พปชร.แจงแล้ว! ที่มา 3 นโยบายตามเกณฑ์ชี้วัดทุจริต-กกต.ยังไม่แพร่ของ พท.-อนค.-ปชป.
พบ กกต. ยังไม่เผยแพร่ข้อมูลเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงทุจริตเชิงนโยบาย ‘เพื่อไทย-อนาคตใหม่-ประชาธิปัตย์’ ส่วน พปชร. แจง 3 ที่มานโยบาย มารดาประชารัฐ-เกษตร 4.0-บัตรสวัสดิการประชารัฐ ภูมิใจไทย-ชาติไทย-ชาติพัฒนา-พลังท้องถิ่นไท-เพื่อชาติ-ประชาชาติ-เสรีรวมไทย พรรคเล็ก 5 พรรคยื่นแล้วเช่นกัน
จากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดทำหลักเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย และคู่มือการใช้เกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย โดยให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ดำเนินการจัดทำแผนตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ก่อนจะส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้เผยแพร่ หลังจากนั้นส่งกลับคืนมาที่สำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการพิจารณาต่อไปนั้น (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ส่งเกณฑ์ชี้วัดการทุจริตให้ กกต. สอบนโยบายแต่ละพรรคเสี่ยงโกงหรือไม่)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า นับตั้งแต่สำนักงาน ป.ป.ช. จัดทำหลักเกณฑ์ดังกล่าว จนถึงวันที่ 3 ก.ย. 2562 สำนักงาน กกต. เผยแพร่ข้อมูลพรรคการเมืองที่จัดทำหลักเกณฑ์ดังกล่าวรวม 24 พรรค (เผยแพร่เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2562) โดยพรรคชื่อดัง ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อชาติ เป็นต้น ส่วนพรรคเล็ก ได้แก่ พรรคพลังไทยรักไทย พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคประชาชนปฏิรูป (ปัจจุบัน กกต.ได้ยุบเลิกแล้ว)
อย่างไรก็ดีเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2562 กกต. ยังไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลจาก พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ ในการแจ้งข้อมูลหลักเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบายดังกล่าว ให้แก่ กกต. เผยแพร่ข้อมูลให้แก่สาธารณชนรับทราบ และส่งต่อให้สำนักงาน ป.ป.ช. พิจารณาแต่อย่างใด
ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐนั้น กรอกรายละเอียดชี้แจงนโยบายหลัก 3 นโยบาย ได้แก่ มารดาประชารัฐ, เกษตรประชารัฐ 4.0 และบัตรสวัสดิการประชารัฐ ส่วนพรรคภูมิใจไทย กรอกรายละเอียดชี้แจงนโยบายหลัก 5 นโยบาย ได้แก่ กัญชาไทย ปลูกได้เสรี, ทวงคืนกำไรให้ชาวนา ตั้งกองทุนข้าว, ทวงคืนกำไรให้ชาวสวนปาล์ม ปาล์มกิโลละ 5 บาท, แก้หนี้ กยศ. และยกระดับ อสม. เป็นหมอประจำบ้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลสำคัญที่พรรคการเมืองต้องกรอกรายละเอียดในหลักเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ เกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ในขั้นตอนการพัฒนานโยบาย กำหนดเป็นเกณฑ์ชี้วัดสำหรับการประเมิน 5 เกณฑ์ คือ 1.การแสดงความเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทตามยุทธศาสตร์ชาติ 2.การกำหนดวัตถุประสงค์ของนโยบาย 3.การประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย 4.มีกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบความคุ้มค่า ความเป็นไปได้ และความเสี่ยงของนโยบายด้วยการมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ และ 5.การเสริมสร้างความโปร่งใสในการพัฒนานโยบายของพรรคการเมือง
ส่วนเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบายในขั้นตอนการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติกำหนดเป็นเกณฑ์ชี้วัดสำหรับการประเมินได้ 4 เกณฑ์ คือ 1.มีการเตรียมการประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตในขั้นตอนการดำเนินการตามนโยบาย 2.มีการเตรียมการบริหารจัดการความเสี่ยงต่อการทุจริต และการติดตามการดำเนินการตามนโยบาย 3.มีการเตรียมการประเมินผลการบริหารัดการความเสี่ยงต่อการทุจริต 4.มีการเตรียมการสร้างความโปร่งใสในขั้นการนำนโยบายสู่การปฏิบัติด้วยการสื่อสารการบริหารจัดการความเสี่ยงต่อการทุจริต และการสร้างการเฝ้าระวัง
ทั้งนี้ ไม่มีกฎหมายระบุว่า พรรคการเมืองจำเป็นต้องกรอกข้อมูลตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ดังนั้นพรรคที่ไม่ได้กรอกข้อมูล ไม่มีโทษทางกฎหมายแต่อย่างใด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/