99 องค์กรจี้ จนท.รัฐนำตัวคนฆ่า 'บิลลี่' มาลงโทษ
เครือข่ายกะเหรี่ยง – ชาวเล กป.อพช. พร้อมภาคีรวม 99 องค์กรร่วมแถลงการณ์ ขอบคุณดีเอสไอช่วยไขคดีบิลลี่ ขอให้เร่งจับคนทำผิดมาดำเนินคดี -เยียวยาครอบครัว จี้รัฐบาลนำมติ ครม. 3 ส.ค. 53 ฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยงมาใช้รูปธรรม สอดคล้องชนเผ่าพื้นเมือง เล็งหารือก.ทรัพยากรฯ ชะลอบังคับใช้กม.อุทยานฯ ฉบับใหม่
วันที่ 4 ก.ย. 2562 ที่โรงแรมไมด้า ดอนเมือง กรุงเทพฯ เครือข่ายกะเหรี่ยงและชาวเล คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) พร้อมด้วยองค์กรภาคีอีก 99 องค์กร ร่วมแถลงแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของบิลลี่ และประณามการกระทำการป่าเถื่อนของฆาตรกร พร้อมขอบคุณเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และคณะทำงานที่ช่วยไขคดีนี้ให้มีความกระจ่างมาขึ้นหลังรอมานานกว่า 5 ปี และให้มีการนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างโปร่งใสต่อไป
นายประยงค์ ดอกลำใย ผู้แทนคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน กล่าวว่า บ่ายวันนี้จะมีตัวแทนของชาวบ้านและเครือข่ายฯ ไปยื่นหนังสือที่สำนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานและขอให้เร่งรัดนำตัวผู้กระทำผิดตามกระบวนการยุติธรรม
“ครั้งนี้เป็นโอกาสที่สำคัญมากที่เรารอคอยมากว่าห้าปี เต็ม ๆ จนหลายคนสิ้นหวังไปแล้วกับการดำเนินคดี หลังจากนี้ภาคประชาสังคม จะขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีการกำกับให้การดำเนินคดีนี้เป็นไปอย่างโปร่งใส นอกจากนี้จะมีการณรงค์ให้รัฐไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการถูกบังคับให้สูญหาย ที่ได้ลงนามไว้แล้วเมื่อปี พ.ศ. 2555”
นายประยงค์ยังกล่าวแสดงความกังวลถึงสถานการณ์ในพื้นที่ป่าแก่งกระจานที่ยังคงมีความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่อุทยานกับชาวบ้านอยู่ ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการบังคับใช้นโยบายที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวบ้าน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่ทำกิน
“มีการพยายามบังคับใช้มติคณะรัฐมนตรี ฉบับวันที่ 30 มิ.ย. 2541 ซึ่งไม่ได้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพี่น้องชาวกะเหรี่ยงที่ทำกินแบบดั้งเดิมมาหลายชั่วอายุคน ทั้งที่มีมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟู่วิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ซึ่งประกาศใช้มาแล้ว 9 ปี แต่กรมอุทยานไม่เคยนำมาเป็นแนวปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม”
ส่วนความเคลื่อนไหวต่อจากนี้ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนพร้อมด้วยองค์กรภาคี จะเข้าหาหรือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีชะลอการบังคับใช้กฎหมายอุทยานฯ ฉบับใหม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับชุมชนที่อยู่อาศัยในเขตป่าจำนวนมาก
ด้านนายเกรียงไกร ชีช่วง ผู้ประสานเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรี กล่าวเรียกร้องว่า ฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต้องติดตามดำเนินคดี้นี้ให้ถึงที่สุด และขอให้รัฐบาลพิจารณานำมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟู่วิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มอื่น ๆ ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับเเถลงการณ์กรณีการเสียชีวิตของบิลลี่ “นายพอละจี รักจงเจริญ” ฉบับที่ 1 มีรายละเอียด ดังนี้
ตามที่คณะกรรมการคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้ร่วมกันแถลงข่าว เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2562 ยืนยันว่าสารพันธุกรรมชิ้นส่วนกระดูกที่พบใต้น้ำบริเวณสะพานแขวน เขื่อนแก่งกระจาน ตรงกับนางโพเราะจี รักจงเจริญ มารดาของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงที่ถูกอุ้มหายไปตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. 2557 นับเป็นเวลากว่า 5 ปี 5 เดือน จากการพิจารณาสถานที่เกิดเหตุ พยานหลักฐานแวดล้อมอื่นประกอบ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษเชื่อว่า ชิ้นส่วนกระดูกดังกล่าวเป็นของ “นายพอละจี รักจงเจริญ” หรือ “บิลลี่” ที่ถูกนำมาเผาทำลายเพื่ออำพรางคดี กรมสอบสวนคดีพิเศษระบุว่า แม้ว่าจะยังไม่ทราบวิธีการที่ทำให้นายพอละจี รักจงเจริญเสียชีวิต แต่พฤติการณ์ของผู้กระทำการดังกล่าวเข้าข่ายลักษณะเป็นการฆาตกรรมโดยทรมาน และการบังคับบุคคลให้สูญหายที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ
เครือข่ายกะเหรี่ยงและชาวเลในประเทศไทย ซึ่งร่วมประชุมเพื่อผลักดันมติคณะรัฐมนตรี 2 มิ.ย. 2553 และ 3 ส.ค. 2553 ให้มีผลเชิงปฏิบัติในการปกป้องและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ณ สถานที่แห่งนี้ จึงร่วมแถลงท่าทีและมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
1. เราขอขอบคุณและเป็นกำลังใจกับเจ้าหน้าที่ คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ที่ทุ่มเททำงานด้วยความมานะอุตสาหะจนสามารถพิสูจน์ยืนยันวัตถุพยานหลักฐานสำคัญประกอบการสอบสวนคดีอุ้มหาย และสามารถระบุได้ว่า “นายพอละจี รักจงเจริญ” หรือ “บิลลี่” เสียชีวิตแล้ว อันจะไปสู่การดำเนินคดี และการคืนความเป็นธรรมให้แก่ครอบครัว ชุมชน รวมถึงเครือข่ายกะเหรี่ยงที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งนี้
2. จากความคืบหน้าของการพิสูจน์พยานหลักฐานดังกล่าว เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โปรดเร่งรัดดำเนินการสืบสวน สอบสวนและจับกุมผู้กระทำผิดรวมถึงผู้ที่มีส่วนทั้งหมดมาดำเนินคดีโดยเร่งด่วน รวมถึงให้มีการดำเนินคดีผู้กระทำผิดและผู้เกี่ยวข้องในกรณีการวางเพลิงเผาทรัพย์ชุมชนบ้านใจแผ่นดิน-บางกลอยบน จำนวนมากกว่า 100 หลังคาเรือน รวมทั้งบ้านปู่คออี้ ซึ่งไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการใด ๆ เลย
3.เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 2 มิ.ย. 2553 และ 3 ส.ค. 2553 ในการคุ้มครองวิถีชีวิตชาวเลและกะเหรี่ยง อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดกรณีสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมบ้านใจแผ่นดิน-บางกลอยบน ซึ่งนายพอละจี รักจงเจริญเป็นผู้ประสานงานการฟ้องร้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจนได้รับชัยชนะในคดีศาลปกครองสูงสุด
4. เราขอเรียกร้องให้ประเทศไทยบัญญัติกฎหมายคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และกฎหมายว่าด้วยการกระทำทรมานและการบังคับให้หายสาบสูญ ตามหลักสากลของสหประชาชาติว่าด้วย อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับซึ่งรัฐบาลไทยได้ลงนามแล้ว เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 แต่ยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีจึงไม่มีสภาพบังคับอย่างใด
เครือข่ายกะเหรี่ยงและชาวเลในประเทศไทย จะได้ติดตามความคืบหน้ากรณี นายพอละจี รักจงเจริญ หรือ“บิลลี่” ถูกอุ้มหายจนพบหลักฐานสำคัญว่าเขาได้เสียชีวิตไปแล้วอย่างโหดเหี้ยม ให้ได้รับเป็นความธรรมโดยเร่งด่วน ทั้งการนำคนผิดมาลงโทษ การคืนความเป็นธรรม เยียวยาครอบครัวและออกกฎหมายคุ้มครองนักปกป้องสิทธิให้เกิดขึ้นโดยเร็วต่อไป .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/