เจาะนโยบาย พปชร.ในเกณฑ์ชี้วัดเสี่ยงทุจริต ไม่ระบุแหล่งที่มางบ-ประยุกต์ไอเดียจาก ตปท.
เปิดข้อมูล 3 นโยบาย พปชร. ในหลักเกณฑ์ชี้วัดการทุจริต พบยังไม่ระบุแหล่งที่มางบประมาณว่านำมาจากไหน บอกกว้าง ๆ ‘มีแหล่งที่มาชัดเจน’ อ้างอิงประยุกต์ไอเดียมาจากต่างประเทศ สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 5 ด้าน ไม่ระบุมีผลกระทบการเงินการคลังของประเทศ แค่มี ‘คณะทำงานด้านนโยบาย’ เป็นคนคิด
จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่รายละเอียดของพรรคการเมือง ที่จัดทำหลักเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย และคู่มือการใช้เกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ให้สาธารณชนรับทราบ เป็นไปตามการดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เบื้องต้นข้อมูลเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2562 พบว่า มีพรรคการเมืองมายื่นหลักเกณฑ์ดังกล่าวรวม 24 พรรค ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อชาติ เป็นต้น ส่วนพรรคเล็ก ได้แก่ พรรคพลังไทยรักไทย พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคประชาชนปฏิรูป (ปัจจุบัน กกต.ได้ยุบเลิกแล้ว) และ กกต. ยังไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลจาก พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ นั้น (อ่านประกอบ : พปชร.แจงแล้ว! ที่มา 3 นโยบายตามเกณฑ์ชี้วัดทุจริต-กกต.ยังไม่แพร่ของ พท.-อนค.-ปชป.)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ประเด็นสำคัญที่พรรคการเมืองต้องชี้แจงตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว คือ นโยบายต้องเชื่อมโยงกับ 6 ด้านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต้องระบุถึงการศึกษาความจำเป็นในการทำโครงการดังกล่าว มีการแก้ไขปัญหาจุดอ่อนของประเทศในเรื่องใด ใช้งบประมาณจากแหล่งใด เป็นนโยบายที่นำแนวคิดของต่างประเทศมาพัฒนาหรือไม่ ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวมาก่อนหรือไม่ รวมถึงกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในนโยบายดังกล่าว เป็นต้น
ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐชี้แจงนโยบายตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวมี 3 นโยบาย ได้แก่ มารดาประชารัฐ เกษตรประชารัฐ 4.0 และบัตรสวัสดิการประชารัฐ สรุปรายละเอียดได้ดังนี้
@มารดาประชารัฐ ระบุว่า เชื่อมโยงสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 5 ด้าน (ความมั่นคง, สร้างความสามารถในการแข่งขัน, การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน, สร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม, สร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) จากทั้งหมด 6 ด้าน
สำหรับการศึกษานโยบายดังกล่าว พรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า ได้ศึกษาความจำเป็นในการกำหนดนโยบายดังกล่าวแล้ว ส่วนการพิจารณาว่าแก้ไขปัญหาของประเทศเรื่องใดนั้น วัตถุประสงค์หลักคือการมุ่งสร้างคุณภาพของคนไทย ลดความเหลื่อมล้ำของผู้ด้อยโอกาสในสังคม ให้เข้าถึงคุณภาพของกระบวนการดูแลและสร้างคุณภาพของเด็กไทยตั้งแต่เริ่มมีชีวิตจนถึง 6 ขวบเพิ่มขึ้น มีความเป็นอยู่ดีขึ้นทั้งแม่และเด็ก
แหล่งที่มาของนโยบายนั้น พรรคพลังประชารัฐไม่ได้ระบุว่านำมาจากแหล่งใด บอกเพียงว่า ในการศึกษาได้มีการกำหนดแหล่งงบประมาณอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันนโยบายนี้ได้ประยุกต์ใช้จากนโยบายรัฐสวัสดิการของต่างประเทศ ที่รัฐให้การดูแลทุกชีวิตในทุกช่วงชีวิต
ส่วนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในนโยบายนี้ พรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า ผู้รับประโยชน์จากนโยบายคือ กลุ่มสตรีที่ตั้งครรภ์ทุกคนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ส่วนกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียคือ ผู้ที่เสียภาษีในภาพรวม การจัดสรรเงินภาษีที่เป็นงบประมาณของนโยบายจะสร้างผลลัพธ์ที่มีคุณภาพของคนไทยในอนาคต ดังนั้นนโยบายนี้จึงไม่มีผู้เสียประโยชน์จากนโยบายโดยตรง
ส่วนการวิเคราะห์ผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และฐานการเงินการคลังของประเทศ รวมถึงความเสี่ยงของนโยบายนั้น พรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า คณะทำงานนโยบายของพรรคได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาวในทุกด้านอย่างรอบคอบ รวมทั้งความสามารถทางการคลัง ซึ่งเห็นถึงความคุ้มค่าในการดำเนินนโยบาย รวมทั้งมีความเป็นไปได้ในการดำเนินการอย่างชัดเจน
@บัตรสวัสดิการประชารัฐ เชื่อมโยงสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 5 ด้าน (ความมั่นคง, สร้างความสามารถในการแข่งขัน, การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน, สร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม, สร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) จากทั้งหมด 6 ด้าน
พรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า วัตถุประสงค์หลักคือการลดความเหลื่อล้ำของผู้ด้อยโอกาสในสังคมให้มีโอกาสเพิ่มขึ้น มีความเป็นอยู่ดีขึ้นด้วยความสามารถในการประกอบอาชีพที่ดีขึ้นในอนาคตอันใกล้
แหล่งที่มางบประมาณนั้น พรรคพลังประชารัฐไม่ได้ระบุว่านำมาจากแหล่งใด แต่ในการศึกษามีการกำหนดแหล่งงบประมาณอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดีรัฐบาลปัจจุบันดำเนินการขึ้นทะเบียนผู้ด้อยโอกาส และดำเนินการมอบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ประชาชนไปแล้ว 14 ล้านราย มีผลในการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ด้อยโอกาสอย่างเป็นรูปธรรม และได้ข้อมูลเพื่อดำเนินการระยะที่ 2 ในการฝึกอบรมวิชาชีพเพื่อให้ผู้ด้อยโอกาสเกิดความสามารถในการประกอบวิชาชีพ
ส่วนผู้มีส่วนได้เสียนั้น พรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า กลุ่มเป้าหมายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากข้อมูลสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ทำให้ทราบถึงกลุ่มเป้าหมายผู้ด้อยโอกาสชัดเจน ทำให้กลุ่มเป้าหมายได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้ และเพิ่มข้อมูลจากฐานข้อมูลอื่นเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น
@เกษตรประชารัฐ 4.0 เชื่อมโยงสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 5 ด้าน (ความมั่นคง, สร้างความสามารถในการแข่งขัน, การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน, สร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม, สร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) จากทั้งหมด 6 ด้าน
เนื้อหาของนโยบายมุ่งหลักการลดความเหลื่อมล้ำและกระจายโอกาสให้แก่เกษตรกรที่ประสบปัญหาความยากจน โดยเข้าถึงแหล่งทุนและตลาดการพัฒนาการผลิต เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันที่ทันสมัย มีการศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำในหลายปัจจัย เช่น รายได้ สินทรัพย์ โอกาส เป็นต้น
แหล่งที่มาของงบประมาณนั้น พรรคพลังประชารัฐระบุว่า สามารถใช้งบประมาณประจำปีของรัฐบาล และไม่ขัดต่อวินัยการเงินการคลัง ขณะเดียวกันได้ศึกษาความสำเร็จของนโยบายพัฒนาเกษตรกรรมจากหลายประเทศ ทั้งญี่ปุ่นและจีน ที่เน้นเรื่องการเพิ่มมูลค่าและกระจายรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย ซึ่งประสบความสำเร็จมาแล้ว
ในด้านผลกระทบเกี่ยวกับฐานะการเงินการคลังนั้น พรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า มีคณะทำงานที่รับผิดชอบในการคิดวิเคราะห์นโยบาย ในนามคณะกรรมการยุทธศาสตร์นโยบายพรรค พร้อมกับศึกษาผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาวทุกด้านอย่างเหมาะสม รวมถึงความคุ้มค่าและความเสี่ยงของนโยบายอย่างครบถ้วน
อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ส่งเกณฑ์ชี้วัดการทุจริตให้ กกต. สอบนโยบายแต่ละพรรคเสี่ยงโกงหรือไม่
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/