กางประกาศข้อกม.! ไขคำตอบ ขรก.อบต.ขามป้อม กลับเข้าทำงานได้หรือไม่ หลังล้มละลาย?
"...ข้อ 9 การพิจารณายกเว้นการขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 7 ของคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.จังหวัด) ให้พิจารณาถึงความจำเป็นและและประโยชน์ของทางราชการที่จะได้รับ และมติของคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.จังหวัด) ในการประชุมปรึกษายกเว้นคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามดังกล่าว ให้คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.จังหวัด) ประชุมพิจารณาลงมติโดยจะต้องได้คะแนนเสียงสี่ในห้าของจำนวนกรรมการในที่ประชุม และการลงมติให้กระทำโดยลับ..."
"นายจันทร์ สมศรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลขามป้อม ได้ส่งหนังสือเลขที่ มค 72301/803 ฉบับลงวันที่ 9 ก.ค. 2562 ถึง ประธานกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดมหาสารคาม (ก.อบตจังหวัดมหาสารคาม) เพื่อขอให้ พิจารณายกเว้นคุณสมบัติกลับเข้ารับราชการของ สิบเอกบัณฑิต ปักกุนนัน ตามประกาศของ ก.อบต.จังหวัดมหาสารคาม เรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารบุคคลขององค์การบริหารส่วนตำบล ข้อ10 (3) ในการขอยกเว้นและพิจารณายกเว้นในกรณีขาดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม"
คือ ข้อมูลที่ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอต่อสาธารณชนไปแล้ว ต่อกรณีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับ นางสมฤดี ประสมศรี ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม และ สิบเอกบัณฑิต ปักกุนนัน หัวหน้าสำนักปลัด ข้าราชการในองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ขามป้อม จ.มหาสารคาม ถูกคำสั่งจากศาลล้มละลายกลางให้ตกเป็นบุคคลล้มละลาย ตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค. 2561 แต่ปัจจุบันบุคคลทั้งสองยังคงรับราชการตามปกติ ทั้งที่ การเป็นบุคคลล้มละลายเป็นลักษณะต้องห้ามที่จะรับราชการ โดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจสั่งให้พนักงานส่วนตำบลออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทน ตามประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับการให้ออกจากราชการ ข้อ 6 (3)
ขณะที่ นางเอื้อมพร ปักกุนบัน เจ้าหน้าที่นักทรัพยากรบุคคล อบต.ขามป้อม ยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา ว่า นางสมฤดี ประสมศรี และสิบเอกบัณฑิต ปักกุนนัน ได้ออกจากราชการตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2562 ที่ผ่านมา ส่วนการขอยกเว้นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการสมัครกลับเข้ารับราชการ สามารถทำได้ตามประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดมหาสารคาม เรื่อง หลังกเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2545 แก้ไขเพิ่มเติมถึง พ.ศ. 2555 ข้อ 7 (1)
“การขอยกเว้นดังกล่าวนั้น ทาง อบต.ขามป้อม ไม่ได้เป็นเจ้าของเรื่องที่บอกว่าจะรับหรือไม่รับ แต่สิบเอกบัณฑิต ปักกุนนัน มีสิทธิขอไปที่คณะกรรมการ ก.อบต.จังหวัด แล้วแต่คณะกรรมการ ก.อบต.จังหวัดมหาสารคามจะพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ปัจจุบัน สิบเอกบัณฑิต ปักกุนนัน ยังไม่ได้กลับเข้ามาทำงานแต่อย่างใด” (อ่านประกอบ : ร้อง ‘อิศรา’ สอบ 2ขรก.อบต.ขามป้อมถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์คดีล้มละลาย แต่ยังทำงานตามปกติ, สอบยันข้อกม.ท้องถิ่น ล้มละลายต้องออกราชการ! ไฉนกรณี ‘2ขรก.อบต.ขามป้อม’ ยังไร้คำตอบ? , แฉนายก อบต.ขามป้อม ยื่นขอยกเว้นคุณสมบัติ 2 ลูกน้องกลับทำงาน หลังถูกศาลสั่งล้มละลาย)
น่าสนใจว่า กรณีการขอพิจารณายกเว้นกรณีเป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามนั้น สามารถทำได้หรือไม่ อย่างไร
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องมานำเสนอ ดังนี้
ประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดมหาสารคาม เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2545 แก้ไขเพิ่มเติมถึง พ.ศ. 2555 ข้อ 4 วรรคสี่ “พนักงานส่วนตำบล” หมายความว่า พนักงานส่วนตำบลซึ่งได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตามประกาศนี้ ให้รับราชการในองค์การบริหารส่วนตำบล โดยมีตำแหน่งและได้รับเงินเดือนจากงบประมาณหมวดเงินเดือนในองค์การบริหารส่วนตำบล
โดยพนักงานส่วนตำบลนั้น จะต้องมีคุณสมบัติหรือไม่มีลักษณะต้องห้าม ตาม ข้อ 6 ความว่า
ข้อ 6 ผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นพนักงานส่วนตำบล ต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(1) มีสัญชาติไทย
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์
(3) เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบบประชาธิ ปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้วยความบริสุทธิ์ใจ
(4) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง
(5) ไม่เป็นผู้มีกายทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ไร้ความสามารถหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคตามที่คณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.)
ก. โรคเรื้อนในระยะติดต่อหรือระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
ข. วัณโรคในระยะอันตราย
ค. โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
ง. โรคติดยาเสพติดให้โทษ
จ. โรคพิษสุราเรื้อรัง
(6) ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งให้พักราชการ หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามมาตรฐานทั่วไป หรือหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการริหารงานส่วนบุคคลของพนักงานส่วนตำบลตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น หรือตามกฎหมายอื่น
(7) ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี จนเป็นที่รังเกียจของสังคม
(8) ไม่เป็นกรรมการพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง
(9) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
(10) ไม่เป็นผู้เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเพราะกระทำความผิดอาญา เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(11) ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกจากรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
(12) ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก หรือปลดออก เพราะกระทำผิดวินัยตามมาตรฐานทั่วไป หรือหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของพนักงานส่วนตำบล ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น หรือตามกฎหมายอื่น
(13) ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษไล่ออก เพราะกระทำผิดวินัยตามมาตรฐานทั่วไป หรือหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของพนักงานส่วนตำบล ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น หรือตามกฎหมายอื่น
(14) ไม่เป็นผู้เคยกระทำการทุจริตในการสอบเข้ารับราชการ
หมายความว่า การเป็นบุคคลล้มละลาย เป็นลักษณะต้องห้าม ตามข้อ 6 (9) แต่อย่างไรก็ดี ใน ข้อ 7 ได้ระบุการพิจารณายกเว้นให้สามารถเข้ารับราชการเป็นพนักส่วนตำบลได้ ความว่า
ข้อ 7 ผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นพนักงานส่วนตำบล ซึ่งขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ตามข้อ 6 คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.จังหวัด) อาจพิจารณายกเว้นให้สามารถเข้ารับราชการเป็นพนักงานส่วนตำบลได้ ในกรณี ดังนี้
(1) ผู้ซึ่งขาดคุณสมบัติตามข้อ 6 (7) (9) (10) หรือ (14)
(2) ผู้ซึ่งขาดคุณสมบัติตามข้อ 6 (11) หรือ (12) ซึ่งได้ออกจากงานหรือราชการเกินสองปีแล้ว และมิใช่กรณีออกเพราะกระทำผิดในกรณีทุจริตต่อหน้าที่
(3) ผู้ซึ่งขาดคุณสมบัติตามข้อ 6 (13) ซึ่งได้ออกจากงานหรือราชการเกินสามปีแล้ว และมิใช่กรณีออกเพราะกระทำผิดในกรณีทุจริตต่อหน้าที่
หมายความว่า ผู้ที่ตกเป็นบุคคลล้มลายอันมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 6 (9) นั้น คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.จังหวัด) สามารถพิจารณยกเว้นให้เข้ารับราชการได้ ตามข้อ 7 (1)
ทั้งนี้ ในการพิจารณายกเว้นนั้น ให้พิจารณาถึงความจำเป็นและประโยชน์ของทางราชการ โดยคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.) จะต้องประชุมปรึกษาการยกเว้นดังกล่าว ซึ่งการลงมติจะต้องได้คะแนนเสียง 4 ใน 5 ของจำนวนกรรมการในการประชุม และการลงมติให้กระทำการโดยลับ ระบุไว้ในข้อ 9 ความว่า
ข้อ 9 การพิจารณายกเว้นการขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 7 ของคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.จังหวัด) ให้พิจารณาถึงความจำเป็นและและประโยชน์ของทางราชการที่จะได้รับ และมติของคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.จังหวัด) ในการประชุมปรึกษายกเว้นคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามดังกล่าว ให้คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.จังหวัด) ประชุมพิจารณาลงมติโดยจะต้องได้คะแนนเสียงสี่ในห้าของจำนวนกรรมการในที่ประชุม และการลงมติให้กระทำโดยลับ
ส่วนขั้นตอนการยื่นขอพิจารณายกเว้นกรณีขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามนั้น ให้ผู้ซึ่งขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามรายนั้น ยื่นคำขอไปยัง ก.อบต.จังหวัด พิจารณา โดยต้องมีผู้มีเกียรติอันควรเชื่อถือได้ไม่น้อยกว่า 2 คน เป็นผู้รับรองความประพฤติ ตามข้อ 10 (1) หรือจะยื่นขอต่อเลขานุการ ก.อบต. หรือนายกองค์การบริหารส่วนตำบลขององค์การบริหารส่วนตำบลที่ผู้นั้นต้องการจะเข้ารับราชการก็ได้ ตามข้อ 10 (2)
กรณียื่นตามข้อ 10 (2) ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพิจารณา หากประสงค์จะรับผู้ยื่นคำขอนั้นเข้ารับราชการ ให้ทำการสอบสวนเกี่ยวกับประวัติส่วนตัว ประวัติการรับราชการ คุณงามความดี ความผิดหรือความเสื่อมเสีย และความประพฤติ โดยสอบสวนจากผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้างาน และผู้มีเกียรติซึ่งอยู่ใกล้ชิด และพิจารณาอีกว่า ยังต้องการที่จะรับผู้นั้นข้ารับราชการหรือไม่ ถ้าต้องการรับก็ให้แจ้งและส่งเรื่องการสอบสวนดังกล่าว พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานการสอบสวน ให้เลขานุการ ก.อบต.จังหวัด ดำเนินการต่อไป หรือหากไม่ต้องการรับผู้ยื่นคำขอนั้นเข้ารับราชการ ให้แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้นั้นและเลขานุการคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.จังหวัด) ทราบด้วย ตามข้อ 10 (3)
ต่อมา เมื่อเลขานุการ ก.อบต.จังหวัด ได้รับเรื่องตามข้อ 10 (3) แล้ว เห็นว่าข้อเท็จจริงและเอกสารหลักฐานเพียงพอที่จะประกอบการพิจารณาของ ก.อบต.จังหวัด ให้ทำการนำเสนอ ก.อบต.จังหวัด เพื่อพิจารณาต่อไป ตามข้อ 10 (5)
เมื่อเลขานุการ ก.อบต.จังหวัด เสนอ ก.อบต.จังหวัด แล้ว ให้ ก.อบต.จังหวัด พิจารณาลงมติลับตามข้อ 9
ทั้งนี้ ในกรณี ก.อบต.จังหวัด ได้พิจารณาลงมติแล้วว่า ผู้นั้นไม่ได้รับการยกเว้น การขอให้ ก.อบต.จังหวัด พิจารณายกเว้นอีก ผู้นั้นจะขอได้ต่อเมื่อเวลาได้ล่วงเลยผ่านไปแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ ก.อบต.จังหวัด ลงมติ
ข้อ 10 ระบุไว้ดังนี้
ข้อ 10 ในการขอยกเว้นและการพิจารณายกเว้นในกรณีขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม คณะกรรกมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.จังหวัด) อาจพิจารณายกเว้นให้เข้ารับราชการได้ ดังนี้
(1) ผู้ซึ่งขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการที่จะเข้ารับราชการเป็นพนักงานส่วนตำบล และเป็นกรณีที่คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.จังหวัด) อาจพิจารณายกเว้นได้ ให้ผู้นั้นยื่นคำขอให้คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.จังหวัด) พิจารณายกเว้นในกรณีขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม เพื่อจะเข้ารับราชการ โดยผู้มีเกียรติอันควรเชื่อถือได้ไม่น้อยกว่าสองคนเป็นผู้รับรองความประพฤติ ให้ยื่นคำขอและหนังสือรับรองตามแบบแนบท้ายประกาศนี้ พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง
(2) การขอให้คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.) พิจารณายกเว้นในกรณีขาดคุณสมบัติ หรือลักษณะต้องห้าม เพื่อสมัครหรือกลับเข้ารับราชการเป็นพนักงานส่วนตำบล จะยื่นคำขอต่อเลขานุการคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.จังหวัด) หรือนายกองค์การบริหารส่วนตำบลขององค์การบริหารส่วนตำบลที่ผู้นั้นประสงค์จะเข้ารับราชการก็ได้
(3) ในกรณีที่มีผู้ยื่นคำขอต่อเลขานุการคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.จังหวัด) ให้ส่งเรื่องให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพิจารณา หรือ กรณียื่นต่อนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพิจารณาและถ้าต้องการจะรับผู้ยื่นคำขอนั้นเข้ารับราชการ ก็ให้ดำเนินการสอบสวนเพื่อให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติส่วนตัว ประวัติการรับราชการ หรือการทำงาน การประกอบคุณงามความดี ความผิดหรือความเสื่อมเสีย และความประพฤติของผู้นั้น โดยให้สอบสวนจากผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้างาน และผู้มีเกียรติซึ่งอยู่ใกล้ชิดอันควรเชื่อถือได้ แล้วพิจารณาอีกชั้นหนึ่งว่ายังต้องการที่จะรับผู้นั้นข้ารับราชการหรือไม่ ถ้าต้องการรับก็ให้แจ้งและส่งเรื่องการสอบสวนดังกล่าวพร้อมทั้งเอกสารหลักฐานการสอบสวนนั้นให้เลขานุการคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.จังหวัด) ดำเนินการต่อไป และหากนายกองค์การบริหารส่วนตำบลไม่ต้องการรับผู้ยื่นคำขอนั้นเข้ารับราชการ ให้แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้นั้นและเลขานุการคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.จังหวัด) ทราบ
(4) ในกรณีที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไม่แจ้งผลการพิจารณาตาม (3) ให้เลขานุการคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.จังหวัด) ทราบภายในหกเดือนนับตั้งแต่วันที่เลขานุการคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.) ส่งเรื่องไปให้ ถือว่าองค์การบริหารส่วนตำบลนั้นไม่ต้องการจะรับบรรจุ ให้เลขานุการคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.จังหวัด) ยุติเรื่องและแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ยื่นคำขอทราบ
(5) เมื่อเลขานุการคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.จังหวัด) ได้รับเรื่องการสอบสวนตาม (3) เห็นว่าข้อเท็จจริงและเอกสารหลักฐานเพียงพอที่จะประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.จังหวัด) ก็ให้ดำเนินการนำเสนอคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.จังหวัด) เพื่อพิจารณา
(6) การขอยกเว้นในกรณีที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม เพื่อสมัครสอบแข่งขันหรือเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นพนักงานส่วนตำบล ให้ผู้ประสงค์จะเข้าเป็นพนักงานส่วนตำบล ยื่นคำขอต่อเลขานุการคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.จังหวัด) และให้เลขานุการคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.จังหวัด) รวบรวมข้อเท็จจริงและเอกสารหลักฐานต่างๆ ให้เพียงพอที่จะประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.จังหวัด) แล้วดำเนินการนำเสนอคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.จังหวัด) เพื่อพิจารณาลงมติลับตามข้อ 9
(7) ในกรณีที่คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.จังหวัด) ได้พิจารณาลงมติสำหรับผู้ขอยกเว้นกรณีที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามรายใด และผู้นั้นไม่ได้รับการยกเว้น การขอให้คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.จังหวัด) พิจารณายกเว้นในกรณีที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอีก ผู้นั้นจะขอได้ต่อเมื่อเวลาได้ล่วงเลยผ่านไปแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี นับแต่วันที่คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.จังหวัด) ลงมติ
สรุปคือ ผู้ที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามที่จะเข้ารับราชการในองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น สามารถยื่นขอพิจารณายกเว้นไปยัง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ ก.อบต.จังหวัด หรือเลขานุการ ก.อบต.จังหวัด ที่ประสงค์จะเข้ารับราชการ โดยจะต้องมีผู้ยืนยันความประพฤติ หรือมีการสอบสวนเกี่ยวกับประวัติ การทำงาน การทำความดีต่างๆ เพื่อเสนอไปยัง ก.อบต. ตั้งคณะกรรมการพิจารณาผลการยกเว้นนั้นอีกครั้ง
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อเท็จจริงทางกฎหมายต่อกรณีนี้ ที่สำนักข่าวอิศรา รวบรวมมานำเสนอ
ส่วนผลการพิจารณายกเว้นของข้าราชการ อบต.ขามป้อม ทั้ง 2 ราย จะออกมาเป็นอย่างไรนั้น คงต้องติดตามดูกันต่อไป
อ่านประกอบ :
แฉนายก อบต.ขามป้อม ยื่นขอยกเว้นคุณสมบัติ 2 ลูกน้องกลับทำงาน หลังถูกศาลสั่งล้มละลาย
สรุปผลคุณสมบัติ 26 มี.ค.นี้! ผู้ว่าฯ มหาสารคาม แจงปม 2ขรก.อบต.ขามป้อมถูกศาลสั่งล้มละลาย
สอบยันข้อกม.ท้องถิ่น ล้มละลายต้องออกราชการ! ไฉนกรณี ‘2ขรก.อบต.ขามป้อม’ ยังไร้คำตอบ?
กางระเบียบ ก.พ. ‘2ขรก.อบต.ขามป้อม’ ทำงานต่อได้หรือไม่? หลังศาลตัดสินเป็นบุคคลล้มละลาย
ร้อง ‘อิศรา’ สอบ 2ขรก.อบต.ขามป้อมถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์คดีล้มละลาย แต่ยังทำงานตามปกติ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/