‘อังคณา’ เรียกร้อง ก.ยุติธรรม ฟื้นร่าง กม.ป้องกันปราบปรามการทรมาน-บังคับสูญหาย
'อังคณา' เเพร่จม.เปิดผนึกถึงรัฐบาล-ปธ.สภาผู้เเทนราษฎร เนื่องในวันสากลเเห่งการบังคับสูญหาย เรียกร้อง ก.ยุติธรรม ฟื้นพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย หลังถูกตีตก พร้อมตั้งกรรมาธิการวิสามัญที่มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า นางอังคณา นีละไพจิตร ได้เผยเเพร่จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลเเละประธานสภาผู้เเทนราษฎร เนื่องในวันสากลเเห่งการบังคับให้สูญหาย มีดังนี้
วันที่ 30 ส.ค. เป็นวันที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็น วันสากลแห่งการรำลึกถึงเหยื่อของการสูญหายโดยถูกบังคับ (International Day of the Victims of Enforced Disappearances) คือวันที่ทั่วโลกร่วมกันรำลึกถึงเหยื่อและครอบครัวของผู้ถูกบังคับสูญหายจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ภาวะสงคราม การปราบปรามจากรัฐ หรือการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก
ในฐานะครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหาย ดิฉันพบว่า มีปัญหาเเละอุปสรรคมากมายในการเข้าถึงความยุติธรรมเเละความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมของเหยื่อโดยเฉพาะอุปสรรคทางกฎหมายเนื่องจากประเทศไทยไม่มีกฎหมายในความผิดฐานบังคับบุคคลให้สูญหายและเอาผิดต่อผู้กระทำผิด
แม้ที่ผ่านมารัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีได้ลงนามรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: ICPPED) ขององค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2555 และต่อมาได้มีมติเห็นชอบในหลักการการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฯ รวมถึงเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย พ.ศ. ... ที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2559 และได้ส่งร่าง พ.ร.บ.ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา แต่ สนช. ใช้เวลาพิจารณาอย่างล่าช้า มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยการตัดเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญหลายประเด็นที่เป็นหลักประกันสำคัญทางกฎหมายในการป้องกันและยุติการบังคับสูญหายออกไป นอกจากนั้นในการตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ของ สนช. ยังขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงผู้ความเชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนอย่างมีนัยสำคัญ และในที่สุดร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหายก็ตกไป โดยไม่มีใครทราบสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งถือเป็นการก้าวถอยหลังอย่างยิ่งของรัฐบาลไทยในการดำเนินการตามคำมั่นที่ได้รับปากคำไว้
แม้เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2560 รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้มีคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน แต่ผ่านมาสองปีเศษ คณะกรรมการชุดดังกล่าวก็แทบไม่สามารถเปิดเผยที่อยู่และชะตากรรมของผู้ถูกบังคับสูญหายและคืนความเป็นธรรมให้กับครอบครัวได้ โดยเฉพาะกรณีการบังคับสูญหายที่มีพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคน เช่น กรณีนายสมชาย นีละไพจิตร นายพอละจี รักจงเจริญ หรือนายกมล เหล่าโสภาพันธ์
ในโอกาสวันสากลเพื่อรำลึกถึงเหยื่อของการสูญหายโดยถูกบังคับ ดิฉันจึงเขียนหนังสือเปิดผนึกฉบับนี้เพื่อย้ำเตือนและเรียกร้องต่อรัฐบาล รัฐสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. ขอให้รัฐบาลโดยกระทรวงยุติธรรมนำร่างเดิมที่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมอย่างเปิดเผยของทุกภาคส่วนของสังคมเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเพื่อนำกลับมาพิจารณาใหม่
2.เนื่องจากการบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมต่อเนื่องที่ไม่มีอายุความ คณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานควรดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อติดตาม และเปิดเผยที่อยู่และชะตากรรมของผู้ถูกบังคับสูญหายทุกคนรวมถึงให้การเยียวยาแก่ครอบครัวทั้งการเยียวยาด้านกฎหมาย และการเยียวยาที่ไม่ใช่ทางกฎหมาย (judicial & non judicial remedy) ทั้งนี้การสืบสวนสอบสวนจะต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ รอบคอบ อิสระ ยุติธรรม และที่สำคัญจะต้องมีความโปร่งใส และญาติจะต้องทราบว่ากระบวนการสอบสวนมีความก้าวหน้าหรือไม่อย่างไร
3. ขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร นำร่างที่กระทรวงยุติธรรมได้รับฟังความเห็นจากประชาชนกลับมาพิจารณา โดยให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญที่มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้มีความรู้ด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชน และภาคประชาสังคมที่มีประสบการณ์ด้านการบังคับสูญหายเพื่อให้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหายมีความสอดคล้องกับอนุสัญญาการบังคับสูญหายขององค์การสหประชาชาติ และเพื่อให้สามารถคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับสูญหายได้จริง
4.ในระหว่างที่ยังไม่มี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย #ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาทบทวนการให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: ICPPED) ขององค์การสหประชาชาติ เพื่อให้ความมั่นใจต่อประชาชนว่าสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมีความจริงใจ เต็มใจ และมีเจตจำนงทางการเมืองเพื่อคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ
ในทุก ๆ ปีครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหายต้องลุกขึ้นมาถามหาความเป็นธรรมและความจริงใจจากรัฐ ทั้งที่รัฐมีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนทุกคน ในฐานะครอบครัวดิฉันไม่เคยเหน็ดเหนื่อยในการทวงถามความเป็นธรรม แม้เสียงของดิฉันจะไม่ดังไปถึงผู้มีหน้าที่และอำนาจในการอำนวยความยุติธรรม แต่เรื่องราวการบังคับสูญหายในประเทศไทยจะไม่สามารถปกปิดได้ และจะบอกถึงความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมและความไม่จริงใจของรัฐบาล #วันนี้รัฐบาลและรัฐสภาไทยกำลังถูกท้าทายระหว่างความกล้าหาญในการยืนยันหลักการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน กับการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคน บางกลุ่มที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจในการลักพาตัวและบังคับให้บุคคลสูญหาย
เเอมเนสตี้ฯ ชี้หากไทยเพิกเฉย เท่ากับหนุนให้เกิดช่องโหว่
ขณะที่แอมเนสตี้ออกแถลงการณ์ให้ไทยกำหนดกฎหมายเอาผิดทางอาญากับการบังคับบุคคลให้สูญหาย ระบุให้รัฐบาลไทยต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อออกกฎหมาย แก้ปัญหาอาชญากรรมร้ายแรงจากการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย หลังมีการแก้ไขเนื้อหาร่างกฎหมายดังกล่าว ให้สอดคล้องกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศของไทยแล้ว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในวันนี้ เนื่องในโอกาสวันผู้สูญหายสากล
ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า การเพิกเฉยใด ๆ ย่อมหมายถึงประเทศไทยอนุญาตให้เกิดช่องโหว่ที่น่าตกใจในระบบกฎหมายของตน ซึ่งจะส่งผลให้พลเมืองไทยอาจตกเป็นเหยื่อการทรมาน หรือการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยทางการไม่มีความพร้อมอย่างเต็มที่ที่จะนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ
"วันนี้ในแต่ละปีมีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ เพราะหมายถึงการเฝ้ารอทุกวันของครอบครัวจำนวนมาก เพื่อให้ทราบความจริงและชะตากรรมของญาติผู้สูญหายไป ทางการไทยต้องทำให้พวกเขามีความหวังว่าจะเกิดความยุติธรรม ยุติการใช้แนวทางต่าง ๆ เพื่อสร้างความล่าช้า และปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่จะกำหนดให้มีกฎหมายเอาผิดทางอาญากับการบังคับบุคคลให้สูญหาย” ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าว
ทั้งนี้ ทางการไทยลงนามใน อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) เมื่อเดือน ม.ค. 2555 อย่างไรก็ดี มีความล่าช้าอย่างต่อเนื่องในแง่ความพยายามที่จะให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาดังกล่าว และการออกกฎหมายในประเทศที่สอดคล้องกัน
ในปี 2560 สมาชิกสภานิติบัญญัติจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ส่งร่างพ.ร.บ.กลับไปให้คณะรัฐมนตรีเพื่อการปรึกษาหารือเพิ่มเติม และรัฐบาลแจ้งต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในปีนั้นว่า จะระงับการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ไว้ก่อน โดยจะจัดให้มีการปรึกษาหารือกับสาธารณะ ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้ส่งร่างฉบับใหม่กลับไปให้รัฐสภาเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2562
การบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งเกิดขึ้นกับนักเคลื่อนไหวคนสำคัญหลายท่าน และยังไม่ได้รับการคลี่คลาย เน้นให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิบัติ สมชาย นีละไพจิตร ทนายความของเหยื่อการทรมาน ได้ถูกลักพาตัวที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2547 และหายตัวไป
พอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักเคลื่อนไหวอีกคนหนึ่งหายตัวไปเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2557 หลังถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยในช่วงเวลาดังกล่าว บิลลี่อยู่ระหว่างประสานงานกับชาวบ้านชาวกะเหรี่ยงและนักเคลื่อนไหว เพื่อฟ้องคดีกับเจ้าหน้าที่อุทยาน ซึ่งจงใจเผาทำลายบ้านเรือน ไร่นา และทรัพย์สินอื่น ๆ ของพวกเขา
เชื่อว่าในปัจจุบันมีกรณีผู้สูญหาย 86 กรณี ซึ่งผู้ตกเป็นเหยื่อมีทั้งนักสหภาพแรงงานและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้ประท้วง และผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง ซึ่งล้วนแต่เป็นการบังคับบุคคลให้สูญหายที่ยังไม่ได้รับการคลี่คลายในประเทศไทย โดยมีการส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับคณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายและการสูญหายโดยไม่สมัครใจ ตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้ กฎหมายความมั่นคงและกฎหมายที่ออกโดยรัฐบาลอื่น ๆ และนำมาใช้เมื่อเร็ว ๆ นี้ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการควบคุมตัวบุคคลในสถานที่ควบคุมตัวอย่างไม่เป็นทางการ โดยไม่มีข้อหาหรือไม่ต้องเข้ารับการไต่สวน และมักไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก ทำให้เกิดความเสี่ยงอย่างแท้จริงที่บุคคลที่ถูกควบคุมตัวจะตกเป็นผู้สูญหาย
การสอบสวนของทางการยังไม่สามารถหักล้างข้อสงสัยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีส่วนร่วมในการสูญหาย การลักพาตัว และความตายของนักเคลื่อนไหวชาวไทยประมาณแปดคน ซึ่งลี้ภัยไปอยู่ในลาว โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว รวมถึงปี 2559 และ 2560
“โศกนาฎกรรมการหายตัวไปเหล่านี้ รวมทั้งความล้มเหลวของรัฐบาลในการค้นหาความจริงและคืนความยุติธรรมแก่ครอบครัวผู้สูญหาย ทำให้เกิดรอยด่างพร้อยมากขึ้นต่อชื่อเสียงของประเทศไทย การสูญหายหลายกรณีที่ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย ทำให้เกิดข้อสงสัยต่อเจตจำนงของผู้นำการเมืองไทย ที่จะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาเพื่อให้พลเมืองของตนปลอดภัย” ปิยนุช กล่าว
ประเทศไทยมีหน้าที่ปฏิบัติตามพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (CAT) ซึ่งเราได้ให้ภาคยานุวัติแล้ว โดยต้องสอบสวน ดำเนินคดี ลงโทษ และจัดให้มีการเยียวยาและชดเชยต่ออาชญากรรมเนื่องจากการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ และการบังคับบุคคลให้สูญหาย
ภาพประกอบ:http://news.muslimthaipost.com/news/29684
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/