บัณฑิต นิจถาวร:ผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐ-จีนกับ ' 3 ความไม่แน่นอน'
"...ประเทศตลาดเกิดใหม่ ห่วงที่สุด คือ สถานการณ์จะยืดเยื้อและบานปลายไปสู่การชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก รวมถึงแรงกดดันทำให้ค่าเงินทั่วโลกมีแรงกดดันขาลงและทำให้ความเสี่ยงในการถดถอยเศรษฐกิจมีมากขึ้น..."
วันที่ 2 ก.ย. 2562 พรรคเพื่อไทย ร่วมกับสถาบันสร้างไทย จัดสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง ผลกระทบของสงครามทางการค้า จีน-สหรัฐฯ :สถานะทางยุทธศาสตร์และการรับมือของไทย ณ อาคารโอเอไอ ทาวเวอร์ พรรคเพื่อไทย
ดร.บัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล และอดีตรองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เวลานี้บริบทในการเข้าใจปัญหา ไม่เกี่ยวกับความไม่เข้าใจกันในเรื่องการค้า แต่เป็นเรื่องการแข่งขันระหว่างสองประเทศ คือ สหรัฐฯ กับจีน โดยจะเห็นว่า ไต่ลำดับกันมา ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ที่มีระดับเท่า ๆ กัน หรือตัวเลขจำนวนบริษัทจีนใหญ่ที่สุดของโลกเทียบกับสหรัฐฯ จะเท่ากัน
ที่สำคัญ สิ่งที่สร้างความแตกต่างเทียบกับในอดีต คือ แนวความคิดของผู้นำจีนในขณะนี้ค่อนข้างแตกต่างจากในอดีต เพราะเดิมไม่ค่อยอยากพูดถึงความสามารถของตนเองในที่สาธารณะ แต่สิบปีที่ผ่านมานี้ จีนมีบทบาทอย่างชัดเจนต้องการแสดงให้เห็นถึงความเติบโตที่ยิ่งใหญ่ของจีนและต้องการแผ่ความเข้าใจนั้นไปทางสากล เห็นได้จากโครงการเส้นทางสายเศรษฐกิจ หรือวันเบลต์วันโรด
“จีนพยายามสร้างการเชื่อมต่อของโลกทางด้านการลงทุน มีการตั้งระบบการเงินคู่ขนาน ตั้งธนาคารเอไอไอบีเทียบเคียงกับองค์กรเดิม ๆ อย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก ที่สำคัญ เราเห็นการออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงสาธารณะของผู้นำจีนเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจโลกต่าง ๆ ดังนั้น จึงชัดเจนแล้วว่า ขณะนี้จีนเปลี่ยนแปลงไป ไม่เหมือนเดิม”
อดีตรองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า ที่สำคัญ เอกสารฉบับเมดอินไชน่า 2025 ซึ่งเป็นเอกสารของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ระบุไว้ชัดเจนว่า ภายใน 6 ปีข้างหน้า จีนต้องการเป็นผู้นำทางด้านอำนาจ การผลิต และเศรษฐกิจ จึงเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า “ขณะนี้จีนมีความต้องการจะก้าวไปสู่การเป็นผู้นำด้านการผลิตในเทคโนโลยีที่สูงขึ้น” สิ่งเหล่านี้กำลังจะสร้างความเป็นห่วงว่า จีนกำลังก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งกับมหาอำนาจตะวันตก จึงกลายเป็นแรงกระทบที่ทำให้ประเด็นต่าง ๆ ที่สหรัฐฯ เคยปล่อยให้จีนทำอะไรได้มากขึ้น ขณะนี้ต้องระมัดระวังมากขึ้น
กระทั่งนำมาสู่การสร้างแรงกระทบและข้อขัดแย้งตามมาในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น สงครามการค้า เทคโนโลยี 5จี เน็ตเวิร์ค ระหว่าง หัวเว่ย กับ แอปเปิล มาในการลงทุนด้านเทคโนโลยี จนในที่สุดการแข่งขันขยายรูปแบบไปหลายเรื่อง ทำให้หลายคนเริ่มเปรียบเทียบจีนกับสหรัฐฯ ว่า เริ่มทำสงครามเย็นรอบใหม่ เหมือนกับในอดีตที่สหรัฐขัดแย้งกับรัสเซีย
ดร.บัณฑิต ตั้งคำถามต่อถึงเหตุผลที่สงครามการค้าครั้งนี้เกิดขึ้น ทั้งที่จีนกับสหรัฐฯ ได้ประโยชน์จากการค้าเสรีทั้งคู่ คิดว่า มีประเด็น ดังนี้
-การเปิดเสรีในสหรัฐฯ ทำให้บริษัทอเมริกันไปลงทุนในต่างประเทศ สร้างกำไรมากมายให้บริษัท ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมในอเมริกันต้องปรับตัว ปิดไป ทำให้การจ้างงานลดลง คนระดับล่างของอเมริกันสูญเสียจากระบบโลกาภิวัฒน์ ที่บริษัทใหญ่ของอเมริกาออกไปต่างประเทศแล้วทำกำไรกลับมา
-ข้อขัดแย้งจีนกับสหรัฐฯ มีหลายมิติมาก มิติสำคัญ เช่น สินทรัพย์ทางปัญญาเป็นสิ่งที่องค์กรการค้าโลก ไม่สามารถเป็นกลไกแก้ไขปัญหานี้ได้ จึงทำให้ประเด็นสำคัญที่สหรัฐฯ อยากเจรจาใหญ่ ยุติข้อขัดแย้งนั้น ไม่สามารถเดินหน้าได้ เพราะกลไกขององค์กรการค้าโลก ซึ่งถูกตั้งขึ้นมาเพื่อยุติข้อขัดแย้งตาง ๆ ทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้สหรัฐฯ มองว่า ประเด็นเหล่านี้ หากจะดูกันทั้งหมด อาจจะได้ผลสำเร็มากกว่า หากเราจะดูในแง่การต่อรองระหว่างประเทศกับประเทศเป็นสำคัญ นำมาซึ่งการย้ายวิธีเจรจาจากองค์กรการค้าโลกมาเป็นการเจรจาต่อรองระหว่างประเทศ
ถามว่า เมื่อมีสงครามการค้าเกิดขึ้น ขณะนี้เป็นอย่างไรนั้น อดีตรองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุผ่านมาประมาณ 1 ปีแล้ว ข้อมูลต่าง ๆ เริ่มชัดเจนขึ้น ประการแรกเชื่อว่า สงครามการค้าครั้งนี้จะยืดเยื้อต่อไปเรื่อย ๆ
ส่วนภาษีที่เพิ่มขึ้น หวังว่าจะทำให้ประเทศผู้ส่งออกลดราคาสินค้าลง เพื่อขายสินค้าได้ ตอนนี้ตัวเลข 1 ปีที่ผ่านมา ชัดเจนว่า ภาระภาษีตกอยู่กับผู้บริโภค ทำให้ผลที่เกิดขึ้นสร้างแรงกระทบต่อผู้บริโภคในสหรัฐฯ ด้วย
ที่สำคัญ พบว่า สร้างผลกระทบที่มีต่อการค้าโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ผลต่อการส่งออกสินค้า ผลต่อห่วงโซ่การผลิตที่มีอยู่ในโลก รวมถึงการย้ายฐานการผลิตจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง จะเห็นว่า สิ่งเหล่านี้กำลังสร้างลักษณะให้แก่ระบบการค้าของโลก
“ผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งหมดยังไม่มากเท่ากับความไม่แน่นอนที่มีในเศรษฐกิจโลกขณะนี้ว่าสงครามการค้าจะจบอย่างไร” ดร.บัณฑิต แสดงความเห็น
แล้วกล่าวต่อว่า ความไม่แน่นอนที่ว่านั้น มี 3 ไม่ คือ ไม่แน่ว่าจะจบเมื่อไหร่ ไม่แน่ใจว่าจะจบอย่างไร และไม่แน่ใจว่าจะมีใครรู้หรือไม่ว่าจะจบหรือไม่จบ
ความไม่แน่นอนนั้นจึงทำให้สร้างแรงกระทบต่อความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ตลาดเงินทุน และภาคผู้บริโภค จะเห็นว่าเศรษฐกิจประเทศหลัก ไม่ว่าจะเป็นจีน ยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อังกฤษ และประเทศเกิดใหม่ มีเศรษฐกิจอยู๋ในช่วงชะลอตัวทั้งสิ้น
ผลกระทบที่สำคัญ นั่นคือ ความไม่แน่นอนที่ข้อพิพาทได้สร้างขึ้น ทำให้นักธุรกิจไม่สามารถตอบคำถามได้ว่า “ทิศทางการค้าโลก กฎเกณฑ์ต่าง ๆ จะเป็นอย่างไร” ทำให้คนไม่อยากลงทุน ไม่อยากทำอะไร ทุกอย่างจึงหยุดทั้งหมด
ทั้งนี้ ตลาดการเงินมีความห่วงใยข้อพิพาทอาจบานปลายและนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ดร.บัณฑิต กล่าวถึงประเทศตลาดเกิดใหม่ ห่วงที่สุด คือ สถานการณ์จะยืดเยื้อและบานปลายไปสู่การชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก รวมถึงแรงกดดันทำให้ค่าเงินทั่วโลกมีแรงกดดันขาลงและทำให้ความเสี่ยงในการถดถอยเศรษฐกิจมีมากขึ้น
แนวทางตั้งรับสำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่ คือ ต้องระวังการไหลออกของเงินทุนระหว่างประเทศ เพราะหากสถานการณ์ดูยืดเยื้อ นักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศตลาดเกิดใหม่ต่างเริ่มถอนเงินและนำเงินลงทุนกลับ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง จะชัดเจนเลยว่า สิ่งนั้นจะสร้างภาวะแรงกดดันต่อสภาพคล่องในประเทศ
โดยหากไม่สามารถบริหารจัดการได้ดี อาจทำให้ค่าเงินของประเทศเริ่มอ่อนตัวลง อัตราเงินเฟ้อเริ่มเพิ่มสูงขึ้น และหากรุนแรงมากขึ้น อาจนำไปสู่กรณีที่ธนาคารกลางอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อดูแลในเรื่องการอ่อนค่าของเงิน ซึ่งจะยิ่งสร้างแรงกดดันความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและนำมาสู่ความเสี่ยงเชิงเสถียรภาพ
นอจากนี้ สมมติสถานการณ์ยืดเยื้อและบานปลายเป็นปัญหาใหญ่ กระทบไปทั่วโลก เขาคิดว่า ณ จุดนี้ เทียบกับ ค.ศ.2008 ตอนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลก ขณะนี้ความสามารถของประเทศใหญ่ ๆ ที่จะหาทางออกร่วมกัน ดูแลค่อนข้างน้อยมาก เพราะประเทศอันดับหนึ่งและสองกลายเป็นคู่กรณี และพื้นที่นโยบายที่จะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ เทียบกับ ค.ศ. 2008 มีน้อยลงไปมาก ฉะนั้นความสามารถของประเทศใหญ่ที่จะรวมตัวกันแก้ไขปัญหาตอนนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน
“ไทยคงคล้าย ๆ กัน เป็นประเทศเปิด เพราะฉะนั้นสิ่งที่ได้รับผลกระทบ คือ การส่งออก การท่องเที่ยว ราคาสินค้าเกษตรลดลง และการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจต้องปรับตัวมาก เพื่อรองรับผลกระทบในภาวะอำนาจซื้อของประเทศยังไม่เข้มแข็งมาก”
อดีตรองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงเห็นด้วยว่า ข้อพิพาทนี้ใช้เวลายืดเยื้อ ความไม่แน่นอนต่าง ๆ จะมีต่อเนื่อง ดังนั้น ฝากข้อสังเกตไว้ว่า เรื่องสงครามการค้าไม่ได้กระทบไทยฝ่ายเดียว แต่กระทบทั้งภูมิภาค ดังนั้นจำเป็นต้องวางนโยบายในระดับภูมิภาค โดยกระตุ้นให้เกิดการค้าขายของอาเซียนด้วยกัน สามารถเป็นกลไกรองรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศได้
“ผลกระทบต่างประเทศที่เข้ามาจะทำให้เศรษฐกิจปรับตัว ฉะนั้นการดูแลเรื่องสภาพคล่อง การดูแลเรื่องความสามารถในการชำระหนึ้ และการดูแลที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงสินเชื่อจึงสำคัญมาก คิดว่าธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อ คงจะอยากทำ แต่ทำยาก หากความเสี่ยงของผู้กู้ยังมีอยู่ ไอเดียหนึ่งในการพิจารณา คือ การการันตีสินเชื่อในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ และที่สำคัญ ต้องมีการปฏิรูประบบเศรษฐกิจด้วย” ดร.บัณฑิต แสดงความเห็น .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:ที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง สถานทูตจีนฯ ชี้ 'สงครามการค้า ไม่ทำให้ประเทศต้องปิดประตู'