686 องค์กรทวงสัญญาพรรคการเมืองผลักดันเกษตรอินทรีย์
ภาคีเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร แถลงให้ จุฬาฯ ยกเลิกการสอบสวน นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ออกสื่อรณรงณ์แบนสารพิษอันตราย พร้อมทวงถามสัญญาจากพรรคการเมืองผลักดันพ.ร.บ เกษตรยั่งยืน
วันที่ 29 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงาน ความเคลื่อนไหวที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีตัวแทนภาคีเครือข่ายการสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร เดินทางมาให้กำลังใจศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หลังจากจุฬาฯ ได้มีหนังสือเรียกสอบข้อเท็จจริง หลังจากมีผู้ร้องเรียน กล่าวหาถึงการออกสื่อเรื่องการรณรงค์ ยกเลิกสารพิษพฤติกรรมนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และมีการกระทำผิดจริยธรรมกระทำผิดวินัย
นายวิฑรูย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ตัวแทนภาคีเครือข่ายการสนับสนุน การแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร อ่านแถลงการณ์ที่่ส่งถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ปกป้องบุคลากรของมหาวิทยาลัย ปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชน โดยมีการเสนอให้ตั้งคณะทำงานที่ปราศจากผลประโยชน์โดยตรงและโดยอ้อมเพื่อตรวจสอบข้อมูลจากผู้กล่าวหาก่อนที่จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน
นอกจากนี้ ควรสนับสนุนข้อมูลจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้มีการแถลงให้ยกเลิกการใช้สารพิษที่มีความเสี่ยงสูง และขอเรียกร้องให้ประชาชน รวมถึงพรรคการเมืองทุกพรรค ที่ประกาศว่าจะแบนสารพิษร้ายแรง ร่วมกันตรวจสอบและติดตามการทำหน้าที่ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย
นายวิฑูรย์ ยังได้เรียกร้องพรรคการเมืองที่เคยสัญญาว่าจะผลักดันให้เกิดพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่เพิ่มมากขึ้น โดยผลักดันให้เกิด พ.ร.บ. เกษตรยั่งยืน ซึ่งการเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้สารเคมีอันตราย จะช่วยให้เพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์มากขึ้น
“ เครือข่ายทั้ง 686 องค์กร เป็นเกษตกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งออกมารณรงค์ยกเลิกสารเคมีอันตราย โดยขณะนี้รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯสนใจที่เดินหน้าเกษตรอินทรีย์โดยส่งทีมงานมาหารือ ในการตั้งสำนักงานเกษตรอินทรีย์ “
ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีหนังสือลับที่ 4636/2562 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องเรียน กล่าวหาถึงการออกสื่อเรื่องการรณรงค์เพื่อยกเลิกสารพิษการเกษตร เช่น สารพาราควอต คลอร์ไพรีฟอส สารตกค้างในผักและผลไม้ ฯลฯ ของศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา โดยร้องเรียนว่ามีพฤติกรรมนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และมีการกระทำผิดจริยธรรมกระทำผิดวินัย
ด้าน ศ.นพ.แพทย์ ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เป็นนักเรียนแพทย์ พบเห็น เกษตรกร คนไข้ ได้รับสารพิษจากพาราควอตมาอย่างต่อเนื่อง แม้ 2 - 4 ซีซี ก็เป็นอันตรายถึงชีวิต เมื่อสารพาราควอตตกค้างในดินในน้ำ ย่อมส่งผลต่อสุขภาพ ซึ่งสิ่งที่ทำมาตลอดเพื่อปกป้องชีวิตเกษตรกร โดยเสนอให้ภาครัฐหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดงบประมาณหรือมาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรระหว่างการเลิกใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช
ขณะที่นายบุญไชย สถิตมั่นในธรรม รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ยืนยันการดำเนินการตั้งคณะกรรมการเพื่อหาข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว เป็นไปตามกระบวนการปกติ ไม่ได้เป็นการสอบสวน แต่เป็นเพียงการหาข้อเท็จจริงหลังจากมีการร้องเรียนต่อบุคลากรของมหาวิทยาลัย ซึ่งคณะกรรมการส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการและบุคคลกรในจุฬาฯ และอาจมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญภายนอกให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวเนื่องจากเป็นประเด็นที่มีผลกระทบในหลายมิติ ทั้งในมหาวิทยาลัยและภาคสังคม ทั้งนี้ไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการได้ เนื่องจากเป็นการหาข้อเท็จจริงในทางลับ เพื่อความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ และพร้อมให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่จะได้ใช้โอกาสนี้ในการชี้แจงข้อมูลด้วย
ส่วนสาเหตุที่ต้องเลื่อนการชี้แจงข้อเท็จจริงของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งมีกำหนดในวันที่ 29 สิงหาคม ออกไปนั้น นายบุญไชย กล่าวว่า เนื่องจากมีภาคประชาชนมารวมตัวเรียกร้อง รวมถึงได้รับข้อมูลใหม่ที่เกี่ยวข้องเข้ามาเพิ่มเติม โดยจะมีการนัดหมายเพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้ามาชี้แจงข้อมูลอีกครั้ง โดยยังไม่สามารถระบุวันนัดหมาย และระยะเวลาของการสอบเพื่อหาข้อเท็จจริงได้ เนื่องจากขอดูสถานการณ์และข้อมูลที่จะเพิ่มเติมเข้ามาก่อน
ทั้งนี้ ข้อมูลจากมูลนิธิชีววิถี ระบุว่า ประเทศไทยมีการใช้สารเคมีในการเกษตร เป็นอันดับ 6 ของโลก มีการนำเข้าสารเคมี ล่าสุดปี 2561 อยู่ที่ 200 ล้านกิโลกรัม ซึ่งประเทศไทยมีการขึ้นทะเบียนสารเคมี ที่ถูกต้องตามกฎหมาย กว่า 200 รายการ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/