- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- สอบยันข้อกม.ท้องถิ่น ล้มละลายต้องออกราชการ! ไฉนกรณี ‘2ขรก.อบต.ขามป้อม’ ยังไร้คำตอบ?
สอบยันข้อกม.ท้องถิ่น ล้มละลายต้องออกราชการ! ไฉนกรณี ‘2ขรก.อบต.ขามป้อม’ ยังไร้คำตอบ?
"...เมื่อข้าราชการพลเรือนถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ข้าราชการผู้นั้นต้องออกจากราชการ ตาม พ.ร.บ. ข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ไม่สามารถทำงานต่อได้ แต่ทั้งนี้ ในส่วนข้าราชการส่วนท้องถิ่นจะต้องพิจารณาตามกฎหมายหรือระเบียบเฉพาะของ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น..."
สืบเนื่องจาก สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับเรื่องร้องเรียนขอให้ช่วยตรวจสอบกรณี นางสมฤดี ประสมศรี ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม และ สิบเอกบัณฑิต ปักกุนนัน หัวหน้าสำนักปลัด ข้าราชการใน องค์การบริหารส่วนตำบลขามป้อม จ.มหาสารคาม ได้คำสั่งจากศาลล้มละลายกลางให้ตกเป็นบุคคลล้มละลาย ตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค. 2561 แต่ปัจจุบันบุคคลทั้งสองยังคงรับราชการตามปกติ ทั้งที่ การเป็นบุคคลล้มละลายเป็นลักษณะต้องห้ามที่จะรับราชการ ตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 36 ข.(6)
ขณะที่ นายจันทร์ สมศรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลขามป้อม ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา ว่า บุคคลทั้งสองยังคงรับราชการตำแหน่งเดิมอยู่ ตนยังไม่ได้รับหนังสือที่กล่าวว่าคนทั้งสองตกเป็นบุคคลล้มละลาย จึงยังไม่ทราบรายละเอียดที่แน่ชัด
ส่วน นางอุไรรัตน์ บุตรตะกะ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลขามป้อม ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า บุคคลทั้งสองยังคงทำงานอยู่ และจะขอตรวจสอบเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง
ด้าน นางสมฤดี ประสมศรี ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม องค์การบริหารส่วนตำบลขามป้อม กล่าวว่า จะขอชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวเป็นหนังสือ ขณะที่ สิบเอกบัณฑิต ปักกุนนัน ไม่สามารถติดต่อได้ (อ่านประกอบ : ร้อง ‘อิศรา’ สอบ 2ขรก.อบต.ขามป้อมถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์คดีล้มละลาย แต่ยังทำงานตามปกติ)
ทั้งนี้ ภายหลังจากนำเสนอข่าวเรื่องนี้ ผ่านไปประมาณ 2สัปดาห์ แต่ก็ยังไม่ได้การติดต่อชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้องแต่อย่างใด
ล่าสุด สำนักข่าวอิศราได้ติดต่อไปยัง สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อสอบถามเกี่ยวกับการปฏิบัติในทางกฎหมาย เบื้องต้นเจ้าหน้าสำนักกฎหมาย ก.พ. กล่าวว่า เมื่อข้าราชการพลเรือนถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ข้าราชการผู้นั้นต้องออกจากราชการ ตาม พ.ร.บ. ข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ไม่สามารถทำงานต่อได้ แต่ทั้งนี้ ในส่วนข้าราชการส่วนท้องถิ่นจะต้องพิจารณาตามกฎหมายหรือระเบียบเฉพาะของ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
ขณะที่ เจ้าหน้าที่ส่วนมาตรฐานวินัย สำนักงานบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กล่าวว่า ระเบียบของ สถ. ที่เกี่ยวกับการให้ออกจากราชการหรือคุณสมบัติไม่ต่างจากระเบียบของ ก.พ. มากนัก เมื่อข้าราชการส่วนท้องถิ่นตกเป็นบุคคลล้มละลายตามคำพิพากษาของศาลนั้น ถือว่าขาดคุณสมบัติทั่วไปหรือลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย ต้องให้ออกจากราชการ โดยพิจารณากฎระเบียบที่ว่าด้วยการให้ออกจากราชการ ทางปฏิบัติคือ ในกรณีที่เป็นข้าราชในองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ให้นายก อบต. เสนอความเห็นให้ออกจากราชการเนื่องจากเป็นบุคคลล้มละลายไปที่ คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.) ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีมติในที่ประชุมพิจารณาแล้วส่งกลับไปที่ อบต. ออกคำสั่งให้ข้าราชรายดังกล่าวออกจากราชการ
“โดยปกติแล้วเมื่อข้าราชการส่วนท้องถิ่นรายใดที่ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว จะต้องแจ้งผู้บังคับบัญชาให้ทราบด้วยในทันทีเมื่อตนได้ทราบ หากไม่แจ้งอาจมีความผิดได้ แต่ไม่แน่ใจในข้อกฎหมายส่วนนี้ต้องขอตรวจสอบอีกครั้ง และโดยปกติศาลน่าจะมีคำพิพากษาดังกล่าวส่งไปที่หน่วยงานที่ข้าราชการรายนั้นทำงานอยู่ หรือส่งไปที่สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จังหวัดนั้นๆ แนะนำให้ติดต่อไปที่ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด เพื่อดูว่า มีคำพิพากษาของศาลดังกล่าวส่งไปหรือไม่ และได้มีการส่งเรื่องต่อไปที่หน่วยงานส่วนท้องถิ่นที่ข้าราชการรายนั้นทำงานอยู่หรือไม่” เจ้าหน้าที่ส่วนมาตรฐานวินัย กล่าว
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า จากการตรวจสอบ ประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับการให้ออกจากราชการ พ.ศ. 2558 ซึ่งอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17 (7) ประกอบมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และมติคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล ในการประชุมครั้งที่ 11/2558 เมื่อวันที่ 26 พ.ศ. 2558 พบว่า ในหมวด 2 การออกจากราชการ ระบุไว้ว่า
ข้อ 5 พนักงานส่วนตำบลออกจากราชการเมื่อ
(1) ตาย
(2) พ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น
(3) ลาออกจากราชการและได้รับอนุญาตให้ลาออก หรือลาออกมีผลตามข้อ 24
(4) ถูกสั่งให้ออกจากราชการตามข้อ 29 ของมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับวินัยและการรักษาวินัย และการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2558 หรือข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 8 ข้อ 10 ข้อ 34 ของมาตรฐานทั่วไปนี้ หรือเนื่องจากไม่ผ่านการทดลองปฏิบัติราชการหรือขาดคุณสมบัติทั่วไป หรือคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งโดยไม่ได้รับการยกเว้นตามมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเบื้องต้นสำหรับพนักงานส่วนตำบล
(5) ถูกสั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออกจากราชการ
การออกจากราชการตามวรรคหนึ่งให้ทำเป็นคำสั่ง เว้นแต่กรณีตาม (1) และ (2)
การออกคำสั่งเกี่ยวกับการออกจากราชการตามวรรคสอง ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลก่อน เว้นแต่คำสั่งให้ออกจากราชการตามข้อ 10 วรรคหนึ่ง
ให้คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล ส่งเรื่องการออกจากราชการตาม (4) และ (5) ให้คณะอนุกรรมการพิจารณาการดำเนินการทางวินัยและการให้ออกจากราชตามข้อ 85 วรรคสาม ของมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับวินัยและการรักษาวินัย และการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2558 พิจารณาทำความเห็นเสนอ และให้นำหมวด 8 และหมวด 9 ของมาตรฐานทั่วไปดังกล่าว มาบังคับใช้โดยอนุโลม
วันออกจากราชการตาม (4) และ (5) ให้เป็นไปตามหมวด 5
ข้อสังเกต ในกรณีการเป็นบุคคลล้มละลายนั้น พิจารณาตามความใน ข้อ 5 (4) ซึ่งระบุถึงการถูกสั่งให้ออกตาม ข้อ 29 ของมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับวินัยและการรักษาวินัย และการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2558 หรือ ข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 8 ข้อ 10 ข้อ 34 ของมาตรฐานทั่วไปนี้ หรือเนื่องจากไม่ผ่านการทดลองปฏิบัติราชการหรือขาดคุณสมบัติทั่วไป หรือคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งโดยไม่ได้รับการยกเว้นตามมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเบื้องต้นสำหรับพนักงานส่วนตำบล โดยข้อที่เกี่ยวกับการถูกสั่งให้ออกเมื่อตกเป็นบุคคลล้มละลายพิจารณาตาม ข้อ 6 (3) ระบุว่า
ข้อ 6 นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจสั่งให้พนักงานงานส่วนตำบลออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นได้ในกรณีที่กฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้ผู้ถูกสั่งให้ออกมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญ และการสั่งให้ออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทน นอกจากให้ทำได้กรณีที่กำหนดไว้ในมาตรฐานทั่วไปนี้ และกรณีที่กฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชส่วนท้องถิ่นบัญญัติให้ผู้ถูกสั่งให้ออกมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทนแล้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจะเสนอคณะกรรมการนพนักงานส่วนตำบลเพื่อส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการพิจารณาการดำเนินการทางวินัยและการให้ออกจากราชการตามข้อ 85 ของมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับวินัยและการรักษาวินัย และการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2558 ทำความเห็นเสนอคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลพิจารณาให้ความเห็นชอบให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลออกคำสั่งให้พนักงานส่วนตำบลออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทนได้ในกรณีต่อไปนี้ด้วย คือ
…
(3) เมื่อพนักงานส่วนตำบลผู้ใดไม่มีสัญชาติไทย ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ไร้ความสามารถหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคที่กำหนดในมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเบื้องต้นสำหรับพนักงานส่วนตำบล เป็นกรรมการพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง เป็นบุคคลล้มละลาย
…
ข้อสังเกต ข้อ 6 (3) ระบุไว้ชัดเจนว่า เมื่อพนักงานส่วนตำบลผู้ใดเป็นบุคคลล้มละลาย นายก อบต. มีอำนาจสั่งให้พนักงานงานส่วนตำบลออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทน โดย นายก อบต. ทำความเห็นเสนอ คณะกรรมการนพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.) พิจารณาให้ความเห็นชอบให้ นายก อบต. ออกคำสั่งให้พนักงานส่วนตำบลออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทนได้ เมื่อพนักงานส่วนตำบลรายนั้นเป็นบุคคลล้มละลาย ตาม ข้อ 5 (4) และ ข้อ 6 (3) ของ ประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับการให้ออกจากราชการ พ.ศ. 2558 ซึ่งอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17 (7) ประกอบมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และมติคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล ในการประชุมครั้งที่ 11/2558 เมื่อวันที่ 26 พ.ศ. 2558
ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยังสำนักงานจังหวัดมหาสารคาม เพื่อขอสัมภาษณ์ นายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ในฐานะ ประธานคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล เบื้องต้นเจ้าหน้าที่แจ้งว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ไม่อยู่ ให้ติดต่ออีกครั้งในวันถัดไป
ต่อมา สำนักข่าวอิศราติดต่อไปยัง สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จังหวัดมหาสารคาม เพื่อสัมภาษณ์ นายรังสรรค์ วรรณเสน รักษาการแทนท้องถิ่นจังหวัดมหาสารคาม เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สำนักงานฯ แจ้งว่า นายรังสรรค์ ไม่อยู่ที่สำนักงานให้ติดต่อมาอีกครั้ง
ขณะที่ สำนักข่าวอิศราติดต่อไปยัง นายจันทร์ สมศรี นายกเทศมนตรี องค์การบริหารส่วนตำบลขามป้อม จ.มหาสารคาม เบื้องต้นนายจันทร์กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างงานศพ ยังไม่สะดวกให้สัมภาษณ์ ให้ติดต่อมาอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี จนถึงปัจจุบัน สำนักข่าวอิศรา ยังไม่ได้รับการติดต่อและความคืบหน้าหน้าจากผู้ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใด
ดังนั้น ข้อเท็จจริงสำหรับกรณีที่ว่า นางสมฤดี ประสมศรี ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม และ สิบเอกบัณฑิต ปักกุนนัน หัวหน้าสำนักปลัด ข้าราชการใน องค์การบริหารส่วนตำบลขามป้อม จ.มหาสารคาม ถูกศาลล้มละลายกลางสั่งให้ตกเป็นบุคคลล้มละลาย ตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค. 2561 แต่ปัจจุบันบุคคลทั้งสองยังคงรับราชการตามปกติ เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับตามกฎหมายหรือไม่
จึงยังไม่ได้รับความกระจ่างชัดในขั้นตอนปฏิบัติ ณ ขณะนี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
กางระเบียบ ก.พ. ‘2ขรก.อบต.ขามป้อม’ ทำงานต่อได้หรือไม่? หลังศาลตัดสินเป็นบุคคลล้มละลาย
ร้อง ‘อิศรา’ สอบ 2ขรก.อบต.ขามป้อมถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์คดีล้มละลาย แต่ยังทำงานตามปกติ