณ์ตรึงราคาไว้ 3 เดือน หรือจนกว่าที่รัฐบาลจะมีนโยบายเปลี่ยนแปลงราคาพลังงาน ซึ่งล้วนแต่ประสบความสำเร็จ เพราะกระบวนการสหกรณ์เกิดจากฐานรากที่มีชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อน จนพาประเทศเดินต่อไปได้
ทั้งนี้พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์เป็นบิดาแห่งสหกรณ์ไทย ซึ่งสหกรณ์แห่งแรกของไทยนั้น คือ สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้ จ.พิษณุโลก โดยปัจจุบันไทยมีสหกรณ์ทั้งสิ้น 7,964 สหกรณ์ และมีสมาชิก 10.8 ล้านครอบครัว ปริมาณธุรกิจรวมกัน 2 ล้านล้านบาท/ปี คิดเป็นร้อยละ 18.95 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี)โดยสามารถแยกประเภทของธุรกิจที่สหกรณ์ดำเนินการ ได้แก่ ธุรกิจรับฝากเงิน 559,808.2 ล้านบาท ธุรกิจการให้เงินกู้ 1,249,763.3 ล้านบาท ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย 71,419.0 ล้านบาท ธุรกิจรวบรวมผลผลิต 120,700.8 ล้านบาท ธุรกิจการแปรรูปผลผลิต 34,708.8 ล้านบาท และธุรกิจบริการ 12,662.0 ล้านบาท.