“โคทม”เสนอตั้งคกก.แก้รธน.รายมาตรา เชียงใหม่-ปัตตานีดันจว.จัดการตนเอง
สานเสวนาเวทีสันติปชต.เสนอตั้งคกก.ภาคประชาชนศึกษาแก้รธน.รายมาตรา เชียงใหม่-ปัตตานีดันจว.จัดการตนเองแก้เหลื่อมล้ำ-คอรัปชั่น
วันที่ 31 ก.ค. สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดโครงการ “เวทีสันติประชาธิปไตย” หรือ อึด ฮึด ฟัง ครั้งที่ 2 ที่โรงแรมเดอะสุโกศล โดยนายโคทม อารียา อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าการสานเสวนาครั้งนี้มีข้อเสนอในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า สถานการณ์ปัจจุบันหากรัฐบาลจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 อาจจะมีปัญหา (ม.291 : การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเสนอเป็นร่างฯแก้ไขเพิ่มเติม และไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข) และหากจะให้สภาฯแก้ไขเองเป็นรายมาตราก็จะขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและล่าช้า
ดังนั้นจึงเสนอให้นำรูปแบบการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนมาใช้ โดยให้สภาฯมีมติตั้งคณะกรรมการศึกษาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นแทนสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.) แต่มีหน้าที่และวิธีการทำงานเหมือน สสร. โดยมีการสรรหาจากตัวแทนจังหวัดละหนี่งคน, ผู้เชี่ยวชาญ 10–20 คน และมีตัวแทนภาคส่วนพิเศษจากกลุ่มอาชีพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มสตรี และกลุ่มที่หลากหลายอื่นๆอีกอีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้งหมด 100 กว่าคน ให้มาทำหน้าที่ศึกษาและแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราอย่างละเอียดครบถ้วนก่อนเสนอต่อสภาฯ
ในเวทียังมีการเสวนาในประเด็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นภายใต้แนวคิดจังหวัดจัดการตนเอง โดยมีสาระสำคัญคือการลดอำนาจส่วนกลาง ยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาคที่ซ้ำซ้อน เน้นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึง และให้อิสระท้องถิ่นบริหารจัดการตนเอง โดยมีระบบถ่วงดุลอำนาจ-ตรวจสอบจากภาคประชาชนในท้องที่
โดยนายสมชาย กุลคีรีรัตนา ตัวแทนเครือข่ายจ.ยะลาในโครงการเวทีสันติประชาธิปไตย กล่าวถึงข้อดีของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นว่า ประการแรกประชาชนจะเป็นผู้ได้ผลประโยชน์โดยตรงจากการกระจายอำนาจโดยไม่ต้องผ่านนักการเืมืองหลายทอด การยักยอกภาษีและการทุจริตคอรัปชั่นจะน้อยลง ประการที่สองจะสามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของคนในท้องถิ่นได้ และประการสุดท้ายคือสามารถขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความยุติธรรมทางสังคมได้
"เช่น สามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือในท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์แตกต่างออกไป หากระบบการปกครองยังรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ชาวบ้านจะขาดพื้นที่ทางการเมืองในการแสดงออก ซึ่งทำให้เกิดปัญหาความรุนแรงตามมา”
ขณะนี้มีแนวร่วมทางคิดเรื่องจังหวัดจัดการตนเองแล้วกว่า 40 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมี 4 จังหวัดนำร่องจากแต่ละภาค คือ เชียงใหม่, ปัตตานี(รวม3จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4อำเภอของจ.สงขลา), สมุทรปราการ และขอนแก่นหรืออำนาจเจริญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวทีเสวนามีการพูดถึงข้อเสนอให้แต่ละจังหวัดจัดเก็บภาษีเอง โดยจัดแบ่งให้รัฐร้อยละ 30 อีกร้อยละ 70 ให้แต่ละท้องถิ่นนำมาใช้บริหารจัดการเองในพื้นที่ของตน สำหรับความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)เชียงใหม่มหานคร และ ร่าง พรบ.ปัตตานีมหานคร อยู่ในขั้นตอนการล่ารายชื่อประชาชนก่อนเสนอสู่สภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้แต่ละจังหวัดอาจมีเนื้อหารายละเอียดต่างกัน เนื่องจากต้องคำนึงถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นเป็นสำคัญ .