กสม. สอบกรมประมงนิรโทษกรรมอวนลาก ซ้ำเติมประมงพื้นบ้าน
กรมประมงแจงกสม. นิรโทษกรรมอวนลาก ไม่กระทบรุนแรง นักวิชาการ-เอ็นจีโอ ชี้บั่นทอนวิถีประมงพื้นบ้าน-ทำลายทรัพยากรทะเลไทย
วันที่ 31 ก.ค. 55 ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ คณะกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดประชุมกรณีชาวบ้านร้องเรียนกรมประมงมีแผนจะนิรโทษกรรมเรืออวนลาก 2,107 ลำ เพื่อแก้ปัญหาส่งออกสินค้าประมงแก่กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป โดยนายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า ประมงอวนลากทำลายทรัพยากรทางทะเลอย่างรวดเร็ว และการผลักดันของกรมประมงบิดเบือนเจตนารมณ์การรายงานและควบคุม (ไอยูยู ฟิชชิ่ง)ของยุโรปในการสนับสนุนให้เกิดการทำประมงอย่างรับผิดชอบและยั่งยืน
นอกจากนี้การผ่อนผันเรือประมงอวนลากเถื่อนขัดแย้งกับงานวิจัยเรื่อง การจัดการกำลังผลิตของการทำประมงทะเลในไทยขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) และกรมประมงปี 47 ที่ระบุหากต้องการเพิ่มจำนวนสัตว์หน้าดิน การทำประมงหน้าดินในอ่าวไทยซี่งส่วนใหญ่จับด้วยอวนลากต้องลดลงอีก 40% แต่หากต้องการให้เกิดผลทางเศรษฐกิจสูงสุดต้องลดลงถึง 50% ของการลงแรงประมงที่มีอยู่ ซึ่งคิดจากเรือที่จดทะเบียนไม่รวมเรืออวนลากเถื่อน ดังนั้นการที่กรมประมงอ้างการศึกษาว่าจำนวนเรืออวนลากที่เหมาะสมในน่านน้ำไทยควรมีไม่เกิน 5,726 ลำนั้น ไม่ได้เปิดเผยที่มาของงานวิจัย อีกทั้งการแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาหาแนวทางแก้ไขการขออาชญาบัตรทำประมงไม่ครอบคลุมชาวประมงพื้นบ้านและขนาดเล็กชายฝั่ง
“ชาวประมงพื้นบ้านไม่เชื่อว่ารัฐจะควบคุมเรือประมงอวนลากเมื่อนิรโทษกรรมแล้วได้ เพราะสุดท้ายจะอ้างว่าไม่มีงบประมาณและบุคลากรจัดการ เราจึงเปลี่ยนโครงสร้างให้ชุมชนบริหารจัดการตนเอง แม้จะโดนบีบจากนักการเมืองและบริษัทอาหารสัตว์รายใหญ่ของไทยก็ตาม” นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าว
ด้านนายสุรจิตต์ อินทรชิต รองอธิบดีกรมประมง กล่าวชี้แจงว่า ขณะนี้คณะรัฐมนตรีได้กำชับให้กรมประมงตรวจสอบรายละเอียดการยื่นขอจดทะเบียนและอาชญาบัตรให้รอบคอบอีกครั้ง ซึ่งตนเห็นว่าการจดทะเบียนเรือประมงอวนลากจะช่วยให้เรือประมงผิดกฎหมายอยู่ในระบบและจัดการได้ทั่วถึง โดยมั่นใจจะบังคับตามกรอบมาตรการประกอบนิรโทษกรรมให้กำหนดช่องตาและขนาดอวนให้เหมาะสมกับขนาดเรือ โดยห้ามใช้อวนลากยักษ์ ผลักดันมาตรการปิดอ่าวไทยตัวก. เพื่อให้ทรัพยากรใต้ทะเลฟื้นตัว และขยายเขตห้ามทำการประมงอวนลากจาก 3,000 เมตร เป็น 5,400 เมตร พร้อมกำหนดให้เรือประมงพาณิชย์ต้องติดตั้งเครื่องมือติดตามเรือ (วีเอ็มเอส) เพื่อง่ายต่อการติดตาม ตรวจสอบ และบังคับใช้กฎหมาย
รองอธิบดีกรมประมง กล่าวต่อว่า สำหรับรายงานวิชาการที่ระบุทะเลไทยสมควรเพิ่มเครื่องมือประมงอวนลากได้อีกนั้น กรมประมงมีการศึกษางานวิชาการหลายแขนงแต่ไม่สามารถอธิบายได้ แต่จะส่งรายละเอียดให้กสม. ภายหลัง ส่วนการเปิดเผยจำนวนเรือประมงอวนลากควรมีไม่เกิน 5,726 ลำนั้นคิดจากสัดส่วนทางวิชาการ
“กรมประมงต้องขึ้นทะเบียนและออกอาชญาบัตรแก่เรืออวนลาก มิฉะนั้นจะส่งผลผลิตขายยุโรปไม่ได้ และสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้าน ส่วนเรือประมงพื้นบ้านอนุโลมเพราะขายผลผลิตในประเทศเท่านั้น แต่หากไม่ต้องการให้มีเรือประมงอวนลาก กสม.ต้องชี้วิธีแก้ปัญหาที่ดี เพราะเชื่อว่าประมงพื้นบ้านและพาณิชย์ไม่สามารถตกลงกันได้” นายสุรจิตต์กล่าว
ขณะที่ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ นักวิชาการด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ปัจจุบันพบการทำประมงไทยมีการสวมรอยใช้อาชญาบัตรอวนลอย เพื่อลักลอบประมงอวนลาก และไม่มีการรายงานแหล่งจับสัตว์น้ำของเรือประมงพาณิชย์ แต่เมื่อต้องการส่งผลผลิตสู่ยุโรปจึงต้องดำเนินการให้ถูกต้อง ทำให้กรมประมงผลักดันเรือประมงอวนลากเถื่อนเข้าสู่ระบบถูกต้องโดยการนิรโทษกรรม แต่จริง ๆ แล้วทำไม่ได้ เพราะเรือประมงอวนลากผิดกฎหมาย
ขณะที่งานวิจัยของตนระบุอวนลากไม่ได้ทำลายเพียงทรัพยากรทางทะเลเท่านั้น แต่ยังทำลายเครื่องมือประมงขนาดเล็กด้วย ส่งผลให้เศรษฐกิจประมงพื้นบ้านในท้องถิ่นตกต่ำ ฉะนั้นอนาคตควรมีงานวิชาการรองรับมากขึ้น และรัฐจะต้องจัดสรรทรัพยากรให้เท่าเทียม เพื่อความเป็นธรรมทั้งผู้ประกอบการประมงพาณิชย์และพื้นบ้าน
ทั้งนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อ 23 ส.ค. 54 ข้อ 5.2 เรื่องการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยการฟื้นฟูทะเลไทย จัดสร้างและขยายปะการังเทียมและหญ้าทะเลโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน...รักษาความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล ปรับปรุงและขยายเขตการทำประมงชายฝั่ง จำกัดและยกเลิกเครื่องมือประมงทำลายล้าง เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการดูแลเกี่ยวกับความมั่นคงทางทะเล